พระเรตขทิรวนิยเถระ
เอตทัคคะในทางผู้อยู่ป่า
   พระเรวตขทิรวนิยะ เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อวังคันตะ มารดาชื่อนางสารีในหมู่บ้านตำบลนาลันทา แคว้นมคธ โดยท่านเป็นน้องคนสุดท้องของ พี่น้องทั้งหมด ๗ คน พี่ชาย ๓ คน มีชื่อว่า อุปปติสะ ( สารีบุตร) ๑ จุนทะ ๑ อุปเสนะ ๑ และพี่สาว ๓ คน คือ จาลา ๑ อุปจาลา ๑ สีสุปจาลา ๑

   พี่ชายและพี่สาวทั้ง ๖ มีพระสารีบุตรเถระเป็นต้น ได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาหมดทุกคน ยังเหลือแต่เรวตะน้องคนสุดท้องคนเดียวที่อยู่ในบ้านกับพ่อแม่


๗ ขวบ ได้แต่งงาน

    เมื่อท่านอยู่ในวัยเด็ก อายุประมาณ ๗ – ๘ ขวบเท่านั้น บิดามารดาของท่านได้ปรึกษากันว่า

   “ บุตรธิดาของเราออกบวชไปแล้ว ๖ คน ยังเหลือเรวตะเพียงคนเดียว ถ้าเรวตออกบวชอีก ก็จะไม่มีผู้ใดสืบททอดวงศ์ตระกูล เราควรผูกมัดเรวตะไว้ด้วยการให้มีภรรยา รับผิดชอบต่อครอบครัวเสียแต่วัยเด็กนี้จะดีกว่า ถ้าปล่อยไว้อาจถูกพระสงฆ์พุทธสาวกพาไปบวชอีก”

   เมื่อปรึกษาและมีความเห็นชอบตรงกันแล้ว จึงจัดการสู่ขอนางกุมาริกาผู้มีฐานะชาติตระกูลเสมอกันแล้วกำหนดวันวิวาหมงคล ครั้นเตรียมการทุกอย่างพร้อมสรรพ และกำหนดนัดวันวิวาห์แล้ว ขณะทำพิธีแต่งงาน ญาติมิตรต่างทะยอยกันเข้าหลั่งน้ำ และกล่าวคำอวยพรคู่บ่าวสาวตามประเพณีนั้น มีญาติผู้ใหญ่ของผ่ายเจ้าสาว เป็นคุณยายอายุประมาณ ๑๒๐ ปี กล่าวคำอวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวปรองดองครองรักกันยาวนานมีอายุยืนนานยิ่งกว่ายายนี้

   เรวตะได้ฟังคำอวยพร และเห็นคุณยายร่างกายแก่หง่อม หลังค่อมโกงผิวตกกะ งก ๆ เงิ่น ๆ หาความงามอันเป็นที่เจริญจิตเจริญใจมิได้เลย แล้วหวนคิดเปรียบเทียบกับเจ้าสาวของตนซึ่งจะมีสภาพร่างกายเหมือนคุณยายนี้ จึงเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาทันที และเริ่มครุ่นคิดหาวิธีเพื่อหลีกหนีชีวิตครอบครัวฆรวาส และมองเห็นว่าวิธีเดียวที่จะพ้นได้ ก็คือต้องออกบวชเหมือนพี่ ๆ จึงจะพ้นได้


>หนีเมียบวช

   ดังนั้น ขณะที่ท่านนั่งอยู่บนยานพาหนะเดินทางไปสู่เรือนหอนั้น ท่านได้แสดงอาการว่าท้องเสียขอตัวเพื่อลงไปถ่ายท้องในป่าข้างทาง ครั้งแรก ๆ บิดามารดาได้สั่งให้คนคอยติดตามดูเพราะกลัว่าจะหนี เรวตะเห็นว่ามีคนคอยติดตามดูอยู่จึงกลับมาด้วยดี บิดามารดาและคนคอยติดตามก้เชื่อว่าคงจะท้องเสียจริง ๆ จึงเลิกติดตาม เรวตะจึงได้โอกาสหรีไปได้สำเร็จและได้พบสำหนักพระภิกษุผู้อยู่ในป่า จึงเข้าไปขอบรรพชาในสำนักของท่าน ส่วนพระภิกษุรูปนั้นพอทราบว่าเป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ก็รีบจัดการบวชให้ทันที โดยไม่ต้องขออนุญาติบิดามารดาก่อน เพราะพระสาารีบุตรเถระได้สั่งไว้ว่า “ ถ้าพบน้องชายของเราให้บวชได้ทันที” เนื่องจากถ้าไปขออนุญาตบิดามารดาก็จะไม่ได้บวช เพราะบิดามารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ

   พระสารีบุตรเถระ ได้ทราบข่าวว่าเรวตะน้องชายบวชแล้ว คิดจะไปเยี่ยมจึงกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ๒ ครั้ง พระพุทธองค์ตรัสห้ามยับยั้งไว้ ส่วนสามเณรเรวตะคิดว่า ถ้าอยู่ในสำหนักของพระอุปชฌาย์นี้ต่อไป บรรดาญาติ ๆ ทั้งหลาย อาจจะตามมาพบและนำตัวเรากลับไปก็ได้ จึงได้เรียนกรรมฐานจากพระอุปชฌาย์นั้นแล้ว ได้ลาไปบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานในป่าไม้ตะเคียน ( ขทิรวนิยะ) ระบะทางไกลออกไปประมาณ ๓๐ โยชน์ ปฏิบัติอยู่ ๓ เดือน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งลหาย เป็นพระอรหันต์ในพรรษานั้น เพราะท่านอยู่ในป่าไม้ตะเคียนเป็นเวลานานจึงได้นามใหม่ว่า “ พระเรวตขทิรวนิยเถระ”


พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยม

    เมื่อออกพรรษาปวรณาแล้ว พระสารีบุตรเถระกราบทูลลาพระบรมศาสดาเพื่อไปเยี่ยมพระเรวตะอีกครั้ง พระบรมศาสดารับสั่งว่าจะเสด็จไปด้วย และรับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายประมาณ ๕๐๐ รูป เตรียมเดินทางไปด้วยกัน

   เมื่อพระบรมศาสดาพร้อมด้วยหมู่ภิกษุบริวารเสด็จดำเนินมาถึงทาง ๒ แพร่ง พระอานนท์เถระกราบทูลว่า

    “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทางไปสำนักของพระเรวตะนั้น ทางนี้เป็นทางอ้อมประมาณ ๖๐ โยชน์ เป็นที่อยู่ของมนุษย์สะดวกแก่การภิกขาจาร ส่วนอีกทางหนึ่งเป็นทางตรงประมาณ ๓๐ โยชน์ แต่เป็นถิ่นที่อยู่ของอมนุษย์ พระภิษุสงฆ์จะลำบากด้วยภิกขาจาร พระเจ้าข้า”

   พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามพระอานนท์เถระว่า

   “ อานนท์ พระสีวลีมากับพวกเราหรือเปล่า ?”

   “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสีวลีมาด้วย พระเจ้าข้า”

   “ อานนท์ ถ้าอย่างนั้น ก็จงไปทางตรงนั้นแหละ”

   การที่พระพุทธองค์ทรงรับสั่งอย่างนั้น ก็เพราะพระองค์ทรงทราบว่า เทวดาทั้งหลายในระหว่างหนทางนั้น จะพากันจัดที่พักและอาหารบิณฑบาตถวายพระสีวลี ผู้เป็นที่เคารพนับถือของพวกตน บรรดาพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประมุขก็จะไม่ลำบากด้วยภิกขาจารและสถานที่พัก ด้วยอาศัยบุญของพระสีวลีนั้น

   เมื่อพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์บริวารเหล่านั้นเสด็จมาใกล้จะถึงแล้ว พระเรวตะเถระ ได้แสดงฤทธิ์เนรมิตป่าเป็นพระคันธกุฏิ สำหรับพระผู้มีพระภาค และเนรมิตสถานที่จงกรมพร้อมด้วยสถานที่พักกลางคืนและกลางวันเพื่อความสดวกและผาสุกแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่ตามเสด็จมาด้วยอีกอย่างละ ๕๐๐ แห่งแล้วออกไปถวายการต้อนรับนำเสด็จเข้าสู่พระคัรธกุฏิ

   พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เป็นเวลา ๑ เดือน จึงเสด็จกลับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับแล้ว พระเรวตะเถระตะจึงคลายฤทธิ์สถานที่นั้นก็กลับกลายเป็นสภาพป่าไม้ตะเคียนตามเดิม


พระหลวงตานินทาพระเรวตะ

   ในขณะที่พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์พักที่ป่าไว้ตะเคียนนั้น มีพระชรา ๒ รูป ร่วมคณะอยู่ด้วย ท่านทั้งสองนั่งสนทนากันว่า

   “ พระเรวตะ ทำการสร้างอารามยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ จะมีเวลาบำเพ็ญสมณธรรมได้อย่างไร แม้แต่พระเชตวันกับพระเวฬุวันก็ยังสู้อารามนี้ไม่ได้ พระผู้มีพระภาคคงจะเห็นแก่หน้าว่าเป็นน้องชายของพระสารีบุตรอัครสาวกจึงเสด็จมาเยี่ยม”

   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวารจิตของพระชราทั้ง ๒ รูปนั้นด้วย และทรงดำริว่า “ ถ้าอยู่นานก็จะเป็นการรบกวนพระเรวตะ เพราะปกติพระภิกษุผู้อยู่ป่าย่อมต้องการความสงบ” ดังนี้ด้วย จึงเสด็จกลับ พร้อมกันนั้นได้ทรงอฐิษฐานให้หลวงตาทั้ง ๒ รูปลืมของใช้ส่วนตัวไว้ เมื่อตามเสด็จออกมาพ้นเขตอารามแล้ว พระพุทธองค์จึงคลายฤทธิ์อธิษฐาน


พระอรหันต์อยู่ที่ไหนที่นั้นก็น่ารื่นรมณ์ยินดี

   พระภิกษุชราทั้ง ๒ รูป พอนึกขึ้นได้ว่าลืมของไว้จึงพากันรีบกลับไปเอาแต่ทว่าคราวนี้สภาพหนทางและกุฏิที่พักอาศัยหายไปทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นป่าไปหมด พบของๆตนแขวนอยู่ที่ต้นตะเคียนบ้าง อยู่บนตอตะเคียนบ้าง แล้วก็ถือของเอากลับมา

   พระภิกษุชรา ๒ รูปนั้น จึงรู้ในคราวนั้นเองว่า พระเรวตเถระเป็นผู้มีฤทธิ์ และกล่าวกันว่า วิหารและสักการะที่ท่านตกแต่งไว้เพื่อพระทศพลย่อมเป็นเช่นนี้

   พระผู้มีประภาคเจ้า เมือทรงพาพระภิกษุทั้งหลายกลับมาทางเก่า ก็ได้เสวยบุญของพระสีวลีเถระอีกรูปตลอดหนึ่งเดือน แล้วเสด็จเข้าสู่บุพพารามวัดที่มหาอุบาสิกาวิสาขาสร้างภวายไว้ในพระพุทธศาสนา ณ กรุงสาวัตถี

   ครั้นพระภิกษุชรา ๒ รูป คือ พระหลวงตา ๒ รูป ผู้กลับไปรับรู้ความเป็นมาแล้ว พอตื่นขึ้นล้างหน้าบ้วนปากแต่เช้าตรู่ แล้วต่างชักชวนกันว่า “ เราไปฉันข้าต้มที่บ้านของมหาอุบาสิกาวิสาขาผู้ถวายอาหารแก่พระอคุนตุกะกับเถิด” ว่าแล้วได้พากันไปฉันข้าวต้ม ฉันของควรเคี้ยวควรฉัน เสร็จแล้วนั่งพักผ่อนอยู่

   ครั้งนั้นมหาอุบาสิกาวิสาขา ถามหลวงตาทั้ง ๒ ว่า “ ข้าแต่พระคุณเจ้าท่านทั่ง ๒ ได้เข้าไปถึงที่อยู่ของพระเรวตเถระ กับพระพุทธองค์หรือเปล่า เจ้าค่ะ”

   พระหลวงตา ๒ รูป “ เจริญพร อาตมาภาพทั้ง ๒ ได้ไปมาแล้ว”

   มหาอุบาสิกาวิสาขา “ ข้าแต่พระคุณเจ้า ที่อยุ่ของพระเรวตเถระน่ายินดี น่าอยู่ไหมเจ้าค่ะ”

    พระหลวงตา ๒ รูป กล่าวอธิบายให้มหาอุบาสิกาฟังอย่างไม่มีดีเหลือเลยว่า “ อย่าถามเลยอุบาสิกา จะน่ายินดีอยู่ได้อย่างไร เป็นที่ขรุขระด้วย ก้อนกรวดก้อนหิน เป็นป่าเป็นตอไม้ตะเคียน คล้ายกับที่อยู่ของเปตรอย่างนั้นนั่นแหละ”

   ครั้นเวลาต่อมาได้มีพระภิกษุหนุ่ม ๒ รูป มาถึงที่บ้านของมหาอุบาสิกาวิสาขา “ข้าแต่พระคุณเจ้า มหาอุบาสิกาวิสาขาก็นำข้าวต้มและของฉันมาถวายแก่พระภิกษุหนุ่ม ๒ รูปนั้น แล้วถามถึงที่อยู่ของพระเรวตเถระว่า “ สถานที่อยู่ของท่านพระเรวตะเป็นที่น่าชอบใจไหม ”

   พระภิกษุหนุ่ม ๒ รูป ตอบว่า เจริญพรอุบาสิกา พวกอาตมาไม่อาจจะพรรณนาได้ ที่อยู่ของพระเถระคล้ายกับสุธรรมาเทวสภาในดาวดึงส์สวรรค์ ประหนึ่งตกแต่งขึ้นด้วยฤทธิ์ เป็นที่น่าชอบใจยิ่ง ”

   มหาอุบาสิกาวิสาขาฟังคำตอบของพระภิกษุ ๒ พวกนี้แล้ว ต้องทำให้ครุ่นคิดว่า “ พระภิกษุชราสองรูปมาถึงก่อนพูดอย่างหนึ่ง ส่วนพระภิกษุหนุ่มสองรูปที่มาทีหลังสองรูปนี้พูดอีกอย่างหนึ่ง ถ้อยคำของท่านสองรูป ที่มาก่อน หรือมาทีหลัง จะเป็นคำจริงกันแน่” แล้วหยุดนิ่งอยู่ หวังที่จะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทราบแน่ชัดในเรื่องนี้

   ต่อมาเวลานั้นอีกไม่นาน พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุทั้งหลาย ตามเสด็จห้อมล้อมมา เสด็จไปที่เรือนของมหาอุบาสิกาวิสาขา ประทับบนอาสนะที่ได้ตกแต่งไว้เป็นพุทธอาสน์ ส่วนพระภิกษุทั้งหลายก็นั่งบนอาสนะที่ได้ปูลาดไว้เพื่อท่านตามลำดับอาวุโส

   มหาอุบาสิกาวิสาขา จัดการถวายอาหารคาวหวานแก่พระภิกษุทั้งหลายมีพระพุทธองค์ทรงรับเป็นประธาน ด้วยความเคารพ ในเวลาพระฉันจังหันเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

   ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงสวัสดิ์ พระภิกษุทั้งหลายที่ตามเสด็จไปกับพระองค์บางพวกก็กล่าวว่า “ ที่อยู่ของพระเรวตะถระเป็นป่าไม้ตะเคียน ไม่น่ายินดี ” บางพวกกล่าวว่า “ เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ข้อนี้เป็นเพราะอะไร พระเจ้าข้า”

   พระบรมศาดาทรงสดับคำกราบทูลถามนั้นแล้ว จึงตรัสว่า " “ ดูก่อนอุบาสิกาวิสาขา จะเป็นบ้านหรือเป็นป่าก็ตาม พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด ที่นั้นช่างน่ารื่นรมย์ทั้งนั้น” และเมื่อทรงแสดงธรรมสืบต่อข้อความ จึงตรัสพระคาถาอันมาเนื้อความว่า

    " พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด ไม่ว่าในบ้านหรือในป่า ในที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม ที่นั้นย่อมเป็นที่น่ายินดี ”

   ด้วยเหตุที่พระเรวตะเถระอยู่แต่ในป่าไม้ตะเคียนเป็นเวลานาน ท่านได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้อยู่ป่า


ถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร

   การอยู่ป่าของพระเรวตขทิรวนิยเถระ ไม่เคยกระทำข้อเสียวัตรปฏิบัติในด้านอื่น ๆ เช่นการไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า การไปเยี่ยมพระมหาเถระจารย์ทั้งหลาย เริ่มแต่พระธรรมเสนาสารีบุตรเถระผู้เป็นพี่ชาย ท่านได้ไปมาหาสู่อยู่เนือง ๆ เช่นท่านไปอยู่ในพุทธสำนักหรือสำนักของอุปัชฌาย์อาจารย์ประมาณ ๒ - ๓ วัน แล้วก็กลับมาที่ป่าขทิระ คือป่าไม้ตะเคียน เพื่อยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในผลสมาบัติและพรหมวิหารธรรม

    คราวหนึ่ง ขณะที่ท่านเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และได้นั่งพักเหนื่อยในระหว่างทางแห่งหนึ่งในป่าใกล้กับกรุงสาวัตถี

   บังเอิญในคราวนั้น พวกโจรกระทำโจรกรรมทรัพย์ในเมือง แล้วถูกไล่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด พอพวกโจรเห็นจวนตัว กลัวถูกจับได้ จึงทิ้งทรัพย์ของกลางไว้ในสถานที่ใกล้กับพระเถระนั่งพักอยู่ แล้วได้พากันหนีเอาตัวรอดไป เพื่อลวงพวกที่ติดตามให้เข้าใจผิดจะได้ไม่ติดตามพวกตน ( คนชั่วเวลาทำชั่วไม่น่ากลัว แต่พอผลโทษของคววามชั่วมาถึงตัวก็กลัวจนลนลาน )

   ฝ่ายพวกคนติดตามโจรมา ได้มาเห็นของตกอยู่ที่ใกล้ ๆ กับพระเถระนั่งอยู่ก็เข้าใจว่าพระเรวตเถระเป็นพวกโจร เลยช่วยกันจับพระเถระมัด และนำไปถวายพระราชา พร้อมทั้งกับกราบทูลว่า “ ขอเดชะ ท่านผู้นี้เป็นโจร พระพุทธเจ้าข้า ”

   พระราชาผู้ทรงตั้งอยู่ในทศพิราชธรรม ยังมิทรงเชื่อบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นเสียที่เดียว ตรัสสั่งให้แก้มัดพระเถระออก แล้วตรัสถามหาความจริงว่า “ พระคุณเจ้าได้กระทำโจรกรรมหรือเปล่า ”

   พระเรวตเถระ ถวายพระพรตอบว่า “ ขอถวายพระพรพระบรมบพิตร อาตมาภาพมิได้กระทำโจรกรรม ขอถวายพระพร ”

   ต่อจากนั้นท่านก็ได้แสดงธรรมถวายพระราชาว่า

   นับแต่อาตมาภาพบรรพชามาแล้ว ย่อมไม่เคยคิดชั่วร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งเลย ยังไม่เคยรู่สึกว่าได้นึกอยากให้ผู้อื่นถูกเบียดเบียนหรือถูกฆ่า หรือได้รับทุกข์แต่อย่างใด มีแต่แผ่เมตตาไปแก่สรรพสัตว์หาประมาณมิได้ ได้อบรมแต่คำสั่งสอนของพระพบรมศาสดามาโดยลำดับ ได้เป็นมิตรสหายแห่งสัตว์ทั้งสิ้น เป็นเอ็นดูสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้เจริญเมตตาจิตอยู่เป็นนิจ ได้เจริญพรหมวิหารอันไม่ใช่ของคนเลวทรามอยู่เสมอ พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่นึกในทางที่ผิด ประกอบด้วยจิตอันประเสริฐเป็นอยู่

   ภูเขาศิลาไม่หวั่นไหว ( ด้วยลม) ฉันใดแล้ว ภิกษุผู้สิ้นโมหะ ( ความหลง) ก็ไม่หวั้นไหว ( ด้วยโลกธรรม) ฉันนั้น

   ความชั่ว มีประมาณเท่าปลายขนทราย ก็ไม่ปรากฏแก่ผู้ไม่มีกิเลส ผู้แสวงหาความสอาดอยู่เป็นนิจ ว่าใหญ่เหมือนกับก้อนเมฆฉะนั้น

   เมืองปลายแดนเป็นเมืองที่เขารักษาดีทั้งภายนอกและภายใน ท่านทั้งหลายจงรักษาตนฉันนั้นเถิด อย่าให้ขณะ (ชั่วครู่ ) อันดีล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

   อาตมาภาพไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต อาตมาภาพรอความตายเท่านั้น เหมือนกับลูกจ้างรอให้หมดเวลาฉะนั้น อาตมาภาพมีความรู้สึกตัวทุกเมื่อ มีความระลึกได้ทุกขณะ

   อาตมาภาพได้รับใช้พระบรมศาสดาแล้ว คำสอนของพระองค์อาตมาภาพก็ทำตามแล้ว ภาระอันหนักอาตมาภาพก็ปลงได้แล้ว อีกทั้งตัญหา ตัวการทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด อาตมาภาพก็ได้ถอนรากถอนโคนแล้ว

   ได้สำเร็จประโยชน์ของผู้บรรพชาแล้ว ได้สิ้นเครื่องเกาะเกี่ยวทั้งปวง ท่านทั้งหลายจงกระทำความไม่ประมาทให้สมบูรณ์เถิด นี่เป็นคำพร่ำสอนของอาตมาภาพ และอาตมาภาพจักลานิพพานในบัดนี้ อาตมาภาพหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว

   พระเรวตเถระกล่าวดังนี้แล้ว ได้เหาะขึ้นไปนั่งอยู่ในอากาศ เข้าเตโชธาตุสมาบัติ แล้วมีเพลิงลุกโพรงขึ้นไหม้ร่างกายของท่าน ท่านดับขันธปรินิพพานไป โดยไม่มีกิเลสและเบญจขันธ์เหลือปรากฏในสถานนี่นั้นเลย....