พระเวสสันดร
ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องทานของพระเวสสันดร

     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมให้บุตรภรรยาเป็นทานเหมือนกันหมดหรือ หรือให้เฉพาะพระเวสสันดรเท่านั้น ”
     “ ขอถวายพระพร เหมือนกันหมด ไม่เฉพาะแต่พระเวสสันดร ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ให้ทานบุตรและภรรยาเหมือนกันหมด ก็ขอถามว่าให้ด้วยความยินยอมของบุตรภรรยาเหล่านั้นหรือไม่? ”
     “ ขอถวายพระพร สำหรับภรรยานั้นยินยอม แต่ว่าบุตรนั้นยังเป็นทารกอยู่ ก็ร้องไห้เพราะยังไม่รู้จักอะไร ถ้ารู้ความดีแล้วก็ยินดีตาม ไม่ร้องไห้รำพันเช่นนั้น ”

 

คำถามที่กระทำได้ยาก ๗ ข้อ

      พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า

     “ ข้าแต่พระนาคเสน การที่พระโพธิสัตว์ได้ให้บุตรอันเป็นที่รักของตน เพื่อไปเป็นทาสพราหมณ์ เป็นการกระทำได้ยาก ข้อที่ ๑

      การที่พระโพธิสัตว์ได้เห็นพราหมณ์ผูกมัดพระเจ้าลูกทั้งสอง ด้วยเครือไม้แล้วเฆี่ยนตีไป แต่ทรงเฉยอยู่ได้นั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้อที่ ๒

      การที่พระโพธิสัตว์ได้ยกพระเจ้าลูกทั้งสองที่สลัดเครื่องผูกให้หลุดออก แล้ววิ่งกลับไปหาพระองค์อีกนั้น พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้พราหมณ์ ผูกมัดไปด้วยเครือไม้อีก เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้อที่ ๓

      การที่พระโพธิสัตว์ทรงได้ยินเสียงพระเจ้าลูกทั้งสองร่ำร้องไห้ว่า “ พราหมณ์ นี้เป็นยักษ์จะนำหม่อมฉันทั้งสองไปกินเสีย ” ก็ทรงเฉยอยู่ไม่ทรงปลอบโยนว่า “ อย่ากลัวเลยลูกเอ๋ย ” อันนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้อที่ ๔

      การที่พระชาลีกุมาร ได้หมอบกราบลงร้องไห้คร่ำครวญอยู่ที่พระบาทว่า “ ขอให้พระน้องนางกัณหากลับมาอยู่กับพระองค์เถิด หม่อมฉันผู้เดียวจะไปกับยักษ์ ยักษ์จะกินหรืออย่างไรก็ช่าง ” แต่พระเวสสันดรไม่ทรงรับคำอ้อนวอนอันนี้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้อที่ ๕

      เมื่อพระชาลีกุมารร้องไห้คร่ำครวญว่า “ ข้าแต่พระบิดา พระหทัยของพระองค์ช่างแข็งกระด้างแผ่นศิลา เมื่อข้าพระองค์ทั้งสองกำลังได้ทุกข์ พระองค์ยังเพิกเฉยอยู่ได้ พระองค์ไม่ทรงห้ามยักษ์ ที่จักนำหม่อมฉันทั้งสองไปในป่าใหญ่ อันไม่มีมนุษย์นี้เลย ” ดังนี้ พระเวสสันดรก็ไม่ทรงกรุณา อันนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้อที่ ๖

      เมื่อพระเจ้าลูกทั้งสองร้องไห้ด้วยเสียงอันน่าสยดสยอง จนลับคลองพระเนตรไป แต่พระหฤทัยของพระเวสสันดร ซึ่งควรจะแตกออกเป็นร้อยเสี่ยง พันเสี่ยง ก็ไม่แตก ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้อที่ ๗

      พระนาคเสนเฉลยว่า

     “ ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่พระเวสสันดร ได้กระทำสิ่งที่ทำได้ยาก จึงมีเสียงสรรเสริญทั่วหมื่นโลกธาตุ เหล่าเทพเจ้า อสูร ครุฑ นาค พระอินทร์ ยักษ์ ต่างก็สรรเสริญ อยู่ในที่อยู่ของตน ๆ กลองทิพย์ก็บันลือขึ้นเอง จนกระทั่งทุกวันนี้ ยังมีผู้คิดกันอยู่ว่า ทานของพระเวสสันดรนั้น ดีหรือไม่ดี

      กิตติศัพท์อันนั้นย่อมแสดงให้เห็นคุณ ๑๐ ประการของพระโพธิสัตว์ ผู้มีสติปัญญาละเอียด ผู้รู้แจ้งในคุณ ๑๐ ประการนั้น

 

คุณ ๑๐ ประการของพระโพธิสัตว์

      ๑.     ความไม่ติดอยู่ในของรักของชอบใจ
      ๒.     ความไม่อาลัยเกี่ยวข้อง
      ๓.     ความสละ
      ๔     ความปล่อย
      ๕.     ความไม่หวนคิดกลับกลอก
      ๖.     ความละเอียด
      ๗.     ความเป็นใหญ่
      ๘.     ความเป็นของรู้ตามได้ยาก
      ๙.     ความเป็นของได้ยาก
      ๑๐.    ความเป็นของไม่มีใครเสมอ ”

     “ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลเหล่าใด ทำผู้อื่นให้เป็นทุกข์ด้วยการให้ทาน ทานของบุคคลเหล่านั้นจะให้ผลเป็นสุข จะทำให้ไปเกิดในสวรรค์ไดมีอยู่หรือ? ”

     “ มีอยู่มหาบพิตร ”

     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอจงแสดงเหตุการณ์เปรียบเทียบ ”

     “ ขอถวายพระพร ถ้ามีสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีศีลธรรมอันดี เป็นโรคมีร่างกายตายไปแถบหนึ่ง หรือเป็นโรคง่อยเปลี้ยหรือหรือเป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่งเดินไม่ได้ มีผู้อยากได้บุญคนใดคนหนึ่ง ยกสมณพราหมณ์นั้นขึ้นสู่ยานพาหนะ นำไปส่งให้ถึงที่ประสงค์ บุคคลผู้นั้นจะได้ผลเป็นสุข ได้ไปบังเกิดในสวรรค์หรือไม่? ”

     “ ได้ไปเกิดทีเดียว พระผู้เป็นเจ้า อย่าว่าแต่ยานทิพย์เลย ถึงผู้นั้นจะเกิดในที่ใด ก็จะได้ยานพาหนะสมควรแก่ที่นั้น ๆ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้ยานช้าง ยานม้า ยานรถ ยานทางบก ยานทางน้ำ เมื่อเกิดในสวรรค์ก็จะได้ยานทิพย์ ความสุขจักต้องเกิดแก่เขาตามสมควรแก่ชาติกำเนิด ชาติสุดท้ายเขาก็จักได้ขึ้นยานฤทธิ์ ไปถึงเมืองพระนิพพานเป็นแน่ ”

     “ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นทานที่ให้ด้วยทำให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นก็มีผลเป็นสุข ทำให้เกิดในสวรรค์ได้ พระเวสสันดรทำให้พระเจ้าลูกทั้งสองต้องเป็นทุกข์ ด้วยการผูกมัดด้วยเถาวัลย์ ก็จะได้สุขเหมือนอย่างนั้น

      แต่ขอมหาบพิตรจงทรงสดับเหตุให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก เพื่อให้เห็นว่าการให้ทานด้วย การทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ก็มีผลเป็นสุข ทำให้เกิดในสวรรค์ได้ คือ

      พระราชาที่เก็บพลีกรรม ( ส่วย ) โดยชอบธรรม มาทรงบริจาคทานตามอำนาจนั้นมีอยู่ พระราชานั้นจะได้ความสุข อันเกิดจากการทรงให้ทานนั้นบ้างหรือ ทานนั้นจักทำให้ไปเกิดในสวรรค์ได้หรือไม่? ”

      “ได้ พระผู้เป็นเจ้า พระราชานั้นจักต้องได้ รับผลแห่งทานนั้นหลายแสนเท่า จักได้เกิดเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา จักได้เกิดเป็นเทวดายิ่งกว่าพระราชา จักได้เกิดเป็นเทวดายิ่งกว่าเทวดา เกิดเป็นพรหมยิ่งกว่าพรหม เกิดเป็นพราหมณ์ยิ่งกว่าพราหมณ์ เกิดเป็นพระอรหันต์ยิ่งกว่าพระอรหันต์เป็นแน่ ”

      “ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นทานที่ให้ด้วยการทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ ก็ต้องมีผลเป็นสุขต้องให้เกิดในสวรรค์ได้ เพราะพระราชาทรงบีบคั้นประชาชนมาให้ทาน ยังได้เสวยยศและสุขอย่างนั้นได้ ”