พระทัพพมัลลบุตรเถระ
เอตทัคคะในทางผู้จัดเสนาสนะ
    พระทัพพมัลลบุตร เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัลลราช ในอนุปิยนิคมแคว้นมัลละ มีพระนามเดิมว่า “ ทัพพราชกุมาร” แต่เนื่องจากว่าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัลลราช จึงนิยมเรียกกันว่า “ ทัพพมัลลบุตร”
ประสูติบนเชิงตะกอน

   เหตุที่ท่านได้ชื่อว่า ทัพพะ ซึ่งแปลว่า ไม้ นั้นก็เพราะว่าในขณะที่พระมารดาของท่านตั้งครรภ์ใกล้จะประสูติ แต่ก็สวรรคตเสียก่อน บรรดาพระประยูรญาติจึงนำศพไปเผาบนเชิงตะกอน เมื่อไฟกำลังเผาใหม้ร่างกายของพระนางอยู่นั้น ท้องได้แตกออก ทารกในครรภ์ได้ลอยมาตกลงบนกองไม้ใกล้ ๆ เชิงตะกอนนั้นและไม่ได้รับอันตรายใด ๆ เลย พวกเจ้าหน้าที่ได้อุ้มทารกนั้นมามอบให้พระอัยยิกา ( ยาย ) อาศัยเหตุการณ์นั้นจึงตั้งชื่อท่านว่า “ ทัพพะ”


โกนผมเสริจก็บรรลุอรหันต์

    ขณะที่พระบรมศาสดา ประทับอยู่ ณ อนุปิยนิคม แคว้มัลละแห่งนั้นพร้อมด้วยภิกษุพุทธสาวก ขณะนั้น ทัพพราชกุมารมีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระอัยยิกาได้พาไปเฝ้าพระบรมศาสดาเพื่อฟังธรรม พร้อมกับชาวเมืองทั้งหลาย ทัพพราชกุมารได้ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดศรัทธาเลื่อมใสน้อมพระทัยไปในการออกบวช

    ได้กราบทูลลาพระอัยยิกา เพื่อขอบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระอัยยิกาก็อนุโมทนาและรีบพามาสู่สำนักพระบรมศาสดา ท่านได้กราบถวายบังคมแล้วกราบขอบรรพชา พระพุทธองค์ทรงมอบให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้

    พระภิกษุผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้สอนตจปัจกกรรมฐานแก่ทัพพราชกุมารแล้ว ในขณะที่กำลังทำการโกนผมอยู่นั้น ทัพพราชกุมารได้พิจรณากรรมฐานที่เรียนมา คือ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง โดยลำดับ เมื่อจรดมีดโกนครั้งที่ ๑ ได้บรรลุโสดาปัตติผล จรดมีดโกนครั้งที่ ๒ ได้บรรลุสกทาคามีผล จรดมีดโกนครั้งที่ ๓ ได้บรรลุอานาคามีผล และเมื่อการโกนผมสิ้นสุดลง ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖


ขอรับภารกิจของสงฆ์

    ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตั้งแต่อายุเพียง ๗ ขวบ ต่อมาท่านได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ขณะที่ท่านนั่งพักผ่อนอยู่เพียงตามลำพัง ความคิดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ท่านว่า “ เราอยู่จบพรหมจรรย์สิ้นกิเลสแล้ว สมควรที่จะช่วยรับภารกิจของสงฆ์ ทำประโยชน์แก่ส่วนรวมบ้าง ” ดังนั้น

   เมื่อท่านมีโอกาสจึงเข้าเฝ้ากราบทูลความคิดของตนแด่พระบรมศาสดา พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนาสาธุการแก่ท่านแล้วทรงประกาศให้สงฆ์สมมุติให้ท่านรับหน้าที่เป็น ภัตตุทเทสก์ คือ มีหน้าที่แจกจ่ายภัตร จัดพระภิกษุไปฉันในที่มีผู้นิมนต์ไว้ และเป็น เสนาสนคาหาปกะ คือ มีหน้าที่จัดเสนาสนะแจกจ่ายแก่พระภิกษุผู้มาจากต่างถิ่น ให้ได้พักอาศัยตามความเหมาะสม ท่านได้ทำหน้าที่นั้น ๆ ด้วยดีเสมอมา

   ต่อมา พระพุทธองค์ ทรงพิจารณาเห็นว่าท่านมีอายุยังน้อยนัก แต่มารับภาระอันหนักซึ่งความเป็นหน้าที่ของพระภิกษุมากกว่า ดังนั้น เพื่อให้ท่านปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างส ะดวก พระพุทธองค์จึงทรงบวชให้ด้วยการยกท่านจากการเป็นสามเณรขึ้นเป็นพระภิกษุในวันนั้น ด้วยพระดำรัสว่า “ อชฺชโต ปฏฺฐาย ภิกฺขุโหหิ ” ซึ่งแปลว่า เธอจงเป็นภิกษุตั้งแต่วันนี้ไป การบวชด้วยวิธีนี้เรียกว่า “ ทายัชชอุปสัมปทา ” แปลว่า การรับเข้าหมู่โดยความเป็นทายาท ทั้งนี้ เพราะพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ท่านมีคุณสมบัติสมควรที่จะเป็นพระภิกษุเพราะเป็นพระอรหันต์

    และปฏิบัติหน้าที่เทียบเท่าพระ ( ในพระพุทธศาสนา มีสามเณรที่ได้รับการบวชด้วยวิธีนี้ ๓ รูป คือ สามเณรสุมนะ , สามเณรโสปากะและสามเณรทัพพะ)

    พระทัพพมัลลบุตร ได้ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ได้รับมอบหมายจากพระพุทธองค์ อย่างสมบูรณ์และเรียบร้อยด้วยดีทุกประการ กล่าวคือ...

    ในด้านการจัดพระไปฉันในที่นิมนต์ ( ภัตตุเทสก์) ท่านจะคำนึงถึงวัยวุฒิและคุณวุฒิของพระที่จะร่วมไปด้วยกัน ทั้งนี้พิจารณาถึงความคุ้นเคยกับทายกอีกทั้งพระหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปตามวาระ และตามความเหมาะสมด้วย

    ในด้านการจัดเสนาสนะ ( เสนาสนคาหาปกะ) ท่านได้จัดให้พระภิกษุผู้มีอุปนิสัย ความถนัด ความคิดเห็น และความรู้ที่คล้ายคลึงกันพักอยู่ด้วยกัน เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งกัน นอกจากนี้ยังได้จัดเสนาสนะให้ตามความประสงค์ของ ผู้มาพัก เช่น ต้องการพักในถ่ำหรือในกุฏี เป็นต้น

   ถ้าเป็นเวลาค่ำคืนท่านจะเข้าโตโชสมาบัติอธิษฐานให้ปลายนิ้วของท่าน เป็นดุจแท่งเทียนส่องสว่าง นำทางพระอาคันตุกะไปสู่ที่พัก พร้อมทั้งแนะนำสถานที่อำนวยความสดวกต่าง ๆ อันพระอาคันตุกะควรทราบ


ได้รับยกย่องทางจัดเสนาสนะ

    ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ของท่านด้วยความเรียบร้อยด้วยดีทุกประการ เป็นที่พอใจและยอมรับของพระภิกษุสงฆ์ทั่วไป แม้แต่ทายกทายิกาก็ได้รับความพอใจโดยทั่วกัน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้จัดเสนาสนะ


ถูกภิกษุณีกล่าวหาว่าข่มขืน

    สมัยหนึ่ง มีพระบวชใหม่สองรูปชื่อ “ พระเมตติยะ กับ พระภุมมชกะ” เป็นผู้มีวาสนาน้อย เมื่อได้อาหารหรือเสนาสนะก็มักจะได้แต่ของชั้นเลวเสมอ วันหนึ่ง พระทัพพมัลลบุตร จัดให้ท่านไปฉันที่บ้านคหบดีผู้มีปกติถวายแต่ของชั้นดีแก่ภิกษุทั้งหลาย แต่วันนั้นคหบดีทราบว่าท่านทั้งสองมา จึงสั่งให้สาวใช้จัดอาหารชั้นเลวถวายท่าน คือทำอาหารด้วยปลายข้าวและน้ำผักดอง

   เสนาสนะก็จัดให้นั่งที่ซุ้มประตู มิให้เข้ามาในบ้าน ทำให้ท่านทั้งสองขัดเคืองใจแล้วคิดว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระทัพพมัลลบุตรกลั่นแกล้ง

    วันหนึ่งมีนางภิกษุณีชื่อเมตติยามาหาท่าน จึงเล่าเรื่องความทุกข์ให้ฟังแล้วขอร้องให้นางกล่าวหาพระทัพพมัลลบุตรว่าข่มขืนนาง เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วนำความเข้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้ลงโทษพระเถระด้วยการให้ลาสิกขาออกไป

   พระผู้มีพระภาคเจ้า รับสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วตรัสถามพระเถระว่า

    “ ดูก่อนทัพพะ เธอจำได้ไหมว่าได้ทำตามที่ภิกษุณีนี่กล่าวหา ?”

   “ ข้าแต่พระผู้ทีพระภาคเจ้า ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมายังไม่รู้จักการเสพเมถุนแม้แต่ในความฝันเลย จึงไม่จำต้องกล่าวถึงตอนตื่นอยู่ พระเจ้าข้า ”

    พระพุทธองค์สดับแล้ว จึงรับสั่งให่ภิกษุณีทั้งหลายสึกนางภิกษุณีเมตติยานั้น แต่พระเมตติยะกับพระภุมมชกะกราบทูลและสารภาพว่าทั้งหมดเป็นแผนการของตนทั้ง ๒ รูป

    พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภเหตุนี้จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ ภิกษุโกรธเคืองภิกษุอื่นแล้วแกล้งโจทก์ด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ” อันว่าอาบัติชนิดนี้ เวลาจะแก้ต้องแก้ด้วยการอยู่กรรม..

   ส่วนภิกษุสองรูปที่กระทำผิดในอาบัติข้อนี้ ท่านเป็นต้นบัญญัติ คือทำผิดไปโดยที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังมิได้ทรงห้าม ท่านทั้งสองนั้นจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่กรรมเพื่อแก้อาบัตินี้ แต่ถึงกระนั้น ผลชั่วของท่านทั้ง ๒ รูปนี้ ก็เป็นที่ถูกติเตียนจากบริษัทสี่ ( คือ พระภิกษุ พระภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา )

    การถูกล่าวหาด้วยเรื่องอาบัติปาราชิกที่ไม่มีมูลนั้น ในอรรถกถามีกล่าวไว้ว่า เมื่อชาติก่อนโน้น พระทัพพมัลลบุตรเถระ ได้กล่าวโทษพระอรหันต์รูปหนึ่ง ด้วยอาบัติปาราชิกที่ไม่มีมูลความจริง บาปกรรมนั้นท่านต้องไปตกนรกอยู่หลายแสนปี มาในชาติปุจจุบันนี้ พระเมตติยะและพระภุมมชกะ จึงกล่าวโทษท่านด้วยอาบัติปาราชิกที่ปราศจากความจริง ด้วยทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นผู้ทำความดีอยู่แท้ ๆ

   ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่พระทัพพมัลลบุตรเถระถูกใส่ความ คือ พูดหาเหตุร้ายจากเจ้าวัฑฒลิจฉวีผู้รับใช้พระภิกษุสองรูป ซึ่งอยู่ในกลุ่มของพระภิกษุฉัพพัคคีย์ ( คือ พวกพระภิกษุหกรูป) เพื่อทำให้พระเถระมีความผิดสถานหนัก จนเป็นเหตุให้เกิดการคว่ำบาตรคฤหัสถ์ขึ้น ดังมีเรื่องบันทึกไว้ในพระบาลีขุททกวัตถุขันธกะ ( อันว่าด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ) คัมภีร์จุลวรรค พระวินัยปิฏก ความว่า

    มีวันหนึ่งวัฑฒลิจฉวี ผู้เป็นสหายของพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ เจ้าวัฑฒลิจฉวีได้เข้าไปหาพระภิกษุทั้งสองรูปนั้น แล้วกล่าวว่า “ กระผมไหว้พระคุณเจ้า ขอรับ ” เจ้าวัฑฒลัจฉวีกล่าวดังนี้ถึงสามครั้ง แต่พระเมตติยะและพระภุมมชกะ ก็หาได้ทักทายปราศัยตอบไม่ เจ้าวัฑลิจฉวีจึงสงสัยและกราบเรียนถามภิกษุทั้งสองรูปว่า

   “ กระผมมีความผิดอะไรต่อพระคุณเจ้าทั้งสองกระนั้นหรือ ทำไมพระคุณเจ้าจึงไม่ทักทายปราศัยกับกระผมบ้างเลย ขอรับ”

   พระภิกษุทั้งสองจึงได้ตอบเจ้าวัฑลิจฉวีว่า “ ท่านวัฑฒะ ท่านผิดต่อพวกอาตมา พวกอาตมาถูกท่านพระทัพพมัลลบัตรเบียดเบียนอยู่ แต่ท่านกลับเพิงเฉยดูดายอยู่ได้ ”

   เจ้าวัฑลิจฉวีจึงกราบเรียนถามว่า “ กระผมจะช่วยเหลือพระคุณเจ้าอย่างได้เล่า ขอรับ ”

   พระภิกษุทั้งสองรูปจึงได้กล่าวว่า “ ท่านวัฑฒะ ถ้าหากท่านเต็มใจที่จะช่วยแล้วละก็ วันนี้ขอให้ท่านจงเข้าไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ เรื่องนี้ไม่เหมาะ ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย แต่บัดนี้กลับมีภัย มีจัญไร มีอันตราย ในสถานที่ที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมีลมแรงขึ้น น้ำที่เย็น ก็เป็นประหนึ่งว่า น้ำร้อน คือ ท่านพระทัพพมัลลบุตรได้ประทุษร้ายปชาบดี ( ภรรยา ) ของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า ”

    เจ้าวัฑฒลิจฉวีเมื่อรับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะแล้วก็ได้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมนั่งลงในที่สมควรแล้วกราบทูลความนั้นให้พระพุทธองค์ทรงทราบ

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสสั่งให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์ แล้วทรงตรัสสอบถามพระทัพพมัลลบุตรเถระว่า “ ทัพพะ เธอระลึกได้หรือไม่ว่า เธอได้กระทำกรรมตามที่เจ้าวัฒฑฒลิจฉวีกล่าวหา? ”

   ท่านพระทัพพมัลลบุตรเถระกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบแล้วว่า ข้าพระองค์เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า ”

   พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามอีกเป็นครั้งที่สองและที่สาม ก็ได้ทรงสดับคำกราบทูลจากพระเถระเหมือนครั้งแรกนั้น พระองค์จึงตรัสว่า “ ทัพพะ บัณฑิตทั้งหลายไม่แก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าหากเธอกระทำจงบอกว่ากระทำ ถ้าหากเธอไม่ได้กระทำ ก็บอกว่าไม่ได้กระทำ ”

   ท่านพระทัพพมัลลบุตรเถระกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้านับแต่ข้าพระองค์เกิดมา ไม่เคยรู้สึกว่าได้ซ่องเสพเทถุนธรรม ( การร่วมสังวาส ) แม้แต่ด้วยความฝัน อย่าพูดถึงเมื่อเวลาตื่นอยู่เลย พระเจ้าข้า ”

   ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสั่งพระภิกษุทั้งหลายว่า “ ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น สงฆ์จงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ อย่าให้คบหากับสงฆ์ ”

    องค์แห่งการคว่ำบาตร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลาย ความว่า

   ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ

   ๑ . ขวนขวายเพื่อให้ภิกษุทั้งหลายเลื่อมลาภ

   ๒. ขวนขวายเพื่อให้ภิกษุทั้งหลายเสียหาย

   ๓. ขวนขวายเพื่อให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ไม่ได้

   ๔. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย

   ๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน

   ๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า

   ๗. กล่าวติเตียนพระธรรม

   ๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์

   ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงสวดประปรากาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรม ( กรรมมีบัญญัติเป็นที่สอง ) ว่าดังนี้

   “ ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีโจทก์ท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศิลวิบัติอันไม่มีมูล ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฬลิจฉวี คือ อย่าให้ คบกับสงฆ์ นี้เป็นญัตติ ( คำประกาศ , ข้อเสนอเพื่อลงมติ )

    ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์ฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีโจทก์ท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติ อันไม่มีมูล สงฆ์ได้คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือไม่ให้คบกับสงฆ์ การคว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือไม่ให้คบกับสงฆ์ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเฉยไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นถึงพึงพูดขึ้น

   เป็นอันว่าสงฆ์คว่ำบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือไม่ให้คบกับสงฆ์แล้ว เพราะฉะนั้นสงฆ์จึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าขอจำเรื่องนี้ไว้อย่างนี้

   ครั้นเวลาเช้า พระอานนทเถระได้ไปแจ้งให้เจ้าวัฑฒลิจฉวีทราบว่า บัดนี้ สงฆ์ได้คว่ำบาตรแก่ท่านแล้ว ท่านคบกับสงฆ์ไม่ได้

   พอเจ้าวัฑฒลิจฉวีทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตรแก่เราแล้ว เราคบกับสงฆ์ไม่ได้แล้ว ก็ถึงกับสลบล้มลง ณ ที่นั้นนั่นเอง

   มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเจ้าวัฑฒลิจฉวี จึงกล่าวปลอบใจขึ้นว่า “ ท่านวัฑฒะ ขอท่านอย่าเสียอกเสียใจ อย่าคร่ำครวญไปนักเลย พวกเราจะทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์เลื่อมใสเหมือนดังเดิมให้ได้ ”

   เจ้าวัฑฒลิจฉวีพร้อมทั้งบุตรภรรยา ตลอดทั้งมิตร อำมาตย์ญาติสาโลหิต ได้กระทำอันนุ่งห่มและผมให้เปียกปอน แล้วได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ซบศีรษะลงแทบพระยุคคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ข้าพระองค์ได้กระทำผิดด้วยความโง่เขลา ด้วยอกุศล ข้าพระองค์ได้โจทก์ท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล ได้มีความผิดไปแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระกรุณารับโทษของข้าพระองค์ เพื่อความระวังต่อไปเถิด พระเจ้าข้า ”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ เจ้าวัฑฒะ ท่านได้กระทำผิดด้วยความโง่เขลา ด้วยอกุศลแล้ว ในการที่ท่านได้กล่าวโทษพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล แต่ท่านได้เห็นว่า เป็นความผิดแล้ว ทำคืน ( แก้ไข ) ตามธรรม เพื่อความระวังต่อไป นี้จัดเป็น “ วุฑฒิธรรม ” ( คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ ) ในพระวินัยของพระอริยะ”

   ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งพระภิกษุทั้งหลายให้สงฆ์หงายบาตรแก่เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือให้คบกับสงฆ์ได้ โดยให้เจ้าวัฑฒลิจฉวีห่มผ้าเฉวียงบ่าเข้าไปกราบเท้าพระสงฆ์ ขอให้สงฆ์หงายบาตร แล้วให้สงฆ์สวดประกาศหงายบาตร และได้ตรัสถึงองค์แห่งการหงายบารตแก่อุบาสกไว้ ๘ ประการ ซึ่งมีความข้อความตรงข้ามกับองค์แห่งการคว่ำบาตรนั้น

   ครั้นพระเถระได้ชนะอธิกรณ์แล้ว ท่านประสงค์จะประกาศคุณธรรมของท่าน ด้วยความเอ็นดูชาวโลก จึงได้กล่าวคาถาซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระบาลีคัมภีร์ขุททกนิกาย เถรคาถา ว่า

   โย ทุทฺทมโย ทเม ทนฺโต

   ทพฺโพ สนฺตุสิโต วิติณฺณกงฺโข

   วิชิตาวี อเปตเภรโว หิ

   ทพฺโพ โส ปรินิพฺพุโต ฐิตตฺโต

   แปลว่า ตนที่ฝึกหัดได้ยากอย่างไร ผู้มีปัญญาก็ได้ฝึกหัดด้วยการฝึกหัดอย่างดี ผู้มีปัญญาเป็นผู้มีความสันโดษ เป็นผู้ข้ามความสงสัยเสียได้เป็นผู้ชนะ ( ชนะกิเลส ) เป็นผู้ปราศจากความกลัว ( ไม่มีภัย ) พระทัพพนั้น เป็นผู้มีตนอันตั้งมั่นแล้ว ( ใจไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม) ได้ปรินิพพานแล้ว

   ท่านพระทัพพมัลลบุตรเถระ นิพพานที่เมืองราชคฤห์ โดยก่อนที่จะนิพพาน ท่านได้แสดงฤทธิ์เหาะขึ้นไปในอากาศ ทำสมาธิเข้าสมาบัติ เมื่อออกจากสมาบัติก็นิพพาน เตโชก็พลันเกิดขึ้นเผาสรีระของท่านจนไม่เหลือเศษแม้แต่เถ้าถ่าน ณ ท่ามกลางอากาศนั้น อันเป็นไปตามความประสงค์ของท่าน...