พระโสณกุฏิกัณณเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ มีวาจาไพเราะ
   พระโสณกุฏิกัณณะ เป็นบุตรของอุบาสิกาชื่อว่า “ กาฬี” ในเมืองราชคฤห์ เดิมชื่อว่า “ โสณะ” แต่ท่านชอบประดับหูของท่านด้วยเครื่องประดับมีมูลค่ามากถึง ๑ โกฏิ จึงได้นามว่า “ กุฏิกัณณะ” เติมข้างหลังชื่อ ดังนั้นท่านจึงมีชื่อว่า ” โสณกุฏิกัณณะ”

   เนื่องจากนางกาฬีผู้เป็นโยมมารดา เป็นโยมอุปัฏฐากของพระมหากัจจายนเถระ และไปนมัสการพระมหากัจจายนเถระอยู่เนืองๆ เวลาที่ท่านมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะเมืองกุรุรฆระ ซึ่งอยู่ที่แคว้นอวันตีตอนใต้อันเป็นส่วนที่เรียกว่าอวันติทักขิณาบถ และถือได้ว่าเป็นปัจจตชนบท ( ถิ่นกันดาร) นางได้นำลูกชายไปด้วยตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ จึงทำให้ลูกชายคุ้นเคยกับพระเถระและได้ฟังคำสอนของพระเถระอยู่เป็นประจำ ครั้นเจริญวัยขึ้นท่านยิ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นจึงได้สร้างวัดขึ้นที่ภูเขาปวัตตะเพื่อถวายแก่พระมหาเถระ

   กล่าวถึงนางกาฬี ในคัมภีร์มโนรถปูรณีกล่าวว่า นางได้เป็นพระโสดาบันก่อนหญิงคนใด รวมทั้งก่อนโยมมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะด้วย ดังมีเรื่องเล่าว่า วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตสูตรโปรดฤๅษีปัญจวัคคีนั้น นอกจากฤๅษีโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังมีอมนุษย์คือเทวดาและพรหมอีก ๑๘ โกฏิได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยในจำนวนนั้นมีสาตาคิรยักษ์รวมอยู่ด้วย สาตาคิรยักษ์อยู่ทางตอนเหนือของชมพูทวีปบริเวณป่าหิมพานต์ มีเพื่อนยักษ์ชื่อเหมวตยักษ์อยู่ทางตอนใต้ ครั้นได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว สาตาคิรยักษ์ก็คิดถึงเหมวตยักษ์ผู้เป็นเพื่อน อยากให้บรรลุธรรมอย่างที่ตนบรรลุบ้าง จึงชวนยักษ์บริวารเหาะไปหา

   ฝ่ายเหมวตยักษ์เองมองไปทางป่าหิมพานเห็นมีดอกไม้บานนอกฤดูกาล ทำให้หวนนึกถึงเพื่อนสาตาคิรยักษ์ผู้เป็นสหายหวังจะไปชวนให้ไปเที่ยวหาความสำราญที่ป่าหิมพานต์ด้วยกัน จึงชวนยักษ์บริวารเหาะไปเช่นหา แล้วทั้ง ๒ ฝ่ายก็มาพบกันกลางทาง คือในอากาศเหนือบ้านของนางกาฬี แล้วสนทนากันถึงเหตุที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างมาหากัน สาตาคิรยักษ์บอกให้เหมวตยักษ์ทราบว่า ผู้ที่เป็นต้นเหตุให้ป่าหิมพานต์มีดอกไม้บานนอกฤดูกาลนั้นก็คือเจ้าชายสิทธัตถะพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ซึ่งบัดนี้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว

    และบัดนี้กำลังหมุนล้อธรรม ( แสดงธรรม ) โปรดมนุษย์และเทวดาทั้งหมื่นจักรวาฬ เหมวตยักษ์พอได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้า ก็สนใจมาก จึงถามสาตาคิรยักษ์ว่า ได้เห็นพระพุทธเจ้าเต็มตาหรือเปล่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยมั่นคงไหม ทรงควบคุมความคิดในอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งที่ปรารถนาแลไม่ปรารถนาได้ไหม สาตาคิรยักษ์ก็กล่าวตอบว่า เห็นมาแล้ว และวันนี้ก็เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขอให้เราไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากับเถิด

   เมื่อสาตาคิรยักษ์กล่าวสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าจบลง เหมวตยักษ์ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ขณะที่ยักษ์ทั้ง ๒ กำลังสนทนาอยู่เหนือบ้าน ของนางกาฬีนั้น นางก็ลุกขึ้นจากที่นอนมานั่งฟังจับได้ใจได้ว่าไม่ใช่เสียงมนุษย์จึงตั้งใจฟัง และพลอยได้ฟังธรรมที่สาตาคิรยักษ์กล่าวไปโดยลำดับ ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธเจ้าทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยพบเห็นพระองค์เลย แล้วก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน เหมือนกับได้บริโภคอาหารที่ผู้อื่นจัดไว้เพื่อผู้ใดผู้หนึ่ง ฉะนั้น ต่อมา เมื่อพระมหากัจจายนเถระเดินทางกลับมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา นางจึงมีโอกาสพาโสณะลูกชายไปหาและรับอุปัฏฐากดังกล่าวมาแล้ว


อยู่ชนบทบวชพระยาก

   ต่อมา โสณกุฏิกัณณอุบาสก มีศรัทธาปรารถนาจะบวช แต่พระเถระได้แนะนำให้เขาปฏิบัติตนบำเพ็ญกุศลในเพศฆราวาสจะสะดวกกว่า เพราะชีวิตพระสงฆ์ต้องประพฤติพรหมจรรย์นั้นเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ โสณกุฏิกัณณะ ก็ยังยืนยันมั่นคงว่า ถึงจะลำบากอย่างไรก็ยินดีที่จะปฏิบัติกิจของพระสงฆ์ อย่างดีที่สุดเฝ้าอ้อนวอนพระเถระอยู่หลายครั้ง ในที่สุดพระมหาเถระก็ให้บวชเป็นสามเณรไว้ก่อน เนื่องจากในอวันตีทักขอณาปถชนบทนั้นหาภิกษุได้ยาก การบวชพระ จะต้องมีภิกษุร่วมประชุมสังฆกรรมให้การอุปสมบทอย่างน้อย ๑๐ รูป เรียกว่า ทสวรรค ท่านจึงเป็นสามเณรอยู่นานถึง ๒ ปี กว่าที่จะมีภิกษุครบจำนวนทำการอุปสมบทให้ท่านได้


เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

   เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว ได้เรียนกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ปลีกตัวหาสถานที่สงบสงัด ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์สินกิเลสาวะทั้งปวงในพรรษานั้น

   ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านมีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อขอแก้ไขพระวินัยอันเป็นพุทธบัญญัติบางประการ ซึ่งไม่สดวกแก่พระสงฆ์ผู้อยู่ในเมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตีชนบท รวมทั้งหมด ๕ ประการ ( เหมือนในประวัติพระมหากัจจายนเถระ ดังหล่าวข้างต้น) ส่วนเรื่องที่พระโสณกุฏิกัณณเถระ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ท่านได้ไปบอกว่าโยมมารดา มีกล่าวในอรรถกถาคัมภีร์มโนรถปูรณีว่า

   พระโสณกุฏิกัณณเถระ รับฝากถ้อยคำของพระมาหากัจจายนเถระแล้ว กราบลาพระอุปัชฌายะ กลับมาเก็บเสนาสนะแล้วก็ถือบาตจีวรออกไป และแวะบอกลาโยมมารดาให้ทราบเรื่องราวด้วย

   ฝ่ายนางกาฬีอุบาสิกา จึงบอกพระลูกชายว่า “ ดีแล้ว เมื่อคุณจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า คุณจงถือเอาผ้ากัมผลผืนนี้ไปถวายพระผู้มีภาคเจ้าในพระคันธกุฏีด้วย” กล่าวดังนี้แล้ว นางก็ถวายผ้ากัมผลผืนที่มีค่ามากผืนหนึ่งแก่พระโสณกุฏิกัณณเถระ


ถวายพระธรรมเทศนา

   พระโสณกุฏิกัณณเถระ เดินทางมาถึงพระเชตวันมหาวิหาร ในขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า กำลังประทับนั่งอยู่บนพุทธอาสน์ ท่านจึงเข้าเฝ้าถวายบังคม แล้วนั่งลงในสถานที่อันสมควรแก่ฐานะของตน

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปราศรัยกับพระโสณกุฏิกัณณเถระพอสมควรแล้ว จึงตรัสสั่งพระอานนทเถระว่า “ เธอจงจัดแจงปูเสนาสนะให้แก่พระโสณกุฏิกัณณเถระที่ภายในพระคันธกุฏีที่ประทับ มีอุปมาประหนึ่งว่า “ บุคคลยกผ้าปูพื้นให้สูงฉะนั้น”

   ได้รับยกย่องรับยกย่องในทางผู้มีวาจาไพเราะ

   ในคืนวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่แจ้งกับพระโสณกุฏิกัณณเถระเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียว จึงเสด็จเข้าประทับภายในพระคันฑกุฏี พอถึงเวลามัชฌิมยาม ( ยามท่ามกลาง) พระองค์ทรงบรรทมแล้วตื่นในเวลาปัจฉิมยาม คือยามสุดท้าย ทรงพิจารณาเห็นว่า พระโสณกุฏิกัณณเถระพักผ่อนจำวัดพอสบายแล้ว จึงตรัสสั่งว่า “ ดูก่อนโสณะ เธอจงแสดงธรรมให้ตถาคตฟังเถิด”

    พระโสณกุฏิกัณณเถระ จึงน้อมรับสนองพุทธดำรัสด้วยการแสดงพระสูตร๑๖ สุตรอันมีอัฏฐวรรค ( หมวด ๘ ) ทั้งสิ้น มิได้ผิดแม้แต่พยัญชนะหนึ่ง ด้วยสรภัญญะวิธี มีเสียงอันไพเราะเสนาะโสตนัก

    เมื่อจบการแสดงธรรมของพระเถระจบลง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส

   สรรเสริญว่า “ ดีแล้ว ๆ โสณะ เธอเรีนนอัฏฐาวรรคทั้งสิ้นโดยดี เธอใส่ใจดี เธอแสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะสละสลวยไม่มีสิ่งใดติดคอ ทำให้ฟังง่าย”

   (ในอรรถกถาคัมภีร์พระธรรมบทกล่าวว่าเทวดาในบ้านของนางกาฬีอุบาสิกาก็ให้สาธุการแก่พระเถระ)

   พระโสณกุฏิกัณณเถระพิจารณาเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะกราบทูลข้อความตามที่พระมหากัจจายนเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์สั่งฝากมา จึงได้กราบทูลข้อความที่รับฝากมาตั้งแต่ต้นจนจบให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบทุกถ่อยกระทงความ (เนื้อความนี้มีอยู่ใน พระมหากัจจายนเถระ) แล้วท่านกราบทูลอีกว่า “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงประเสริฐเลิศ ผ้ากัมผลผืนนี้อุบาสิกาโยมแม่ของข้าพระองค์ฝากข้าพระองค์มาถวาย เพื่อใช้เป็นผ้าปูพื้นในพระคันธกุฏีที่ประทับของพระองค์ พระเจ้าข้า” กราบทูลดังนี้แล้วก็น้อมผ้ากัมผลเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า

    ครั้นท่านพระโสณกุฏิกัณณเถระพักอยู่ในพระคันธกุฏีร่วมกับพระผู้มีพระภาคเจ้ามานานพอประมาณ และเมื่อได้รับพุทธธานุญาตพระพร ๘ ประการ ดังที่ตั้งใจมากระทำและที่ได้รับมอบหมายมาทั้งปวง จนสำเร็จลุล่วงหมดแล้ว จึงกราบบังคมถวายบังคมลาพระบรมศาสดากลับมายังอวันตีชนบทแห่งกุรุรฆนคร ซึ่งอยู่ห่างจากพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถีประมาณ ๑๒๐ โยชน์

   เมื่อท่านกลับมาถึงอวันตีชนบทแล้ว จึงเข้าไปหาพระมหากัจจายนเถระพระอุปัชฌาย์และกราบเรียนถึงเรื่องการเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาให้ทราบโดยตลอด

   รุ่งเช้า ท่านเข้าไปบิณฑบาตที่บ้านของมหาอุบาสิกากาฬีโยมมารดา ๆ แลเห็นท่านกลับมาแล้วก็ดีใจอยากจะทราบเรื่องราวบางสิ่งบางประการจากปากของพระโสณกุฏิกัณณเถระ จึงนิมนต์ท่านให้ขึ้นฉันจังหัน บนบ้าน

    เวลาพระเถระฉันจังหันเสร็จแล้ว ท่านได้เล่าเรื่องที่ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าให้โยมมารดาได้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ

   ฝ่ายมหาอุปาสิกากาฬีได้ถามขึ้นว่า “ คุณได้แสดงธรรมถวายพระบรมศาสดา แล้วได้รับการประทาน สาธุการจากพระองค์มิใช้หรือ”

   “คุณโยมรู้ได้อย่างไร” พระโสณกุฏิกัณณเถระเอ่ยถามขึ้นด้วยความฉงนสนเท่ห์ใจยิ่งนัก

    “ โยมรู้ได้จากเทวดาที่สิงอยู่ในเรือนของโยมนี่เองเป็นผู้บอกให้ทราบ” มหาอุบาสิกากาฬีตอบให้ท่านพระโสณกุฏิกัณณเถระ หายข้องใจ และนางได้กล่าวต่อไปว่า “คุณเมื่อแสดงธรรมในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระบรมศาสดาได้แล้ว คุณก็อาจแสดงธรรมแม้แก่โยมได้เช่นกัน” ต่อจากนั้นมหาอุบาสิกาจึงบอกกำหนดวันแสดงธรรมว่า “ ในวันโน้น โยมจะให้มีการฟังธรรมกัน และจะฟังธรรมของคุณ”

    พระโสณกุฏิกัณณเถระรับนิมนต์กับโยมมารดาว่า

    “อาตมา จะแสดงธรรมที่แสดงถวายพระบรมศาสดาแล้วนั้น โดยนำมาแสดงให้โยมได้ฟัง”

    มหาอุบาสิกากาฬี ฟังพระลูกชายตกปากรับนิมนต์ก็มีความดีใจเป็นล้นพ้น จึงเตรียมแผนงานการกุศลที่จะจัดให้มีขึ้นในวันฟังเทศน์นั้นว่า “ เราจะถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ กระทำบูชาแล้ว จะฟังธรรมกถาจากบุตรของเรา”

    แล้วได้ตั้งหญิงทาสีไว้เพียงคนเดียวเท่านั้นให้เป็นผู้อยู่เฝ้าเรือน แล้วพาเอาบริวารทั้งหมดไป เพื่อจะไปฟังธรรมกถาของพระโสณกุฏิกัณณเถระ ณ มณฑปที่นางให้สร้างไว้ภายในพระนคร สำหรับใช้ประโยชน์ในการฟังธรรม

   

   หลังจากพระโสณกุฏิกัณณเถระ ก้าวขึ้นบนธรรมมาสน์ที่ประดับประดาไว้แล้ว และกำลังแสดงธรรมอยู่ ด้วยสำเนียงอันไพเราะจับใจ

   พอดีในเวลานั้น พวกโจร ๙๐๐ คนเที่ยวหาช่องทางที่จะเข้าเรือนของมหาอุบาสิกากาฬีนั้นอยู่

   เรือนของมหาอุบาสิกากาฬี ล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น มีซุ้มประตู ๗ ซุ้ม นางล่ามสนัขที่ดุไว้ในซุ้มประตูทุก ๆ ซุ้ม นอกจากนี้ยังขุดคูไว้ที่ตรงปรากฏเป็นประดุจว่าละลายเดือดพล่านอยู่ เพราะถูกแสงแดดเผา แต่ในเวลากลางคืน ดีบุกปรากฏเป็นก้อนแข็งกระด้างทั้งยังปักขวางเหล็กใหญ่ไว้ที่พื้นในระหว่างคูนั้นติด ๆ กันไป

   พวกโจรเหล่านั้นมองไม่เห็นช่องทางก็หมดโอกาส เพราะอาศัยการรักษาอย่างนี้ และเพราะอาศัยความที่มหาอุบาสิกากาฬีอยู่ในเรือนทุกวัน

   วันนั้นพอพวกโจรทราบว่า มหาอุบาสิกากาฬีออกจากบ้านไปฟังธรรมแล้ว จึงใช้วิธีขุดอุโมงเข้าไปสู่เรือน โดยขุดลอกลึกลงไปเบื้องล่างแห่งคูดีบุกและขวากเหล็กนั้นเลยที่เดียว

   เมื่อช่วยกันขุดสำเร็จแล้ว พวกโจรทั้ง ๙๐๐ คน ตกลงส่งหัวหน้าโจรไปยังมณฑปที่มหาอุบาสิกากาฬีนั่งฟังเทศน์อยู่ ด้วยคำสั่งอันเฉียบขาดและดุดันว่า “ ถ้าอุบาสิกานั้นได้ยินว่า พวกเราเข้าไปในเรือนนั้นแล้ว นางมุ่งหน้ากลับมายังเรือน ท่านทั้งหลายจงฟันอุบาสิกานั้นให้ตายเสียด้วยดาบนี้ ”

   ฝ่ายหัวหน้าโจรได้ไปยืนคุมเชิงอยู่ในสถานที่ที่ใกล้กับมหาอุบาสิการกาฬีนั่งฟังธรรมนั้น

   ส่วนพวกโจรจุดไฟให้สว่างขึ้นในเรือน แล้วเปิดประตูที่เก็บกหาปณะ

   นางทาสีคนเฝ้าบ้านพอเห็นพวกโจรเข้ามาในเรือนแล้ว จึงรีบวิ่งไปหามหาอุบาสิกา บอกเรื่องราวด้วยความตกใจ จึงพูดจาละล่ำละลักว่า “ คุณนาย ๆ พวกโจรเป็นจะนวนมากมายไดเข้าไปในเรือนงัดประตูห้องเก็บกหาปณะแล้ว เจ้าค่ะ”

   “ พากโจรจงขนเอากหาปณะที่ค้นพบไปแล้วเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่ามากระทำอันตรายแก่ธรรมของเราเลย เจ้าจงไปที่เรือนเสียเถิดนะ” มหาอุบาสิกากาฬีพูดชนิดไม่ห่วงกหาปนะสมบัติเหล่านั้น แต่ห่วงฟังธรรมมากว่า

   ฝ่ายพวกโจรก็ช่วยกันค้นและเข้าไปงัดห้องเก็บเงิน แล้วช่วยกันขนไปจนหมด นางทาสีก็วิ่งไปบอกมหาอุบาสิกากาฬีเช่นเดิม มหาอุบาสิกากาฬีก็บอกและไล่นางทาสีกลับไปบ้านเช่นเดิม นางทาสีกลับมาถึงเรือน เห็นพวกโจรกำลังงัดห้องเก็บทอง ก็รีบวิ่งมาบอกคุณนายมหาอุบาสิกากาฬีอีก

    มหาอุบาสิกากาฬีฟังคำบอกเล่าของนางทาสีแล้ว มิได้แสดงอาการวิตกกังวลหรือหวงแหนทรัพย์เหล่านั้น หรือแสดงความโกรธแค้นพวกโจรก็เปล่า แต่กลับเรียกนางทาสีเข้ามา แล้วพูดกำชับแถมดุว่า “ ชะ นางตัวดี เจ้ามาหาเราหลายครั้งแล้ว แม้เราสั่งว่า “ พวกโจรจงขนเอาทรัพย์ไปตามชอบใจเถิด เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่ามากระทำอันตรายแก่เราเลย แต่เจ้าก็หาเอื้อเฟื้อเชื่อถ้อยคำของเราไม่ ยังขืนมาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ร่ำไป คราวนี้ ถ้าเจ้ากลับมาหาเราอีก เราจะกระทำโทษแก่เจ้า เจ้าจงกลับไปที่บ้านเสียเถิด” แล้วส่งนางทาสีให้กลับไปบ้าน

   หัวหน้าโจรได้ฟังคำพูดของมหาอุบาสิกากาฬีแล้ว นึกกลับขึ้นมาว่า “ เมื่อพวกเรานำสินทรัพย์ต่าง ๆ ของหญิงผู้มีความดีเห็นปานนี้ไป สายฟ้าจะตกฟาดกระหม่อมของพวกเราเป็นแน่ ” แล้วจึงส่งลูกน้องไปที่เรือนของมหาอุบาสิกาแล้วสั่งให้ไปบอกพวกโจรลูกน้องเหล่านั้นว่า จงขนทรัพย์สิ่งของทั้งหมดของมหาอุบาสิกาเข้าไปเก็บไว้ตามเดิมโดยเร็ว” พวกหมู่โจรเมื่อได้รับคำสั่งแล้วจึงรีบช่วยกันขนทรัพย์สินเหล่านั้นกลับที่เดิม

   หลักความจริงมีอยู่ว่า “ ธรรมต้องรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรม เป็นธรรมดา”

   เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

   ธรรม ย่อมรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรม

   ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้

   นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว

   ผู้ประพฤติธรรมเป็นปรกติ ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ

   พวกโจรผู้อยู่ที่บ้านของมหาอุบาสิกากาฬี ครั้นช่วยกันเก็บทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ที่เดิมแล้ว จึงได้พากันไปยืนอยู่ในสถานที่ฟังธรรม

    ฝ่ายพระโสณกุฏิกัณณเถระ ตั้งใจแสดงธรรมไปตามลำดับความเหมือนที่แสดงถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าให้โยมฟังอย่างเอิบอิ่มใจจนตลอดราตรี พอสว่างจึงลงจากธรรมมาสน์

    ในขณะนั้น หัวหน้าโจรเดินตรงเข้าไปหมอบลงแทบเท้าของมหาอุบาสิกากาฬีและพูดว่า “ พระแม่เจ้า โปรดอดโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด ขอรับ”

    “ นี่อะไรกัน พ่อคุณ” มหาอุบาสิกากาฬีกล่าวด้วยความแปลกใจยิ่งนักที่อยู่ ๆ ก็มีคนมาอ้อนวอนให้ยกโทษให้

   หัวหน้าโจรจึงกล่าวลุแก่โทษแล้วสารภาพผิดจนหมดเปลือกว่า “ พระแม่เจ้า กระผมผูกอาฆาต ประสงค์จะฆ่าพระแม่เจ้า จึงได้มายืนคุมเชิงอยู่ใกล้ ๆ พระแม่เจ้านี่เอง”

   “ เอาเถอะพ่อคุณ ถ้าเรื่องมันเป็นเช่นนี้ ฉันอดโทษให้ ” มหาอุบาสิกากาฬีกล่าวอดโทษให้ด้วยความจริงใจ “ อย่างพระชนะมาร”

   พวกโจรทั้งหมดที่เห็นหัวหน้าของตนได้รับคำกล่าวยกโทษให้ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีเสแสร้ง จึงพร้อมใจกันกระทำการขอขมาโทษพร้อมกันซึ่งก็ได้รับการยกโทษเช่นกัน

   พวกโจรเหล่านั้นพากันขอร้องให้มหาอุบาสกากาฬีช่วยเหลือให้พวกตนได้บรรพชาในสำนักของพระโสณกุฏิกัณณเถระผู้เป็นบุตรของมหาอุบาสิกาด้วยเถิด

   มหาอุบาสิกากาฬีทราบถึงความปรารถนาดีของพวกโจรเหล่านั้น จึงได้หันไปทางพระลูกชาย ยกมือไหว้และพูดว่า “คุณ พวกโจรเหล่านี้เลื่อมใสในคุณของโยมและธรรมกถาของคุณแล้ว ได้พร้อมใจกันขอบรรพชาขอคุณจงให้พวกโจรเหล่านี้ได้บวชเถิด”

   พระโสณกุฏิกัณณเถระ กล่าวว่า “ ดีแล้ว” จงให้ตัดชายผ้านุ่งของพวกโจรเหล่านั้นออก แล้วให้ย้อมด้วยดินแดง ให้พวกเขาบรรพชา ให้สมาทานศีล

   แม้ในเวลาต่อมาพวกโจรเหล่านั้นอุปสมบทแล้ว พระเถระได้ให้กรรมฐานต่าง ๆ แก่พระภิกษุเหล่านั้น หนึ่งร้อยรูปต่อหนึ่งอย่าง พระภิกษุ ๙๐๐ รูปนั้น เรียนพระกรรมฐาน ๙ อย่างต่าง ๆ กัน

   แล้วพากันขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่ง นั่งกระทำสมณธรรมภายใต้ต้นไม้นั้น ๆ อยู่

    พระบรมศาสดา ประทับนั่งอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารไกลจากที่พระภิกษุเหล่านั้นกระทำสมณธรรมอยู่ประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ทรงเล็งความประพฤติของท่านเหล่านั้น ทรงเปล่งพระรัศมีไป ประหนึ่งว่า ประทับนั่งอยู่ตรงหน้า แล้วทรงภาศิตพระคาถาเหล่านั้นว่า

   ภิกษุใดมีปกติอยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาภิกษุนั้นพึงบรรลุบทกันสงบ ( คือพระนิพพาน) เป็นที่เข้าไประงับสังขาร อันเป็นสุข

    ดูก่อนภิกษุ เธอจงวิดเรือ ( คือการดับกิเลสและกองทุกข์)

    ภิกษุพึงตัดธรรม ๕ อย่าง ( สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่าง ) พึงละธรรม ๕ อย่าง (สังโยชน์เบื้องบน ๕ อย่าง ) และพึงยังคุณธรรม ๕ อย่าง ( อินทรีย์ ๕ ) ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น

   ภิกษุผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง ( คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฐิ ) ได้แล้ว เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะ คือห่วงน้ำใหญ่ ๔ อย่าง ( ห้วง น้ำ คือ กาม ๑ ภพ ๑ ทิฐิ ๑ อวิชชา ๑ เป็นห้วงน้ำข้ามพ้นยาก )

   ภิกษุเธอจงเพ่งและอย่าประมาท จิตของเธออย่าหมุนไปในกามคุณ เธออย่าเป็นผู้ประมาทกลืนกินก้อนโลหะ ( ก้อนเหล็กร้อนในนรก) เธออย่าเป็นผู้อันกรรมแผดเผาอยู่ ( ในนรก) คร่ำครวญว่า “ นี้ทุกข์”

   ฌานย่อมไม่มีในบุคคลผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในบุคคลผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญาย่อมมีในบุคคลใด บุคคลนั้นตั้งอยู่ในที่ใกล้พระนิพพาน

   ความยินดีมิใช่ของมีอยู่แห่งมนุษย์ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เข้าไปแล้วเรือนว่าง ผู้มีจิตสงบแล้ว ผู้เห็นแจ้งธรรมอยู่โดยชอบ

   ภิกษุพิจารณาอยู่ซึ่งความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งสังขันธ์ทั้งหลาย

   ธรรมะนี้ คือ ความคุ้มครองซึ่งอินทรีย์ ๑ ความสันโดษ ๑ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข ์ ๑ เป็นเบื้องต้นในธรรมอันไม่ตายนั้นมีอยู่แก่ภิกษุผู้มีปัญญาอยู่ในพระศาสนานี้

   เธอจงคบมิตรที่ดีงาม มีอาชีพอันบริสุทธิ์ ไม่เกียจคร้าน พึงเป็นผู้ประพฤติในพระปาฏิโมกข์ ๑ เป็นเบื้องต้นในธรรมอันไม่ตายนั้นมีอยู่แก่ภิกษุผู้มีปัญญาอยู่ในพระศาสนานี้

   เธอจงคบมิตรที่ดีงาม มีอาชีพอันบริสุทธิ์ ไม่เกียจคร้าน พึงเป็นผู้ประพฤติในปฏิสันถาร ( มีอามิสสิ่งของและธรรมไว้ต้อนรับแขก) พึงเป็น ผู้ฉลาดในอาจาระ ( มีมารยาทดี )

    เพราะเหตุนั้นเธอจะเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ ( ผู้บันเทิงในธรรม) กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

   เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงคาถาหนึ่ง ๆ จบลง พระภิกษุร้อยหนึ่ง ก็บรรลุพระอรหัตผล พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในที่ที่ตนนั่งอยู่แล้วนั้นแหละ แล้วพากันเหาะขึ้นไปในนภากาศ

   พระภิกษุทั้งหมด ได้เหินเวหามาทางอากาศก้าวล่วงทางกันดารประมาณ ๑๒๐ โยชน์ มาชมเชยพระพุทธสรีระที่มีสีดุจทองคำ และเพื่อมากราบถวายบังคมพระยุคคลบาทของพระบรมศาสดา


ได้รับยกย่องในตำแหน่งเอตทัคคะ

    ผลงานของพระโสณกุฏิกัณณเถระ ท่านเป็นผู้ทรงจำคำสอนได้เป็นอย่างดี จนสามารถเทศน์ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับได้ นี้เป็นตัวอย่างแห่งการท่องจำพระพุทธวจนะ นับแต่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่

   การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านก็จัดว่าได้ผลดี เช่นได้ลูกศิษย์ที่เป็นโจร๙๐๐ ท่าน และประชาชนที่มาร่วมฟังธรรมกับโยมมารดาของท่านอีกเป็นจำนวนมากมาย ในความดีและความสามารของท่านนี้ได้ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้มีวาจาไพเราะ, ผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ

   ท่านพระโสณกุฏิกัณณเถระ ดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน...