อุคคคฤหบดี
เอตทัคคะในฝ่ายผู้ให้ของเจริญจิต
    อุคคะ เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองเวสาลี ชื่อเดิมของท่านไม่ปรากฏเป็นที่แน่นอน แต่เมื่อเจริญวัยขึ้น ร่างกายของท่านสูงสง่างาม เปรียบประดุจว่าเสาระเนียดที่นายช่างได้ตกแต่งดีแล้ว ผิวพรรณผ่องใส ด้วยคุณสมบัติของรูปกายของท่านดังที่กล่าวมานี้ ได้ฟุ้งขจรไปทั่วทิศปริมณฑล ประชาชนทั้งหลายจึงพากันเรียกท่านว่า “ อุคคเศรษฐี ” บ้าง “ อุคคคฤหบดี ” บ้าง

    ครั้นกาลต่อมา ท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และเพียงการเข้าเฝ้าในครั้งแรกเท่านั้น ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ต่อจากนั้นไม่นานนักท่านก็สามารถกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคและผล ๓ ทำให้ท่านดำรงอยู่ในพระอนาคามี


ผู้ให้ของที่ชอบใจย่อมได้ของที่ชอบใจ

   เมื่ออายุสังขารของท่านย่างเข้าสู่วัยชรา ท่านได้ไปนั่งพักผ่อนอยู่ในที่สงบเงียบแล้วเกิดความคิดขึ้นมาว่า “ สิ่งใดอันเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของเรา เราจักถวายสิ่งนั้นแด่พระทศพล ซึ่งเราเคยได้ฟังคำนี้ในที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดาว่า “ ผู้ถวายของที่ชอบใจ ย่อมได้ของที่ชอบใจ ”

    ครั้นความคิดดังนี้จบลงแล้ว ท่านอุคคเศรษฐีก็ยังคิดต่อไปอีกว่า “ พระบรมศาสดาจะทรงทราบความคิดของเราหรือไม่หนอ ถ้าพระองค์ทรงทราบ ก็ขอพระองค์จงเสด็จมายังประตูเรือนของเราด้วยเถิด”

    แม้พระบรมศาสดาก็ทรงทราบวาระจิตของท่านอุคคเศรษฐี จึงเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาประทับปรากฏ ณ ประตูเรือนของท่านเศรษฐีนั้น ในขณะที่เศรษฐีมีความคิดจบลง

    อุคคเศรษฐี ได้เห็นพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ปรากฏอยู่ประตูเรือนของตนสมเจตนาที่ตนคิด ดวงจิตก็ฟูขึ้นด้วยปีติโสมนัส รีบขะมักเขม่นเดินไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ กราบลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วรับบาตรของพระศาสดากราบทูลอาราธนาให้เสด็จเข้าไปประทับในเรือนของตนพระพุทธองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้เป็นอย่างดี ส่วนภิกษุสงฆ์ที่ติดตามก็นั่ง ณ อาสน์อันสมควรแก่ตน ๆ

    อุคคฤหบดี ได้อังคาสถวายภัตตาหารอันมีรสเลิศต่าง ๆ แด่พระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธองค์ทรงเป็นประมุข ครั้นเสร็จกิจแล้วได้กราบทูลว่า:-

    “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพองค์ได้ฟังมาในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ว่า บุคคลผู้ถวายของที่ชอบใจ ก็ย่อมได้ของที่ชอบใจ”

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดเป็นที่ชอบใจของข้าพระองค์ สิ่งนั้นข้าพระองค์ได้ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขแล้ว พระเจ้าข้า ”

    พระบรมศาสดา ได้สดับกราบทูลของท่านคฤหบดีโดยตลอดแล้ว จึงตรัสธรรมกถาอนุโมทนาทาน กระทำให้ท่านคฤหบดีมีจิตเบิกบานชื่นชมโสมนัสในกุศลทานของตนยิ่งขึ้น

    อนึ่ง พระพุทธองค์ทรงอาศัยเหตุนี้ ต่อมาเมื่อเสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ได้ทรงสถาปนาอุบาสกนามว่า “ อุคคคฤหบดี ” ผู้นั้น ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ให้ของเจริญจิต คือ ผู้ถวายโภชนาที่ชื่นชอบใจ.