หัตถกคฤหบดี
เอตทัคคะในฝ่ายผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔
   หัตถคฤหบดี เป็นราชโอรสของพระเจ้าอาฬวกะ แห่งกรุงอาฬวีแคว้นอาฬวี มีพระนามว่า “ อาฬวกะ ” เหมือนพระราชบิดา
ถูกยักษ์จับ
   ขณะเมื่ออาฬวกกุมาร ยังอยู่ในวัยเยาว์ พระเจ้าอาฬวกะผู้เป็นพระราชบิดาเสด็จประพาสป่าเพื่อล่าสัตว์ พระองค์ฆ่าเนื้อได้ตัวหนึ่งแล้วตัดเป็น ๒ ท่อน ผูกคล้องไว้ที่ปลายธนูใช้คันธนูแทนคานหาบเนื้อนั้นกลับสู่พระนคร ขณะที่เสด็จกลับสู่พระนครได้เข้าไปพักเหนื่อยที่โคนต้นไทรใหญ่ริมทางและที่ต้นไทรนั้นมียักษ์สิงสถิตอยู่ ถ้ามีคนเข้ามาในร่มเงาของต้นไทรนั้นก็จะต้องตกเป็นอาหารของยักษ์ทุกคน เมื่อยักษ์เห็นพระราชาประทับนั่งที่โคนต้นไทรของตน จึงออกมาจับที่พระหัตถ์แล้วกล่าวว่า “ ท่านต้องเป็นอาหารของเรา ”

   พระราชาสดุ้งพระทัยหวาดกลัวภัยอย่างที่สุด ไม่เห็นอุบายอย่างอื่นที่จะให้รอดพระชนม์ได้ จึงตรัสแก่ยักษ์ว่า “ ถ้าท่านปล่อยเราไป เราขอให้ปฏิญญาแก่ท่านว่าจะส่งมนุษย์หนึ่งคนพร้อมด้วยถาดอาหารมาให้ท่านกินทุกวัน ”

    ยักษ์รับปฏิญญาแล้วปล่อยพระราชาไป ตั้งแต่วันนั้นพระราชาได้ส่งนักโทษในเรือนจำไปเป็นอาหารของยักษ์ทุกวัน จนนักโทษหมดเรือนจำ เมื่อไม่มีนักโทษส่งไปแล้วจึงรับสั่งให้จับคนแก่ไปให้ยักษ์วันละคนจนกระทั้งคนแก่ก็หมดไปทั้งเมือง จากนั้นรับสั่งให้จับเด็ก ๆ ส่งไปให้ยักษ์ ด้วยวิธีนี้ครอบครัวพ่อแม่ที่มีลูกหลานพากันอพยพหนีไปอยู่เมืองอื่นกันหมด


พุทธานุภาพปราบยักษ์

   วันหนึ่ง ในเวลาใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกผู้มีอุปนิสัยควรแก่การบรรลุมรรคผล ได้ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยของอาฬวกกุมาร ผู้ซึ่งได้ตั้งความปรารถนาไว้นานถึงแสนกัป ก็ถ้าพระราชาผู้เป็นพระบิดา เมื่อไม่มีเด็กอื่นจะส่งไปให้แก่ยักษ์แล้ว ก็จักส่งโอรสของพระองค์เองไปให้ยักษ์ในวันพรุ้งนี้ ดังนั้นในเวลาเย็นวันนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังต้นไทรที่อยู่อาศัยของอาฬวกยักษ์ประทับนั่งบนอาสนะของอาฬวกยักษ์นั้น

    ขณะนั้น สาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์ เหาะผ่านมาทางนั้นได้เห็นพระบรมศาสดาประทับนั่งในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ จึงเข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมแล้วถอยออกไปกล่าวมุทิตากถาแสดงความยินดีกับอาฬวกยักษ์ว่า:-

    “ ท่านอาฬวกยักษ์ ท่านมีโชคได้ลาภอันประเสริฐแล้ว ขณะนี้พระบรมโลกนาถศาสดา เสด็จมาประทับยังที่นั่งของท่าน ขอท่านจงเข้าไปกราบถวายบังคมและฟังพระธรรมเทศนาเถิด ”

   แต่อาฬวกยักษ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ พอได้ฟังดังนั้น ก็โกรธที่พระสมณโคดมรุกล้ำล่วงสู่แดนของตน จึงประกาศที่จะตู่สู้เพื่อขับไล่พระสมณโคดมไปให้พ้นจากสถานที่ของตน พร้อมทั้งชักชวนสาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์ให้ร่วมด้วยช่วยกันทำศึกในครั้งนี้ แต่ยักษ์ทั้งสองไม่ยอมร่อมด้วย อาฬวกยักษ์จึงประทุษร้ายขับไล่พระพุทธองค์ด้วยตนเองเพียงผู้เดียว

    อาฬวกยักษ์ แม้จะรุกรานพระบรมศาสดาด้วยกำลังโดยวิธีการต่าง ๆ ก็ไม่สามารถจะได้รับชัยชนะ จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีถามปัญหา ๘ ข้อ พระพุทธองค์ทรงวิวัชนาแก้ได้ทั้งหมดเมื่อจบการแก้ปัญหาอาฬวกยักษ์ได้บรรลุเป็นพระโสบันมีศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย คลายความโกรธและหายจากความโหดร้ายกลับมีจิตเมตตาต่อผู้อื่น

    วันรุ่งขึ้น ราชบุรุษทั้งหลายเมื่อไม่ได้เด็กภายนอกไปให้ยักษ์ จึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาเมื่อไม่มีใครอื่นที่จะส่งไป ก็เกรงภัยจะมาถึงตนจึงได้ส่งอาฬวกกุมารราชโอรสของพระองค์เองไปเป็นอาหารของยักษ์ พวกราชบุรุษได้อุ้มอาฬวกกุมารวางลงที่มือของยักษ์ ฝ่ายอาฬวกยักษ์พอรับเด็กมาแล้วได้น้อมเข้าไปถวายวางลงบนพระหัตถ์ของพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงรับแล้วส่งกลับคืนในมือยักษ์อีก อาฬวกยักษ์ได้นำเด็กไปวางในมือของพวกราชบุรุษที่นำมาอีกครั้งหนึ่ง พระราชกุมารนั้นโดยอาการที่ถูกส่งจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่งนี้ จึงได้รับการขนานนามว่า “ หัตถอาฬวกกุมาร ” และได้รอดพ้นจากการเป็นอาหารของยักษ์ ด้วยพุทธบารมี

    หัตถกอาฬวกกุมาร นั้น เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดา ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ประกาศตนเป็นอุบาสกขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต เมื่อเขาจะไปที่ใด ๆ ก็จะมีอุบาสกผู้เป็นอริยะ ๕๐๐ คน ติดตามแวดล้อมตลอดเวลา พระบรมศาสดาได้ตรัสถามเขาว่า “ มีหลักสงเคราะห์บริษัทบริวารอย่างไร? ”

    หัตถอาฬวกกุมาร กราบทูลว่า:-

    “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์สงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการคือ:-

    ๑. ทาน ถ้าเขายินดีด้วยการให้ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการให้

    ๒. ปิยวาจา ถ้าเขายินดีด้วยการพูดจาไพเราะน่ารัก ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยวาจาไพเราะน่ารัก

    ๓. อัตถจริยา ถ้าเขายินดีด้วยการให้ทำกิจที่เกิดขึ้นจนสำเร็จข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการช่วยทำกิจที่เกิดขึ้นให้สำเร็จ

    ๔. สมานัตตตา ถ้าเขายินดีด้วยการวางตนเสมอกัน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการวางตนเสมอกัน

   พระบามศาสดา ทรงอนุโมทนาในการสงเคราะห์บริษัทบริวารของเขา แล้วทรงประกาศบกย่องหัตถอาฬวกอุบาสก ให้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งปวง ในฝ่าย ผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังควัตถุ ๔.