พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
เอตทัคคะในทางผู้บันลือสีหนาท
    พระปิณโฑลภารวาชะ เป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาล ตระกูลภารทวาชะ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน เดิมชื่อว่า “ ภารทวาชมาณพ ” ศึกษาจบไตรเพท คือ คัมภีร์อันศักสิทธิ์ของลัทธิพราหมณ์ มีความเชี่ยวชาญในวิชา ไตรเพท

    ไตรเพท แปลว่า ความรู้ ๓ อย่าง ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ และเป็นชื่อแสดงลัทธิไสยศาสตร์ดั้งเดิมของพราหมณ์ได้ แก่

   ๑ . ฤคเวท ( หรืออิรุพเพท) ว่าด้วยการสร้างโลกและบทสรรเสริญและบนบานของร้องเทพเจ้าให้ช่วยป้องกัน รักษา ทั้งกำจัดภัยอันตรายต่าง ๆ เช่น สวดอ้อนวอนพระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น ( ฤคะ แปลว่า คำฉันท์)

   ๒. ยชุรเวท ( หรือยชุพเพท) ว่าด้วยหมวดสวนมนต์โศลก ( คำประพันธ์สันสกฤต คือ ภาษาโบราณของอินเดีย) และหมวดคำร้อยแก้ว แสดงพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญ และเวลาทำพลีกรรมเทพเจ้าทั้งหลายรวมกัน โดยรอบรวมบทสวดมนต์จากคัมภีร์ฤคเวท ( ยชุระ แปลว่า ยัญ )

    ๓ สามเวท ว่าด้วยมนต์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่คัดแยกมาจากคัมภีร์ฤคเวทเป็นคาถาสังเวย ( คำกล่าว บวงสรสวหรือเซ่นสรวงประเภทร้อยกรอง ) สำหรับใช้สวดเห่กล่อมในพิธีบวงสรวงบูชาน้ำโสม ( น้ำโสม เป็นน้ำเมาชนิดหนึ่งทำมาจากโสม ) แก่เทพเจ้าทั้งหลาย เช่นพระอินทร์ พระนารายณ์ เป็นต้น และสวดเห่กลอมเทพเจ้าในเวลาบูชายัญ คือพิธีที่มาของการฆ่าสัตว์หรือโยนอาหาร นม เนย เข้ากองเพลิง เพื่อสังเวยเทพเจ้า ( สามะ แปลว่า สวด )

   ครั้นกาลล่วงมาภายหลัง พวกพราหมณ์ได้แต่งพระเวทขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง เรียกว่า “ อาถรรพเวท ” หรือ “ อาถรรพณเวท ” ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ สำหรับใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ในการทำพิธีป้องกันอันตรายต่าง ๆ เช่น พิธีฝังเสาหิน หรือฝังบัตรพลี ( เครื่องเซ่นสรวงสังเวย ) เรียกว่า “ ฝังอาถรรพ์ ” เพื่อแก้เสนียดจัญไร เปลี่ยนให้เป็นสวัสดิมงคล ( ความเจริญรุ่งเรืองดีงาม ) ใช่เสกเป่าทำร้ายข้าศึกศัตรู ทั้งใช้ฝังรูปฝังรอยให้ชายกับหญิงผัวกับเมีย หรือชู้ มีความรักใคร่กัน ซึ่งเรียกว่า “ ทำเสน่ห์ยาแฝด ” เป็นต้นจึงรวมเป็น ๔ คัมภีร์


โทษของการไม่รู้ประมาณในอาหาร

    ภารทวาชมาณพได้ตั้งสำนักเป็นอาจารย์ใหญ่สอนไตรเพท มีศิษย์มาขอศึกษามากมาย แต่เนื่องจากเป็นคนมีความโลภในอาหาร แสวงหาอาหารด้วยอาการไม่เหมาะสม ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค จึงถูกศิษย์พากันทอดทิ้ง มีความเป็นอยู่ลำบาก ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่เมืองราชคฤห์

   ตั้งสำนักสั่งสอนไตรเพทอีก แต่ก็ไม่ค่อยมีคนนับถือเพราะเป็นคนต่างถิ่น และเมืองราชคฤห์ก็มีสำนักอาจารย์ใหญ่ ๆ มากอยู่แล้ว จึงประสบกับชีวิตที่ฝืดเคืองยิ่งขึ้น

    เมื่อพระบรมศาสดา ประกาศพระพุทธศาสนามาจนถึงเมืองราชคฤห์ มีประชาชนเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก ลาภสักการะก็เกิดขึ้นอุดมสมบูรณ์ ปิณโฑลภารทวาชะ คิดที่จะอาศัยพระพุทธศาสนาเลี้ยงชีวิต อีกทั้งได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาแล้ว ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท

    เมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัยแล้วอุตสาห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าก็บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคล ในพระพุทธศาสนา

    ท่านพระปิณโฑลภารวาชเถระ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิทรีย์ทั้ง ๓ คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ และยังเป็นผู้ที่สามารถแสดงฤทธิ์ได้เทียบเท่าพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านเคยเสดงฤทธิ์จนเป็นสาเหตุให้พระบรมศาสดาแสดงยมกปาฏิหารย์ ดังมีเรื่องเล่าว่า...


เศรษฐีอยากรู้จักพระอรหันต์

    สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน มหาวิหาร กรุงราชคฤห์ มีเศรษฐีผู้หนึ่งใคร่จะลงน้ำในแม่น้ำคงคา จึงให้บริวารขึงตาข่ายเป็นรั้วล้อม ในท่าที่ตนอาบน้ำอยู่นั้น เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ ขณะนั้นมีไม้จันทน์แดงต้นหนึ่งเกิดที่ริมฝั่งเหนือน้ำขึ้นไป

    ถูกน้ำเซาะรากโค่นลงไหลมาตามน้ำถูกกระแสน้ำพัดกระทบกับของแข็งหักเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่กระจัดกระจายไปตามน้ำ มีอยู่ก้อนหนึ่งเป็นปุ่มซึ่งแตกออกมา กลิ้งกระทบหินและกรวดทรายกลายเป็นก้อนกลมอย่างดี และมีตระใคร่น้ำเกาะอยู่โดยรอบไหลมาติดตาข่ายนั้น

    เศรษฐีให้คนตรวจดูรู้ว่าเป็นไม้จันทน์แดงแล้วคิดว่า “ ไม่จันทน์แดง ในบ้านของเรามีอยู่มากมาน เราควรจะทำอะไรดีกับไม้จันทน์แดงก้อนนี้ ” พลางก็คิดขึ้นได้ว่า “ ชนเป็นจำนวนมากต่างก็พูดอวดว่าตนเป็นพระอรหันต์ เรายังไม่รู้ชัดว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์กันแน่ เราควรให้ช่างกลึงปุ่มไม้จันทน์แดงนี้ทำเป็นบาตรแล้วแขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ต่อกันให้สูง ๑๕ วา ประกาศว่า ผู้ใดสามารถเหาะมาเอาบาตรไปได้ จึงจะเชื่อถือผู้นั้นว่าเป็นพระอรหันต์ เราพร้อมด้วยภรรยา และบุตรจะขอถึงผู้นั้นเป็นสารณะที่พึ่งตลอดชีวิต ” เมื่อคิดเช่นนี้แล้วก็รับสั่งให้ทำตามที่คิดทุกประการ

   

เดียรถีย์แสดงท่าเหาะ

   

    ครั้งนั้น เจ้าสำนักครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป ทักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุทธกัจจายะ และ นิครนถ์นาฏบุตร ต่างก็มีความประสงค์อยากจะได้บาตรไม้จันทน์แดงด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ไปพูดกับท่านเศรษฐีว่า..

    “ ท่านเศรษฐี บาตรนี้สมควรแก่เรา ท่านจงยกไห้แก่เราเถิด ”

   “ ถ้าท่านต้องการอยากจะได้ ก็จงเหาะขึ้นไปเอาด้วยตนเองเถิด ” เศรษฐีกล่าวยืนยัน

    ครั้นถึงวันที่ ๖ นิครนถ์นาฏบุตร ได้ใช้ให้ศิษย์ไปบอกแก่ท่านเศรษฐีว่า

   “ บาตรนี้ สมควรแก่อาจารย์ของเรา ท่านอย่าให้ถึงกับต้องแสดงฤทธิ์เหาะมาเลยเพราะเหตุเพียงบาตรใบเดียว ซึ่งเป็นวัตถุเล็กน้อยนี้เลย จงมอบให้แก่อาจารย์ของเราเถิด ”

   ท่านเศรษฐี ก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิม นิครนถ์นาฏบุตรจึงวางแผนกับลูกศิษย์ว่า “ เมื่อเราทำท่านยกมือ ยกเท้า แสดงอาการจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร พวกเจ้าจงเข้ายึดมือและเท้าของเราไว้แล้วกล่าวห้ามว่า ไฉนท่านอาจารย์จึงทำอย่างนี้ ท่านอย่าได้แสดงคุณความเป็นพระอรหันต์ที่ปกปิดไว้เพราะเหตุเพียงบาตรใบนี้เลย ”

    เมื่อตกลงวางแผนกันเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไปพูดขอบาตรกับเศรษฐี เมื่อได้รับคำปฏิเสธเช่นเดิม จึงแสดงท่าจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร บรรดาศิษย์ทั้งหลายก็พากันเข้าห้ามฉุดรั้งไว้แล้ว กล่าวตามที่ตกลงกันไว้นั้น นิครนถ์นาฏบุตรจึงพูดกับเศรษฐีว่า “ เราจะเหาะขึ้นไปเอาบาตร แต่บรรดาศิษย์ทั้งหลายพากันฉุดรั้งไว้อย่างที่เห็น ดังนี้ ขอท่านจงให้บาตรแก่เราเถิด ” เศรษฐีก็ยังไม่ยอมให้เช่นเดิม


พระปิณโฑลภารวาชะเหาะขึ้นไปเอาบาตร

    ในวันที่ ๗ เวลาเช้า พระมหาโมคคัลลานเถระกับพระปิณโฑภารทวาชเถระ จะเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ยืนห่มจีวรอยู่บนก้อนกินใหญ่ก้อนหนึ่ง ได้ยินเสียงนักเลงทั้งหลายพูดกันว่า “ ครูทั้ง ๖ ต่างกล่าวอวดอ้างว่าตนเป็นพระอรหันต์ จนถึง ๗ วันเข้าวันนี้แล้ว ก็ไม่เห็นมีใครสักคนเดียวเหาะขึ้นไปเอาบาตรที่ท่านเศรษฐีแขวนไว้ พวกเราก็เพิ่งจะรู้กันในวันนี้เองว่า พระอรหันต์ไม่มีในโลก ”

    พระมหาโมคคัลลานเถระ จึงกล่าวว่า “ ท่านภารทวาชะ ท่านได้ยินหรือไม่ถ้อยคำของนักเลงเหล่านั้นพูดหมิ่นประมาทพระพุทธศาสนา ท่านก็มีฤทธิ์อนุภาพมาก จงเหาะไปเอาบาตรใบนั้นมาให้ได้ ”

    พระผู้เป็นเจ้าภารทวาชะ รับคำของพระมหาโมคคัลลานเถระแล้วเข้าจตุตถฌานสมาบัติอันเป็นฐานแห่งอภิญญา กระทำอิทธิฤทธิ์เหาะขึ้นไปบนอากาศ พร้อมทั้งแผ่นศิลาที่ยืนอยู่นั้น เหาะเวียนรอบกรุงราชคฤห์แล้ว เหาะลอยเลื่อนมาอยู่ตรงหลังคาเรือนของเศรษฐี ท่านเศรษฐีเห็นดังนั้นแล้วก็ดีใจที่ได้เห็นพระอรหันต์ที่แท้จริง และตกใจกลัวว่าก้อนหินจะล่วงลงมาทับบ้านของตน จึงกราบหมอบลงจนอกติดพื้นดินแล้ว กล่าวละล่ำละลักว่า “ ขอพระผู้เป็นเจ้า ลงมาเถิด ” พระเถระจึงสลัดก้อนหินไปประดิษฐานในที่เดิมแล้วเหาะลงมาจากอากาศ เมื่อพระเถระลงมาแล้ว ท่านเศรษฐีจึงนิมนต์ให้นั่ง ณ อาสนะที่จัดถวาย ให้คนนำบาตรลงมาจากที่แขวนไว้ บรรจุอาหารอันประณีตจนเต็มแล้วถวายพระเถระพระผู้เป็นเจ้าภารทวาชะรับแล้วก็กลับสู่วิหาร

    ฝ่ายประชาชนเป็นจำนวนมากที่ไปทำธุระนอกบ้านมิได้เห็นปาฏิหารย์จึงพากันชุมนุมติดตามพระเถระไปอ้อนวอนนิมนต์ให้ท่านแสดงปาฏิหารย์ให้ชมบ้าง พระเถระก็แสดงให้ชมตามที่นิมนต์นั้น พระบรมศาสดาทรงสดับเสียงอื้ออึง จึงตรัสถามพระอานนท์ว่า ” นั้นเสียงอะไร ? ”

   เมื่อทรงทราบความทั้งหมดแล้ว มีรับสั่งให้พระภารทวาชเถระเข้าเฝ้า และทรงตรัสถามว่า “ ได้ยินว่าเธอเหาะขึ้นไปนำบาตรไม้จันทน์แดงมาจริงหรือ ”

   พระปิณโฑลภารทวาชเถระกราบทูลรับว่า “ จริง พระเจ้าข้า ”

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสติเตียนว่า “ ดูก่อนภารทวาชะ การกระทำของเธอเช่นนั้น ไม่เหมาะ ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรกระทำ ทำไมเธอจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหารย์ ( การแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ ) ซึ่งเป็นอุตริมนุสธรรม ( ธรรมอันยิ่งยวดของมนุษย์ ) แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุเพื่อต้องการได้บาตรไม้จันทน์แดง ซึ่งเปรียบประดุจซากศพเล่า มาตุคาม ( ผู้หญิง ) แสดงของลับ เพราะเหตุเพื่อต้องการได้ทรัพย์ อันเปรียบประดุจซากศพ ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน การกระทำของเธอไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ” แล้วทรงบัญญัติสกขาบทห้ามพระภิกษุทั้งหลายแสดงปาฏิหารย์ พระภิกษุใดแสดงปาฏิหารย์ พระภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกฏ ( ทุกฏ แปลว่า ทำไม่ดี หมายถึงความชั่ว เป็นชื่ออาบัติจำพวกหนึ่งในอาบัติทั้ง ๗ คือ ปาราชิก , สังฆาทิเสส , ถุลลัจจัย , ปาจิตตีย์ , ปาฏิเทสนียะ , ทุกฏ และทุพภาสิต )

   และทรงมีพระบัญชาให้ทำลายบาตรนั้น บดให้เป็นผงละเอียดเพื่อทำเป็นเภสัชสำหรับหยอดตา แล้วทรงห้ามพระภิกษุใช้บาตรไม้ ถ้าภิกษุใช้ต้องอาบัติทุกฏ


ได้รับยกย่องในทางบันลือสีหนาท

   โดยปกติ ท่านปิณโฑลภารทวาชเถระ มักจะบันลือสีหนาทด้วยวาจาอันองอาจว่า “ ยสฺส มคฺเค วา ผเล วา กงฺขา อตฺถิ โส มํ ปุจฺฉตุ แปลว่า ผู้ใด มีความสงสัยในมรรคหรือผล ผู้นั้น ก็จงถามเราเถิด ” แม้แต่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา ท่านก็บันลือสีหนาทเช่นนั้น

    ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายพากันกล่าวขวัญถึงท่านว่าเป็นผู้มีความองอาจประกาศความเป็นพระอรหันต์ของตนในที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา และยังได้กระทำอิทธปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์แดง จนทำให้เศรษฐีพร้อมด้วยบุตรและภรรยาพากันประกาศตนเป็นพุทธมามกะ คือ ประกาศเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา

    พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นพากันกล่าวสรรเสริญเกียรติคุณของพระปิณโฑลภารทวาชเถระแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า

   ( ธรรมดามีอยู่ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ( นิคฺคณเห นิคฺคหารหํ ) สรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ ( ปคฺคณฺเห ปคฺคณฺเห ) โดยมีพระวาจาเป็น สัจพจน์ ” พระบรมศาสดา จะทรงมีพระวาจาเป็นไปตรงกันข้ามกับปุถุชน คือคนที่ยังมีกิเลสหนา ตัณหามาก ที่บางคนกระทำ คือติเตียนผู้ควรสรรเสริญ และสรรเสริญผู้ที่ควรติเตียน อันเป็นการทำลายน้ำใจของคนกระทำแต่ความดี ซ้ำร้ายกลับไปให้ท้ายคนที่กระทำความชั่ว จึงได้มีคำกลอนเชิงตัดพ้อขึ้นว่า

    “ คนทำดีได้ดีมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป ” หรือไม่ก็บ่นน้อยเนื้อต่ำใจของผู้ที่มีเจตนากระทำแต่คุณงามความดีว่า “ ทำดีไม่เห็นได้ดีสักที ” อย่างนี้เป็นต้น

    แต่สำหรับพระปิณโฑลภารทวาชเถระนี้พระพุทธองค์ทรงถือเอาคุณความดี ที่ควรสรรเสริญขึ้น ทรงตรัสสรรเสริญพระเถระว่า

    “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านภารทวาชะได้ประกาศความเป็นพระอรหันต์ของตนเช่นนั้นก็เพราะท่านอบรมอินทรีย์ ๓ ประการ คือ สติรทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ไว้มาก ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงประกาศยกย่องพระปิณโฑลทวาชะ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในฝ่าย ผู้บันลือสีหนาท


แสดงธรรมโปรดพระเจ้าอุเทน

   ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระ ท่านเป็นกล่าวธรรมมีวาทศิลป์ ท่านได้แสดงปฏิภาณโต้ตอบกับพระเจ้าอุเทน ครั้งที่อยู่ ณ โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี ดังมีเรื่องเล่าไว้ในพระบาลี คัมภีร์สังยตตนิกาย สฬายตนวรรค (หมวดที่ว่าด้วยอายตนะ ๖ ) ว่า

   หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เรื่องมีอยู่ว่า ในฤดูร้อนวันหนึ่ง ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระ ได้ไปพักกลางวันที่โคนต้นไม้ในพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ซึ่งมีชื่อว่า “ อุทกสถาน” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคงคา

   ฝ่ายพระเจ้าอุเทนนั้นดื่มน้ำเมาอยู่ถึง ๗ วัน แล้วพร้อมด้วยอำมาตย์ราชเสวกเป็นจำนวนมากเสด็จประพาสพระราชอุทยาน และบรรทมบนแท่น “ มงคลศิลา ” ซึ่งตั้งอยู่ภายใต้ต้นพฤกษาใหญ่ที่มีกิ่งก้านใบดกร่มรื่นต้นหนึ่ง ทั้งมีนางสนมกำนัลในเหล่าหนึ่งนวดพระบาทอยู่

   ครั้นพวกนางสนมกำนัลในเหล่านั้น เห็นพระเจ้าอุเทนบรรทมหลับแล้วได้พากันไปเที่ยวเล่นในสถานที่ต่าง ๆ

   แต่ได้ไปพบพระปิณโฑลภารทวาชเถระ จึงได้พากันเข้าไปนั่งห้อมล้อมพระเถระ ๆ ก็แสดงธรรมให้พวกนางสนมฟังโดยมีใจความเป็นต้นว่า

   “ พวกท่านจงละความริษยา จงกำจัดความตระหนี่เสีย ”

   นางสนมผู้หนึ่งที่กำลังนวดพระบาทของพระเจ้าอุเทนอยู่นั้น ได้เขย่าพระบาทให้ตื่นบรรลม

   พระเจ้าอุเทนพอตื่นขึ้นแล้ว ได้ตรัสถามหาพวกนางสนมกำนัลทั้งหลายว่าหายไปไหนกันหมด

   นางสนมกราบบังคมทูลตอบว่า “ ขอเดชะ พวกเขาจะมาอยู่กับพระองค์เพื่อประโยชน์อะไร พวกเขาพากันไปนั่งล้อมสมณะรูปหนึ่งอยู่ พระพุทธเจ้าข้า ”

   เมื่อพระเจ้าอุเทนได้สดับ ก็ทรงพิโรธเปล่งพระสุรเสียงคำรามลั่น จึงทรงมีความคิดพิกล ๆ ว่า “ เราจะหามดแดงเอาไปให้กัดสมณะนั้น ” และทรงทอดพระเนตรไปเห็นรังมดแดงอยู่บนต้นอโศกต้นหนึ่ง แต่ไม่อาจทรงเอื้อมจับเหนี่ยวกิ่งอโศกนั้นลงมาง่าย ๆ พระองค์จึงทรงออกแรงดึงเต็มกำลัง จะด้วยกรรมที่คิดประทุษร้ายต่อพระเถระ หรือว่าให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นเลยกลับมาถึงตัว รังมดแดงรังใหญ่ก็ขาดหล่นลงมาถูกพระเศียรของท้าวเธอ เหล่ามดแดงเมื่อได้ถูกรุกรานจากมนุษย์ก็พากันกรูเข้ากัดพระเจ้าอุเทน ทั่วพระสกลกายของพระองค์ ดูแล้วประหนึ่งว่าเต็มไปด้วยแกลบหรือถูกไฟเผา

   เมื่อท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระรู้ว่า พระเจ้าอุเทนทรงพิโรธก็เหาะหนีไปเสีย

   พวกนางสนมกำนัลเหล่านั้น จึงรีบลุกขึ้นไปช่วยกันปัดมดแดงให้ท้าวเธอ และกราบบังคมทูลต่อว่าท้าวเธอว่า “ พระราชาพระองค์อื่น ๆ พอเห็นบรรพชิตแล้วทรงกราบไหว้ แต่พระองค์กลับทรงประสงค์จะเคาะรังมดแดงลงบนศรีษะของบรรพชิต จึงต้องได้รับผลของกรรมเช่นนี้แหละ ”

   พระเจ้าอุเทนทรงพิจารณาเห็นความผิดของพระองค์ จึงโปรดให้นายอุทยานเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า “ บรรพชิตรูปนี้ในวันอื่น ๆ ท่านมาที่นี่หรือไม่ ”

    “ มาเสมอ ๆ พระพุทธเจ้าข้า ”นายอุทยานกราบบังคมทูลตอบ

   “ ถ้าอย่างนั้นวันไหนบรรพชิตรูปนี้มาที่นี่ เธอจงมาบอกข้าพเจ้า ” พระเจ้าอุเทนทรงมีพระดำรัสสั่งการนายอุทยาน แล้วเสด็จกลับสู่พระราชนิเวศน์

   ผ่านไป ๒ - ๓ วัน พระเถระได้มานั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้นั้นอีก เมื่อนายอุทยานแลเห็น จึงรีบเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอุเทนเพื่อให้ทรงทราบ

   พระเจ้าอุเทนทรงสดับคำกราบบังคมทูลนั้น จึงเสด็จลุกขึ้นแล้วทรงตรัสห้ามการรื่นเริงดนตรี อันมีเสียงสังข์และเสียงบัณเฑาะว์เป็นต้น แล้วรีบเสด็จไปสู่พระราชอุทยาน พร้อมด้วยอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก เมื่อเสด็จมาถึงจึงประทับนั่งในสถานที่ที่สมควรแห่งตน และตรัสถามพระปิณโฑลภารทวาชเถระว่า

   “ ท่านภารทวาชะ เหตุไรพวกพระภิกษุหนุ่ม ๆ ที่กำลังคึกคะนอง จึงประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้จนตลอดชีวิต ไม่เกี่ยวข้องกับความรัก ”

   พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ถวายพระพรอธิบายพระพุทโธวาทว่า

   “ ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระบรมศาสดาผู้ทรงรอบรู้ รงเห็นทรงเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ว่า “ มาเถิดภิกษุทั้งหลายเธอจงตั้งจิตว่า ผู้นี้เป็นมารดา ในหญิงที่พอเป็นมารดาได้ ส่วนหญิงผู้ที่พอเป็นพี่สาว น้องสาว และลูกสาว พวกเธอจงคิดว่าเป็นพี่สาว เป็นน้องสาว และเป็นลูกสาว ดังนี้ วิธีการอย่างนี้แหละมหาบพิตร เป็นเหตุให้พระภิกษุหนุ่มทั้งหลายไม่เกี่ยวข้องกับความรัก ประพฤติพรหมจรรย์ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้จนตลอดชีวิต รักษาพระธรรมวินัยไว้ได้นาน ขอถวายพระพร ”

   พระเจ้าอุเทนทรงตรัสถามแบบมีเหตุผลมาเป็นข้อทรงคัดค้านว่า

   “ ท่านภารทวาชะ ธรรมดาจิตนี้ย่อมมีสภาพโลเล บางคราวหญิงมีอายุปูนมารดาเราก็รัก บางคราวหญิงรุ่นราวคราวพี่สาว น้องสาว หรือลูกสาว เราก็รัก เหตุไรพระภิกษุหนุ่ม ๆ จึงยังประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ ได้ตลอดชีวิต รักษาพระธรรมวินัยอยู่ได้นาน ”

   พระเถระ “ ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาดูกายนี้ ตั้งแต่เบื้องบนลงมาถึงพื้นเท้า และตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไปจนถึงปลายเส้นผม อันมีหนังหุ้มห่อรอบ เต็มไปด้วยของไม่สอาดต่าง ๆ สิ่งที่มีในกายนี้คือ

    ผม ขน เล็บ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดังนี้ ”

   ใจความโดยสรูป ก็คือ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้สัมผัส และใจกระทบอารมณ์ แล้วทำให้เกิดความเร่าร้อน ร้อนเพราะราคะ โทสะ และ โมหะเป็นต้น ผู้ได้สดับและรู้เท่าทันกิเลสเหล่านี้แล้วย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้ว จิตก็ไม่ยึดมั่นไม่ถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น

   ขอถวายพระมหาบพิตร วิธีการพิจารณาเช่นนี้แหละเป็นเหตุให้พระภิกษุหนุ่มทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์อยู่จนตลอดชีวิตได้รักษาพระธรรมวินัยไว้ได้นาน  ”

   พระเจ้าอุเทนทรงสดับคำอธิบายของพระเถรระแล้ว จึงตรัสอ้างด้วยข้อแม้อย่างมีเหตุและผลอีกว่า

   “ ท่านภารทวาชะ พระภิกษุทั้งหลายผู้ได้อบรมกาย อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว ย่อมไม่ยากที่จะนึกตามอย่างนี้ได้

   ส่วนพระภิกษุทั้งหลายที่ไม่ได้อบรมกาย ( ด้วยศีล ) ไม่ได้อบรมจิต และไม่ได้อบรมปัญญา ก็ยากที่จะนึกตามอย่างนี้ได้

    “ ท่านภารทวาชะ บางคราวเราคิดว่าจะนึกว่าไม่สวย แต่กลับนึกว่า สวย ก็มี เหตุไรพระภิกษุหนุ่มทั้งหลายจึงประพฤติพรหมจรรย์อยู่ตลอดชีวิตได้ รักษาพระธรรมวินัยไว้ได้นาน ”

    พระเถระ “ ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงรักษาประตูในอินทรีย์ทั้งหลาย เวลาที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ อย่าถือนิมิตไว้ อย่าถืออนุพยัญชนะ ไว้ อย่าให้ความยินดียินร้ายเข้า ครอบงำได้ดังนี้ ข้อปฏบัตินี้แหละมหาบพิตร ช่วยให้พระภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์อยู่ตลอดชีวิตได้ รักษาพระธรรมวินัยไว้ได้นาน ขอถวายพระพร ”

   พระเจ้าอุเทนทรงสดับอรรถาธิบายของพระปิณโฑลภารทวาชเถระแล้วตรัสว่า “ น่าอัศจรรย์ ท่านภารทวาชะ พระวาจาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้ดังนี้ เป็นพระวาจาที่ถูกต้องดีแม้ เพราะในคราวใดข้าพเจ้าไม่ได้ระวังกาย วาจา ใจ ไม่มีสติ เข้าไปภายในเมือง ในคราวนั้นความโลภทั้งหลายย่อมครอบงำใจข้าพเจ้ายิ่งขึ้น

   แต่ในคราวใด ข้าพเจ้าระวังกาย วาจา ใจ มีสติคอยกำกับ คราวนั้นความโลภย่อมไม่ครอบงำใจข้าพเจ้า

   การที่ท่านแสดงเหตุผลมาแล้วนี้ เป็นการดียิ่ง กระทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเข้าใจได้ดี ข้าพเจ้าขอน้อมนับถือพระรัตนตรัย นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ”

   ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระ ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน...