พระภัททิยเถระ
เอตทัคคะในทางผู้เกิดในตระกูลสูง
   พระภัททิยะ เกิดในตระกูลกษัตริย์ศากยวงศ์ ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นราชโอรสของพระนางกาฬีโคธา ( พระนามเดิมชื่อว่า โคธา แต่เพราะมีผิวกายดำ คนทั่วไปจึงเรียกว่า กาฬีโคธา ) เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ครอบครองราชสมบัติสืบศากยวงศ์ทรงพระนามว่า “ เจ้าชายภัททิยราชา ” มีพระสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมาก พระนามว่า “ เจ้าชายอนุรุทธกุมาร ” ซึ่งเป็นเชื่อสายศากยวงศ์เช่นกัน
บวชเพราะเพื่อนชวน

    สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ อนุปิยนิคมของมัลลกษัตริย์ครั้งนั้น ศากยกุมารจากตระกูลต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่ว ๆ ไป ได้ออกบวชติดตามพระพุทธองค์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เจ้าชายมหานามะ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ จึงได้ปรึกษากับเจ้าชายอนุรุทธะผู้เป็นอนุชาว่า..

    “ในตระกูลของเรานี้ ยังไม่มีผู้ใดออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย เราสองคนพี่น้องนี้ ควรที่คนใดคนหนึ่งน่าจะออกบวช น้องจะบวชเองหรือจะให้พี่บวช ขอให้น้องเป็นผู้เลือกตามสมัครใจ ถ้าไม่มีใครบวชเลย ก็ดูเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

    เนื่องจากอนุรุษธกุมารนั้น เป็นพระโอรสองค์เล็ก พระเจ้าอมิโตทนะ พระบิดาและมารดามีความรักทะนุถนอมเป็นอย่างมาก เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีบุญมาก หมู่พระประยูรญาติทั้งหลายต่างก็โปรดปรานเอาอกเอาใจตั้งแต่แรกประสูติจนเจริญวัยสู่วัยหนุ่ม เมื่อได้ฟังเจ้าพี่มหานามะตรัสถึงเรื่องการบรรพชาอย่างนั้น จึงกราบทูลถามว่า

    “เสด็จพี่ ที่เรียกว่าบรรพชานั้น คืออะไร ?”

    “ ที่เรียกว่าบรรพชา ก็คือการปลงพระเกศาและหนวด นุ่งห่มกาสาวพัสตร์ บรรทมเหนือพื้นดิน และบิณฑบาตเลี้ยงชีพตามกิจของสมณะ”

    “ เสด็จพี่ หม่อมฉันไม่เคยทุกข์ยากลำบากอย่างนั้น ขอให้เสด็จพี่บวชเองเถิด”

    “อนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น เจ้าก็ต้องศึกษาเรื่องงาน และการครองเรือนให้เข้าใจเป็นอย่างดี”

   เจ้าชายมหานามะ ได้สดับคำถามของพระอนุชาดังนั้น จึงได้ยกเอาเรื่องการทำนาขึ้นมาสอน เริ่มด้วยการนำเข้าเก็บในยุ้งฉาก อย่างนี้เรียกว่า การงาน”

    “ เสด็จพี่ การงานนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ?”

    “ ไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อถึงฤดูกาลก็ต้องทำอย่างนี้ตลอดไป วนเวียนหาที่สุดมิได้”

    เจ้าชายอนุรทธะน้น จะรู้เรื่องการทำนาได้อย่างไร ในเมื่อครั้งหนึ่งเคยนั่งสนทนากับพระสหายและตั้งปัญญาถามกันว่า

    “ ภัตตาหารที่เราเสวยกันทุกวันนี้ เกิดที่ไหน ?”

    “ เกิดในฉาง” เจ้าชายกิพิละตอบ เพราะเคยเห็นคนนำข้าวออกมาจากฉาง

    “ เกิดในหม้อ” เจ้าชายภัททิยะตอบ เพราะเคยเห็นคนคดข้าวออกจากหม้อ

    “ เกิดในชาม” เจ้าชายอนุรุทธตอบ เพราะทุกครั้งจะเสวยภัตตาหาร ก็จะเห็นข้าวอยู่ในชามเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเข้าใจอย่างนั้น

    เมื่อได้ฟังเจ้าพี่มหานามะสอนถึงเรื่องการงาน ดังนี้แล้ว จึงเกิดท้อแท้ขึ้นมา และการงานนั้นก็ไม่มีที่สิ้นสุด จึงกราบทูลเจ้าพี่มหานามะว่า “ ถ้าเช่นนั้นขอให้เสด็จพี่อยู่ครองเรือนเถิด หม่อมฉันจักบวชเอง ถึงแม้การบวชจะลำบากกว่าการเป็นอยู่ในฆราวาสนี้ ก็ยังมีภาระที่น้อยกว่า และมีวันสิ้นสุด ”

   เมื่อตกลงกันเช่นนี้แล้ว เจ้าชายอนุรุทธะจึงเข้าไปเฝ้าพระมารดากราบทูลให้ทรงทราบเรื่องที่ตกลงกับเจ้าพี่มหานามะแล้ว กราบทูลขอลาบวชตามเสด็จพระบรมศาดา พระมารดาได้ฟังก็ตกพระทัยตรัสห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง แต่พระโอรสก็ยืนยันจะบวชให้ได้ ถ้าไม่ทรงอนุญาต จะขออดอาหารจนตาย และก็เริ่มไม่เสวยอาหารตั้งแต่บัดนั้น ในที่สุดพระมารดาเห็นว่าการบวชยังมีโอกาสได้เห็นพระโอรสดีกว่าปล่อยให้ตาย อนึ่ง อนุรุทธะนั้น เมื่อบวชแล้วได้รับความลำบากก็คงอยู่ไม่ได้นานก็จะสึกออกมาเอง

    พระมารดาจึงตกลงอนุญาตให้บวช แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเจ้าชายภัททิยะพระสหายออกบวชด้วยจึงจะให้บวช เจ้าชายอนุรุทธะดีใจรีบไปชวนเจ้าชายภัททิยะให้บวชด้วยกันโดยกล่าวว่า “ การบวชของเราเนื่องด้วยท่าน ถ้าท่านบวชเราจึงจะได้บวช” แต่เจ้าชายภัททิยะปฏิเสฐ เจ้าชายอนุรุทธะทรงอ้อนวอนอยู่ถึง ๗ วัน เจ้าชายภัททิยะจึงยอมบวชด้วย

    ในครั้งนั้น เจ้าชายศากยะ ๕ พระองค์ คือ เจ้าชายภัททิยะ ๑ เจ้าชายอนุรุทธะ ๑ เจ้าชายอานนท์ ๑ เจ้าชายภัคคุ ๑ และเจ้าชายกิมพิละ “ และเจ้าชายฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต พร้อมด้วยอำมาตย์ช่างกัลบกอีก ๑ คน คือ อุบาลี รวมเป็น ๗ เสด็จออกเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยอัมพวันเมืองพาราณสี กราทูลขออุปสมบทพระพุทธองค์ประทานด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา


เปล่งอุทานว่าสุขหนอ ๆ

    พระภัททิยะเถระ เมื่ออุปสมบทแล้วศึกษาพระกรรมฐานจากสำนักของพระบรมศาสดา อุตสาห์บำเพ็ญเพียรไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยวิชา ๓ ภายในพรรษานั้น

    ตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ได้แก่ ในป่า ใต้ร่มไม้ หรือในอารามเมื่อยามว่างยามสงบ ท ่านก็มักจะเปล่งอุทานว่า “ สุขหนอ ๆ ” อยู่เสมอจนภิกษุทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้วเข้าใจว่า ท่านไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ รำพึงนึกถึงแต่ราชสมบัติอยู่ จึงนำความเข้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์รับสั่งให้เรียกท่านมาแล้ว ตรัสถามว่า...

    “ ภัททิยะ ทราบว่าเธอเปล่งอุทานว่าอย่างนั้น จริงหรือ ? ”

   “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นความจริง พระเจ้าข้า ”

   “ เธอเห็นประโยชน์อะไร จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น ? ”

   “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยเมื่อข้าพระองค์เป็นฆราวาส ครอบครองราชสมบัติอยู่ ต้องดูแลป้องกันรักษาขอบขัณฑสีมาทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอกทั่วราชอาณาเขต แม้แต่ตัวข้าพองค์เองจะมีคนคอยดูแลป้องกันรักษาอยู่รอบข้างเป็นนิตย์ ก็อดที่จะสะดุ้งจิตหวาดกลัวมิได้ บัดนี้ แม้ข้าพระองค์จะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า หรือต้นไม้ หรือที่อื่น ๆ เพียงลำพัง ก็ไม่ต้องสะดุ้งกลัวก็ไม่ขนลุกชูชัน อาศัยอาหารผู้อื่นเลี้ยงชีพ ไม่ต้องวิตกกังวลรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองและประชากร ข้าพระองค์เห็นประโยชน์สุขอย่างนี้ จึงเปล่งอถทานอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

   พระบรมศาสดา ทรงสดับแล้ว ได้ตรัสยกย่องชมเชยในการกระทำของท่าน และโดยที่ท่านเกิดในตระกูลกษัตริย์จัดว่าเป็นพระกูลสูงสุด ( พระมารดาของท่านเป็นผู้มีอายุสูงกว่าศากิยานีทั้งหลาย ) พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้เกิดในตระกูลสูง

   ท่านพระภัททิยเถระ ดำรงสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน.....