พระอนุรุทธเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีทิพยจักษุญาณ
    พระอนารุทธะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา มีพระเชษฐา ( พี่ชาย ) พระนามว่า เจ้าชายหานามะ มีพระกนิษฐภคินี (น้องสาว) พระนามว่า พระนางโรหิณี รวมเป็น ๓ พระองค์ด้วยกัน เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติศากวงศ์ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ได้มีศากกุมารผู้มีชื่อเสียงออกบวชติดตามพระบรมศาสดาหลายพระองค์
พี่ชายชวนบวช

   ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ เสด็จจาริกไปสู่มหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่าเจ้าชายมหานามะผ๔้เป็นพระเชษฐา ได้ปรึกษากับเจ้าชายอนุรุทธะพระอนุชาว่า

    “ในตระกูลของเรานี้ ยังไม่มีผู้ใดออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย เราสองคนพี่น้องนี้ ควรที่คนใดคนหนึ่งน่าจะออกบวช น้องจะบวชเองหรือจะให้พี่บวช ขอให้น้องเป็นผู้เลือกตามสมัครใจ ถ้าไม่มีใครบวชเลย ก็ดูเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

    เนื่องจากอนุรุษธกุมารนั้น เป็นพระโอรสองค์เล็ก พระเจ้าอมิโตทนะ พระบิดาและมารดามีความรักทะนุถนอมเป็นอย่างมาก เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีบุญมาก หมู่พระประยูรญาติทั้งหลายต่างก็โปรดปรานเอาอกเอาใจตั้งแต่แรกประสูติจนเจริญวัยสู่วัยหนุ่ม เมื่อได้ฟังเจ้าพี่มหานามะตรัสถึงเรื่องการบรรพชาอย่างนั้น จึงกราบทูลถามว่า

    “เสด็จพี่ ที่เรียกว่าบรรพชานั้น คืออะไร ?”

    “ ที่เรียกว่าบรรพชา ก็คือการปลงพระเกศาและหนวด นุ่งห่มกาสาวพัสตร์ บรรทมเหนือพื้นดิน และบิณฑบาตเลี้ยงชีพตามกิจของสมณะ”

    “ เสด็จพี่ หม่อมฉันไม่เคยทุกข์ยากลำบากอย่างนั้น ขอให้เสด็จพี่บวชเองเถิด”

    “อนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น เจ้าก็ต้องศึกษาเรื่องงาน และการครองเรือนให้เข้าใจเป็นอย่างดี”


ไม่รู้จักคำว่า ไม่มี

    แท้ที่จริง เจ้าชายอนุรุทธะ ได้รับการเอาใจจากพระประยูรญาติดังกล่าว จนกระทั้งไม่ทราบเรื่องการงาน และการดำเนินชีวิตของฆราวาสเลย ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่คำว่า “ ไม่มี” ก็ไม่เคยได้ยินนับตั้งแต่ประสูติมา ดังมีเรื่องเล่าว่า

    ครั้งหนึ่ง เข้าชายอนุรทธะ พร้อมทั้งพระสหายชวนกันไปเล่นตีคลี โดยมีการตกลงกันว่า “ ถ้าใครเล่นแพ้ต้องนำขนมมาเลี้ยงเพื่อน” ในการเล่นนั้นเจ้าชายอนุรุทธะแพ้ถึง ๓ ครั้ง ในแต่ละครั้งให้คนรับใช้ไปนำขนมจากพระมารดามาเลี้ยงเพื่อนตามที่ตกลงกัน

    ในครั้งที่ ๔ เจ้าชายอนุรทธะก็เล่นแพ้อีก และก็ใช้ให้คนไปนำขนมมาจากพระมารดาอีก พระมารดาตรัสสั่งคนรับใช้ให้มาบอกว่า “ ขนมไม่มี” เจ้าชายอนุรุทธ ไม่รู้ความหลายของคำว่า “ ไม่มี” เข้าใจไปว่าคำนั้นเป็นชื่อของขนมชนิดหนึ่ง จึงสั่งคนรับใช้ให้ไปกราบทูลแก่พระมารดาว่า “ ขนมไม่มีนั้นแหละเอามาเถอะ”

    พระมารดา เข้าพระทัยทันทีว่า พระโอรสของพระองค์นั้นไม่เคยได้ยินคำว่า “ ไม่มี” ดังนั้น จึงดำริที่จะให้พระโอรสของตนทราบความหลายของคำว่า “ ไม่มี” นั้นว่าอย่างไร จึงนำถาดเปล่ามาทำความสอาดแล้วปิดฝาด้วยถาดอีกใบหนึ่ง ส่งให้คนรับใช้นำไปให้พระโอรส

    ในระหว่างทางที่คนรับใช้ถือถาดเปล่าเดินไปนั้น เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูคิดว่า “ เจ้าชายอนุรุทธะนี้ ได้สร้างบุญบารมีมาแต่ชาติปากก่อน ครั้งที่เกิดเป็นอันนภาบุรุษ ได้ถวายอาหารที่ตนกำลังจะบริโภคแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า อรฏฐะ แล้วได้ตั้งความปรารถนาว่า “ ถ้าได้เกิดใหม่ ขออย่าให้ได้ยินคำว่า “ ไม่มี” กับทั้งสถานที่เกิดของอาหาร ก็ขออย่าได้พานพบเลย” ดังนั้น ถ้าเจ้าชายอนุรทธะได้รู้จักคำว่า ไม่มีแล้วเราต้องถูกเทพยดาผู้มีอำนาจเหนือกว่าลงโทษแน่ ” จึงได้เนรมิตขนมทิพย์จนเต็มถาด เจ้าชายอนุรุทธะและพระสหายได้เสวยขนมทิพย์ที่มีโอชายิ่งนัก ซึ่งพวกตนไม่เคยได้เสวยมาก่อนเลย จึงกลับไปต่อว่าพระมารดาว่า

    “ ข้าแต่เสด็จแม่ ทำไมเสด็จแม่เพิ่งจะมารักลูกวันนี้เอง วันอื่น ๆ ไม่เห็นเสด็จแม่ทำขนมไม่มีให้ลูกได้เสวยเลย ตั้งแต่นี้ไป ลูกขอเสวยแต่ขนมไม่มีเพียงอย่างเดียว ขนมชนิดอื่นไม่ต้องทำอีก

    นับแต่นั้น เมื่นเจ้าชายอนุรุทธะขอเสวยขนม พระมารดาก็ต้องนำถาดมาทำความสอาดแล้วปิดฝาด้วยถาดอีกใบหนึ่งส่งไปให้ทุกครั้ง ด้วยเหตุนี้ เมื่อเจ้าพี่มหานามะบอกให้ศึกษาเรื่องการครองเรือน เจ้าชายอนุรุทธะ จึงทูลถามเจ้าพี่ว่า

    “ การงานที่ว่านั้น คืออะไร ?”


เรียนเรื่องการทำนา

    เจ้าชายมหานามะ ได้สดับคำถามของพระอนุชาดังนั้น จึงได้ยกเอาเรื่องการทำนาขึ้นมาสอน เริ่มด้วยการนำเข้าเก็บในยุ้งฉาก อย่างนี้เรียกว่า การงาน”

    “ เสด็จพี่ การงานนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ?”

    “ ไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อถึงฤดูกาลก็ต้องทำอย่างนี้ตลอดไป วนเวียนหาที่สุดมิได้”

    เจ้าชายอนุรทธะน้น จะรู้เรื่องการทำนาได้อย่างไร ในเมื่อครั้งหนึ่งเคยนั่งสนทนากับพระสหายและตั้งปัญญาถามกันว่า

    “ ภัตตาหารที่เราเสวยกันทุกวันนี้ เกิดที่ไหน ?”

    “ เกิดในฉาง” เจ้าชายกิพิละตอบ เพราะเคยเห็นคนนำข้าวออกมาจากฉาง

    “ เกิดในหม้อ” เจ้าชายภัททิยะตอบ เพราะเคยเห็นคนคดข้าวออกจากหม้อ

    “ เกิดในชาม” เจ้าชายอนุรุทธตอบ เพราะทุกครั้งจะเสวยภัตตาหาร ก็จะเห็นข้าวอยู่ในชามเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเข้าใจอย่างนั้น

    เมื่อได้ฟังเจ้าพี่มหานามะสอนถึงเรื่องการงาน ดังนี้แล้ว จึงเกิดท้อแท้ขึ้นมา และการงานนั้นก็ไม่มีที่สิ้นสุด จึงกราบทูลเจ้าพี่มหานามะว่า “ ถ้าเช่นนั้นขอให้เสด็จพี่อยู่ครองเรือนเถิด หม่อมฉันจักบวชเอง ถึงแม้การบวชจะลำบากกว่าการเป็นอยู่ในฆราวาสนี้ ก็ยังมีภาระที่น้อยกว่า และมีวันสิ้นสุด ”


ตายดีกว่าถ้าไม่ได้บวช

    เมื่อตกลงกันเช่นนี้แล้ว เจ้าชายอนุรุทธะจึงเข้าไปเฝ้าพระมารดากราบทูลให้ทรงทราบเรื่องที่ตกลงกับเจ้าพี่มหานามะแล้ว กราบทูลขอลาบวชตามเสด็จพระบรมศาดา พระมารดาได้ฟังก็ตกพระทัยตรัสห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง แต่พระโอรสก็ยืนยันจะบวชให้ได้ ถ้าไม่ทรงอนุญาต จะขออดอาหารจนตาย และก็เริ่มไม่เสวยอาหารตั้งแต่บัดนั้น ในที่สุดพระมารดาเห็นว่าการบวชยังมีโอกาสได้เห็นพระโอรสดีกว่าปล่อยให้ตาย อนึ่ง อนุรุทธะนั้น เมื่อบวชแล้วได้รับความลำบากก็คงอยู่ไม่ได้นานก็จะสึกออกมาเอง

    พระมารดาจึงตกลงอนุญาตให้บวช แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเจ้าชายภัททิยะพระสหายออกบวชด้วยจึงจะให้บวช เจ้าชายอนุรุทธะดีใจรีบไปชวนเจ้าชายภัททิยะให้บวชด้วยกันโดยกล่าวว่า “ การบวชของเราเนื่องด้วยท่าน ถ้าท่านบวชเราจึงจะได้บวช” แต่เจ้าชายภัททิยะปฏิเสฐ เจ้าชายอนุรุทธะทรงอ้อนวอนอยู่ถึง ๗ วัน เจ้าชายภัททิยะจึงยอมบวชด้วย

    ในครั้งนั้น เจ้าชายศากยะ ๕ พระองค์ คือ เจ้าชายภัททิยะ ๑ เจ้าชายอนุรุทธะ ๑ เจ้าชายอานนท์ ๑ เจ้าชายภัคคุ ๑ และเจ้าชายกิมพิละ “ และเจ้าชายฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต พร้อมด้วยอำมาตย์ช่างกัลบกอีก ๑ คน คือ อุบาลี รวมเป็น ๗ เสด็จออกเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยอัมพวันเมืองพาราณสี ในระหว่างทางเจ้าชายทั้ง ๖ ได้เปลื้องเครื่องประดับอันมีค่าส่งมอบให้อุบาลีช่างกัลบกที่ติดตามไปด้วย พร้อมทั้งตรัสสั่งว่า

    “ ท่านจงนำเครื่องประดับเหล่านี้ไปจำหน่ายเลี้ยงชีพเถิด”

    อุบาลี รับเครื่องประดับเหล่านั้นแล้วแยกทางกลับสู่พระนครกบิลพัสดุ์พลางคิดว่าขึ้นมาว่า “ ธรรมดาเจ้าศากยะทั้งหลายนั้นดุร้ายนักถ้าเห็นเรานำเครื่องประดับกลับไปก็จะพากันเข้าใจว่า เราทำอันตรายพระราชกุมารแล้ว นำเครื่องประดับมาก็จะลงอาญาเราจนถึงชีวิต อนึ่งเล่า เจ้าชายศากยกุมารเหล่านี้ ยังละเสียซึ่งสมบัติอันมีค่าออกบวชโดยมิมีเยื่อใย ตัวเรามีอะไรนักหนาจึงจะมารับเอาสิ่งของที่เขาทิ้งดุจก้อนเขฬะนำไปดำรงชีพได้”

    เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงแก้ห่อนำเครื่องประดับทั้งหลายเหล่านั้นแขวนไว้กับต้นไม้แล้วกล่าวว่า “ ผู้ใดปรารถนาก็จงถือเอาตามความประสงค์เถิด เราอนุญาตให้แล้ว ” จากนั้นก็ออกเดินทางติดตามเจ้าชายทั้ง ๖ พระองค์ ไปทันที่อนุปิยอัมพวัน กราบทูลแจ้งความประสงค์ขอบวชด้วย


ให้อุบาลีกัลบกบวชก่อน

    เจ้าชายอนุรุทธะ เมื่อทราบความประสงค์ของอุบาลีเช่นนั้น จึงกราบทูลพระบรมศาสดาว่า “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์เป็นกษัจริย์ มีขัตติยมานะแรงกล้า ขอพระองค์ประทานการบรรพชาแก่อุบาลี ผู้เป็นอำมาตย์รับใช้ปวงข้าพระองค์ก่อนเกิด เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้แสดงความเคาวะกราบไหว้ อุบาลีตามประเพณีนิยมของพระพุทธสาวก จะได้ปลดเปลื่องขัตติยมานะให้หมดสิ้นไปจากสันดาน”

    พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนา แล้วประทานการบรรพชาแก่อุบาลีก่อนตามความประสงค์แล้วประทานการบรรพชาแก่กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ภายหลัง เมื่อบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว

    พระภัททิยะ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมไตรวิชา ภายในพรรษานั้น

    พระอนุรุทธะ ได้สำเร็จทิพยจักษุญาณก่อน ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนามหาสปุริสวิตกสูตร ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    พระอานนท์ ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน

    พระภักคุ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    พระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    พระเทวทัต ได้บรรลุธรรมชั้นฤทธิ์ปุถุชนอันเป็นโลกิยะ

    พระอุบาลี ศึกษาพุทธพจน์แล้ว เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ภายในพรรษานั้น

    พระอนุรทธะ เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เรียนกรรมฐานจากพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้วเข้าไปสู่ป่าจีนวังสมฤคทายวัน ขณะเจริญสมณธรรมอยู่นั้นได้ตรึกถึงมหาปริสวิตก ๗ ประการ คือ

    ๑ ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีคววามปรารถนาใหญ่

    ๒ ธรรมนี้ของผู้สันโดษ ยินดีด้วยของผู้ยินดีของทีมีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ

    ๓ ธรรมนี้ของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่

    ๔ ธรรมนี้ของผู้ปรารถนาความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน

    ๕ ธรรมนี้ของผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง

    ๖ ธรรมนี้ของผู้ที่ตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่ตั้งมั่น

    ๗ ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม

    เมื่อพระเถระตรึกอยู่อย่างนี้ พระบรมศาสดาเสด็จไปยังที่อยู่ของพระเถระ ทราบว่าเธอกำลังตรึกอยู่อย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่า ดีล่ะ ดีล่ะ แล้วทรงแนะนำให้ตรุกในข้อที่ ๘ ว่า

    ธรรมของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนื่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า


ได้รับยกย่องผู้มีทิพยจักษุญาณ

    ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนพระเถระแล้ว ได้เสด็จกลับสู่ที่ประทับ ส่วนพระอนุรุทธเถระได้บำเพ็ญสมณธรรมต่อไป ก็ได้บรรลุอรหัตผล ตั้งแต่นั้นมา ท่านได้ตรวจดูสัตว์โลกด้วยทิพย์จักษุญาณเสมอ ยกเว่นขณะกำลังฉันภัตตาหารเท่านั้น

    ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาดา ได้ตรัสยกย่องชมเชยยท่านในตำแหน่งเอทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้มีทิพยจักษุญาณ


ปฐมเหตุประเพณีการทอดผ้าบังสุกุล-ผ้าป่า

    สมัยหนึ่ง ท่านอนุรุทธเถระ จำพรรษาอยู่ที่เวฬุวัน เมืองราชคฤห์ จีวรที่ท่านใช้อยู่นั้นเก่ามาก ท่านจึงแสวงหาผ้าบังสุกุล ( ผ้าเปื้อนฝุ่น ) ตามกองขยะกองหยากเยื่อเพื่อนำมาทำจีวร ครั้งนั้น อดีตภรรยาเก่าของท่านชื่อ ชาลินี ซึ่งไปจุติไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เห็นพระเถระแสวงหาผ้าอยู่เช่นนั้นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงนำผ้ามาจากสวรรค์ลงมายังโลกมนุษย์ และคิดว่า “ ถ้าเราจะนำเข้าไปถวายโดยตรง พระเถระก็คงไม่รับแน่ ” จึงหาอุบายซุกผ้าผืนนั้นไว้ในกองขยะกองหยากเยื่อ มีชายผ้าโผล่ออกมาเพื่อให้พระเถระได้เห็น ในทางที่พระเถระกำลังมุ่งหน้าไปทางนั้น พระเถระเห็นชายผ้าผืนนั้นแล้วดึงออกมาพิจรณาเป็นผ้าบังสุกุล และคิดว่า “ ผ้าผืนนี้ เป็นผ้าบังสุกุลที่มีราคายิ่งนัก ” แล้วนำกลับไปสู่อาราม เพื่อจัดการทำจีวร อนึ่ง กริยาที่นางเทพธิดาชาลินี นำผ้าไปวางซุกไว้ในกองขยะกองหยากเยื่อ ในลักษณะทอดผ้าป่าในปัจจุบันนี้


พระพุทธองค์ทรงช่วยเย็บจีวร

    ในการทำจีวรของท่านนั้นเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระบรมศาสดาทรงพาพระมหาสาวกเป็นจำนวนมากมาร่วมทำจีวร โดยพระองค์เองทรงร้อยเข็ม พระมหากัสสปะนั้งอยู่ช่วงต้อน พระสารีบุตรเถระนั่งอยู่ตรงกลาง พระอานนท์นั่งอยู่ช่วงปลายสุด ทั้ง ๓ ท่านนี้ช่วยกันเย็บจีวร ส่วนพระภิกษุสงฆ์ที่เหลือก็ชวยกันกรอด้าย พระมหาโมคคัลลนเถระกับนางเทพธิดาชาลินี ช่วยไปชักชวนอุบาสกอุบาสิกาในหมู่บ้าน ให้นำภัตตาหารมาถวายพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูป การเย็บจีวรของพระอนุรุทะเถระสำเร็จด้วยดีภายในวันเดียวเท่านั้น

    เทพธิดาชาลินีนางนี้แหละคราวที่พระเถระจำพรรษาอยู่ในป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ได้มาหาท่านและนิมนต์ให้ท่านตั้งจิตปรารถนาไปเกินในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยนางได้อ้างถึงความสวยงามของสวนนันทวัน ให้พระเถระฟังท่านได้ตอบไปว่าท่านไม่มีโอกาสได้เกิดในหมู่เทวดาอีกแล้ว เนื่องจากลายการเวียนว่ายตายเกิดได้หมดสิ้น

    การที่นางเทพธิดากล้ากล่าวเช่นนั้นแก่ท่านก็เพราะว่าใน ๓ ชาติที่แล้ว นางได้เกิดเป็นภรรยาของท่านในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นเอง นางจำท่านได้และความรักอาลัยยังมีอยู่จึงกล่าวไปตามความรู้สึก โดยหารู้ไม่ว่าบัดนี้ท่านได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ธรรมกถาเรื่อง “ เจโตมุติ” ( เจโตวิมุตติ) ของท่านนับว่าเป็นธรรมกถาที่สำคัญมากเรื่องหนึ่ง ที่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจสมาธิ พระไตรปิฎกบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

    ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนาราม เมืองสาวัตถีนั้น พระอนุรุทธเถระได้ตามเสด็จไปด้วย วันหนึ่งหัวหน้าช่างไม้คนหนึ่งชื่อ “ ปัญจังคะ” ส่งคนให้มานิมนต์พระเถระไปฉันภัตตาหารแล้วช่างไม้ได้สนทนากับท่านดังนี้

    ช่างไม้ “ พระคุณเจ้าผู้เจริญ เจโตวิมุติอันไม่มีประมาณกับเจโตวิมุติอันมีอารมณ์ใหญ่ ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร

    พระเถระ “ แล้วท่านเข้าใจว่าอย่างไร ”

    ช่างไม้ " โยมเข้าใจว่า วิมุติทั้ง ๒ นี้ มีความหมายเหมือนกัน ต่างกันเฉพาะตัวหนังสือเท่านั้น ขอรับพระคุณเจ้า ”

    พระเถระ " เจโตวิมุติทั้ง ๒ นี้ต่างกันทั้งความหมายและตัวหนังสือ เจโตวิมุติอันไม่มีประมาณ คือ ภิกษุแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปตลอดทั้งโลกแล้วมีจิตเพียบพร้อมด้วยพรหมวิหารธรรมอยู่อย่างไม่มีประมาณ คือ ไม่มีของเขตจำกัดในผู้ใดผู้หนึ่ง แผ่ไปอย่างไพบูลย์กว้างขวางทั้งในสัตว์ทุกประเภทและในโลกทั้งปวง เจโตวิมุติอันมีอารมณ์ใหญ่ คือ ภิกษุแผ่ขยายไปครอบเขต ๑ เขตบ้าง ๒ เขคบ้าง ๓ เขตบ้าง จากนั้นก็แผ่ขยายออกไปครอบคลุมประเทศ ๑ บ้าง ๒ ประเทศบ้าง ๓ ประเทศบ้าง จนกระทั้งแผ่กระขยายไปครอบคลุมถึงแผ่นดินคือโลกที่มีมหาสมุทรเป็นที่สุด แล้วนึกอยู่ในใจว่าใหญ่ ๆ ”

    ช่างไม้ได้ฟังพระเถระตอบแล้วก็เข้าใจความหมายของเจโตวิมติทั้ง ๒ ได้ดี ซึ่งนับได้ว่างานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านประสบผลสำเร็จ

    พระเถระยังได้กล่าวธรรมกถาอีกในโอกาสต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีเรื่องเล่าว่า

    ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเข้าปนุพพวิการสมาบัติ คือเข้าฌานไปตามลำดับเริ่มตั้งแต่ปฐุมฌานไปจนถึงนิโรธสมาบัติ พระอานนท์เถระเห็นพระพุทธองค์ทรงบรรทมสงบนิ่งไม่ทรงหายใจเข้าออกจึงถามพระอนุรุทธเถระว่า “ พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วหรือ” พระอนุรุทธเถระท่านเข้าฌานตามพระพุทธองค์อยู่ตลอดเวลา และทราบว่าพระพุทธองค์กำลังเข้านิโรธสมาบัติจึงว่า ยัง จนกระทั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงออกจากนิโรธสมาบัติแล้วลงสู่ภวังค์ พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในขณะลงสู่ภวังค์นั้น พระอนุรทธเถระทราบ จึงออกจากสมาบัติแล้วแจ้งให้พระอานนท์เถระทราบ

    ทันทีที่พระอานนท์ทราบได้แจ้งให้พระรูปอื่น ๆ ที่ประชุมเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่นั้นได้ทราบด้วยพระสาวกอริยะก็ปลงธรรมสังเวชว่า “ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง”

    ส่วนพระสาวกที่เป็นปุถุชน ต่างเสียใจร้องไห้คร่ำครวญด้วยความอาลัยรักในพระพุทธเจ้า พระอนุรุทธเถระเห็นเหตุการณ์นั้นจึงเข้าไปปลอบ โดยกล่าวข้อเตือนใจว่า

    ท่านทั้งหลาย อย่าได้เสียใจไปเลย อย่าค่ำครวญไปเลย

    พระศาสดาเคยตรัสไว้แล้วมิใช่หรือว่า ความพลัดพรากจากของรักของชอบ

    ทั้งหมดนั้น ย่อมมีเป็นธรรมดา สิ่งที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว

    มีปัจจัยปรุงแต่ง มีความแตกสลายไปเป็นธรรมดา

    ไม่มีใครจะบังคับได้หรอกว่า จงอย่าแตกสลาย

    ขณะนั้นถือได้ว่าท่านเป็นพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งอยู่ในที่นั้น พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในตอนกลางคืน ตลอดคืนวันนั้นท่านกับพระอานนท์เถระจึงได้ทำหน้าที่กล่าวธรรมกถาปลอบโยน พระสาวกที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ตลอดคืนจนรุ่งเช้า ท่านจึงมอบหมายให้พระอานนท์เถระไปแจ้งข่าวให้เหล่ากษัตริย์ได้ทราบ

    ท่านเป็นคนแจ้งเหล่ามัลลกษัตริย์ให้อัญเชิญพระบรมศพของพระพุทธองค์เข้าเมืองทางประตูเมืองทางทิศอุดร ( เหนือ) ผ่านกลางเมืองไปออกทางประตูเมืองด้านทิศบูรพา ( ตะวันออก) ก่อนนำไปถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ทั้งนี้เป็นไปตามประสงค์ของเทวดาที่ต้องการจะบูชาพระบรมศพของพระพุทธเจ้า

    ท่านยังได้ร่วมทำกิจพระศาสนาครั้งสำคัญ ในการทำปฐมสังคายนากับคณะสงฆ์โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระอุบาลีเถระวิสัชนาพระวินัย และพระอานนท์เถระวิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม

    พระอนุรุทธเถระ ท่าน ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ได้ดับขันธ์ เข้าสู่นิพพาน ณ ภายใต้ร่มกอไผ่ ในหมู่บ้านเวฬวะ แคว้นวัชชี.......


เจโตวิมุติอันไม่มีประมาณกับเจโตวิมุตอันมีอารมณ์ใหญ่

   เจโตวิมุติคู่กับปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติ คือ หลุดพ้นจากราคะด้วยอำนาจสมาธิ เป็นฝ่ายสมภกรรมฐาน ส่วนปัญญาวิมุติ คือ หลุดพ้นจากอวิชา ( ความไม่รู้) ด้วยอำนาจปัญญา เป็นฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ในการบรรลุธรรม วิมุติทั้ง ๒ นี้ต้องเกิดพร้อมกันจึงจะละกิเลสได้....