พระสารีบุตรเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญา
   ในสมัยนั้น ไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์มากนักพราหม์ ๒ หมู่บ้าน ชื่อ อุปติสสความ และ โกลิตความ

   ในหมู่บ้านอุปติสสความ มีหัวหน้าหมู่บ้านชื่อว่า วังคันตะ ภรรยาชื่อว่า นางรีบุตรชื่อว่า อุปติสสะ แต่เพราะเป็นบุตรของนางสารี จึงนิยมเรียกกันว่า สารีบุตร

   ในหมู่บ้านโกลิตความ มีภรรยาของหัวหน้าหมู่บ้านชื่อว่า นางโมคคัลลี มีบุตรชื่อว่า โกลิตะ แต่นิยมเรียกกันว่า โมคคัลลานะ ตามชื่อมารดา

   ทั้งสองตระกูลนี้ มีความเกี่ยวข้องเป็นสหายกันมานานถึง ๗ ชั่วอายุคนดังนั้น มาณพทั้งสอง จึงเป็นสหายกันประดุจบรรพบรุษ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันเข้าศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์คนเดียวกันเมื่อจบการศึกษาก็เป็นเพื่อนเที่ยวร่วมสุขร่วมทุกข์ หาความสนุกความสำราญ ดูการเล่นมหารสพตามประสาวัยรุ่นและให้รางวัลแก่ผู้แสดงบ้างตามโอกาสอันควร


เบื่อโลกจึงออกบวช

   วันหนึ่ง สหายทั้งสองพร้อมด้วยบริวารไปดูมหรสพด้วยกับเช่นเคย แต่ครั้งนี้มิได้มีความสนุกยินดี เบิกบานใจเหมือนครั้งก่อน ๆ เลย ทั้งสองมีความคิดตรงกันว่า “ ทั้งคนแสดงและคนดู ต่างก็มีอายุไม่ถึงร้อยปีก็จะตายกันหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลยกับการหาความสุขความสำราญแบบนี้ เราควรแสวงหาโมขธรรม จะประเสริฐกว่า” ทั้งสองเมื่อทราบความรู้สึกและความประสงค์ของกันและกันแล้ว จึงตกลงกันนำบริวารฝ่ายละครึ้ง รวมได้ ๕๐๐ คนออกบวช และปรึกษากันว่า “ พวกเราควรจะไปบวชในสำนักของใคร และอาจารย์ไหนจึงจะดี”

   สมัยนั้น สญชัยปริพาบก เป็นอาจารย์เจ้าสำนักใหญ่ในเมืองราชคฤห์มีคนเคารพนับถือ และมีศิษย์ มีบริวารมากมาย มาณพทั้งสองจึงพากันเข้าไปขอบวชฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิทยาในสำนักนี้ สำนักของสญชัยปริพาชก ตั้งแต่มาณพทั้งสองมาบวชอยู่ด้วยแล้วก็เจริญรุ่งเรืองด้วยลาภสักการะ และคนเคารพนับถือมากขึ้น มาณพทั้งสองศึกษาอยู่ในสำนักนี้ไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ เมื่อถามถึงวิทยาการที่สูงขึ้นไปอีก อาจารย์ก็ไม่สามารถจะสอนให้ได้ จึงปรักษากันว่า

   “ การบวชอยู่ในสำนักนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ลัทธนี้มิใช่ทางเข้าถึงโมขธรรม เราควรพยายามแสวงหาอาจารย์ ผู้สามารถแสดงโมขธรรมแก่เราได้” ดังนั้น ทั้งสองจึงทำสัญญาต่อกันว่า “ ในระหว่างเราทั้งสอง ถ้าผู้ใดได้อมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กันให้รู้ด้วย”

   วันหนึ่ง พระอัสสชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนพระปัจจวัคคีย์ ที่พระพุทธองค์ทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ได้จาริกมาถึงกรุงราชคฤห์ และเข้าไปบิณฑบาตในเมือง อุปติสสปริพาชก ออกจากอารามมาด้วยกิจธุระภายนอกเห็นท่านแสดงออกศึ่งปฏิทาอันน่าเลื่อมใส จะก้าวไปหรือถอยกลับ จะเหยียดแขนหรือพับแขน จะเหลี่ยวซ้ายแลขวา ดูน่าเลื่อมใสเรียบร้อยไปทุกอิริยาบถทอดจักษุแต่พอประมาณ มีอาการแปลกจากบรรพชิตที่เคยเห็นมาแต่กาลก่อนอยากจะทราบว่า ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน แต่มิอาจถามท่านได้ เพราะมิใช่กาลเวลาอันสมควร จึงเดินตามไปห่าง ๆ

   เมื่อพระเถระได้รับอาหารพอควรแล้ว จึงออกไปสู่ที่แห่งหนึ่ง เพื่อทำภัตกิจ อุปติสสปริพาชก จึงได้จัดปลาดอาสนา ถวายน้ำใช้น้ำฉัน และคอยเฝ้าปฏิบัติอยู่ เมื่อเสร็จถัตกิจแล้ว จึงกราบเรียนถามด้วยความเคารพว่า

   “ ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ อินทรีของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านก็หมดจดผ่องใส ท่านบวชในสำนวนสำนักของ ใครเป็นศาสดาของท่าน และท่านชอบใจธรรมของใคร ?”

   พระเถระตอบว่า “ ปริพาชกผู้มีอายุเราบวชจำเพระพระมหาสมณะศากยบุตร ผู้เสด็จออกจากซากยสกุล พระองค์เป็นศาสดาของเรา เราชอบใจในธรรมของท่าน”

   “ พระศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร?”

   พระเถระคิดว่า “ ธรรมดาปริพาชกทั้งหลาย ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนาควรที่เราจะแสดงความลึกซึ้งคัมภีรภาพแห่งพระธรรม” จึงกล่าวว่า

   “ ผู้มีอายุ เราเป็นผู้บวชใหม่ มาสู่พระธรรมวินัยนี้ไม่นาน ไม่สามารถจะแสดงธรรมแก่ท่านโดยพิศดารได้ เราจักกล่าวแก่ท่านแต่โดยพอรู้ความ”

   “ ท่านสมณ ท่านจงกล่าวแต่เนื้อความเถิด ข้าพเจ้าต้องการเฉพาะเนื้อความเท่านั้น”

   พระอัสสชิเถระ ได้ฟังคำของอุปติสสปริพาชกแล้ว จึงกล่างหัวข้อธรรมมีใจความว่า

   เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ุ ตถาคโต

   เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํวาที มหาสมโณ ฯ

   “ ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด ( เกิดแต่เหตุ)

   พระตถาคตเจ้า ทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น

   และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น

   พระมหาสมณะ ตรัสอย่างนี้”

    อุปติสสะ เพียงแต่ได้ฟังหัวข้อธรรมนี้จากพระเถระเท่านั้นก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เกิดธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมว่า

   “ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” ดังนี้แล้วถามว่า “ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เวลานี้พระบรมศาสดาของเราประทับอยู่ที่ไหน ขอรับ?”

   “ ผู้มีอายุ พระองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร”

   “ ถ้าอย่างนั้น นิมนต์พระคุณเจ้าไปก่อนเถิด ข้าพเจ้าจะกลับไปหาสหายก่อน และจะพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาต่อภายหลัง”

   อุปติสสะ กราบลาพระเถระแล้ว ทำประทักษิณ ๓ รอบแล้วรับกลับไปสู่สำนักปริพาชก ส่วน โกลิตะ ผู้เป็นสหาย เห็นอุปติสสะเดินมาแต่ไกลด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ผิวพรรณมีสง่าราศีกว่าวันอื่น ๆ จึงคิดว่า “ วันนี้สหายของเรา คงได้พบอมตธรรมเป็นแน่” เมื่อสหายเข้ามาถึงจึงรีบสอบถาม ก็ได้ความตามที่คิดนั้น และเมื่ออุปติสสะแสดงหัวข้อธรรมให้ฟัง ก็ได้ ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็น พระโสดาบันเช่นเดียวกัน สองสหายตกลงที่จะพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา

   จึงเข้าไปหาอาจารย์สญชัยปริพาชกชักชวนให้ร่วมเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยกัน

   แต่อาจารย์สญชัยปริพาชก ผู้มีทิฏฐิแรงกล้าถือตนว่าเป็นเจ้าสำนักใหญ่มีคนเคารพนับถือมากมาย ไม่สามารถที่จะลดตัวลงไปเป็นศิษย์ใครได้จึงไม่ยอมไปด้วย ปล่อยให้สองสหายพาศิษย์ของตนไปเฝ้าพระบรมศาสดา แต่พอเห็นศิษย์ในสำนักออกไปคราวเดียวกันมากขนาดนั้น เห็นสำนักเกือบจะว่างเปล่า เหลือศิษย์อยู่เพียงไม่กี่คน จึงเกิดความเสียใจอย่างแรง และถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา

   อุปติสสะและโกลิตะ พร้อมด้วยบริวารพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทสี่ ได้ทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมดด้วยบริวาร เดินมาแต่ไกล จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริพาชกสองสหายที่กำลังเดินมานั้น คืออัครสาวก ของตถาคต”

   เมื่อปริพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารมาถึงที่ประทับกราบถวายบังคมแล้วนั่งในที่อันสมควร ได้สดับพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว บรรดาบริวารทั้งหมดได้บรรลุพระอหหัตผล เว้นอุปสสะและโกลิตะผู้เป็นหัวหน้า ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงประทานการอุปสมบทแก่พวกเธอทั้งหมดด้วยวิธี “ เอหิภิกขุอุปสัมปทา” และทรงบัญญัตนามให้ท่านอุปติสสะว่า “ พระสารีบุตร” และให้ท่านโกลิตะว่า “ พระโมคคัลลานะ” ตามมงคลของมารดา

   พระสารีบุตร หลังจากอุปสมบทแล้วได้ ๑๕ วัน ได้ติดตามพระพุทธองค์ซึ่งเสด็จไปประทับพักที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ วันหนึ่ง ขณะที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่ถ่ำสุกรขาตา ที่ภูเขาคิชฌกูฏนั้น ปริพาชกผู้หนึ่งนามว่า ทีฆนขะ ซึ่งเป็นอัคคิเวสนโคตร และเป็นหลานชายของพระสารีบุตร เที่ยวติดตามหาลุงจนพบ ได้เข้าเฝ้ากราบทูลถามถึงทิฏฐิ คือ ความเห็นของตน พระผู้มีพระภาคว่า

   “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพระองค์ ๆ ไม่ชอบใจหมดทุกสิ่ง”

   “ดูก่อนปริพาชก ถ้าอย่างนั้น ทิฏฐิคือความคิดเห็นเช่นนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ปริพาชกด้วย และปริพาชก ก็ต้องไม่ชอบทิฏฐินั้นด้วยเหมือนกัน”

   ลำดับต่อจากนั้น พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมเทศนาชื่อว่า “ เวทนาปริคคหสูตร” ทรงแสดงถึงเวทนา เวลานั้น ย่อมไม่ได้เสวยทุกขเวทนาหรือ อทุกขมสุขเวทนา

   ในเวลาใด เมื่อบุคคลเสวยอทุกขเวทนาสุขเวทนา เวลานั้น ย่อมไม่ได้เสวยสุขเวทนา หรือ ทุกขเวทนา

   ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดทีฆนขอยู่นั้น พระสารีบุตร ได้นั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังพระศาสดา พัดไปพลาง ฟังไปพลางส่งจิตพิจรณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น จิตก็หลุดพ้นจากอาสวกิเลสบรรลุพระอรหัตผล ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ ประหนึ่งว่าบริโภคอาหารที่บุคคลจัดให้คนอื่น ส่วนฆนขะ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แสดงตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา


ได้รับยกย่องในทางผู้มีปัญญา

   เมื่อพระสารีบุตร ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถแสดงพระธรรมจักรวัตนสูตรและอริยสัจ ๔ ได้เหมือนพุทธองค์และเป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศเผยแผ่พระศาสนา

   ดังนั้น ขณะที่พระพุทธองค์ ประทับที่กรุงราชคฤห์นั้น ได้ทรงประกาศยกย่อง พระสารีบุตร ในท่ามกลางสงฆ์ ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พระอัคครสาวกเบื้องขวา

   นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังทรงยกย่องพระสารีบุตรเถระ อีกหลายประการกล่าวคือ

   ๑ เป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน เช่น สมัยที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวหะ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลลาไปปัจฉาภูมิชนบททรงนับสั่งให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อท่านจะได้แนะนำสั่งสอน มิให้เกิดความเสียหายในระหว่างการเดินทาฃและในสถานที่ที่ไปนั้นด้วย

   ๒ ยกย่องท่านเป็น “ พระธรรมเสนาบดี” ซึ่งคู่กับ “ พระธรรมราชา” คือพระองค์เอง

   ๓ ยกย่องท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ เช่น ท่านนับถือพระอัสสชิเป็นอาจารย์ เพราะท่านเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาด้วยการฟังธรรมจากพระอัสสชิ ทุกคืนก่อนที่ท่านจะนอน ท่านได้ทราบข่าวพระอัสสชิอยู่ทางทิศใดท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อนแล้วจึงนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น

   อีกเรื่องหนึ่ง คือ พราหมณ์ชราชื่อราธะ มีศรัทธาจะอุปสมบท แต่ไม่มีภิกษุรูปใดรับเป็นพระอุปชฌาย์ให้ พระพุทธองค์ตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า “ ผู้ใดระลึกถึงอุปการของพราหมณ์นี้ได้บ้าง” พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า “ ระลึกได้ คือ ครั้งหนึ่งราธพราหมณ์ผู้นี้ ได้เคยใส่บาตร ด้วยข้าวสุกแก่ท่านหนึ่ง ทัพพี” พระพุทธองค์จึงทรงมอบให้ท่านพระสารีบุตร เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบทให้แก่ราธพราหมณ์


ถูกภิกษุหนุ่มฟ้อง

   พระเถระนับว่าเป็นผู้ทีขันติธรรมความอดทนสูงยิ่ง มีจิตสงบเรียบไม่หวั่นไหวด้วยอารมณ์ต่าง ๆ ดังเรื่องในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย นวกนิบาตในธรรมบทว่า

   สมัยหนึ่ง พระเถระ เมื่อออกพรรษาแล้วมีความประสงค์จะเที่ยวจาริกไปยังชนบทต่าง ๆ กราบทูลลาพระผู้มีพระภอคเจ้าแล้ว ออกจากพระเชตวนารามพร้อมด้วยกับภอกษุผู้เป็นบริวารของท่าน ขณะนั้น ก็มีภิกษุอีกจำนวนมากออมาส่งพระเถระ และพระเถระก็ทักทายปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น ด้วยอัธยาศัยไมตรี ก่อให่เกิดความปิติยินดีแก่พวกเธอเป็นอย่างยิ่ง แต่มีภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งพระเถระไม่ทันได้สังเกตุเห็นจึงมิได้ทักทายด้วย ก็เกิดความน้อยใจและโกรธพระเถระบังเอิญชายผ้าสังฆาฏิของพระเถระ ไปกระทบภิกษุรูปนั้นเข้า โดยที่พระเถระไม่ทราบ ภิกษุรูปนั้นจึงถือเอาเหตุนี้เข้าไปกราบทูลฟ้องต่อพระบรมศาสดาว่า

   “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตรเถระ เดินกระทบข้าพระองค์แล้วไม่กล่าวขอฏทษ เพราะด้วยสำคัญว่าตนเป็นอัครสาวกของพระพุทธองค์พระเจ้าข้า”

   พระพุทธองค์ แม้ทรงทราบเป็นอย่างดี แต่เพื่อให้เรื่องปรากฏแก่ที่ประชุมสงฆ์ จึงรับสั่งให้พระเถระเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามเรื่องราวโดยตลอด


เปรียบตนด้วยอุปมา ๙ อย่าง

    พระเถระมิได้กราบทูลปฏิเสธโดยตรงในที่ประชุมสงฆ์นั้น แต่ได้อุปมาเปรียบเทียบตนเองเหมือนสิ่งของ ๙ อย่าง คือ

    เหมือนดิน - น้ำ - ไฟ - ลม ซึ่งถูกของสอาดบ้างไม่สอาดบ้างทิ้งใส่แต่ก็ไม่รังเกียจ ไม่เบื่อหน่าย ไม่หวั่นไหว

    เหมือนเด็กจัณฑาล ที่มีความสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่เสมอเวลาเข้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ

    เหมือนโค ที่ถูกตัดเขา ผึกหัดมาดีแล้ว ย่อมไม่ทำร้ายใคร ๆ

    เหมือนผ้าขี้ริ้ว สำหรับเช็ดฝุ่นละอองของสอาดบ้าง ไม่สอาดบ้าง

    เบื่อหน่ายอึดดัดกายของตน เหมือนซากงู ( ลอกคราบ)

    บริหารกายของตน เหมือนคนแบกหม้อน้ำมันที่รั่วทะลุ จึงมีน้ำมันไหลออกอยู่

   เมื่อพระเถระ กราบทูลอุปมาตนเองเหมือนเด็กจัณฑาล เหมือนผ้าขี้ริ้วเป็นต้น ภิกษุปุถุชนถึงกับตื้นตัน ไม่อาจอดกลั้นน้ำตาได้ พระขีณาสพก็เกิดธรรมสังเวช ส่วนภิกษุผู้กล่าวฟ้องก็เกิดความเร่าร้อนขึ้นภายในกาย หมอบกราบลงแทบพระบาทของพระศาสดา แล้วกล่าวขอขมาโทษต่อพระเถระ


พระเถระถูกพราหมณ์ตี

   พระเถระผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติคุณธรรมต่าง ๆ ชื่อเสียงฟุ้งขจรไปทั่วชมพูทวีป หมู่มนุษย์ทั้งหลายพากันยกย่องสรรเสริญ ในจริยาวัตรของท่าน คุณธรรมอันประเลิศอีกประการหนึ่งของพระเถระก็คือ ความไม่โกรธ ไม่มีใครจะสามารถทำให้ท่านโกรธได้ แม้ท่านจะถูกมิจฉาทิฏฐิตำหนิ ด่าหรือตีท่าน ท่านก็ไม่เคยโกรธ ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งต้องการจะทดลองคุณธรรมของท่านว่าจะสมจริงดังคำร่ำลือหรือไม่

   วันหนึ่ง พระเถระกำลังเกิดบิณฑบาตในหมู่บ้าน พราหมณ์นั้นได้โอกาสจึงเดินตามไปข้างหลังแล้วใช้ฝ่ามือตีเต็มแรงที่กลางหลังพระเถระ

   พระเถระยังคงเดินไปตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่แสดงอาการแม้สักว่าแหลียวกลับมามองดู

   ขณะนั้น ความเร่าร้อนเกิดขึ้นทั่วสรีระของพราหมณ์นั้น เขาตกใจมากรีบหมอบกราบลงแทบเท้าของพระเถระ พร้อมกับกล่าววิงวอนให้พระเถระ ยกโทษให้ พระเถระจึงถามว่า

   “ ดูก่อนพราหมณ์ นี่อะไรกัน?”

   “ ข้าแต่พระคุณเจ้า กระผมตีท่านที่ข้างหลังเมื่อครู่นี้ ขอรับ”

   “ ดูก่อนพราหมณ์ เอาล่ะ ช่างเถิด เรายกโทษให้”

   “ ข้าแต่พระคุณเจ้า ถ้าท่านยกโทษให้กระผมจริง ก็ขอให้ท่านเข้าไปฉันภัตตาหารในบ้านของกระผมด้วยเถิด”

   พระเถระส่งบาตรให้พราหมณ์นั้นแล้วเดินตามเข้าไปฉันภัตตาหารในบ้านของพราหมณ์ตามคำอาราธนา

   คนทั้งหลายเห็นพราหมณ์ตีพระเถระแล้ว ก็รู้สึกโกรธ จึงพากันมายืนรอโอกาสเพื่อจะทำร้ายพราหมณ์นั้น พระเถระเมื่อเสร็จภัคกิจแล้วส่งบาตรให้พราหมณ์ถือเดินตามออกมา คนทั้งหลายเห็นพราหมณ์นั้นถือบาตรเดินตามพระเถระมาก็ไม่กล้าทำอะไร ได้แต่พากันพูดว่า “ พระเถระถูกพราหมณ์ตีแล้วยังเข้าไปฉันภัตตาหารในบ้านของเขาอีก” พระเถระเห็นหมู่คนมีท่อนไม้ในมือยืนรอกันอยู่จึงถามว่า

   “ ดูก่อนท่านทั้งหลาย นี่เรื่องอะไรกัน ?”

   “ ข้าแต่พระคุณเจ้า พราหมณ์ผู้นี้ตีท่าน ดังนั้น พวกเราจะทำร้ายเขาเพื่อเป็นการทำโทษเขา ขอรับ”

   “ ก็พราหมณ์ผู้นี้ ตีพวกท่านหรืออาตมาเล่า ?”

   “ ตีพระคุณเจ้า ขอรับ”

   “ เมื่อเขาตีอาตมา และอาตมาก็ยกโทษให้เขาแล้ว ดังนั้น โทษคือความผิดของเขาจึงไม่มี พวกท่านจะมำโทษเขาด้วยเรื่องอะไร ?”

   พวกคนเหล่านั้น ฟังคำของพระเถระแล้ว ไม่มีคำพูดอะไรที่จะนำมาโต้แย้งได้ จึงพากันหลีกไป


พระเถระถูกนันทกยักษ์ทุบ

   สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหารกรุงราชคฤห์ ส่วนพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานเถระอัครสาวกทั้งสองได้ปลีกตัวจาริกไปอยู่ ณ กโปตกันทราวิหาร ( วิหารที่สร้างใกล้ซอกเขาซึ่งเป็นที่อยู่ของนกพิราบ)

   ในดิถีคืนเดือนเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง พระสารีบุตรซึ่งปลงผมใหม่ ๆ นั่งเข้าสมาธิอยู่ในที่กลางแจ้ง ขณะนั้นมียักษ์ ๒ ตน ผ่านมาทางนั้น ยักษ์ตนหนึ่งชื่อนันทกะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนยักษ์อีกตนหนึ่ง เป็นสัมมาทิฏฐิเคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ยักนันทกะ เห็นพระเถระแล้วนึกอยากจะตีที่ศีรษะของท่านจึงบอกความประสงค์ของตนกับสหาย แม่ยักษ์ผู้เป็นสหายจะกล่าวห้ามปรามถึง ๓ ครังว่า

    “ อย่าเลยสหาย อย่าทำร้ายสมณศากยบุตรพุทธสาวกเลย สมณะรูปนี้มีคุณธรรมสูงยิ่งนัก มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

   ยักษ์นันทกะ ไม่เชื่อคำห้ามปรามของสหาย ใช่ไม้กระบองตีพระเถระ ที่ศีรษะอย่างเต็มแรง ซึ่งความแรงนั้นสามารถทำให้ช้างสูง ๘ ศอก จมดินได้ หรือสามารถทำลายยอดภูเขาขนาดใหญ่ให้ทลายลงได้ และในทันใดนั้นเอง เจ้ายักษ์มิจฉาทิฏฐิ ตนนั้นก็ร้องลั่นว่า “ โอ้ย ! ร้อนเหลือเกิน” พอสิ้นเสียงร่างของมันก็จมในแล่นดิน เข้าไปสู่ประตูมหานรกอเวจี ณ ที่นั้นเอง

   เหตุการณ์ครั้งนี้ พระมหาโมคคัลลานเถระ ได้เห็นโดยตลอด ด้วยทิพยจักษุ รุ่งเช้าจึงเข้าไปหาพระสารีบุตรแล้วถามว่า

   “ ท่านสารีบุตร ยังสบายดีอยู่หรือ ที่ยักษ์ตีท่านนั้น อาการเป็นอย่างไรบ้าง ? ”

   “ ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี แต่รู้สึกเจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย ”

   พระมหาโมคคัลลานะ ได้ฟังแล้วกล่าวว่า “ น่าอัศจารรย์จริง ๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ท่านสารีบุตรนี่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ๆ ถูกยักษ์ตีรุนแรงขนาดนี้ยังบอกว่าเพียงแต่เจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย ”

   ส่วนพระสารีบุตร ก็กล่าวชมพระมหาโมคคัลลานะว่า “ ช่างน่าอัศจรรย์เช่นกัน ท่านโมคคัลลานะ ท่านก็มีฤทธานุภาพมากหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ท่านเห็นแม้กระทั้งยักษ์ ส่วนผมเอง แม้แต่ปีศาจคลุกฝุ่นสักตัวก็ยังไม่เห็นเลย ”

   พระผู้มีพระภาค ได้ทรงสดับเสียงการสนทนาของพระเถระทั้งสอง ด้วยพระโสตทิพย์ จึงเปล่งพุทธอุทานนี้ว่า

   

“ ผู้ใดมีจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดุจภูเขา

   ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด

   ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง

   ผู้อบรมจิตได้อย่างนี้ ความทุกข์จะมีได้อย่างไร ”


เป็นต้นแบบการทำสังคายนา

   สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองปาวา ของเจ้ามัลละทั้งหลาย พระพุทธองค์รับสั่งให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ที่มาประชุมกันพระเถระเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะสม จึงยกเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นแก่พวกนิครนถ์ ซึ่งทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องคววามเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับคำสอนของอาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขึ้นมาเป็นมูลเหตุ แล้วกล่าวแก่พระสงค์ในสมาคมนั้นว่า

   “ ดูก่อนท่านทั้งหลาย บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีปแล้วท่านทั้งหลายพึงร้อยกรองให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ควรทะเลาะวิวาทกันด้วยธรรมนั้น เพื่อให้พรหมจรรย์อยู่ยั่งยื่นตลอดกาลนาน อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก เป็นการอนุเคราะห์แก่สัตว์โลก”

   แล้วพระเถระก็จำแนกหัวข้อธรรมออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ ๑๐ หมวดสะดวกแก่การจดจำและสาธยาย และจัดเป็นหมวดย่อย ๆ อีกเพื่อมิให้สับสนแก่พุทธบริษัทในการที่จะนำไปปฏิบัติ นับว่าพระเถระเป็นผู้มองการณ์ไกล ป้องกันความสับสนแตกแยกของพุทธบริษัทในภายหลัง และการกระทำของพนะเถระ ในครั้งนี้ ได้เป็นแบบอย่างของการทำสังคายนาหลังพุทธปรินิพพานสืบต่อมา


พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรนิพพาน

   ในปัจฉิมโพธิกาล ขณะที่พระบรมศาสดาประทับ ณ พระวิหารเชตวันเมืองสาวัตถี พระสารีบุตรถวายวัตรแด่พระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลลาไปสู่ที่พักของตนนั่งสมาธิเข้าสมบัติ เมื่อออกจากสมาบัติแล้วพิจรณาตรึกตรองว่า “ ธรรมดาประเพณีแต่โบราณมา พระบรมศาสดาทรงนิพพานก่อน หรือพระอัคครสาวกนิพพานก่อน” ก็ทราบแน่ชัดในใจว่า “ พระอัครสาวกนิพพานก่อน”

   จากนั้นได้พิจารณาอายุสังขารของตนเองก็ทราบว่า “ จะมีดำรงอยู่ได้อีก ๗ วันเท่านนั้น” จึงพิจารณาต่อไปว่า “เราควรจะไปนิพพานที่ไหนดีหนอ และพระเถระก็นึกถึงพระราหุลว่า พระราหุล ไปนิพพานที่ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ดาวดึงส์โลก พระอัญญาโกณฑัญญะ ไปนิพพานที่สระฉัททันต์ ป่าหิมพาน ลำดับนั้น พระเถระได้ปรารภถึงมารดาของตนว่า

   “ มารดาของเรานี้ ได้เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ ถึงกระนั้นก็ยังไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย แล้วอุปนิสัยมรรคผลจะพึงมีแก่มารดาของเราบ้างหรือไม่หนอ”

   ครั้นพระเถระพิจารณาไปก็ได้ทราบว่า “ มารดานั้นมีอุปนิสัยแห่งพระโสดาบัน” จึงตกลงใจที่จะไปนิพพานที่บ้านของตน เพื่อโปรดมารดาเป็นวาระสุดท้าย

   เมื่อคิดดังนี้แล้ว พระเถระได้สั่งพระจุนทะ ผู้เป็นน้แงชาย ให้ไปแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ จะไปเยี่ยมมารดาที่นาลันทา ขอภิกษุทั้งหลายเตรียมบริขารให้พร้อม เพื่อเดินทานงไปด้วยกัน” จากนั้นพระเถระก็ทำความสะอาดปัดกวาดกุฏิที่พักอาศัยของตน แล้วออกมายืนดูข้างนอก พลางกล่าวว่า “ การได้เห็นที่พักอาศัยนี้เป็นปัจฉิมทัศนา โอกาสที่จะได้กลับมาเห็นอีกนั้นไม่อีกแล้ว” เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ก็พาพระสงฆ์เหล่านั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลว่า

   “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้ ชีวิตของข้าพระองค์เหลืออีกเพียง ๗ วันเท่านนั้น ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลาปรินิพพาน ขอพระองค์ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ข้าพระองค์สละอายุสังขารในครั้งนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

   “ สารีบุตร เธอจะไปนิพพานที่ไหน?”

   “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จะไปนิพพาน ณ ห้องที่ข้าพระองค์เกิดในเรือนของมารดา พระเจ้าข้า”

   “ สารีบุตร เธอจงกำหนดการนั้นโดยควรเถิด สารีบุตร บรรดาภิกษุน้อง ๆ ของเธอ จะได้เห็นพี่ชายดุจเธอนั้นได้ยากยิ่ง เธอจงแสดงธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกแก่ภิกษุน้อง ๆ ของเธอเหล่านั้นเถิด”

   พระเถระ เมื่อได้รับพุทธประทานโอกาสเช่นนั้น จึงแสดงปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปบนอากาศสูง ๑ ชั่วลำตาล จนถึง ๗ ชั่วลำตาลโดยลำดับ แล้วกลับลงมาถวายบังคมพระบรมศาสดาในแต่ละครั้ง จากนั้นจึงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ณ ท่ามกลางอากาศแล้วลงมาถวายบังคมลาพระผู้มีพระภาค คลานถอยออกจากพระคันธกุฏิ

   ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จลุกออกมาส่งพระเถระถึงหน้าพระคันธกุฏิ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร กระทำประทักษิณเวียน ๓ รอบแล้ว ประคองอัญชลีนมัสการทั้ง ๔ ทิศ พลางกราบทูลว่า

   “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในที่สุดอสงไขยแสนกัปล่วงมาแล้ว ข้าพระองค์ได้หมอบลงแทบพระบาทแห่งพระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตั้งปณิธานปรารถนาพบพระองค์ และแล้วมโนรถของข้าพระพุทธเจ้า ก็สำเร็จสมประสงค์ตั้งแต่ได้เห็นพระองค์เป็นปฐมทัศนา บัดนี้ การได้เห็นพระองค์ ผู้เป็นนาถะของข้าพระพุทธเจ้าเป็นปัจฉิมทัศนา โอกาสที่จะได้เห็นพระองค์ ไม่มีอีกแล้ว”

   พระเถระ กราบทูลเพียงเท่านี้แล้ว ถวายบังคมออกไปได้ระยะพอสมควรก้มกราบนมัสการลงที่พื้นพสุธา บ่ายหน้าออกจากพระเชตวันมหาวิหารพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวาร ๕๐๐ องค์ ท่านพระเถระเดินทาง ๗ วันก็ถึงบ้านนาลันทา หยุดพักภายใต้ร่มไม้ใกล้หมู่บ้านนั้น และในเย็นนั้น อุปเรวัตตกุมาร ผู้เป็นหลานชายของท่าน ออกมานอกบ้านพบท่านแล้วจึงเข้าไปนมัสการ พระเถระสั่งหลานชายให้ไปแจ้งแก่โยมมารดาให้ทราบว่า “ ขณะนี้ท่านมาพักอยู่นอกบ้านให้จัดห้องที่ท่านเกิดไว้ให้ท่านด้วย”

   ฝ่ายนางสารีโยมมารดาเมื่อได้ทราบว่า พระลูกชายพาพระบริวารมาเยี่ยมก็รู้สึกดีใจเป็นกำลังจึงสั่งคนงานในบ้านให้จัดการต้อนรับ จัดที่พักและตามประทีปไว้พร้อมสรรพ และเมื่อได้ทราบว่าท่านประสงค์จะพักในห้องที่ท่านเกิด นางสารีก็จัดให้ตามประสงค์ แต่ในขณะเดียวกันก็สงสัยว่า ทำไมพระลูกชายจึงได้พาพระบริวารมามากมายเพียงนี้ หรือว่ามาเพื่อจะสึกเพราะบวชมาตั้งแต่เป็นหนุ่มคงจะเบื่อหน่ายจึงคิดมาสึกเอาตอนแก่


เทศน์โปรดแม่แล้วนิพพาน

    เมื่อท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเข้าในสถานที่โยมมารดาให้คนจัดให้ตามประสงค์แล้ว ตกดึกคืนนั้นเองท่านได้ป่วยเป็นโรคปักขันธิกาพาธ ( ถ่อยจนเป็นเลือด) อย่างปัจจุบันทันด่วน ท่านได้รับทุกเวทนาอย่างแสนสาหัส พระจูนทะและพระบริวารได้ช่วยกันพยาบาลอย่างใกล้ชิด ฝ่ายโยมมารดาเห็นว่าท่านอาพาธหนักจึงมาเฝ้าดูอาการด้วยความเป็นห่วง

   ขณะนั้น เทวดาองค์สำคัญ ๆ ต่างมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านตามสำดับ คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักข์ ท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวสักกเทวราช ( พระอินทร์) ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสุยามา ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นมายา ท้าวสันดุสิต ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวสุนิมมิตะ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นนิมมานรดี และท้าวปรนิมมิตวสวัสดี ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัสดดี รวมทั้งท้าวมหาพรหมแห่งพรหมโลกชั้นสุทธาวาสก็ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วย เทวดาและท้าวมหาพรหมนั้นแต่ละองค์ล้วนมีรัศมีกายเปล่งปลั่งงดงาม ต่างพากันมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วยความเป็นห่วงและด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

   นางสารีเห็นเหตุการณ์นั้นตลอด เมื่ออาการของพระเถระค่อยบรรเทาลง นางได้เข้าไปหาและสนทนาด้วย โดยได้ถามถึงเทวดาองค์สำคัญ ๆ ที่มาเยี่ยมซึ่งนางไม่ทราบว่าเป็นใคร ท่านได้บอกให้โยมมารดาทราบตามลำดับจนกระทั้งถึงท้าวมหาพรหม

   “ อุปติสสะ โยมมารดาเรียกชื่อเดิมของท่านด้วยความอัศจรรย์ใจ “ นี่ลูกของแม่ใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ ”

   “ ใช่....โยมแม่ ” ท่านตอบรับ

   ทันใดนั้น โยมมารดาก็เกิดปีติอย่างใหญ่หลวง สีหน้าเอิบอิ่ม เมื่อได้ทราบว่า พระลูกชายยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมที่ตนเคารพ

   “ อุปติสสะลูกชายของเรายิ่งใหญ่ขนาดนี้ แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาของลูกชายเราเล่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ”

   นางสารีคิดไปถึงพระพุทธเจ้า พระเถระสังเกตดูโยมมารดาตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าจิตใจเริ่มอ่อนโยนเหมอะจะรับน้ำย้อมคือคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้ จึงริ่มแสดงธรรมโปรดโดยพรรณนาถึงพระพุทธคุณนานาประการ อาทิว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โยมมารดาฟังแล้วเลื่อมใสยิ่งนัก และเมื่อจบพระธรรมเศทนานางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

   พระเถระได้ตอบแทนพระคุณโยมมารดาด้วยการตอบแทนที่ล่ำค่า คือให้พ้นจากความเห็นผิดที่มีมานานเสียได้ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ ส่วนโยมมารดารู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่ไม่ได้สัมผัสอมตธรรม จึงพูดกับท่านเป็นเชิงต่อว่า ว่า

   “ ลูกรัก ทำไมจึงเพิ่งมาให้อมตธรรมนี้แก่แม่เล่า ”

   หลังจากโยมมารดาได้ลากลับเข้าไปที่พักผ่อนแล้ว ท่านก็ได้บอกพระจุนทะให้นิมนต์พระบริวารมาประชุมพร้อมกัน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้สว่างท่านดูอิดโรยเต็มทีแต่ถึงกระนั้นก็พยายามยันกายลุกขึ้นนั่ง โดยพระจุนทะคอยประคองอยู่ตลอดเวลา

   “ ท่านทั้งหลาย ” พระเถระเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงแหบพร่า “ ผมกับท่านอยู่ด้วยกันมานานถึง ๔๔ ปี หากกายกรรมและวจีกรรมของผมอันใดไม่เป็นที่พอใจ ขอได้อภัยให้ผมด้วย ”

   “ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” พระบริวารกล่าวตอบ “ พวกกระผมติดตามท่านมานาน ยังมองไม่เห็นกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่สมควร ”

   ท่านกับพระบริวารต่างกล่าวคำขอขมากันและกันแล้ว แสงเงินแสงทองเริ่มจับของฟ้า แล้วเช้าวันนั้นเบญจขันธ์อันอ่อนล้าของพระเถระก็ดับลงอย่างสนิท ท่านนิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในห้องที่ท่านเกิด เทวดาและมนุษย์ได้พร้อมใจกันณาปนกิจศพของท่านอย่างสมเกียรติ พระจุนทะนำผ้าขาวมาห่ออัฐิของท่านแล้วนำไปพร้อมทั้งบาตรและจีวร เพื่อมอบให้พระอานนท์นำไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงรับอัฐิของท่านแล้วทรงโปรดให้สร้างสถูปบรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเชตวันมหาวิหารเพื่อให้พระพุทธบริษัทได้สักการะต่อไป


อานิสงส์สร้างพระไตรปิฏก

   บุญกุศลบารมีที่ช่วยให้พระสารีบุตรเถระเป็นผู้มีปัญญามาก เพราะท่านได้สร้างพระไตรปิฏกไวในอดีตชาติ ตามที่มีกล่าวไว้ในอรรถกถา ความว่า

    ในพุทธกาลของพระปุสสพุทธเจ้า พระสารีบุตรเถระได้เกิดเป็น สุชาติมาณพ มีภรรยาชื่อนางนันทา มีบุตรคนหนึ่งชื่อ คันธกุมาร มีใจเลื่อมใส ศรัทธาใคร่จะสร้างพระไตรปิฏก ไว้ในพระพุทธศาสนา จึงไปอาราธนาให้พระสังฆเถระเขียนพระไตรปิฏก แต่ไม่ปรากฏจำนวน เพระาไม่ปรากฏในบาลี ครั้นพระเถระเขียนพระไตรปิฏกเสร็จแล้ว สุชาติได้ทำการลงรักปิดทอง เอาผ้าห่มของตนทำเป็นผ้าห่อคัมภีร์ ใช้ด้ายทำสายรัด และใส่ในตู้เก็บไว้ภายในหอไตร กับทั้งให้ทาส ๔ คน เป็นพนักงานเฝ้ารักษาอยู่ประจำเสมอภาค

    ต่อกาลนานมา สองสามีภรรยาได้ตายไปเสวยทิพย์สมบัติอยู่ในดุสิตสวรรค์วิมานทองสูง ๕ โยชน์ แวดล้อมด้วยนางเทพอัปสร ๑,๐๐๐ นาง เต็มไปด้วยอิฏฐารมณ์หลายประการ เสวยทิพย์สุขอยู่ คิดเป็นเวลาในมุนษย์นาน ๗๕ โกฏิ ๖๐ แสนปี แล้วจุติจากดุสิตสวรรค์ขึ้นไปเสวยทิพย์สุขในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี และนิมมิตวสวัสดี ท่องเที่ยวอยู่ในกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ถึง ๓ ครั้ง

    ครั้นถึงภัทรกัปนี้ สองสามีภรรยาได้กลับมาเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว แก้วมณีโชติ จักรแก้ว นางแก้ว สำหรับนางแก้วนั้น คือ นางนันทาผู้เคยเป็นภรรยาในอดีตนั้นเอง นอกจากนี้ นองจากนี้ อานิสงส์ที่ปิดทองคัมภีร์พระไตรปิฏกนั้น ตกแต่งให้มีผิวพรรณดังทองคำ ส่วนผลที่เอาผ้าห่มห่อคัมภีร์บันดาลให้ได้คลังเต็มด้วยผ้า ๘๔,๐๐๐ คลัง และผ้าแต่ละผืนมีราคาแพง ๆ ทั้งนั้น

    อานิสงส์ที่ใช้ด้ายรัดคัมภีร์ กระทำให้ได้สมบัติทั้งปวงมั่นคงถาวร ไม่มีอันตรายใด ๆ มาทำให้เสื่อมศูนย์หายได้ อานิสงส์ที่ทำตู้และหิบใส่พระไตรปิฏก ช่วยตกแต่งให้ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิสมบูรณ์ด้วยปรางค์ปราสาทแก้ว ถึง ๘๔,๐๐๐ ปรางค์ แต่ละปรางค์ประดับประดาด้วยแก้วประพาฬ แก้วลาย แก้วแดง แก้วผลึก และแก้วอินทนิล นับเงินและทองเข้าด้วย จึงเป็นรัตนะ ๗ ประการ

    ด้วยอานิสงส์ที่ได้สร้างมณฑป หอไตร ได้บันดาลให้มีอาชญาแผ่ไปในทวีปใหญ่ ๔ ปวีป ทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร และอานิสงส์ที่ให่ทาส ๔ คน อยู่เฝ้ารักษาหอไตรนั้น ช่วยส่งผลให้มีบริวารแวดล้อมอยู่เป็นนิตยกาล

    ครั้งกาลต่อมา พระเจ้าจักรพรรดิก็สวรรคตลงตามสภาพของสังขารแล้วไปบังเกิดเป็นพระอินทร์อยู่ในดาวดึงส์สวรรค์ จากนั้นก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนาของพระสมณโคดมบรมศาสดา ทั้งได้บวชเป็นพระมีตำแหน่งเป็นอัครสสาวกเบื้องขวา ผู้มีความเป็นเลิศด้วยปัญญา หาท่านผู้อื่นเปรียบเทียบไม่ได้

    พระสารีบุตรเถระเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีความประพฤติดีเยี่ยมพร้อมทั้งมีความเฉลียวฉลาด เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดา ในการช่วยเหลือพระกาศพระธรรมวินัย ให้แพร่หลายไปในทิศานุทิศ จึงได้มีนามที่ท่านได้รับยกย่องว่า “ พระธรรมเสนาบดี” คู้กับพระนามของพระบรมศาสดาว่า “พระธรรมราชา”

    ถ้าจะเปรียบพระพุทธศาสนาเป็นกองทัพ ก็เรียกได้ว่า “ กองทัพธรรม” พระบรมศาสดา จักทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นทัพธรรม พระสารีบุตรเถระเป็นแม่ทัพธรรม

    ในสัจจวิภังคสูตร แห่งคัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปัณณาสก์ มีพระพุทธดำรัสตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัลลานเถระไว้ดังมีเนื้อความกล่าว่า

    สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี ตรัสเล่าเรื่องที่พระองค์ทรงแสดง “ ธรรมจักร” ปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลกโต้ตอบไม่ได้ แล้วตรัสแนะนำพระภิกษุทั้งหลาย คบท่านพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ผู้เป็นบัณฑิต เป็นผู้อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ หรือเพื่อนภิกษุด้วยกัน ตรั้สเปรียบท่านพระสารีบุตรเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด ท่านพระโมคคัลลานะเหมือนมารดาผู้เลี้ยงดู ( แม่นม) ท่านพระสารีบุตรแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ท่านมหาโมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่มรรคผลที่สูง ๆ ชึ้นไป และท่านพระสารีบุตรเป็นผู้สามารถอธิบายอริยสัจ ๔ โดยพิสดารได้

    ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้แล้ว เสด็จลุกขึ้นเข้าไปสู้พระวิหาร ฝ่ายพระสารีบุตรเถระ จึงแสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลาย ได้อธิบายอริยสัจ ๔ โดยพิสดาร

    ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต แห่งปุคคลวรรค มีเรื่องที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสยกย่องพระสารีบุตรเถระเป็น “ บุคคลเอก” ว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายตถาคตไม่เล็งเห็นใครสักคนเดียว ที่จะเป็นผู้ประกาศพระธรรมจักร อันเยี่ยมที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว ได้ดีเท่าตถาคตเหมือนพระสารีบุตร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรบ่อมประกาศพระธรรมจักรอันเยี่ยมที่ตถาคตประกาศไว้แล้วได้ดีเท่าตถาคต ดังนี้

    และในพระบาลีคัมภีร์อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต กล่าวว่า พระปู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งเอตทัคคะแก่พระสารีบุตรเถระว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสาวกของตถาคต ทางปัญญามากแล้วตรัสว่า

   

สารีบุตร เป็นบัญฑิต     เป็นผู้มีปัญญามาก

    มีปัญญากว้างขวาง     มีปัญญาร่าเริง

    มีปัญญาว่องไว     มีปัญญาแหลมคม

    มีปัญญาเครืองชำแรกกิเลส