พระอัญญาโกณฑัญญะ
เอตทัคคะในทางรัตตัญญู
   พระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ในหมู่บ้านโทณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ “ โกณฑัญญะ” เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปวิทยาจบไตรเพท และวิชาการทำนายลักษณะอย่างเชี่ยวชาญ
ร่วมทำนายพระลักษณะ

   เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดา ได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหารในพระราชนิเวศน์ เพื่อทำพิธีทำนายพระลักษณะ ตามประเพณี ให้คัดเลือกพราหมณ์ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษจาก ๑๐๘ คน เหลือเพียง ๘ คน และมีโกณฑัญญะมีอายุน้อยที่สุดจึงทำนายเป็นคนสุดท้าย

   ฝ่ายพราหมณ์ ๗ คน ได้พิจรณาตรวจดูพระลักษณะของสิทธัทถะอย่างละเอียด เห็นต้องตามตำรามหาบุตรลักษณะพยาการณ์ศาสตร์ ครบทุกประการแล้ว จึงยกนิ้วมือขึ้น ๒ นิ้ว เป็นลักษณะในการทำนายเป็น ๒ นัยเหมือนกันทั้งหมดว่า

   “ พระราชกุมารนี้ ถ้าดำรงอยู่ในเพศฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิปราบปรามได้รับชัยชนะทั่วปฐพีมณฑล โดยอุบายอันชอบธรรม แต่ถ้าออกบรรพชาประพฆตพรตพรหมจรรย์ จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก แนะนำสั่งสอนเวไนยสัตย์ โดยไม่มีศาสดาอื่นยิ่งไปกว่า”

   ส่วนโกณฑัญญพราหมณ์ ได้สั่งบารมีมาครบถ้วนตั้งแต่อดีตชาติ และการเกิดในภพนี้ก็จะเป็นภพสุดท้าย จึงมีปัญญามากกว่าพราหมณ์ทั้ง ๗ คนแรก ได้พิจารณาตรวจดูพระลักษณะของพระกุมาร โดยละเอียดแล้ว ได้ยกนิ้วขึ้นเพียงนิ้วเดียวเป็นการยืนยันการพยากรณ์อย่างเด็จเดี่ยวเป็นนัยเดียวเท่านั้นว่า “ พระราชกุมาร ผู้บริบูรณ์ด้วยมหาบุรษลักษณะอย่างนี้ จะไม่อยู่ครองเพศฆรวาสอย่างแน่นอน จักต้องเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมิต้องสงสัย ”


ออกบวชติดตามสิทธัตถะ

   ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึง ๒๙ ปี เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา โกณฑัญญพราหมณ์ทราบข่าวก็ดีใจ เพราะตรงกับคำทำนายของตน จึงรีบไปชวนบุตรของพราหมทั้ง ๗ คนที่ร่วมทำนายด้วยกันนั้น โดยกล่าวว่า

   “บัดนี้ เจ้าชายสิทธัทถราชกุมาร โอรสของพระเจ้าสุทโธทะนะ เสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จักได้ตรัสรุ้เป็นพระสัพญญูเจ้าแน่นอน ถ้าบิดาของพวกท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะออกบวชด้วยกันกับเรา ถ้าท่านทั้งหลายปรารถนาจะบวชก็จงบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด ”

   บุตรพรหามณ์เหล่านั้น ยอมออกบวชเพียง ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ โกณฑัญญะจึงพามาณพทั้ง ๔ คนนั้นพร้อมทั้งตนด้วยรวมเป็น ๕ ได้นามบัญญัติว่า “ ปัญจวัคคีย์ ” ออกบวชสืบเสาะติดตามถามหาพระมหาบุรุษไปตามวถานที่ต่าง ๆ จนมาพบพระองค์กำลังบำเพ็ญความเพียรอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม

   ด้วยความมั่นใจว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอย่างแน่นอน จึงพากันเข้าไปอยู่เฝ้าทำกิจวัตรอุปัฏฐากด้วยการจัดน้ำใช้น้ำฉัน และปัดกวาดเสนาสนะ เป็นต้น ด้วยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดพวกตนให้รู้ตามบ้าง

   เมื่อพระมหาบุรุษ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอุกฤษฎ์เป็นเวลาถึง ๖ ปี ก็ยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ จึงทรงพระดำริว่า “ วิธีนี้คงจะไม่ใช่ทางตรัสรู้ ” จึงทรงเลิกละความเพียรด้วยวิธีทรมานกาย หันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต เลิกอดพระกระยาหาร กลับมาเสวยตามเดิม เพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง


ปัญจวัคคีย์ปลีกตัวหลีกหนี

   ฝ่ายปัญจวัคคีย์ ผู้มีความเลื่อมใสในการปฏิบัติ แบบทรมานร่างกาย ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์เจ้าละความเพียรนั้นแล้ว ก็รู้สึกหมดหวัง จึงพากันหลีกหนีทิ้งพระโพธิสัตว์เจ้าให้ประทับอยู่ตามลำพังพระองค์เดียว พากันเที่ยวสัญจรไปพักอาศัยอยู่ป่าอิสิปตรมฤคทายวัน กรุงพาราณสี

   ครั้นพระโพธิสัตว์เจ้า ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงดำริพิจารณาหาบุคคลผู้สมควรจะฟังประปฐมเทศนา และตรัสรู้ตามได้โดยเร็วในชั้นแรก พระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสองที่พระองค์เคยเข้าไปศึกษา คือ อาฬารดาบทกาลามโคตร แต่ได้ทราบว่าท่านได้ถึงแก่กรรมไปได้ ๗ ัวนแล้ว และอีกท่านหนึ่งคือ อุทกดาบสรามบุตร แต่ก็ทราบด้วยพระญาณว่าท่านเพิ่งจะสิ้นชีพไปเมื่อวันวานนี่เอง

   ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยอุปการคุณแก่พระองค์เมื่อสมัยทำทุกรกิริยา และทรงทราบว่าขณะนี้ท่านทั้ง ๕ พักอาศัย อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงเสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

   ฝ่ายปัจวัคคีย์ นั่งสนทนากันอยู่ เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกล เข้าใจว่า พระองค์เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปฏฐาก จึงทำกติกากันว่า

   “ พระสมณโคดมนี้ คลายความเพียรแล้วเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมากพวกเราไม่ควรไหว้ ไม่ควรลุกขึ้นต้อนรับ ไม่รับบาตรและจีวรของพระองค์เลย เพียงแต่จัดอาสนะไว้ เมื่อพระองค์ปรารถนาจะประทับนั่ง ก็จงนั่งตามพระอัธยาศัยเถิด”

   ครั้นพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ต่างพากันลืมกติกาที่นัดหมายกันไว้ กลับทำการต้อนรับเป็นอย่างดีดังที่เคยกระทำมา แต่ก็ยังใช้คำทักทายว่า “ อาวุโส ” และเรียกพระนามว่า “ โคดม” อันเป็นถ้อยคำที่แสดงความไม่เคารพ ดังนี้ พระพุทธองค์ทรงห้ามแล้วตรัสว่า

   “ อย่าเลย พวกเธออย่ากล่าวอย่างนั้น บัดนี้ ตถาคตได้บรรลุอมตธรรมเองโดยชอบแล้ว เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงให้ฟัง เมื่อเธอปฏิบัติ ตามที่เราสอนแล้ว ไม่นานก็บรรลุอมตธรรมนั้น ”

   “ อาวุโสโคดม แม้พระองค์บำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฎ์เห็นปานนั้น ก็ยังไม่บรรลุธรรมพิเศษอันใด บัดนี้ พระองค์คลายความเพียรนั้นแล้วหันมาปฏิบัติเพื่อความเป็นคนมักมาก แล้วจะบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร ? ”

   พระพุทธองค์ ตรัสเตือนปัญจวัคคีย์ให้ระลึกถึงความหลังว่า “ ท่านทั้งหลายจำได้หรือไม่ว่า วาจาเช่นนี้ เราเคยพูดกับท่านบ้างหรือไม่ ” ปัญจวัคคีย์ระลึกขึ้นได้ว่า พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อนเลย จึงยินยอมพร้อมใจกับฟังพระธรรมเทศนาโดยเคารพ


ฟังปฐมเทศนา

   พระพุทธองค์ ทรงประกาศพระสัพพัญญุตญาณแก่เหล่าปัจวัคคีย์ โดยตรัสพระธรรมจักรกัปวัตรสูตร เป็นปฐมเทศนา ซึ่งเนื้อความในพระธรรมเทศนานี้ พระพุทธองค์ทรงตำหนิหนทางปฏิบัติอันไร้ประโยชน์ ๒ ทาง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

   ๑ กามสุขัลลิกานุโยค การปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไป แสวงหาแต่กามสุขอันพัวพันหมกมุ่นแต่รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเป็นสิ่งเลวทราม เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นกิจขอบคนกิเลสหนา มิใช่ของพระอิริยะ มิใช่ทางตรัสรู้หาประโยชน์มิได้

   ๒ อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติตนให้ได้รับความลำบาก เคร่งครัดเกินไป กระทำตนให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นการกระทำที่เหนื่อยเปล่า ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น

   จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสชี้แนะวิธีปฏบัติ แบบ “ มัชฌิมาปฏิปทา ” คือการปฏิบัติแบบกลาง ๆ ไม่ย่อหย่อนเกินไปแบบประเภทที่หนึ่ง และไม่ตึงเกินไปแบบประเภทที่สอง ดำเดินทางสายกลางซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เรียกว่า อริอัฏฐังคิกมรรค ซึ่งชี้ให้ดำเนินตามสายกลาง คือ มรรคมีองค์ ๘ ประการ ได้แก่

    ๑ สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเห็นในอริยสัจ ๔)

   ๒ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ( ดำริออกจากกาม เบียดเบียนพยาบาท)

   ๓ สัมมาวาจา เจรจาชอบ ( เว่นจากวจีทุจริต ๔)

   ๔ สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ ( เว่นจากกายทุจริต ๓ )

   ๕ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ (เว่นจากเลี้ยงชีพในทางที่ผิด)

   ๖ สัมมาวายามะ เพียรชอบ ( เพียรละความชั่วทำความดี)

   ๗ สัมมาสติ ระลึกชอบ (ระลึกในสติปัฏฐาน ๔)

   ๘ สัมมาสมาธิ ตั้งจิตไว้ชอบ ( เจริญฌานทั้ง ๔) พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ทางสายกลางนี้แหละพระองค์ตรัสรู้มาด้วยปัญญาอันสูง เป็นทางทำให้ดำเนินไปถึงความสงบ

   เมื่อจบพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากมลทิน เกิดแก่โกณฑัญญะว่า “ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ”

   พระพุทธองค์ ทรงทราบว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงแปล่งอุทานด้วยความพอพระทัยด้วยพระดำรัสว่า

   “ อญฺญาสิ ว ต โภ โกณฑญฺโญ อญญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ”

   ซึ่งแปลว่า “ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ”

   ด้วยพระพุทธดำรัสนี้ คำว่า “ อัญญา” จึงเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านโกณฑัญญะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นที่รู้ทั้วกันว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ


พระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา

   ต่อจากนั้น ท่านได้กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้ด้วยพระดำรัสว่า

   “ เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด ”

   ด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ โกณฑญญะ ก็สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศานา นับว่าเป็นพระสงฆ์รูปแรกในโลก และการอุปสมมบทด้วยวิธีนี้เรียกว่า
    “ เอหิภิกขุอุปสมปทา ”

   วันต่อ ๆ มา ท่านที่เหลืออีก ๔ คน ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และอุปสมบทด้วยกันทั้งหมด พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระปัญจวัคคีย์มีญาณแก่กล้า พอที่จะบรรลุธรรมเบื้องสูงได้แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนา “ อนันนลักขณสูตร ” คือสุตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตาควาวมไม่มีตัวตน โปรดพระปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลด้วยกันทั้งหมด ขณะนั้น มีพระอรหันต์ เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์รวมทั้งพระบรมศาสดาด้วย


ได้รับยกย่องทางรัตตัญญู

   พระอัญญาโกฑัญญะ เมื่ออกพรรษาแล้ว พระพุทธองค์ทรงส่งออกไปประกาศพระศาสนาพร้อมกับพระวาวกรุ่นแรกจำนวน ๖๐ รูป ท่านได้เดินทางไปยังบ้านเดิมของท่าน ได้นำหลานชายชื่อ ปุณณมันตานี ซึ่งเป็นบุตรของนางมันตานี ผู้เป็นน้องสาวของท่านมาบวช และได้ชื่อว่า พระปุณณมันตานีบุตรเถระ

   เพราะความที่ท่านเป็นพระเถระ ผู้มีอายุกาลมาก มีประสบการณ์มาก จึงได้รับยกย่อมจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้รัตตัญญู หมายถึง ผู้รู้ราตรีนาน


บั้นปลายชีวิต

   พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระเถระผู้เฒ่า ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะชอบหลีกเร่นอยู่ในสถานที่อันสงบวิเวกตามลำพัง ในคัมภีร์มโนรถปูรณี และคัมภีร์ธุรัตถวิลาสิรี กล่าวไว้ตรงกันว่า เป็นดวลา ๑๒ ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพานท่านได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษา ณ ป่าหิมพานต์ ตามลำพังนอกจากต้องการความสงบดังกล่าวแล้ว ยังมีเหตุผลส่วนตัวของท่านอีก ๓ ประการ คือ

   ; ๑ “ ท่านไม่ประสงค์จะเห็นพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ และ พระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระของพระพุทธองค์ ในกิจการพระศาสนาด้านต่าง ๆ ที่ต้องมาแสดงความเคารพนอบน้อมต่อพระผู้เฒ่าชราอย่างท่าน ซึ่งสังขารนับวันจะร่วงโรย และแตกดับเข้าไปทุกขณะ

   ๒ ท่านได้รับความเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก ที่ต้องคอยนต้อนรับผู้ไปมาหาสู่ ซึ่งมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ การอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านจึงไม่เหมาะสมสำหรับพระแก่ชราอย่างท่าน

   ๓ ท่านเบื่อหน่ายในความดื้อรั้น ของพระสัทธิวิหาก รุ่นหลัง ๆ ที่มักประพฤตินอกลู่นอกทาง ห่างไกลจากการบรรลุมรรผล

   ท่านได้อยู่จำพรรษาในป่าหิมพานต์ บริเวณใกล้สระฉัททันต์ เป็นเวลานาน ๑๒ ปี วันที่ท่านจะนิพพาน ท่านพิจารณาอายุสังขารแล้ว ได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อกราบทูลลานิพพาน ครั้นพระพุทธองค์ประทานอนุญาตแล้ว ท่านเดินทางกลับยังป่าหิมพานต์ และนิพพานในบรรณศาลาที่พักริมสระฉัททันต์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก ได้เสด็จไปทำฌาปนกิจศพให้ท่าน....

    เล่ากันว่า วันเผาศพท่านมีสัตว์ป่านานาชนิดมาชุมนุมกันอย่างเนืองแน่น ร่างกายของท่านมอดไหม้ไปท่ามกลางความอาลัยรักของศัตว์ป่าเหล่านั้น....