พระมหาปันถกเถระ
เอตทัคคะในทางผู้เจริญวิปัสสนา
   พระมหาปันถก เป็นลูกชายของธิดาของเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ มีน้องชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งพี่น้องสองคนนี้เดิมชื่อว่า “ ปันถก” เหมือนกันแต่เพราะท่านเป็นคนพี่จึงได้นามว่า “ มหาปันถก” ส่วนคนน้องได้นามว่า “ จูฬปันถก” ทั้งสองพี่น้องถือว่าอยู่ในวรรณจัณฑาล เพราะพ่อแม่ต่างวรรณะกันโดยพ่อเป็นวรรณะศูทร ส่วนแม่เป็นวรรณะแพศย์ ประวัติมีดังต่อไปนี้..
ธิดาเศรษฐีหนีตามชายหนุ่ม

   มารดาของท่านนั้น เป็นธิดาของธนเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เมื่อเจริญเติบโตย่างเข้าสู่วัยสาว เป็นผู้มีความงามเป็นเลิศ บิดามารดาจึงห่วงและหวงเป็นหนักหนา ได้ป้องกันรักษาให้อยู่บนปราสาทชั้นสูงสุด

   มิให้คบหากับบุคคลภายนอกจึงเป็นเหตุให้นางมีความใกล้ชิดกับคนรับใช้ ซึ่งเป็นชายหนุ่มในเรือนของตนจนได้เสียเป็นสามีภรรยากัน ต่อมาทั้งสองกลัวบิดามารดาและคนอื่นจะล่วงรู้การกระทำของตน จึงได้พากันหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอื่นที่ไม่มีคนรู้จัก อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาจนภรรยาตั้งครรภ์

   เมื่อภรรยาตั้งครรภ์ใกล้คลอด ได้ปรึกษากับสามีว่า “ ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็คงไม่ทำอันตรายลูกของตนได้ ดังนั้น ขอให้ท่านช่วยพาดิฉันกลับไปคลอดที่บ้านเดิมด้วยเถิด การคลอดในที่ห่างไกลพ่อแม่นั้นไม่ค่อยปลอดภัย ”

   ฝ่ายสามีเกรงว่า บิดามารดาของภรรยาจะลงโทษจึงไม่กล้าพาไป และได้พยายามพูดบ่ายเบี่ยงผลัดกันประกันพรุ่งออกไปเรื่อย ๆ จนภรรยาเห็นท่าไม่ได้การเมื่อสามีออกไปทำงานจึงหนีออกจากบ้าน เดินทางมุ่งหน้าสู่บ้านเกิดของตนเอง แต่ครรภ์ของนางได้รับการกระทบกระเทือนจึงคลอดบุตรในระหว่างทาง ฝ่ายสามีกลับเข้าบ้านไม่พบภรรยา ถามได้ทราบความจากคนใกล้เคียงแล้ว ติดตามโดยด่วน ได้มาพบภรรยาคลอดลูกอยู่ในระหว่างทาง และแม่ลูกทั้งสองก็แข็งแรงปลอดภัยดี กิจที่จะไปคลอดลูกยังบ้านเกิดของตน นั้นก็เสร็จสิ้นลงแล้วจึงพากันกลับสู่บ้านของตน และได้ตั้งชื่อกุมารนั้นว่า “ ปันถก ” เพราะว่าเกิดในระหว่างหนทาง

   ครั้นต่อมา นางได้ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สอง และเหตุการณ์ก็เป็นเหมือนครั้งแรก นางได้คลอดลูกระหว่างอีก และตั้งชื่อให้ว่า “ ปันถก” เหมือนคนแรกแต่เพิ่มคำว่า มหา ให้คนพี่ เรียกว่า “ มหาปันถก ” และเพิ่มคำว่า จูฬ ให้คนน้องเรียกว่า “ จูฬปันถก ”


มาอยู่กับตายายจึงได้บวช

   สองสามีภรรยานั้น ได้ช่วยกันเลี้ยงดูลูกทั้งสอง อยู่ครองรักกันมานาน จนกระทั้งลูกเจริญเติบโตขึ้น ได้วิ่งเล่นกับเด็กเพื่อน ๆ กัน ได้ฟังเด็กคนอื่น ๆ เรียกญาติผู้ใหญ่ว่าปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น ส่วนของตนไม่มีคนเหล่านั้นให้เรียกเลย จึงซักไซ้ถามไถ่จากบิดามารดาอยู่บ่อย ๆ จนทราบว่าญาติผู้ใหญ่ของตนนั้นอยู่ที่เมืองราชคฤห์ จึงรบเร้าให้บิดามารดาพาไปพบท่านเหล่านั้น จนในที่สุดบิดามารดาอดทนต่อการรบเร้าไม่ไหว จึงตัดสินใจพาลูกทั้งสองไปพบตา ยาย ที่เมืองราชคฤห์

   เมื่อเดินทางมาถึงเมืองราชคฤห์แล้ว ได้พักอยู่ที่ศาลาหน้าประตูเมืองไม่กล้าที่จะเข้าไปหาบิดามารดาในทันที เมื่อพบคนรู้จักจึงสั่งความให้ไปบอกแก่เศรษฐีว่า ขณะนี้ลูกสาวของท่านพาหลานชายสองคนมาเยี่ยม ฝ่ายเศรษฐียังมีความแค้นเคืองอยู่ จึงบอกแก่คนที่มาส่งข่าวว่า “ สองผัวเมียนั้น อย่ามาให้เห็นหน้าเลย ถ้าอยากได้ทรัพย์สินเงินทอง ก็จงเอาไปเลี้ยงชีพเถิด แต่ขอให้ส่งหลานชายทั้งสองคนมาให้ก็แล้วกัน ”

   สองสามีภรรยา ถึงจะมีความรักสุดรัก หวงแสนหวง ไม่อยากให้ลูกต้องมาพรากจากอกไปเลย แต่เพื่ออนาตอันสดใสและความสบายของลูกจึงตัดใจหักความรักอาลัยรักทิ้งไป ยอมรับเอาทรัพย์ที่บิดามารดาส่งมาให้ แล้วมอบลูกชายทั้งสองคนให้แก่คนใช้ไป อันเป็นการที่ไม่มีความเต็มใจเลยแม้สักเท่าเศษธุลี เพราะเป็นการพลัดพรากจากกันทั้งรัก จึงมีแต่ความระทมทุกข์ใจยิ่งนัก

   มหาปันถก และจูฬปันถก ได้เจริญเติบโตขึ้นในตระกูลของคุณตาผู้เป็นเศรษฐี แต่ต้องตกอยู่ในฐานะเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ขาดความอบอุ่นมีแต่ความว้าเหว่ ไม่เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่

    จูฬปันถก ยังเป็นเด็กที่เล็กมาก ไม่สามารถที่จะติดตามคุณตาธนเศรษฐีไปไหน ๆ ได้เหมือนกันมหาปันถก ๆ มักชอบตามท่านธนเศรษฐีไปไหนมาไหนอยู่บ่อย ๆ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มหาปันถกได้ไปรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาที่วัดเวฬวันเป็นประจำ และเมื่อมหาปันถกเข้าไปสู่สำนักพระผู้เป็นเจ้าอยู่เป็นนิจ จิตจึงน้อมไปเพื่อการจะบรรพชา

   เมื่อมหาปันถกมีจิตคิดจะบรรพชา จึงบอกท่านธนเศรษฐีว่า “คุณตาครับ ถ้าหากคุณตาอนูญาตให้กระผมออกบรรพชา กระผมจะบรรพชาอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอรับ”

   ท่านเศรษฐีพูดกับมหาปันถกหลานชายด้วยความดีใจว่า “ มหาปันถก หลานพูดอะไรอย่างนี้ การบรรพชาของหลานเป็นการดีสำหรับตายายยิ่งกว่าการบรรพชาของใคร ๆ ทั้งหมดในโลกนี้ ถ้าหลานพร้อมที่จะบรรพชาได้ จงบรรพชาเถิด” ครั้นท่านเศรษฐีกล่าวดังนี้แล้ว จึงนำมหาปันถกไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า “ คฤหบดี ท่านได้ทารกมาจากไหน”

   ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เด็กคนนี้เป็นหลานของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า และหลานของข้าพระองค์คนนี้มีศรัทธาต้องการจะบรรพชาอยู่ในสำนักของพระองค์ พระเจ้าข้า ”

   พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงทราบความประสงค์ของท่านเศรษฐีและหลานดังนั้นแล้ว จึงตรัสสั่งพระภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นกิจวัตว่า “ ดูก่อนภิกษุ เธอจงให้ทารกผู้นี้บรรพชาเถิด ”

   พระภิกษุรูปนั้นรับฟังพระพุทธบัญชาแล้ว จึงตระเตรียมการบรรพชาให้แก่มหาปันถกทันที

   เบื้องแรกพระเถระบอกพระกรรมฐาน ที่เรียกว่า ตจปัญจกกรรมฐาน คือ พิจารณาร่างกายมีหนังเป็นที่ ๕ ได้แก่ เกสา ( ผม ) โลมา ( ขน ) นขา ( เล็บ ) ทันตา (ฟัน) ตโจ (หนัง) แก่มหาปันถก แล้วจึงบรรพชาเป็นสามเณร

   สามเณรมหาปันถกนั้น เป็นผู้มีความเพียรเล่าเรียนพระพุทธพจน์ได้มาก และเมื่อท่านเป็นสามเณรจนครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านพยายามบำเพ็ญเจริญวิปัศสนากรรมฐาน จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสกิเลสทั้งปวง กิจของสมณะที่เกี่ยวกันการประพฤติพรตพรหมจรรย์ของท่าน ในพระพุทธศาสนาเพื่อกระทำให้สิ้นทุกข์ได้ดำเนินมาถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้น ความเพียรพยายามจึงเป็นเหมือนต้นทุนที่ให้ผลกำไลงาม

   พระมหาปันถกเถระ เป็นผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฏฏะ คือ ปัญญาที่กระทำให้เข้าถึงพระนิพพานอันมีวัฏฏะ ( การวนเวียน ) ไปปราศแล้ว

   เหตุที่กล่าวเช่นนี้ เพราะท่านได้สำเร็จอรูปปาวจรฌาน เมื่อออกจากธุดงค์ฌานแล้วได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงที่สุดในพระพุทธศาสนา ตามที่ท่านแบ่งพระอริยะบุคคลผู้บรรลุชั้นผลไว้เป็นสี่ชั้นคือ

    ๑ . พระโสดาปัตติผล ( ผลแห่งการเข้าถึงกระแสธรรมหรือพระนิพพาน)

   ๒ . พระสกทาคามิผล ( ผลของผู้จะมาเกิดอีกครั้งเดียว)

   ๓ . พระอนาคามิผล ( ผลของผู้ไม่มาเกิดอีก)

   ๔ . พระอรหัตผล ( ผลคือความเป็นผู้ไม่มีกิเลส )


ได้รับยกย่องในตำเเหน่งเอตทัคคะ

   พระมหาปันถก เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยกิจการพระศาสนา เป็นกำลังช่วยงานพระบรมศาสดา ตามกำลังความสามารถพระบรมศาสดา ได้ทรงมอบหมายให้ท่านรับหน้าที่ “ ภัตตุทเทศก์ ” คือ ผู้แจกจ่ายภัตตาหารและกิจนิมนต์ ตามบ้านทายกทายิกาและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ได้รับลาภสักการะโดยทั่วถึงกัน ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อยยุติธรรม จนเป็นที่พอใจของบรรดาเพื่อนสหธรรมิก และทายกทายิกาอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ท่านได้รับความสุขจากการหลุดพ้นสิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว ท่านได้ระลึกถึงน้องชายของท่าน ต้องการที่จะให้น้องชายได้รับความสุขเช่นเดียวกับตนบ้าง จึงไปขออนุญาตจากคุณตาแล้วพาจูฬปันถกผู้เป็นน้องชาย มาบวชเป็นศาสนทายาทอีกคนหนึ่ง

   พระมหาปันถก เป็นผู้มีความชำนาญในการเจริญวิปัสสนา จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้เจริญวิปัสสนา

   ท่านดำรงอายุสังขาร สมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน...