พระวักกลิเถระ
เอตทัคคะในทางศรัทธาวิมุตติ
    พระวักกลิ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมืองสาวัตถี ได้ศึกษาศิลปวิทยาจบไตรเพทตามความนิยมของลัทธิพราหมณ์
บวชเพราะอยากชมพระรูปโฉม

    สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จสู่พระนครสาวัตถีพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ วักกลิมาณพนั้น เป็นผู้มีอุปนิสัยหนักไปในทางราคจริตรักสวยรักงาม พอได้เห็นพระรูปโฉมอันสง่างาม ผิวพรรณผ่องใส พระอิริยาบทก็เหมาะสมไปทุกท่วงท่าจึงเกิดศรัทธาเลื่อมใสและรักใคร่ไม่รู้จักเบื่อหน่าย ในการดูพระวรกาย พยายามวนเวียนมาเฝ้าดูอยู่เป็นนิตย์ ผลที่สุดก็เกิดความคิดว่า “ถ้าเราบวชก็จะได้ตามดูพระวรกายของพระพุทธองค์ ได้อย่างใกล้ชิดและตลอดเวลา” เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงเข้าไปกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา และพระบรมศาสนาก็ประทานให้สมประสงค์

   เมื่อท่านบวชแล้วก็มิได้ใส่ใจในการที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ไม่มีการสาธยายท่องบ่นไม่บำเพ็ญเพียรพระกรรมฐาน ทุกวันเวลามีแต่เฝ้าดูพระรูปโฉมของพระพุทธองค์มิได้ละเว้น

   พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบการกระทำของท่านทุกประการ แต่ทรงรอให้ “ญาณ” (ปรีชาหยั่งรู้) ของท่านแก่กล้าเสียก่อน จึงปล่อยให้ท่านตามดูพระวรกายของพระองค์อยู่ตลอดเวลากาลนานโขโดยมิได้ตรัสว่ากล่าวแต่ประการใดในเบื้องต้น ครั้งกาลผ่านไป

   ต่อพอทรงทราบว่า ญาณของท่านแก่กล้ามามารถให้ตรัสรู้ธรรมได้แล้ว จึงตรัสเตือนให้พระวักกลิเลิกละการเที่ยวติดตามร่างกายอันเน่าเปื่อยนั้นเสีย และทรงชี้ทางให้ท่านกลับมาใส่ใจบำเพ็ญสมณธรรมด้วยพระดำรัสว่า

    “ ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม”

   พระวักกลิ แม้ว่าพระพุทธองค์จะตรัสเตือนอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ยังปฏิบัติเช่นเดิม พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสว่า

   “ ภิกษุนี้ ถ้าไม่ได้รับความสลดใจเสียบ้าง ก็ไม่ได้บรรลุรรคผลอะไรเลย”


ถูกขับไล่ไปโดดเขาตาย

   ครั้นมีพระดำรัสอย่างนี้แล้ว เมื่อใกล้จะถึงวันเข้าพรรษา พระองค์ได้เสด็จไปสู่พระนครราชคฤห์ โดยมีพระวักกลิยังคงติดตามดูพระองค์อยู่ตลอดเวลา จึงตรัสเรียกให้พระวักกลิเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสประณามขับไล่เธอออกไปเสียจากสำนักของพระองค์ด้วยพระดำรัสว่า

   “ อเปหิ วกฺกลิ ดูก่อนวักกลิ เธอจงออกไปจากสำนักของเรา”

   กฏธรรมดามีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีพระวาจาที่บุคคลยอมเชื่อถือ เพราะฉะนั้น ท่านพระวักกลิได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะขัดขืนพระวาจานั้นได้ และไม่ทันจะได้ตั้งสติ คิดอะไรไม่ออก จึงเกิดความน้อยใจและเสียใจเป็นอย่างมาก คิดว่าพระบรมศาสดาคงจะไม่เมตตาทักทายปราศัยกับเราแล้ว เราก็คงจะไม่ได้เห็นพระวรกายรูปโฉมของพระพุทธองค์อีกแล้ว เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม จึงออกจากพระเวฬุวันมหาวิหาร หมายใจว่าจะไปกระโดดภูเขาคิชฌกูฏ เพื่อฆ่าตัวตาย

   พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบถึงความอ่อนเปลี้ยเพลียใจของท่าน ทรงดำริว่า “ ภิกษุนี้ เมื่อไม่ได้ความปลอบโยนจากตถาคต คงจักทำลายให้อุปนิสัยแห่งมรรคและผลทั้งหลายพินาศไป” จึงทรงเปล่งพระรัศมีไป เพื่อทรงแสดงพระองค์ให้ท่านพระวักลิเห็น

   จำเดิมแต่ท่านแลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว สามารถสลัดลูกศร คือความเศร้าโศกเสียใจที่มีอยู่มากมายใหญ่หลวงนั้นลงได้

   พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพุทธประสงค์จะช่วยให้เกิดปีติและปราโมทย์อันมีกำลังแรงกล้าแก่ท่าน ประดุจบุคคลตักน้ำมาเทลงในสระที่แห้งฉะนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

    ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ ปสนฺโน พุทฺธสาสเน อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ สงฺขารูปสมํ สุขํ แปลว่า “ ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธศาสนา พึงบรรลุสันตบท ( ถึงนิพพาน ) เป็นที่เข้าไปสงบสังขารเป็นสุข ( อันนำมาซึ่งความสุข )”

   ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถานี้แล้ว จึงเหยียดพระหัตถ์ออกไปพร้อมกับตรัสว่า

   “ มาเถิดวักกลิ เธออย่ากลัวเลย จงดูแลตถาคต ตถาคตจักยกเธอขึ้น เหมือนบุคคลพยุงช้างตัวจมในเปือกตมขึ้นมา ฉะนั้น มาเถิดวักกลิเธออย่ากลัวเลย จงดูแลตถาคต ตถาคตจักยกเธอขึ้น เหมือนบุคคลผู้ช่วยพระจันทร์ยามที่ถูกราหูจับ ( ราหูอมจันทร์หรือจันทรรุปราคา) ฉะนั้น”

    ท่านพระวักกลิ ก็เกิดปีติอย่างแรงกล้าขึ้นแล้วคืดว่า “ เราได้เห็นพระบรมศาสดาแล้ว และพระองค์ตรัสเรียกเราว่า “ มาเถิดวักกลิ” จึงทำให้ลืมหนทางที่ตนมาว่ามาจากไหน แล้วพึงไปโดยหนทางไหนหนอ”

   เมื่อท่านไม่เห็นหนทางที่จะไป เลยเหาะขึ้นไปในอากาศมุ่งตรงไปยังที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา ขณะที่เท้าข้างหนึ่งยังเหยียบอยู่ทีภูเขานั้น ใจก้พลันนึกถึงพระคาถาที่พระบรมศาสดาตรัสแล้วได้ จึงข่มปีติลงได้ในอากาศนั้นนั่นแหละ แล้วได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ จึงประนมมือขึ้นถวายบังคมพระบามศาสดา และในเวลาที่ถวายบังคมอยู่นั้นเอง ได้ลงจากอากาศมายืนอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดาแล้ว


ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ

   ครั้งนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรพราหมณ์อยู่ในเมืองหงสาวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำเเหน่งเอตทัคคะด้านหลุดพ้นด้วยศรัทธา แล้วเกืดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายหลังจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกฉันภัตตาหารแล้ว ท่านได้ถวายผ้าไตรจีวรแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระพุทธเจ้าพลางกราบทูล

   “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อ ๗ วันที่แล้ว พระองค์ทรงยกย่องพระสาวกรูปหนึ่งว่าเลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา ด้วยผลบุญนี้ ขอข้าพระองค์จงได้รับยกย่องอย่างพระสาวกรูปนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลด้วยเถิด”

   พระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่า ความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า

   “ ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผล และได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านหลุดพ้นด้วยศรัทธา”

   ท่านฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่น ๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภุมิต่าง ๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ในเมืองสาวัตถี ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยที่ท่านตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ

   ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า อาศัยศรัทธาเป็นสื่อนำ จนสามารถได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ศรัทธาวิมุตติ คือ ผู้หลุดพ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา...