พระอุปเสนเถระ
เอตทัคคะในทางผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใส
    พระอุปเสนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อว่าวังคันตะ มารดาชื่อนางสารีในหมู่บ้านตำบลนาลันทา ซึ่งบิดาของท่านเป็นนายหรือหัวหน้าหมู่บ้านนั้นอันตั้งอยู่ในแคว้นมคธ ท่านเป็นน้องชายอีกคนหนึ่งของพระสารีบุตรเถระ ในบรรดาพี่น้อง ๗ คน คือ ๑. พระสารีบุตร ๒. พระจุนทะ ๓ . พระอุปเสนะ ๔. พระเรวตะ ๕. นางจาลา ๖. นางอุปจาลา ๗. นางสีสุจาลา ( บางแห่งกล่าวว่าท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ของตระกูล)

    เมื่อเจริญวัยขึ้นได้รับการศึกษาจบวิชาไตรเพทหรือพระเวททั้ง ๓ ตามลัทธินิยมของพราหมณ์และถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพรหมณ์ คัมภีร์พระเวททั้ง๓ นั้น ได้แก่...

    ๑ ) ฤคเวท ( อิรุพเะท) เป็นบทสวดสรรเสริญเทพพระเจ้าทั้งปวง

    ๒ ) ยขุรเวท (ยชุพเพท ) ประกอบด้วยมนต์ อันเป็นบทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชานยัญต่าง ๆ ๓ ) สามเวท ประมวลบทเพลงขับ สำหรับสวดหรือร้อง เป็นทำนองในพิธีบูายัญ

    ต่อมาภายหลังได้เพิ่มอถรรพเวท ( อถัมพเพท) หรือ อาถรรพเวท อันว่าด้วยคาถาอาคมต่าง ๆ ทางไสยศาสตร์ เป็นมนต์สำหรับใช้ในทางการปลุกเสกวัตถุมงคลต่าง ๆ เมื่อเพิ่มคัมภีร์นี้เข้ามาก็นับเป็นคัมภีร์ที่ ๔ ตามลัทธของศาสนาพราหมณ์ถือกันว่า ผู้ใดจบพระเวทเหล่านี้แล้วก็จะเรียกผู้นั้นว่า ผู้ถึงที่สุดแห่งเวทและวิชาพระเวทนี้ก็ถือกันอีกว่า “ เป็นวิชาที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ ”

    อุปเสนะ เมื่อพระสารีบุตรเถระผู้เป็นพี่ชายออกบวชแล้ว ตนเองก็มีจิตน้อมไปในการบวชอยู่ด้วย วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้น จึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ประทานให้ตามประสงค์ ท่านดำรงเพศภิกษุปฏิบัติศาสนากิจศาสนกิจตามหน้าที่


แค่ ๑ พรรษา ตั้งตนเป็นอุปชฌาย์

    เมื่อท่านบวชได้เพียง ๑ พรรษา และยังเป็นปุถุชนมิได้บรรลุมรรคผลใด ๆ ท่านเกิดมีความคิดขึ้นมาว่า “ เราจะช่วยกระทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากไปด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์” ดังนี้แล้ว ก็ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ บวชกุลบุตร ทั้ง ๆ ที่ตนเพิ่งบวชได้เพียงพรรษาเดียว อีกทั้งยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงทรงประณามตำหนิท่านอย่างรุนแรงด้วยพระดำรัสว่า

    “ ดูก่อนโมฆบุตร ทำไมเธอจึงเป็นคนมักมากอย่างนี้ ตัวเธอเองก็ยังต้องอาศัยผู้อื่นสั่งสอนอยู่ แต่นี่ทำไมเธอจึงทำตัวสั่งสอนผู้อื่นเสียเอง ” พระพุทธองค์ก็ทรงติเตียนเธออีกเป็นอันมาก

    ท่านอุปเสนะ รู้สึกสลดใจที่ถูกพระบรมศาสดาตำหนิอย่างนั้น จึงคิดว่า “ เราถูกพระพุทธองค์ทรงตำหนิ เพราะเรื่องสัทธิวิหาริก ดังนั้น เราจะอาศัยสัทธิหาริกนี่แหละยังพระบรมศาสดาให้ตรัสสรรเสริญเราให้ได้ ”

    จากนั้น ท่านได้กราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า พาสัทธิหาริกกลับสู่ที่พักตั้งใจบำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผลหมดกิเลสาสวะ เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้สมาทานธุดงควัตร ประพฤติปฏิบัติในธุดงค์คุณครบทั้ง ๑๓ ข้อ ดังนี้..


“ธุดงควัตร” หมายถึง ข้องปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส ๑๓ ข้อ ได้แก่
๑. ปังสุกุลิกธุดงค์ ถือการใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

    ๒. เตจีริกธุดงค์ ถือการใช้ผ้าไตรจีวรเป็นวัตร

    ๓. ปิณฑปาติกธุดงค์ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

    ๔. สปทานจาริกธุดงค์ ถือการเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกเป็นวัตร

    ๕. เอกสานิกธุดงค์ ถือการนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร

    ๖. ปัตตปิณฑปาติกธุดงค์ ถือการฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร

    ๗. ขลุปัจฉาภัตติธุดงค์ ถือห้ามภัตที่นำมาถวายในภายหลังเป็นวัตร

    ๘. อรัญญิกธุดงค์ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

    ๙. รุกขมูลิกธุดงค์ ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร

    ๑๐. อัพโภกาสิกธุดงค์ ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร

    ๑๑. โสสานิกธุดงค์ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร

    ๑๒. ยถาสันถติกธุดงค์ ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้อย่างไปเป็นวัตร

    ๑๓. เนสัชชิกธุดงค์ ถือการนั่งเป็นวัตร ( ไม่นอน )

    ธุดงควัตรเหล่านี้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ก็ด้วยพุทธประสงค์ เพื่อเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสเครื่องเศร้าหมองที่หมักดองอยู่ในจิตเป็นเหตุ ให้คิดหมกมุ่นในเรื่องกามคุณ เป็นคนใจแคบมักมากเห็นแก่ตัว เมื่อปฏิบัติในธุดงควัตรแล้วกิเลสก็เบาบางลง เป็นคนมักน้อยสันโดษไม่มักมากด้วยลาภสักการะ ไม่เห็นแก่ความสุขอันเกิดจากกามคุณทั้งหลาย และธุดงค์วัตรเหล่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติทุกข้อ ผู้ใดมีความสามารถความพอใจที่จะปฏิบัติในข้อใด ก็สมาทานเฉพาะข้อนั้น หรือมากกว่าหนึ่งข้อก็แต่ความสมัครใจ เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ปฏิบัติ


เป็นต้นบัญญัติเรื่องตั้งพระอุปัชฌาย์

    พระพุทธองค์ ทรงอาศัยกรณีของพระอุปเสนะเถระ ที่ตั้งตนเป็นพระอุปัชาฌาย์ขณะที่บวชได้เพียงพรรษาเดียวเป็นเหตุ ทรงบัญญัติสิกขาบทเกี่ยวกับการที่ภิกษุจะเป็นอุปัชฌาย์ได้จะต้องมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไปว่า

    “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้ภิกษุมีพรรษา ๑๐ หรือเกินกว่า ๑๐ ขึ้นไป ให้อุปสมบทแก่กุลบุตรได้ ภิกษุมีพรรษาหย่อนกว่า ๑๐ พรรษาไม่ควรให้อุปสมบทแก่กุลบุตร ภิกษุใดฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฏ ”


ความปรารถนาบรรลุผล

    ต่อมาเมื่อท่านพรรษาครอบ ๑๐ พรรษาตามพระบรมพุทธานุญาตแล้วได้เป็นอุปัชฌาบวชให้กุลบุตรมากถึง ๕๐๐ รูป ทั้งนี้ก็เพราะท่านเป็นบุตรของตระกูลใหญ่เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปอยู่แล้ว และเพราะท่านมีความสามารถแสดงธรรมเป็นที่นำมาซึ่งการปฏิบัติธุดงควัตร ๑๓ ข้อนั้น สุดแต่รูปใดจะมีศรัทธา มีความสามารถถนัดในข้อใด สมาทานได้มากน้อยเพียงใดก็สุดแต่จะศรัทธา

    สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ท่านพระอุปเสนเถระได้พาสัทธิวิหาริกของท่าน ๕๐๐ รูป เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมแล้ว พระพุทธองค์ตรัสปฏิสันถาร และตรัสถามสัทธิวิหาริกของท่านว่า

    “ ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุใดพวกเธอทั้งหลายจึงสมาทานธุดงค์กันทั่วทุกรูป ? ”

    “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ทั้งหลายสมาทานธุดงควัตร ก็ด้วยความเคารพและศรัทธาในพระอุปัชฌาย์ พระเจ้าข้า ”

    พระพุทธองค์ ประทานอนุโมทนาว่า “ สาธุ สาธุ อุปเสน แปลว่า ดูก่อนอุปเสนะ ดีละ ดีละ ”

    ความหวังความตั้งใจของพระอุปเสนเถระ บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสของหมู่ชนทุกชั้น

    ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาสมควรแก่การเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน...