พระโมฆราชเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง
   พระโมฆราช เกิดในตระกูลพราหมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การศึกษาศิลปวิทยาตามประเพณีพราหมณ์ จึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตที่ปรึกษาของพระเจ้าปเสนทิโกศล

    ต่อมา พราหมณ์พาวรี เบื่อหน่ายชีวิตการเครืองเรือน จึงได้กราบทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตตามประเพณีพราหมณ์ ตั้งสำนักอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ระหว่างเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะ ตัวเองเป็นเจ้าสำนักและเป็นอาจารย์ใหญ่ ทำหน้าที่ทั้งรับและอบรมสั่งสอนไตรเพทแก่ศิษย์ทั่วไป โมฆราชมาณพ พร้อมกับเพื่อนศิษย์อีกหลายคนได้ออกบวชติดตามด้วยพราหมณ์พาวรี แม้จะบวชเป็นฤๅษีชฎิลเช่นเดียวกับตระกูลกัสสปะ ๓ พี่น้องแต่คนทั่วไปก็นิยมเรียก “ พราหมณ์พาวรี ” อยู่เช่นเดิม ไม่นิยมเรียกว่า “ ชฎิล” เหมือนตระกูลกัสสปะ


ทดสอบการตรัสรู้

    เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนศากยราชาผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เสด็จออกบรรพชาได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเที่ยวสั่งสอนเวไนยสัตว์ ให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ติดตามพระองค์มากมาย พราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวเป็นลำดับ

    แต่ยังเคลือบแคลงในการตรัสรู้ของพระองค์พระสัพพัญญูโคดมเจ้า จึงตั้งปัญหาขึ้น ๑๖ หมวดแล้วมอบให้ศิษย์ ๑๖ คน นำไปกราบทูลถามพระบรมศาสดา ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ และโมฆราชมาณพก็เป็นหนึ่งในจำนวนศิษย์เหล่านั้น

    อชิตมมาณพ ผู้เป็นหัวหน้าได้พาคณะศิษย์อีก ๑๕ คน คือ ๑. ติสสเมตตเตยะ ๒ . ปุณณกะ ๓. เมตตคู ๔. โธตกะ ๕. อุปสีวะ ๖. นันทกะ ๗. เหมกะ ๘. โตเทยะ ๙. กัปปะ ๑๐. ชตุกัณณี ๑๑. ภัทราวุธะ ๑๒. อุทยะ ๑๓. โปสาละ ๑๔. ปิงคิยะ และ ๑๕. โมฆราช รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๖ คน พากันไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเพื่อทูลถามปัญหา ณ ปาสาณเจดีย์แห่งนั้น


กราบทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๕

   ในบรรดามาณพทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพ นับว่าเป็นผู้มีปัญญาดีกว่ามาณพทั้งหมด จึงคิดที่จะทูลถามปัญหาเป็นคนแรก แต่เห็นว่าอชิตมาณพอยู่ในฐานะเป็นหัวหน้าผู้นำมา จึงเปิดโอกาสให้ถามเป็นคนแรก เมื่ออชิตมาณพถามจบแล้ว โมฆราชมาณพ ปรารถนาจะถามเป็นคนที่ ๒ แต่พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า “ ดูก่อนโมฆราช ท่านจงรอให้มาณพคนอื่น ๆ ถามก่อนเถิด”

    เมื่อมาณพคนอื่น ๆ ถามไปโดยลำดับถึงคนที่ ๘ โมฆราชมาณพ ก็แสดงความประสงค์จะทูลถามเป็นคนที่ ๙ พระพุทธองค์ก็ตรัสห้ามไว้อีกครั้งจนถึงลำดับคนที่ ๑๔ ผ่านไปแล้ว โมฆราชมาณพจึงได้มีโอกาสทูลถามเป็นคนที่ ๑๕ โดยกราบทูลถามว่า

    “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับทั้งเทวโลกก็ดีย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุดังนี้ จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ ผู้มีปรีชาญาณเห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้า จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชคือความตายจึงจะไม่แลเห็น คือจักไม่ตามทัน พระเจ้าข้า ”

    ( ใจความของปัญหาข้อนี้ ก็คือจะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชคือความตายจึงจะไม่แลเห็น คือตามไม่ทัน )

    พระบรมศาสดา ตรัสพยากรณ์ว่า

    “ ดูก่อนโมฆราช ท่านจงมีสติพิจารณาดูโลกโดยเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล้ว มัจจุราชคือความตายจักไม่แลเห็น ”

    เมื่อพระบรมศาสดา ตรัสพยาการณ์ปัญหาของโมฆราชมาณพจบลงแล้วโมฆราชมาพพร้อมทั้งด้วยชฎิลทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัตผลสิ้นอาสาวกิเลสทุกคนเว้นแต่ปิงคิยมาณพผู้เดียว เพราะมัวแต่คิดถึงอาจารย์พราหมณ์พาวรีผู้เป็นลุง จึงได้เพียงญาณหยั่งเห็นในธรรมเท่านั้น

    มาณพทั้ง ๑๖ คน กราทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ประทานด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ได้เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พร้อมบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ ส่วนพระปิงคิยเถระกราบทูลลากลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรี ให้บรรลุธรรมาพิสมัยชั้นแสขภูมิ

    พระโมฆราชนั้น เมื่ออุปสมบทแล้วแล้วปรากฏว่าท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ยินดีเฉพาะการใช่สอยจีวรที่เศร้าหมอง ๓ ประการ คือ ๑. ผ้าเศร้าหมอง ๒. ด้ายเย็บผ้าเศร้าหมอง ๓. น้ำย้อมผ้าเศร้าหมอง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง

    ท่านพระโมฆราชเถระ ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน....


อดีตชาติและบุพพกรรมของพระโมฆราชเถระ

    ชีวประวัติในอดีตชาติของท่าน ตามที่มีกล่าวไว้ในพระบาลีคัมภีร์ขุททกนิกาย อปทาน ซึ่งเป็นการเล่าอดีตอัตชีวประวัติโดยท่านเอง ความว่า

    ในกาลสมัยของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้เกิดเป็นลูกจ้างของบุคคลในสกุลหนึ่ง ท่านมีฐานะยากจนไม่มีทรัพย์สินอะไร ท่านพำนักอาศัยอยู่ที่หอฉัน ( ศาลาสำหรับใช้ฉันอาหารของพระ) โดยมีบุคคลอื่นสร้างขึ้นไว้ ท่านได้ก่อไฟขึ้นที่พื้นหอฉันนั้นที่ทำด้วยศิลา ทำให้พื้นศิลานั้นเป็นรอยด่างดำเพราะถูกไฟลน

    ครั้งนั้น พระผู้พิชิตมารพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นนักปราชย์ ทรงมีพระจักษุญาณ พระองค์ทรงช่วยเหลือสั่งสอนขนสัตว์เป็นจำนวนมากให้ข้ามพ้นวัฎสงสาร ครั้งนั้นพระองค์ทรงประกาศสัจจะ ๔ ( อริยสัจ ๔ ) ได้ตรัสสรรเสริญพระสาวกเอตทัคคะผู้ครองจีวรเศร้าหมองเป็นประจำในที่ประชุม

    ท่านนึกชอบใจในคุณของพระสาวกรูปนั้น จึงได้ตั้งใจปฏิบัติพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาฐานันดรสมณศักดิ์อันสูงสุด คือความเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง

    ในกาลนั้น พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสาวกทั้งหลายว่า “ จงดูบรุษผู้นี้มีผ้าอันน่าเกลียด มีร่างกายอันผอมเกร็ง แต่มีใบหน้าอันผ่องใสเพราะมีปีติ ( ความอิ่มใจ) ที่ประกอบด้วยทรัพย์ ( เครืองปลื้มใจ ) คือศรัทธา มีกายและใจสูงขึ้นเพราะปีติ มีความร่าเริง ไม่หวั่นไหว หนาแน่นด้วยธรรมะที่เป็นสาระ ( แก่น ) บุรุษนี้ชอบใจในคุณของพระภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง แล้วก็ตั้งปรารถนานันดรนั้นอย่างจริงใจ ”

    เมื่อท่านได้รับฟังพระพุทธพยากรณ์แล้ว ก็มีความเบิกบานใจ ก้มศีรษะถวายบังคมพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านก็ได้กระทำแต่กรรมดี ตลอดจนสิ้นอายุขัย เมื่อท่านสิ้นจากความเป็นมนุษย์แล้วก็ได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    แต่ด้วยอกุศลกรรม คือกรรมชั่ว ที่ท่านได้ก่อไฟลนพื้นศิลาหอฉันนั้น ท่านได้ถูกไฟนรกเผาไหม้ได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสอยู่ถึงหนึ่งพันปี และด้วยเศษกรรมชั่วที่ยังเหลืออยู่อีก เมื่อท่านพ้นโทษในนรกแล้วได้เกิดเป็นมนุษย์ต้องเป็นโรคเรื้อนเสวยมหันตทุกข์อยู่ถึงห้าร้อยชาติ

    เมื่อบรรลุมาถึงสมัยของ พระอัตถทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้กลับมาเกิดในตระกูลพราหมณ์ วันหนึ่งท่านได้ไปพบพระอัตถทัสสีพุทธเจ้า ก็เกิดความเลื่อใสในพระพุทธลักลักษณะและพระพุทธจริยา จึงถวายบังคมและกราบทูลสรรเสริญพระพุทธคุณว่า

    “ บรรดาศัตว์ทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก ทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างทั้งที่อยู่บนบกและในน้ำ ย่อมไม่ประเสริฐเท่าเทียมพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประเสริฐเลิศล้นกว่าสัตว์ทั้งปวง ”

    หลังจากกุลบุตรนั้นกราบทูลสรรเสริญพระพุทธคุณแล้ว จึงน้อมน้ำผึ้งซึ่งบรรจุไวในภาชนะเข้าไปถวาย

    พระอัตถทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่า บรุษผู้มีความเลื่อมใสจนถึงกับกล่าวสรรเสริญและถวายน้ำผึ่งแก่ตถาคต เขาจะไม่ไปสู่ทุคติเลย จะได้เป็นเทวราชาอยู่สิบสี่ชาติ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชอีกห้าร้อยชาติ เป็นพระราชาเฉพาะประเทศนั้น ๆ จนนับไม่ถ้วน และในชาติสุดท้ายจะได้เป็นพราหมณ์ผู้ทรงวิชาไตรเพท ทั้งจะได้เป็นพระสาวกของพระโลกเชษฐ์ ผู้ทรงพระนามว่า “ พระสมณโคดม ” และเธอจะมีชื่อว่า “ โมฆราช ”

    มูลเหตุที่ท่านจะได้ชื่อว่า “ โมฆราช ” เพราะท่านได้บังเกิดในตระกูลกษัตริย์ และเมื่อพระชนกเสด็จสรรคตแล้ว ท่านได้เป็นพระมหาราชา แต่เกิดเป็นโรคเรื่อนขึ้นมา เวลากลางคืนไม่ได้รับความสุขเลย เพราะฉะนั้น ความสุขที่เกิดจากการเป็นพระเจ้าแผ่นดินย่อมหาประโยชน์มิได้ ท่านจึงมีชื่อว่า “ โมฆราช ” หมายความว่า พระราชาผู้พลาดจากประโยชน์อันพึงได้พึงถึง พระพระราชาเปล่า ซึ่งทำให้ท่านมองเห็นโทษของร่างกาย จึงสละความเป็นพระราชาเสีย