พระเวสสันดร
ทาน ๑๐ อย่างที่ไม่ควรให้

      ๑.     หญิงให้เมถุนธรรมเป็นทาน
      ๒.     ปล่อยโคตัวผู้เข้าไปในฝูงแม่โคเพื่อเมถุนธรรม
      ๓.     ให้น้ำเมา คือสุราเมรัยเป็นทาน
      ๔.     ให้รูปเขียน อันประกอบด้วยเมถุนธรรมเป็นทาน
      ๕.     ให้ศาตราวุธเป็นทาน
      ๖.     ให้ยาพิษเป็นทาน
      ๗.     ให้โซ่ตรวน ขื่อคา เป็นทาน
      ๘.     ให้ไก่เพื่อให้เขาไปฆ่า
      ๙.     ให้สุกรเพื่อให้เขาไปฆ่า
      ๑๐.   ให้ทานเครื่องตวง ตาชั่ง ทะนาน เพื่อใช้โกง

     เหล่านี้ บัณฑิตไม่สรรเสริญ ทำให้ผู้ให้ให้แล้วไปสู่อบายนะ พระผู้เป็นเจ้า ”

     “ ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่ได้ถามถึงสิ่งที่ไม่ควรให้ทาน ถามถึงสิ่งที่ควรให้ทาน แต่เมื่อทักขิไณยบุคคล (ผู้ควรรับประทาน ) ยังไม่เกิดก็ยังไม่ควรให้ ว่าทานอย่างนั้นมีอยู่หรือดังนี้ต่างหาก ”

     “อ๋อ...ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า เพราะเมื่อจิตเลื่อมใสเกิดขึ้นแล้ว คนบางพวกก็ให้ทานโภชนะแก่ทักขิไณยบุคคล บางพวกก็ให้ทานเครื่องนุ่งห่มก็มี ให้ทานที่นอนก็มี ให้ทานที่อยู่อาศัยก็มี ให้ทานเครื่องปูก็มี ให้ทานเครื่องนุ่งห่มก็มี ให้ทานทาสีและทาสก็มี ให้ทานเรือกสวนไร่นาที่ดินก็มี ให้ทานสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้าก็มี ให้ทานทรัพย์ตั้งร้อยตั้งพันก็มี ให้ทานราชสมบัติใหญ่ก็มี ให้ทานชีวิตก็มี ”

     “ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าในโลกนี้ผู้อื่นยังให้ทานชีวิตได้ เหตุใดจึงมีผู้ติเตียนพระเวสสันดร ผู้เป็นทานบดีอย่างร้ายแรง เพราะเหตุพระราชทานพระราชทานพระราชโอรส ธิดาอัครมเหสี

      อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าตามปกติโลกแล้ว บิดาให้บุตรเป็นค่าใช้หนี้ หรือเป็นค่าเลี้ยงชีพ หรือขายไป เพื่อเหตุใดเหตุหนึ่งก็ได้ไม่ใช่หรือ?”

     “ ได้ พระผู้เป็นเจ้า ”

     “ถ้าได้ พระเวสสันดรเมื่อยังไม่สำเสร็จพระสัพพัญญุตญาณก็เป็นทุกข์ เพื่อต้องการพระสัมพัญญุตญาณนั้น จึงได้ให้โอรส ธิดา อัครมเหสี เป็นทาน แต่เหตุใดมหาบพิตร จึงทรงติเตียนพระเวสสันดรอย่างร้ายแรงล่ะ? ”

     “ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้ติเตียนทานของพระเวสสันดรเลย เป็นแต่ติเตียนการที่พระเวสสันดร ได้ให้ทานโอรสธิดากับอัครมเหสีเท่านั้น เพราะเมื่อว่าตามที่ถูกแล้วเวลายาจกมาทูลขอโอรส ธิดา อัครมเหสี พระเวสสันดรควรพระราชทานตัวของพระองค์เอง จึงสมควร ”

     “ขอถวายพระพร ข้อนั้นไม่ใช่การกระทำของสัตบุรุษ คือเมื่อเขาขอบุตรภรรยา จะให้ตัวเองนั้นไม่ถูก เมื่อเขาขอสิ่งใด ๆ ก็ควรให้สิ่งนั้น ๆ อันนี้เป็นการกระทำของสัตบุรุษทั้งหลาย

      ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ามีบุรุษคนหนึ่งมาขอน้ำ ผู้ใดให้ข้าวแก่บุรุษนั้นจะเรียกว่าผู้นั้นเป็นกิจจการี คือผู้กระทำตามหน้าที่แล้วหรือ? ”

     “ไม่เรียก พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเขาขอสิ่งใดก็ให้สิ่งนั้น จึงเรียกว่ากระทำถูก ”

     “ข้อนี้ก็เหมือนฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือเมื่อพราหมณ์ทูลขอโอรส ธิดา อัครมเหสี พระเวสสันดรผู้เป็นทานบดี ก็ไม่พระราชทานตัวของพระองค์เอง ได้พระราชทานโอรสธิดาอัครมเหสีไปแก่พราหมณ์นั้น ถ้าพราหมณ์นั้นขอพระสรีระทั้งสิ้นของพระเวสสันดร พระบาทท้าวเธอไม่ห่วงใยเสียดายพระองค์ ต้องทรงบริจาคพระองค์ไปแล้ว

      ถ้านักเลงสะกา หรือสุนัขบ้าน สุนัขป่าเข้าไปทูลขอพระเวสสันดรว่า ขอจงให้พระองค์ยอมเป็นทาสของข้าพระองค์ พระเวสสันดรก็จะทรงยินยอมทีเดียว ทั้งที่ไม่ทรงเดือดร้อนเสียใจภายหลัง เพราะว่าพระวรกายของพระเวสสันดรเป็นของทั่วไปแก่คนหมู่มาก

      เหมือนกับต้นไม้มีผล อันเป็นของทั่วไป แก่หมู่นกต่างๆ ฉะนั้น ด้วยพระเวสสันดรทรงเห็นว่า เมื่อเราปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ

      อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ไม่มีทรัพย์ ผู้ต้องการทรัพย์ ย่อมเที่ยวแสวงทรัพย์ ย่อมเที่ยวหาไปตามทางดงทางเกวียน ทางน้ำ ทางบก เพื่อให้ได้ทรัพย์ฉันใด พระเวสสันดรผู้ไม่มีทรัพย์คือพระสัพพัญญุตญาณ ก็ได้แสวงหาพระสัพพัญญุตญาณ ด้วยการพระราชทานทรัพย์และธิญชาติ ยาน พาหนะ ทาสี ทามา ทรัพย์ สมบัติ บุตร ภรรยา ตลอดถึงหนัง เลือดเนื้อ หัวใจ ชีวิตของพระองค์ฉันนั้น

      อีกประการหนึ่ง อำมาตย์ผู้ต้องการความเจริญ ต้องการเป็นใหญ่เป็นโต คือต้องการเป็นพระราชา ย่อมสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ทั้งสิ้นของตนแก่คนอื่นๆ ฉันใดพระเวสสันดรก็ทรงสละสิ่งของภายนอกตลอดจนถึงชีวิตแก่ผู้อื่น เพื่อให้ได้พระสัมมาสัมโพธิญาณฉันนั้น

      ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง พระเวสสันดรทานบดีทรงดำริว่า พราหมณ์ขอสิ่งใดเราควรให้สิ่งนั้น จึงจะเรียกว่าเราทำถูก ทรงดำริอย่างนี้จึงได้พระราชทานโอรส ธิดา อัครมเหสี

      การที่พระองค์พระราชทานโอรส ธิดาอัครมเหสี ให้แก่พราหมณ์นั้น ไม่ใช่เพราะความเกลียดชัง หรือเห็นว่ามีอยู่มาก หรือเพราะไม่อาจเลี้ยงได้ หรือเพราะรำคาญ ได้พระราชทานไปเพราะทรงมุ่งหวังพระสัพพัญญุตญาณต่างหาก ทรงรักพระสัพพัญญุตญาณมากกว่า

      ข้อนี้สมกับที่ตรัสไว้ใน จริยาปิฎก ว่า “ ไม่ใช่ว่าลูกทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเราไม่ใช่มัทรีไม่เป็นที่รักของเรา พระสัพพัญญตญาณเป็นที่รักของเรา เราจึงได้ให้ทานบุตรธิดาภรรยา อันเป็นที่รักของเรา ”

      ขอถวายพระพร ครั้งพระเวสสันดร พระราชทานโอรสธิดาไปแล้ว ก็ได้เสด็จเข้าไปภายในบรรณศาลา ทรงกรรณแสงด้วยความรักยิ่ง ดวงหทัยได้ร้อนขึ้น เมื่อพระนาสิกไม่พอหายใจก็ได้ปล่อยลมหายใจร้อย ๆ ออกมาทางพระโอษฐ์ มีน้ำพระเนตรเจือด้วยพระโลหิต ไหลนองเต็มสองพระเนตร

      เป็นอันว่า พระเวสสันดร ทรงรักพระราชโอรสธิดาอย่างยิ่ง แต่ได้ทรงอดกลั้นความโศกไว้ได้ ด้วยทรงดำหริว่า อย่าให้ทานของเราเสียไปเลย