พระนันทเถระ
เอตทัคคะในทางผู้สำรวมอินทรีย์
    พระนันทศากยะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านาง เป็นพุทธอนุชาร่วมพระบิดาเดียวกัน เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดา บรรดาพระประยูรญาติปรารถนาจะได้เห็น ต่างก็มีความปีติเย็นดีร่าเริงบันเทิงใจ เมื่อประสูติออกมาจึงขนานนามว่า " นันทกุมาร"

    เมื่อเข้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา บำเพ็ญเพียร ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณแล้ว

    เสด็จจาริกทรงเทศนาโปรดพุทธเวไนย์ โดยลำดับ จนบรรลุถึงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าสุทโธทนมหาราชพระพุทธบิดาตรัสใช้กาฬยีอำมาตย์ ผู้เป็นอำมาตย์คนสุดท้ายของทั้งหมด ๑ ๐ คน เพื่อไปกราบทูลพระบรมศาสดา และนำเสด็จสู่เมืองกบิลพัสดุ์

    พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สองหมื่นรูปเป็นยศบริวาร เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ ทรงจาริกมาตามมรรควันละหนึ่งโยชน์ ทรงใช้เวลาเสด็จพระพุทธดำเนิน ๖๐ วัน จึงเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วทรงกระทำฝนโบกขรพรรษ คือฝนดุจน้ำที่ตกลงในบัว และมีสีแดงดังสีเท้านกพิราบ ฝนชนิดนี้ใครปรารถนาให้เปียกจึงเปียก ถ้าไม้ปรารถนาให้เปียก็้ไม่เปียก แล้วทรงแสดงมหาเวสสันดรชาดกในสมาคมแห่งพระประยูรญาติ

    รุ่งเช้าขึ้นพระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะมหาราชให้สำเร็จพระโสดาปัตติผล แล้วเสด็จเข้าไปเสวยภัตตาหารในพระราชนิเวศพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ตามพระดำรัสกราทูลอาราธนาของพระพุทธบิดา

    วันที่ ๒ พระบรมศาสดาเสด็จไปรับภัตตาหารในพระราชวัง พอทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทรงเทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีโคตมีให้บรรลุพระโสดาปัตติผล และพระพุทธบิดาให้บรรลุพระสกทาคามีผล

    วันที่ ๓ พระบรมศาสดาทรงเทศนามหาธรรมปาลชาดกโปรดพุทธบิดาให้สำเร็จพระอนาคามีผล และทรงเทศนากินนรีชาดกโปรดพระนางพิมพาหรือพระนางโสธราให้สำเร็จพระโสดาปัตติผล

    รุ่งขึ้นวันที่ ๔ พระบรมศาสดาเสด็จไปขึ้นปราสาทใหม่และงานอภิกเษกสมรสของนันทราชกุมารกับนางชนปทกัลยาณี (หรือนางรูปนันทา)


อุ้มบาตรตามเสด็จ

    ครั้นเสด็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์ประทานบาตรส่งให้นันทกุมารถือไว้ตรัสมงคลกถาพระประยูรญาติในสมาคมนั้นโดยสมควรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนา เสด็จลงจากนิวาสสถานโดยมิได้รับบาตรคืนจากนันทกุมาร ส่วนนันทกุมารเองก็ไม่กล้ากราบทูลเตือนให้ทรงรับบาตรคืน ด้วยความเคารพในพระเชษฐาเป็นอย่างยิ่ง ได้ถือบาตรตามเสด็จลงมาโดยมิได้ตรัสอะไร ได้แต่นึกอยู่ในใจว่า พระองค์คงจะรับบาตรคืนเมื่อถึงพื้นล่าง

    เมื่อพระองค์ไม่ทรงรับบาตร ก็คิดต่อไปว่า เมื่อถึงพระลานก็คงจะรับ แต่พระพุทธองค์ก็มิทรงรับ จึงดำริต่อไปว่าเมื่อเสด็จถึงประตูพระราชวังก็คงจะทรงรับ ครั้นเห็นว่าไม่ทรงรับก็ถือบาตรตามเสด็จไปเรื่อย ๆ แล้วก็ดำริในใจว่า ถึงตรงนั้นก็คงจะทรงรับ ถึงตรงนี้ก็คงจะทรงรับ แต่พระพุทธองค์ก็มิทรงรับบาตรคืนเลย

    ส่วนนางชนปทกัลยาณี เมื่อได้ทราบจากนางสนมว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพานันทกุมารไปด้วยก็ตกพระทัย รีบตามเสด็จไปโดยเร็วแล้วร้องทูลว่า

    " ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบเสด็จกลับโดยด่วน "


จำใจบวช

    นันทราชกุมาร ได้สดับเสียงของนางแล้วประหนึ่งว่า เสียงนั้นเข้าไปขวางอยู่ในหฤทัย ให้รู้สึกปั่นป่วนอยากหวนกลับ แต่ก็กลับไม่ได้ ด้วยมีความเคารพในพระบรมศาสดาเป็นอย่างมาก ต้องฝื่นทนพระทัยถือบาตรตามเสด็จจนถึงนิโครธาราม เมื่อเสด็จถึงพระคันธกุฎี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับบาตรคืน แล้วตรัสแก่นันทกุมารว่า " นันทะ เธอจงบรรพชาเถิด"

    สำหรับนันทกุมารนั้น เรื่องการบวชไม่มีอยู่ในความคิดเลยแม้สักนิดหนึ่ง ภายในดวงจิดคิดถึงแต่ถ้อยคำและพระพักตร์ของพระนางชนปทกัลยาณี ที่มาร้องสั่งเตือนให้รีบเสด็จกลับ แต่เพระความเคารพยำเกรงในพระเชษฐาเป็นยิ่งนักไม่สามารถจะขัดพระบัญชาได้ จึงจำใจรับพระพุทธฎีกา บวชในวันนั้น

    พระนันทะ นับตั้งบวชแล้ว ในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่นางชนปทกัลยาณีเจ้าสาวของตนที่เพิ่งจะแต่งงานกัน แล้วก็ต้องจำพรากจากกันด้วยความเคารพในพระศาสดา ไม่มีแก่ใจที่จะประพฤติพรตพรหมจรรย์ มีแต่ความกระสันที่จะลาสิกขาอยู่ตลอดเวลา ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ก็ได้แต่เล่าความในใจนั้นให้เพื่อนสหธรรมิกด้วยกันฟัง


เปรียบอดีตเจ้าสาวเหมือนลิงแก่

    พระบรมศาสดา ทรงทราบความในใจของท่านพระนันทะแล้ว ทรงดำริว่า " นันทะกำลังมีใจมัวเมายิ่งนัก ไม่อาจระงับความทุรนทุรายในใจของเธอเสีย ทรงดำริเช่นนี้แล้วจึงตรัสว่า " ดูก่อนนันทะ เธอมาไปกับตถาคต ตถาคตจะพาเธอไปเที่ยวในสรวงสวรรค ์"

    พระนันทะกราบทูลถามว่า " ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จะไปสวรรค์ได้อย่างไร เพราะสวรรค์เป็นสถานที่ที่ผู้มีฤทธิ์จะพึงไปเท่านั้นมิใช่หรือ พระเจ้าข้า"

    พระบรมศาดาตรัสแนกวิถีทางที่จะไปสู่สวรรค์ว่า " ดูก่อนนันทะ เธอจงนึกในใจแต่เพียงอย่างเดียวว่าจะไปสวรรค์เท่านั้นแหละ เธอก็จะได้ไป "

    พระพุทธองค์ทรงพาพระนันทะเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก่อน เพื่อให้พระนันทะได้เห็นสตรีที่มีรูปร่างต่าง ๆ กัน ตั้งต้นแต่ให้เห็นสิ่งที่อัปลักษณ์ที่สุด โดยให้เห็นนางลิงแก่ที่หูแหว่งจมูกโหว่ และหางขาดนั่งอยู่บนตอไม้ดำเป็นตอตะโก จนกระทั้งให้ได้เห็นนางเทพอัปสรบนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ที่สวยโสภายิ่งนักจนหาที่สุดมิได้ ทำให้เกิดความกระสันอยากจะได้นางเทพอัปสรเหล่านั้นมาเป็นคู่ครอง พระบรมศาสดาทรงทราบวาระจิตของท่าน จึงตรัสถามว่า " นันทะ เธอมีความคิดเห็นอย่างไร ระหว่างนางเทพอัปสร เหล่านี้ กับนางชนปทกัลยาณี เจ้าสาวของเธอ ? "

    " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า นางชนปทกัลยาณีนั้นเปรี่ยบเสมือนนางลิงแก่ที่นั่งบนตอไม้ จะนำมาเปรียบเทียบกับนางเทพอัปสรเหล่านี้มิได้เลย พระเจ้าข้า "

    พระบรมศาดา ทรงรับรองว่า ถ้าเธอตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว เธอก็จะได้นางเทพอัปสรเหล่านั้นตามต้องการ

    ตั้งแต่นั้นมาพระนันทะได้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังจะได้นางเทพอัปสรตามที่พระบรมศาสดา ทรงรับรองไว้

    พระบรมศาสดา จึงตรัสสั่งพระภิกษุทั้งหลายว่า เธอทั้งหลายจงพากันไปกล่าวในที่อยู่ของนันทะว่า " ได้ยินข่าวว่า ภิกษุรูปหนึ่งตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม เพราะความอยากได้นางอัปสร โดยขอร้องให้พระผู้มีพระภาตคเจ้าทรงเป็นผู้รับรอง"

    เพื่อนภิกษุทั้ง รับพระพุทธบัญชาแล้วพากันไปกล่าวเปรย ๆ ขึ้นในสำนักของพระนันทะว่า ได้ยินข่าวว่า พระนันทะ บวชเพราะรับจ้างบ้าง พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังจะได้นางเทพอัปสรบ้าง "

    พระนันทะได้ฟังถ้อยคำของพระภิกษุเหล่านั้น ที่พากันมากล่าวเป็นทำนองเย้ยหยันดังนี้ พลันนึกเฉลี่ยวใจว่า " พระภิกษุเหล่านี้ คงไม่ได้พูดหมายถึงผู้อื่น คงพูดหมายถึงตัวเราเป็นแน่แม้ การกระทำของเราไม้สมควรทีเดียว"

    พระนันทะเกิดความละอายใจไม่กล้าเข้าสมาคมกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกันและเกิดความคิดขึ้นมาว่า

    " ความรักไม่มีที่สิ้นสุด ความรักทำให้เกิดความทุกข์และความเศร้าโศกเสียใจไม่มีที่สิ้นสุด "

    อนึ่ง สตรีที่มีความงามนั้นไม่มีที่สิ้นสุด คนใหม่ย่อมดูงามกว่าคนเก่า คนนั้นก็ดูสวยดี แต่คนนี้ก็งามกว่า จึงเป็นสิ่งที่หาที่สุดมิได้ "

    ท่านจึงตัดสินใจปลีกตัวออกจากหมู่ภิกษุตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อุตสาหะเจริญสมาธิกรรมฐาน ตั้งจิตไว้โดยไม่ประมาท ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพในพระพุทธศาสนา จากนั้นท่านได้กลับมากราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบว่า

    " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจอันใดที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาจะช่วยสงเคราะห์ให้ได้นางฟ้านั้น กิจอันนั้นข้าพระองค์เปลื้องปลดจนหมดสิ้นสมประสงค์แล้ว พระเจ้าข้า "

    พระบรมศาสดา ตรัสอนุโมทนาและตรัสธรรมกถาว่า

    " อันเปือกตมคือกามคุณ และเสี้ยนหนามคือกองกิเลส คือกามได้แล้ว ผู้นั้นบรรลุความสิ้นไปแห่งโมหะ ( คือความหลง , โง่ ) อันบุคคลใดกำจัดทำลายได้แล้ว บุคคลนั้น ชื่อว่า มีใจไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ทั้งปวง "

    อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนภิกษุถามท่านว่า " เมื่อก่อนนี้ ท่านพูดว่ามีจิตปรารถนาจะสึก มาบัดนี้ ท่านยังปรารถนาอย่างนั้นอยู่หรือไม่ ? "

    ท่านตอบว่า " ไม่มีความปรารถนาอย่างนั้นอยู่อีกแล้ว "

    ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนแล้ว ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    " พระนันทะพูดไม่เป็นความจริง พระเจ้าข้า "

    พระบรมศาดา ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า

    ๑ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนนี้ อัตภาพของพระนันทะเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาไม่ดี ฝนตกลงมาย่อมรั่วรดได้ แต่บัดนี้ เธอได้สำเร็จกิจแห่งบรรพชิดแล้วจึงเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาดีแล้ว ฝนตกลงมาย่อมไม่อาจรั่วรดได้ฉันใด จิตที่บุคคลเจริญสมาธิภาวนาดีแล้ว กิเลสราคะทั้งหลายย่อมย่ำยีไม่ได้ ฉันนั้น "


อดีดชาติ

    วันต่อมา พระภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันในธรรมสภาว่า " ท่านทั้งหลายขึ้นชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเป็นอจัฉริยบุคคลทุกพระองค์ ท่านพระนันทะเดิมทีท่านอยากสึก เพราะรักนางชนปทกัลยาณี แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำได้ ด้วยวิธีทรงนำเอานางอัปสรมาเป็นเครื่องล่อ"

    พระบรมศาสดาได้เสด็จมาตรัสถามว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนาเรื่องอะไรกัน" พอทรงทราบเรื่องจาการกราบทูลของพระภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงตรัสว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเช่นนี้ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ถึงในอดีดชาติตถาคตก็เคยแนะนำนันทะได้ด้วยใช้มาตุความเล้าโลมมาเแล้วเหมือกัน " พระบรมศาสดาตรัสเล่าเรื่องในอดีตชาติของพระนันทเถระว่า

    ในอดีตกาลอันล่วงแล้วมา ครั้งรัชสมัยของพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี

    มีพ่อค้าคนหนึ่งชื่อว่า " กัปปะ " อาศัยอยู่ในกรุงพาราณสีนั้น กัปปพาณิชมีลาตัวหนึ่งเพื่อไว้ใช้บรรทุกต่าง ( ต่างก็คือภาชนะสานสำหรับบรรทุกสิ่งของ มีคานพาดไว้บนหลังสัตว์พาหนะ) และลาตัวนั้นของเขาเดินทางได้วันละ ๗ โยชน์

    คราวหนึ่ง กัปปพาณิชได้บรรทุกสินค้าใส่ต่างให้ลานั้นนำไปขายที่เมืองตักกสิลา พอไปถึงที่พักจึงปล่อยลาให้เที่ยวไปพักผ่อนจนกว่าจะจำหน่ายสินค้าหมด

    ลาของเขาเดินเที่ยวไปที่หลังคูเมือง ได้เห็นนางลาตัวหนึ่งจึงเข้าไปหานางลาตัวนั้นปราศรัยไต่ถามลาของกัปปพาณิชขึ้นก่อนว่า " ท่านมาจากไหนเล่า"

    ลาผู้ " ฉันมาจากกรุงพาราณสี"

    นางลา " ท่านมาด้วยการงานอะไร"

    ลาผู้ " ฉันมาด้วยการค้าขายของพ่อค้า"

    นางลา " ท่านนำของหนักมาได้ด้วยอะไร"

    ลาผู้ " ฉันนำของหนักมาได้ด้วยต่าง"

    นางลา " เมื่อท่านนำของหนักถึงเพียงนั้นมา แล้วท่านเดินทางได้วันละเท่าไหร่"

    ลาผู้ " ได้วันละ ๗ โยชน์"

    นางลา " เมื่อท่านเดินทางไกลและนำของหนักถึงเพียงนั้น และไปถึงสถานที่ที่นั้น ๆ แล้ว มีใครนวดเท้านวดหลังให้บ้างไหม " นางลาเอ่ยถามเช่นนี้ก็ด้วยมีความรักลาของกัปปพาณิชนั้นเอง

    ลาผู้ได้ตอบนางลาไปตามจริงไปว่า ( ซึ่งความจริงแล้วสัตว์ไม่มีผู้นวดให้) "ไม่มีเลย"

    นางลา จึงฉอเลอะอ้อนออดถามว่า " เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านคงลำบากมากซินะ"

    ลาผู้เมื่อได้ยินนางลาถามและแสดงความเห็นใจดังนี้ จึงเกิดติดใจในถ่อยคำนั้น

    ฝ่ายกัปปพาณิชส่งสินค้าหมดแล้วก็กลับไปหาลาของตน แล้วเอ่ยกับลาว่า " ลูกเอ๋ยเรากลับไปกันเถอะ "

    ลาตอบเขาว่า " นายท่านไปก่อนเถอะ ข้าพเจ้ายังไม่ไปหรอก "

    กัปปพาณิชฟังคำตอบของลานั้นแล้วใหเผิดสังเกต จึงได้พูดจาอ้อนวอนลาของเขาต่าง ๆ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะลาไม่ยอมกระทำตามจึงฉุกคิดขึ้นได้ว่า " เราจะขู่ลาตัวนี้ให้กลับให้จงไ ด้" แล้วเขาได้กล่าวกับลานั้นว่า " ถ้าหากเจ้าไม่ไป เราจะกระทำปฏักที่มีหนามแหลมยาวถึง ๑๖ นิ้วไว้ทิ่มแทงร่างกายของเจ้า "

    เมื่อลาได้ฟังแล้วจึงตอบกัปปพาณิชว่า " ถ้าท่านจะกระทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็จะแก้เผ็ดท่าน เวลาท่านทิ่มแทงข้าพเจ้าด้วยปฏักที่มีหนามแหลมยาวนั้น ข้าพระเจ้าก็จะยันเท้าข้างหน้าให้แน่น และยกเท้าข้างหลังขึ้นก็จะทำให้สิ่งของ ของท่านตกแตกกระจัดกระจาย"

    กัปปพาณิชเมื่อได้ฟังคำตอบของลาแล้วก็ครุ่นคิดว่า " เหตุใดหนอ ลาตัวนี้จึงดื้อดึงพูดจากับเราอย่างนี้ แต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยเป็นเช่นนี้เลย" เขาได้เหลี่ยวมองดูรอบๆ ตัว ก็ได้เห็นนางลาตัวนั้น จึงคิดทบทวนดูว่า ลาของเราคงได้รับการเสี้ยมสอนจากนางลาตัวนี้แน่นอน เขาจึงคิดอุบายแล้วกล่าวกับลาของเขาว่า " เราจะนำนางลาสาว มี เท้า ๔ มีหน้าดุจสังข์ งามทั่วสรรพางค์กาย มาให้เป็นภรรยาของเจ้า"

    ฝ่ายลาฟังคำนั้นแล้วก็รู้สึกดีใจ จึงกล่าวว่า " ถ้าท่านจะกระทำให้แก่ข้าพเจ้าได้เช่นนั้นจริง ๆ ข้าพเจ้าจักเดินทางให้เร็วยิ่งขึ้นถึงวันละ ๑๔ โยชน์เลยท่าน"

    กัปปพาณิชพิจรณาเห็นว่าลาของเขาพร้อมที่จะกระทำตามคำของตนแล้ว จึงกล่าวชักชวนว่า " เมื่อตกลงอย่างนั้นก็จงไปกันเถอะ" แล้วก็พาลากลับที่อยู่ของตน

    ลาก็เฝ้าคอยว่าเมื่อไรนายของตนจะนำนางลาสาวมาให้จนล่วงเลยเวลาไปได้ ๒ -๓ วัน นายของตนก็ยังเงียบเฉยอยู่ยังไม่ยอมกระทำตามที่ได้ตกลงกันไว้ จึงพูดทวงกับนายกัปปพาณิชขึ้นว่า " ท่านได้บอกไว้ว่าจะหาภรรยามาให้แก่ข้าพเจ้ามิใช่หรือ"

    กัปปพาณิชก็ตอบรับว่า " ใช่แล้ว เราไม่กระทำให้เสียคำพูดของเรา เราจะหาภรรยามาให้เจ้า แต่ว่าเราจะให้อาหารแก่เจ้าเพียงผู้เดียวเท่านั้น ส่วนภรรยาของเจ้าจะมีกินหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่รับรู้ด้วย ยกให้เป็นหน้าที่ของเจ้า และเมื่อเจ้าอยู่ร่วมกันแล้วก็จะเกิดลูกออกมา อาหารจะมีพอแก่ลูกของเจ้าหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าจะต้องจัดหาเอาเองนะ"

    เมื่อกัปปพาณิชพูดกับลาอย่างนี้ ทำให้ลานั้นหมดหวัง เลยเลิกคิดที่จะได้นางลาอีกต่อไป

    ครั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยกอดีตนิทานชาดกจบลงและมีทรงดำรัสตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย นางลาตัวนั้นได้มาเกิดเป็นนางชนปทกัลยาณี ลาผู้ได้เกิดเป็นพระนันทะ ส่วนกัปปพาณิชได้แก่ตถาคตเอง พระนันทะ ตถาคตเคยล่อด้วยมาตุคามและแนะนำมาแล้วอย่างนี้ "


ได้รับยกย่องในทางสำรวมอินทรีย์

    พระนันทะเถระ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้สำรวมระวังอินทรีทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มิให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจ ในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ มิให้ตกอยู่ในอำนาจโลกธรรม ด้วยเหตุนี้

    พระนันทเถระมีร่างกายต่ำกว่าพระบรมศาสดา ๔ นิ้ว ท่านมีรูปร่างงดงามละม้ายคล้ายพระบรมศาสดา ทั้งท่านสามารถใช้จีวรได้เท่ากับจีวรของพระบรมศาสดา

    ครั้งหนึ่งพระภิกษุทั้งหลายเห็นท่านเดินมาแต่ไกล จึงพากันลุกจากอาสนะ ( ลุกรับ ) ด้วยสำคัญว่า พระบรมศาสดาเสด็จมา ต่อเมื่อท่านเข้ามาใกล้จึงจำได้ว่า มิใช่พระบรมศาสดา แต่เป็นพระนันทเถระนั้นเอง

    ท่านจึงได้ยกย่อมจากพระบรมศาสดาในตำแหน่ง เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้สำรวมอินทรีย์

    ท่านพระนันทเถระ ดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระพุทธศาสนาอยุ่ พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน.......


อดีตชาติแสดงความปรารถนา

    พระนันทเถระ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตรพุทธเจ้า ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมรวมอินทรีย์แล้วเกิดศรัทธา ปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธปุทุมุตตรพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้ถวายผ้าโขมพัสตร์ (ผ้าป่าน) ให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกครองพร้อมทั้งกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความปรารถนาของตน พระปุทุมุตตรพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ด้วยผลแห่งการภวายผ้านี้ เธอจะมีผิวดังทองคำ เธอจะได้เสวยทิพย์สมบัติ จะได้เป็นพระอนุชาของพระโคดมพุทธเจ้า เธอจะเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งราคะ จักมีความสุขเป็นปกติ จะติดอยู่ในกามารมณ์ แต่พอพระพุทธเจ้าทรงเตือนเธอแล้ว เธอก็จะได้บรรพชา ครั้นบวชแล้ว เธอก็จะสิ้นอาสกิเลสทั้งปวง

    ท่านได้ฟังพระปทุมุตตรพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่งได้ทำบุญอื่น ๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

    ต่อจากชาตินั้นมา ในกัปที่หนึ่งแสน พระนันทเถระได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า " เจละ " เป็นอยู่ ๔ ชาติ ในกัปที่ ๖ หมื่น ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า " อุปเจลละ" อีก ๔ ชาติ และในกัปที่ ๖ หมื่น ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า " เจลจักรพรรดิ" อีก ๔ ชาติ

    มีอยู่ชาติหนึ่ง สมัยพุทธเจ้าอัตถทัสสี ท่านได้เกิดเป็นเต่าใหญ่อยู่ในแม่น้ำคงคาด้วยผลบาปกรรมเก่าบางอย่าง แต่กรรมดีก็ส่งผลให้เป็นเต่าแสนรู้ วันหนึ่งขณะแหวกว่ายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเห็นพระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่บนฝั่งด้วยทรงมีพระประสงค์จะเสด็จข้ามฝั่ง จึงลอยตัวขึ้นมาให้พระพุทธเจ้าประทับยืนแล้วแหวกว่ายพาพระพุทธเจ้ามาส่งอีกฝั่งหนึ่ง จากชาตินั้นบุญส่งผลให้ท่านเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ และจนมาถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นพระอนุชาต่างพระมารดา ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล.....