พระปิลินทวัจฉเถระ
เอตทัคคะในทางผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพยดา
    พระปิลินทวัจฉะ เป็นบุตรของพราหมณ์ตระกูลวัจฉโคตร เดิมชื่อว่า “ ปิลินทะ” แต่คนทั่วไปมักเรียกว่า “ ปิลินทวัจฉ” ตามชื่อตระกูลของท่านเมื่อเจริญวัยได้รับการศึกษาไตรเพทตามลัทธินิยม
เบื่อโลกจึงออกบวช

    ต่อมาเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตการครองเรือน จึงออกบวชเป็นปริพาชก เที่ยวแสวงหาสำนักอาจารย์เพื่อศึกษาปวิทยาขั้นสูง ๆ ต่อไป และได้ศึกษาวิชา จูฬคันธารา ในสำนักของอาจารย์แห่งหนึ่ง จนสำเร็จสามารถแสดงฤทธิ์เหาะได้ และสามารถล่วงรู้ความ รู้สึกนึกคิดจิตใจของผู้อื่นได้ด้วย

    ทำให้ชื่อเสียงของท่านร่ำลือระบือปรากฏไปทั่วกรุงสาวัตถีบ้านเกิดของท่าน ลาภสักการะก็เกิดขึ้นมากมาย แต่วิชานี้มีข้อจำกัดว่า ถ้าเข้าไปในเขตแดนที่มีวิชา มหาคันธาระ อยู่ด้วย วิชาจูฬคันธาระ นี้ก็จะเสื่อมลงไม่สามารถแสดงฤทธิ์เหาะได้ และไม่สามารถล้วงรู้จิตใจผู้อื่นได้

    ปิลินทวัจฉปริพาชก ท่องเที่ยวแสดงฤทธิ์ แสดงความสามารถแก่ประชาชนทั้งหลายไปยังเมืองต่าง ๆ จนมาถึงเมืองราชคฤห์ ชาวเมืองให้ความเคารพยกย่องนับถือเป็นจำนวนมาก และท่านได้พักอยู่ในเมืองราชคฤห์นั้น

    ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ทรงประกาศเผยแผ่หลักธรรมคำสอนไปยังคามนิคมต่าง ๆ จนมาถึงเมืองราชคฤห์ จากนั้นวิชาจูฬคันธาระของปิลินทวัจฉะก็เลื่อมลง ท่านรู้ได้ทันทีว่าในเมืองนี้จะต้องมีวิชามหาคันธาระของเกิดขึ้นแล้ว จึงสืบเสาะแสวงหาจนพบพระบรมศาสดา และทราบว่าพระองค์มีวิชามหาคันธาระ จึงกราบทูลขอศึกษาวิชานี้ พระผู้มีพระภาคกทรงยินดีที่จะสอนให้ แต่ว่าผู้เรียนต้องบวชในพระพุทธศาสนาก่อน เพราะวิชานี้จะสอนให้เฉพาะผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ท่านจึงกราบทูลขอบวชในวันนั้นเพื่อที่จะเรียนวิชามหาคันธาระตามที่ตนต้องการ

    เมื่อปิลินทวัจฉะบวชแล้ว ได้พยายามศึกษาวิชามหาคันธาระ ตามที่พระบรมศาสดาประทานสอนให้ โดยให้ท่านพิจารณาพระกรรมฐานตามสมควรแก่อัธยาศัย ท่านได้พยายามอยู่ไม่นานก็ได้สำเร็จวิชามหาคันธาระ ซึ่งก็นับว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา

   ครั้งหนึ่งพระปิลินทวัจฉเถระนั่งอยู่ในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ แล้วพิจารณาถึงคุณประโยชน์อันใหญ่หลวง สุดที่จะประมาณที่ท่านได้รับมานั้น เมื่อจะสรรเสริญผลสำเร็จของการที่ท่านมาสู่สำนักของพระบรมศาสดาจารย์ด้วยหวังจะมาเรียนวิชามหาคันธาราเป็นต้นเหตุ จึงกล่าวเป็นคาถา คือคำประพันธ์ภาษาบาลีขึ้นว่า

    “ สฺวาคตํ นาปคตํ นยิทํ ทุมฺมนฺติ ตํ มม” เป็นอาทิ โดยมีความหมายเป็นภาษาไทยว่า

   “ การมาของเรานี้เป็นการมาดีแล้ว การมาของเราไม่ปราศจากประโยชน์ การมาของเรานี้ไม่ทำให้เสียประโยชน์ สัจจะใดเป็นสิ่งประเสริฐ ในธรรมทั้งหลายที่พระพุทธองค์ทรงจำแนกไว้ดีแล้ว เราก็เข้าถึง สัจจะ ( อริยสัจ ๔ ) นั้นแล้ว

    การจาริกบิณฑบาตในเวลาเช้าของพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศษสนา จัดเป็น “ นิสัย” คือปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต อันนับเป็นกิจวัตร” อย่างหนึ่ง และการจาริกบิณฑบาตมีประโยชน์หลายอย่าง ดังนี้ กล่าวไว้ในคัมภีร์ มิลินทปัญหา มีอยู่ ๑๐ ข้อคือ

   ๑. เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ( ผู้ควรแนะนำสั่งสอน หรือผู้พึงดัดได้สอนได้ )

   ๒. เพื่อดำเนินตามรอยพระยุคคลบาทของพระพุทธเจ้า

   ๓. เพื่อให้ได้ภัตตาหารมาเลี้ยงอัตภาพ

   ๔. เพื่อบริหารร่างกายแบบนักพรต ( เป็นการเดินออกกำลังกาย)

   ๕. เพื่อเผยแผ่พระศาสนา

   ๖. เพื่อรักษาธุดงควัตร

   ๗. เพื่อป้องกันโรคบางอย่างได้

   ๘. เพื่อให้รู้จักพุทธศาสนิกชนดี

   ๙. เพื่อรักษาจริวัตร ( ธรรมเนียมที่ควรพฤติ)

   ๑๐. เพื่อฝึกกรรมฐาน ( ที่ตั้งแห่งการงานหมายเอาอุบายทางใจ ๒ อย่าง สมถะและวิปัสสนา)

   การจาริกบิณฑบาตเป็นกรณียกิจ คือหน้าที่ที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา พึงกระทำเป็นประจำทุกวัน


มีปกติเรียกคนอื่นว่า “ คนถ่อย”

    พระปิลินทวัจฉเถระ เป็นผู้มีปกติเรียกภิกษุด้วยกัน และคฤหัสทั้งหลายด้วยถ้อยคำว่า “ วสละ” ซึ่งเป็นคำหยาบ หมายถึง “ คนถ่อย , เลวทราม ” ความจริงแล้วท่านเป็นคนโอบอ้อมอารี ( ปากร้ายใจดี) โดยมีเรื่องเล่าดังต่อไปนี้..

    วันหนึ่ง ท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ เห็นชายคนหนึ่งถือถาดไส่ดีปรีเต็มถาด กำลังเข้าไปในเมือง ท่านจึงถามว่า

   “ แน่ะเจ้าคนถ่อย ในถาดของท่านนั้นคืออะไร ?”

   ชายคนนั้นได้ฟังแล้วรู้สึกไม่พอใจขึ้นมาทันที จึงตอบไปว่า

   “ ขี้หนู ครับท่าน”

   พระปิลินทวัจฉเถระ ก็พูดเป็นการรับทราบตามคำของชายคนนั้นว่า

    “ อ้อ เจ้าคนถ่อย ของนั้นเป็นขี้หนู”

    ด้วยอำนาจแห่งคุณความเป็นพระอรหันต์ของพระเถระ และคำพูดไม่ดีอันเกิดจากอกุศลจิตของชายคนนั้น ทำให้ดีปรีในถาดของเขากลายเป็นขี้หนูไปเสียทั้งหมด เขาตกใจมาก เพราะคิดขึ้นได้ว่ายังมีดีปรีอยู่ในเกวียนนอกเมืองอีก เมื่อเขากลับไปดู ก็พบว่าดีปรีกลายเป็นขี้หนูไปทั้งหมดจริง ๆ เขาเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะปรีดีเหล่านั้นเป็นของมีค่ามาก และเขาเตรียมเพื่อจะนำมาขาย

   ขณะที่เขาแสดงอาการเสียใจและกำลังโกรธพระเถระอยู่นั้น มีอุบาสกคนหนึ่งเดินผ่านมาและสอบถาม ได้ทราบความแล้วก็เข้าใจเหตุการณ์โดยตลอด จึงแนกนำขึ้นว่า..

   “ดูก่อนสหาย ท่านจงถือถาดขี้หนูนี้ไปยืนรอที่หนทาง ซึ่งพระเถระจะผ่านมา เมื่อพระเถระผ่านมาเห็นแล้วก็จะถามว่า “ แนะเจ้าคนถ่อย ในถาดของท่านนั้นคืออะไร ?”

   ท่านก็จงตอบว่า “ ดีปรี ครับท่าน”

   พระเถระก็จะกล่าวว่า “ อ้อ เจ้าคนถ่อย ของนั้นเป็นดีปรี”

   อย่างนี้แล้ว ท่านก็จะได้ดีปรีกลับคือมา

   ชายคนนั้นทำตามคำแนะนำของอุบาสก และในที่สุดขี้หนูก็กลับกลายเป็นดีปรีดังเดิม


พระเถระถูกเพื่อนพระภิกษุฟ้องพระพุทธเจ้า

   สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเวฬวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ภิกษุทั้งหลายพากันเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลกล่าวโทษพระปิลินทวัจฉเถระว่า..

   “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระปิลินทวัจฉเถระ มักเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยคำว่า วสละ พระเจ้าข้า”

   พระบรมศาสดา จึงรับสั่งให้พระภิกษุรูปหนึ่งไปเรียกท่านมาแล้วตรัสถามว่า “ ดูก่อนปิลินทวัจฉะ ได้ทราบว่าเธอมีกเรียกภิกษุทั้งหลาย ด้วยถ้อยคำว่า วสละ จริงหรือ?”

   “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นจริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

   พระบรมศาสดา ครั้นได้สดับแล้ว จึงตรัสเล่าถึงบุพกรรมในอดีตชาติอันยาวนานของท่านให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า

    “ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้ถือโทษโกรธปิลินทวัจฉะเลย ท่านมิได้มีความโกรธแค้นในตัวเธอทั้งหลายเลย เพราะปิลินทวัจฉะไม่ได้มีโทสะอยู่ภายในใจ ที่เป็นเหตุกระทำให้ร้องเรียกภิกษุทั้งหลาย ด้วยถ้อยคำว่า วสละ (คนถ่อย) เลยแม้เพียงน้อยนิด ทั้งนี้เนื้องมาจากปิลิทวัจฉเคยเกิดในตระกูลพราหมณ์ติดต่อกันมาแล้วถึง ๕๐๐ ชาติ ไม่เคยเกิดในตระกูลอื่นเลย เธอได้สะสมคำว่า วสละ ( คนถ่อย) นั้นโดยประพฤติมาตลอดกาลนาน ถ้อยคำที่กระทบกระทั้งชนเหล่าอื่น อันเป็นระคายหู เป็นคำหยาบคายนั้น ย่อมไม่มีในพระขีณาสพ ( ผู้สิ้นอาสวกิเลส) เพราะว่าบุตรของตถาคตกล่าวอย่างนั้นด้วยอำนาจความเคยชินที่ได้ประพฤติสะสมมา ( เป็นเหมือนคำพูดที่ติดปาก พูดออกไปโดยไม่ได้คิด )


ว่าด้วยเรื่องคนถ่อย ๒๐ ชนิด

   สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร วัดที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายไว้ ใกล้พระนครสาวัตถี ในเวลาเช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี โดยเสด็จไปตามลำดับตรอก จนกระทั้งไปถึงนิเวศน์ของอัคคิกภาทวาชพราหมณ์ ผู้กำลังก่อไฟแล้วตกแต่งสิ่งของที่ควรบูชาอยู่

   ฝ่ายอัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา แต่ไกลจนมาถึงที่อยู่ของตน จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ หยุดอยู่ที่นั้นแหละคนโล้น หยุดอยู่ที่นั้นแหละสมณะ หยุดอยู่ที่นั้นแหละคนถ่อย”

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า “ ดูก่อนพราหมณ์ ท่านรู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยหรือ”

   พราหมณ์กราบทูลตอบว่า “ ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อย ดีแล้ว ขอท่านพระโคดมจงทรงแสดงคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยเถิด”

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟังจงใส่ใจให้ดี ตถาคตจะกล่าวให้ฟัง” อัคคิกภารวาชพราหมณ์ก็กราบทูลรับ

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความเป็นไปของคนถ่อยว่า

    ๑. คนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่อย่างเลว มิทิฐิวิบัติ และมายา พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๒. คนผู้เบียดเบียนสัตว์ที่เกิดหนเดียว แม้หรือเกิดสองหน ไม่มีความเอ็นดูสัตว์ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๓. คนเบียดเบียน เที่ยวปล้น มีชื่อเสียงว่าฆ่าชาวบ้านและชาวนิคม พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๔. คนลักทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน เขาไม่ได้เป็นหนี้ท่าน และหนี้ไปเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๕. คนผู้กู้หนี้เขามาใช้แล้วกล่าวว่า เราไม่ได้เป็นหนี้ท่าน และหนีไปเสีย พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๖. คนฆ่าคนเดินทาง ชิงเอาสิ่งของเพราะอยากได้สิ่งของ พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๗. คนถูกเขาถามให้เป็นพยานแล้วกล่าวคำเท็จ เพราะเหตุของตนก็ดี เพราะเหตุแห่งผู้อื่นก็ดี เพราะเหตุแห่งทรัพย์ก็ดี พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๘. คนปู้ประพฤติล่วงละเมิดในภรรยาของญาติก็ตาม ของเพื่อนก็ตาม ด้วยการข่มขืนหรือด้วยการร่วมรักกัน ถึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๙. คนผู้สามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดา ผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๑๐. คนทุบตีด่าว่ามารดาบิดา พี่ชาย พี่สาว พ่อตาแม่ยาย แม่ผัวหรือพ่อผัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๑๑. คนผู้ถูกถามถึงประโยนช์ แต่บอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ พูดกลบเกลื่อนเสีย พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๑๒. คนกระทำความชั่วแล้ว ปรารถนาว่าใครอย่าพึงรู้ว่า เราปกปิดไว้ พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๑๓. คนผู้ไปสู่สกูลอื่นแล้ว และปริโภคโภชนะที่สอาด ย่อมไม่ตอบแทนเขาผู้มาสู่สกูลของตน พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๑๔. คนผู้ลวงสมณะ พราหมณ์หรือแม้วณิพกอื่นด้วยมุสาวาท ( คำเท็จ) พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๑๕. เมื่อเวลาบริโภคอาหาร คนผู้ด่าสมณะหรือพราหมณ์และไม่ให้โภชนะ พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๑๖. คนในโลกนี้ ผู้ที่ถูกโมหะ ( ความหลง , ความโง่) ครอบงำแล้วปรารถนาของเล็กน้อย พูดอวดสิ่งที่ไม่มี พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๑๗. คนเลวทราม ยกตนและดูหมิ่นผู้อื่นด้วยมานะของตน พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๑๘. คนฉุนเฉียว กระด้าง มีความปรารถนาลามก มีความตระหนี่ โอ้อวดไม่ละอาย ไม่สะดุ้งกล้ว พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๑๙. คนติเตียนพระพุทธเจ้าหรือติเตียนบรรพชิต หรือคฤหัสถ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พึงรู้ไว้ว่าเป็นคนถ่อย

   ๒๐. ผู้ใดไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญาณว่าเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้นเป็นคนถ่อยต่ำช้า เป็นโจรในโลกพร้อมทั้งพรหมโลก คนเหล่าใด ตถาคตประกาศแก่ท่านแล้ว คนเหล่านั้นนั่นแหละ ตถาคตกล่าวว่าเป็นคนถ่อย ( คนเลว)

   “ บุคคลมิใช่เป็นคนถ่อย (เลว) เพราะชาติตระกูล มิใช่เป็นพราหมณ์ เพราะชาติตระกูล แต่เป็นคนถ่อย ( เลว) ก็เพราะกระทำความชั่ว เป็นพราหมณ์ก็เพราะกระทำความดี”

   ท่านจงรู้ความข้อนั้น ตามที่ตถาคตแสดงนี้ บุตรของจัณฑาลชื่อว่า ตังมาคะ เขาได้ยศอย่างสูงที่ได้แสนยาก มีกษัตริย์และพราหมณ์เป็นจำนวนมากมาสู่ที่บำรุงของเขา เขานั่งบนยานอันประเสริฐไปในหนทางไหญ่ที่ไม่มีฝุ่น เขาสละกามราคะได้แล้ว เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ชาติตระกูลไม่อาจห้ามเขามิให้เข้าถึงพรหมโลกได้

   พราหมณ์เกิดในตระกูลผู้สาธยายมนต์ร่ายมนต์ แต่พวกเขากระทำบาปกรรมอยู่เนือง ๆ ก็พึงถูกติเตียนในปัจจุบันนี้ทีเดียว และภพหน้าก็ไปสู่ทุคติ ชาติตระกูลห้ามกันพวกเขาจากทุคติ หรือจากคำครหาไม่ได้

   อัคคิกภารวาชพราหมณ์ แสดงความยินดีและกราบทูลขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสารณะที่พึ่ง ทั้งประกาศตนเป็นอุบาสกตลอดชีวิต


ช่วยเด็กทารก ๒ คน จากโจร

   ในคราวหนึ่ง ตระกูลอุปัฏฐากของท่านได้ถูกพวกโจรปล้นแล้วจับเอาทารกไป ๒ คน พระปิลินทวัจฉเถระพอท่านทราบความ ด้วยหวังจะเเสดงกตัญญูกตเวทีต่อตระกูลอุปัฏฐากของท่าน ขึงได้ใช้อริยอิทธิฤทธิ์ไปนำเอาทางรกทั้ง ๒ คนนั้นกลับมาไว้ที่ปราสาทแห่งตระกูลอุปัฏญากโดยสวัสดิภาพ ไม่มีภยันตรายอะไรเกิดขึ้นเลย

   ครั้นเมื่อบุคคลทั้งหลายได้เห็นทารกทั้ง ๒ คนกลับมาแล้วอย่างปาฏิหาริย์ เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจของผู้ที่ได้พบเห็น และเมื่อสืบทราบว่า ทารกทั้ง ๒ คน ที่ถูกพวกโจรลักพาไปแล้วเอาคืนกลับมา พระภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัยการกระทำของพระปิลินทวัจฉเถระว่า ผิดพระวินัยสิกขาบทไหนหรือไม่

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความต้องอาบัติย่อมไม่มีในผู้มี ฤทธิ์ , อิธิวิสัย”

   เป็นอันว่า พระปิลินทวัจฉเถระไม่ผิดพระวินัยจากการที่นำทารกทั้ง ๒ คนผู้ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของโจรแล้ว เอากลับคืนมาได้ด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์ โดยไม่เหมือนกับการที่พระภิกษุนำสิ่งของที่โจรขโมยไปแล้วเอากลับคืนมาด้วยอาการธรรมดา เพราะถ้าพระภิกษุนำสิ่งของที่โจรกระทำโจรกรรมไปแล้วเอากลับคืนมา เป็นการผิดต่อพระวินัย ต้องได้รับโทษทางอาบัติ ( อาบัติ แปลว่า การต้อง หมายถึงโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งพระภิกษุ )


ได้รับยกย่องว่าเป็นที่รักของเทวดา

   พระปิลินทวัจฉเถระนั้น สอนธรรมแก่พวกเทวดาเป็นประจำหลังจากท่านบรรลุอรหัตผลแล้ว เทวดาเหล่านั้นมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับท่านมาตั้งแต่ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ด้วยกันในชาติหนึ่งในอดีต มีเรื่องเล่าว่า ในชาตินั้นท่านเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรมสอนพสกนิกรให้มั่นคงอยู่ในศีล ๕ ครั้นตายแล้ว พสกนิกรเหล่านั้นได้ไปบังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อท่านมาเกิดในชาตินี้ได้ออกบวชและบรรลุอรหัตผล เทวดาเหล่านั้นจำได้จึงมาหาด้วยความคุ้นเคยและเคารพรักใคร่เลื่อมใสพร้อมทั้งได้ฟังธรรมจากท่านด้วย

   ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพยดา ฯ

   ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน...