พระรัฐบาลเถระ
เอตทัคคะในทางผู้บวชด้วยศรัทธา
    พระรัฐบาล เป็นบุตรของเศรษฐีผู้ชื่อว่ารัฐบาลเหมือนกัน และรัฐบาลเศรษฐีผู้เป็นบิดาของท่านเป็นหัวหน้าหมู่บ้านถุลลโกโฐิตนิคม ในแคว้นกุรุ

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปสู่แคว้นกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์สาวกเป็นบริวาร ประทับอยู่ที่ถุลลโกฏฐิตนิคมนั้น ขณะนั้น ชาวบ้านซึ่งประกอบด้วยพราหมณ์และคฤหบดีจำนวนมาก ได้ทราบข่าวการเสด็จมาก็พากันไปเฝ้าพระบรมศาสดา และมีชายหนุ่มชื่อรัฐบาลไปด้วย ได้ถวายบังคมแล้วนั่งในที่อันสมควรแก่ตน

    ส่วนบรรดาชนอื่น ๆ เหล่านั้น บางพวกถวายบังคม บางพวกได้พูดจาปราศัย บางพวกเพียงแต่ประนมมือไหว้ และบางพวกก็ประกาศชื่อโคตรของตน พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา โปรดชาวบ้านทั้งหลายเหล่านั้น ให้เกิดความเลื่อมใสทั่วกัน ครั้นจบพระธรรมเทศนา ประชาชนทั้งหลายพากันกราบทูลลากลับสู่บ้านของตน ๆ ส่วนนายรัฐบาลนั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้า เมื่อประชาชนกลับกันหมดแล้ว จึงได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์รับสั่งให้กลับไปขออนุญาตจากบิดามารดาก่อน


บวชด้วยศรัทธาแรงกล้า

    นายรัฐบาล เมื่อได้ฟังพุทธดำรัสแล้ว รีบกลับไปบ้านแล้วเข้าไปหาบิดามารดา กล่าวขออนุญาตบวช แต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงเกิดความผิดหวังเสียใจ ไม่ยอมรับประทานอาหาร บอกกับบิดามารดาว่า “ ถ้าไม่ได้บวชก็จะขอยอมตาย” บิดามารดาเห็นลูกชายทำเช่นนั้นจริง ก็เกรงว่าลูกชายตาย จึงได้ไปขอร้องเพื่อนสนิทของลูกชายให้มาช่วยกันพูดอ้อนวอน เพื่อให้ล้มเลิกความตั้งใจแต่ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดก็ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนของลูกชายว่า “ ถ้าไม่ยอมให้ลูกชายบวช ลูกอาจจะตายจริง ๆ แต่ถ้าลูกได้บวชเราก็ยังจะได้เห็นลูกบ้างในบางโอกาสหรือเมื่อลูกบวชแล้ว ได้รับความลำบากเบื่อหน่าย ก็จะสึกออกมาภายหลังก็ได้ ”

    เมื่อได้รับคำแนะนำดังนี้แล้ว ก็เห็นดีด้วย จึงบอกแก่ลูกชายว่า “ พ่อแม่ อนุญาตแล้ว ขอให้เจ้าบวชได้ตามปรารถนาเถิด ”

    นายรัฐบาล ดีใจมากรีบลุกขึ้นอาบน้ำและรับประทานอาหารเมื่อมีเรี่ยวแรงดีแล้ว รีบไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลให้ทราบว่าได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้ว พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนาตามประสงค์

    ครั้นบวชแล้วท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดารรู้สึกเศร้าโศกเสียดายลูกชาย และรู้สึกโกรธเคืองพระภิกษุสงฆ์ต้นเหตุให้เสียลูกชาย ยามใดได้พบพระภิกษุสงฆ์ จะต้องพัดพ้อต่อว่าด้วยคำว่า “ เราไม่ต้องการที่จะพบเห็นพวกท่านเลย เพราะเรามีลูกชายอยู่คนเดียวเท่านั้น พวกท่านก็มาพาเอาไปบวชเสียอีก ทำให้ตระกูลของเราต้องขาดทายาทสืบตระกูล ”


บิดามารดาอ้อนวอนให้สึก

    พระรัฐบาล เมื่อบวชแล้ว ได้ติดตามเสด็จพระบรมศาสดา ไปที่เมืองสาวัตถี ทำความเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยความไม่ประมาท ชั่วระยะเวลาไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคล สิ้นกิเลสสวะทั้งปวงจากนั้น ท่านได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปสู่ถุลลโกฏฐิตนิคม อันเป็นตำบลบ้านเกิดของตน

    ได้เข้าไปพักที่สวนมิคจิรวัน อันเป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ พอรุ่งเช้าได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน

    ท่านเดินไปเรื่อย ๆ ตามลำดับจนมาถึงบ้านบิดามารดาของท่านเอง ขณะนั้นโยมบิดาของท่านกำลังให้ช่างตัดผมอยู่ที่ศาลาใกล้ประตูกลาง ครั้นพอแลเห็นท่านพระรัฐบาลเถระเดินมาในระยะไกล ก็จำไม่ได้ จึงร้องออกไปว่า “ พวกศีรษะโล้นเหล่านี้ ได้ให้การบรรพชาแก่บุตรสุดที่รักผู้เดียวของเรา ท่านจะมาทำไมอีกเล่า”

    พระรัฐบาลเถระท่านออกจาริกบิณฑบาตในวันนั้นไม่ได้อาหารอย่างใดอย่างหนึ่งจากบ้านโยมบิดาของท่านเลย และแม้แต่ถ้อยคำที่จะบอกว่า “ โปรดไปข้างหน้าก่อนเถิด” ก็ไม่ได้ฟัง กลับได้ฟังแต่เพียงคำด่าว่าเท่านั้น

    และในเวลาไล่เลี้ยกันกับที่ทพระรัฐบาลเถระถูกโยมบิดาด่าว่าเอานั้น ท่านเห็นนางทาสีเดินถือถาดขนมบูดค้างคืนจะไปเททิ้ง ท่านจึงบอกแก่นางทาสีว่า “ ถ้าขนมนี้เป็นของที่จะเททิ้ง จงเทลงในบาตรของอาตมาเถิด ”

    ฝ่ายนางทาสีเมื่อเทขนมใส่ในบาตรแล้วก็จำท่านได้ จึงรีบกลับไปบอกท่านเศรษฐี เศรษฐีบิดามารดาของท่านพอได้ทราบก็ดีใจสุดประมาณ รีบออกจากบ้าน ติดตามไปพบท่านนั่งพิงฝาเรือนคนอื่น กำลังฉันภัตตาหารคือขนมบูดอยู่ พอดีโยมบิดามารดาตามมาทัน ได้แลเห็นพระเถระนั่งฉันขนมนั้นอยู่ จึงพูดขึ้นโดยไม่มีแสดงความเคารพเลย ด้วยยังคงถือว่าพระเถระเป็นลูกชายของท่านว่า “ ดูก่อนรัฐบาล ที่แล้ว ๆ มาเคยมีหรือที่ลูกได้บริโภคขนมค้างคืนบูดเสียเช่นนี้ ลูกควรจะไปที่เรือนของตนมิใช่หรือ ”

    ท่านพระบัฐบาลเถระจึงกล่าวว่า “ ดูก่อนคฤหบดี เรือนของอาตมาผู้บวชบรรพชาแล้วย่อมไม่มี อาตมาได้ไปที่เรือนของท่านแล้ว แต่ไม่ได้อะไรเลย แม้เพียงคำบอกให้ไปข้างหน้าก่อนก็ไม่ได้ยิน ได้มาแต่คำด่าเท่านั้น” โดยพระเถระพูดทวนถ้อยคำของโยมบิดาด้วยภาษาพระพูดกับฆราวาส

    ท่านเศรษฐีเอ่ยชักชวนว่า “ จงไปที่เรือนของเรากันเถิด รัฐบาล”

    แต่พระเถระกล่าวปฏิเสธว่า “ อย่าเลยคฤหบดี วันนี้อาตมาฉันจังหันเสียแล้ว”

    ท่านเศรษฐีจึงกล่าวนิมนต์ให้ท่านไปฉันในวันรุ่งขึ้น และท่านก็รับนิมนต์ ครั้นวันรุ่งขึ้น

    ท่านเศรษฐีโยมบิดาทราบว่าพระรัฐบาลเถระรับนิมนต์แล้ว จึงกลับไปบ้านของตน ใช้ให้คนฉาบบ้านด้วยโคมัยสด ทั้งให้นำเงินและทองมากองไว้เป็นกองใหญ่ ๆ ๒ กอง คือกองเงินและกองทอง ความใหญ่ของแต่ละกองนั้น เมื่อบุรุษสองคนยืนอยู่คนละข้างของกองเงินหรือกองทอง ย่อมไม่สามารถแลเห็นศีรษะของกันและกันได้ แล้วนำเสื่อลำแพนมาปิดไว้ และให้ตั้งอาสนะในท่ามกลางกองเงินและกองทองนั้นและใช้วงม่านล้อมรอบไว้

    ครั้นแล้วท่านเศรษฐีจึงให้ภรรยาเก่าของท่านพระรัฐบาลเถระ ผู้เป็นลูกสะใภ้ของตนเข้ามาหาและพูดแนะนำว่า “ นี่แนะลูกรักของพ่อ ลูกจงแต่งตัวให้ดี ลูกเคยเป็นที่รักของรัฐบาลผู้เป็นลูกชายของพ่อ เครื่องประดับประดาต่าง ๆ ที่มีอยู่ ลูกจงตกแต่งตัวให้สวยงามที่สุดทีเดียว”

    แล้วท่านเศรษฐีได้ใช้ให้คนทั้งหลายในบ้านช่วยกันจัดแจงอาหารอันปราณีตขึ้นไว้คอยท่า พอรุ่งเช้าจึงให้คนไปอาราธนาพระรัฐบาลเถระ

    ท่านพระรัฐบาลเถระเข้าไปฉันภัตตาหารในบ้านเศรษฐีบิดามารดา ท่านนั่งลงบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้เพื่อท่าน

    โยมบิดาเห็นเป็นโอกาสดีจึงสั่งบริวารให้ช่วยกันเปิดเสื่อลำแพนที่ปิดคลุมกองเงินและกองทองออก แล้วกล่าวกับพระเถระว่า “ นี่แนะรัฐบาลนี่เป็นทรัพย์มรดกของมารดาของลูก ส่วนนี้เป็นทรัพย์มรดกของบิดาลูก และส่วนนี้เป็นทรัพย์มรดกของปู่ของลูก ลูกสามารถกินอยู่และจับจ่ายใช้สอยกระทำบุญสุนทานได้ตามความประสงค์ ลูกจงลาสิกขามาเป็นฆราวาสอยู่ครองเรือนบริโภคทรัพย์สมบัติเหล่านี้ และกระทำบุญให้ทานเถิด ”

    พระรัฐบาลเถระกล่าวตอบว่า “ ดูก่อนโยมบิดา ถ้าโยมจะกระทำตามถ้อยคำของอาตมา ขอจงให้คนทั้งหลายขนกองเงินและกองทองเหล่านี้ขึ้นบรรทุกเกวียนหลาย ๆ เล่ม แล้วนำไปเททิ้งในท่ามกลางแม่น้ำคงคาอันมากระแสไหลเชี่ยว เพราะว่าโสกะ คือ ความเศร้าโศก ปริเทวะ คือ ความคร่ำครวญ ทุกข์โทมนัส คือ ความเดือดร้อนและความเสียใจ อุปายาสะ คือ ความคับแค้นใจ จะเกิดขึ้นกับโยมบิดาผู้มีเงินและทองเป็นต้นเหตุ”

    ( ความคิดเห็นระหว่างพระอรหันต์ ( ผู้ไม่มีกิเลส) กับปุถุชน ( คนที่ยังมีกิเลสหนา ) ย่อมสวนทางกัน เหมือนพูดกันคนละภาษา)

    ครั้งนั้นมีหญิง ๒ คน ผู้ที่เคยเป็นภรรยาของท่านพระรัฐบาลเถระมาก่อนในตอนเป็นฆราวาส ได้เข้ามาจับเข่าทั้ง ๒ ของพระเถระคนละข้างและพูดขึ้นว่า “ ข้าพระลูกเจ้า หมู่นางอัปสรผู้เป็นมูลเหตุให้พระลูกเจ้าประพฤติพรหมจรรย์นั้นเป็นเช่นไร สวยงามมากแค่ไหนหรือเจ้าค่ะ”

    พระเถระตอบว่า “ นี่แน่ะน้องหญิง อาตมามิได้ประพฤติพรหมจรรย์เพราะต้องการนางอัปสร ( นางฟ้า) หรอกนะ”

    หญิงทั้งสองนั้นได้ยินพระเถระเรียกว่า “ น้องหญิง ” ถึงกับเป็นลมสลบลงไปในสถานที่นั้นเอง

    ท่านพระรัฐบาลเถระจึงกล่าวกับโยมบิดามารดาว่า “ ดูก่อนโยมบิดา โยมมารดา โยมจงให้อาหารอันสมควรแก่อาตมาเถิด อย่ากระทำให้อาตมาลำบากเลย ”

    ท่านเศรษฐีได้จัดอาหารอันปราณีตหลายอย่างมาถวายแก่พระเถระ ครั้นพระเถระฉันอาหารเสร็จสรรพแล้ว ท่านจึงยืนขึ้นแล้วกล่าวธรรมกถาว่า

    “ จงดูรูปอันวิจิตร , มีการเป็นแผลอยู่ทั่ว อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกพยุงขึ้นไว้ มีอาการกระสับกระส่าย มีความดำริมาก ไม่มีความยั่งยืนนี้เถิด

    จงดูรูปอันบุคคลกระทำให้งดงามด้วยแก้วมณีและกุณฑล , มีหนังหุ้มห่อกระดูกซึ่งอยู่ภายใน งดงามด้วยเครื่องนุ่มห่ม มีเท้าที่กระทำให้มีสีแดง มีใบหน้าอันลูบไล้ด้วยผงนี้เถิด รูปนี้อาจกระทำคนโง่เขลาไห้หลงไหลได้ แต่ไม่อาจกระทำผู้แสวงหาฝั่ง คือพระนิพพานให้หลงไหลได้

    บุคคลบ่วงดักเนื้อไว้แล้ว แต่เนื้อไม่ติดบ่วงนั้น อาตมาบริโภคเหยื่อ ( อาหาร ) แล้วก็จักไป ” ในเมื่อผู้ดักเนื้อคร่ำครวญอยู่

    ครั้นพระเถระยืนกล่าวคาถาดังนี้แล้ว จึงลากลับไปที่มิคจิรวันอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะที่พักตามเดิม


แสดงธรรมมุทเทศแด่พระเจ้าโกรัพยะ

    วันหนึ่ง พระเจ้าโกรัพยะ เสด็จประพาสราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นพระรัฐบาลเถระแล้วทรงจำได้เพราะเคยรู้จักท่านและตระกูลของท่านเป็นอย่างดีมาก่อน จึงเสด็จเข้าไปหาทักทายสนทนาด้วยแล้วประทับนั่ง ณ ที่อันสมควร พลางตรัสถามท่านว่า..

    “ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ความเสื่อม ๔ ประการ ที่บุคคลบางพวกประสบเข้าแล้ว จึงออกบวช ได้แก่...

    ๑ . ความแก่ชรา

    ๒. ความเจ็บป่วย

    ๓. ความสิ้นโภคทรัพย์

    ๔. ความสิ้นญาติพี่น้อง

    ก็ความเสื่อมทั้ง ๔ ประการเหล่านี้ ไม่มีแก่ท่านเลย ท่านได้ฟัง ได้รู้ ได้เห็น หรือมีความจำเป็นอย่างไรจึงออกบวช?”

    พระรัฐบาลเถระ ได้ถวายพระพรว่า “ มหาบพิตร อาตมาได้ฟังธรรมมุทเทศ ๔ ประการ จากพระบรมศาสดา จึงออกบวช ธรรมมุทเทศ ๔ ประการนั้น คือ..

    ๑ . โลกคือหมู่สัตว์ อันชรมเป็นผู้นำ นำเข้าไปใกล้ไม่ยั่งยืน

    ๒. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน

    ๓. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป

    ๔. โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่ร้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

    พระเจ้าโกรัพยะ ได้สดับพระธรรมเทศนาชื่อธรรมมุทเทศของพระบรมศาสดา ที่ท่านพระรัฐบาลเถระแสดงให้พระองค์สดับแล้ว เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงตรัสสรรเสริญว่า “ พระธรรมเทศนานี่น่าอัศจรรย์” และตรัสอนุโมทนาแล้วเสด็จกลับสู่พระราชนิเวศน์


ได้รับยกย่องในตำแหน่งเอตทัคคะ

    พระรัฐบาลเถระนั้น นับว่าท่านเป็นพุทธสาวกที่บวชด้วยศรัทธาอย่างจริงใจ ถึงกับบอกกับบิดามารดาว่า “ ขอยอมตายถ้าไม่ได้บวช   ” จนกระทั่งบิดามารดาต้องยินยอม เพราะหตุนี้ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้บวชด้วยศรัทธา

    ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยเหลือกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน.........