อานุภาพกสิณ 10

      กสิณ 10 ประการนี้ เป็นปัจจัยให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติกสิณกองใดกองหนึ่งสำเร็จถึงจตุตถฌานแล้ว ก็ควรฝึกให้ชำนาญในกสิณนั้น ๆ ถ้าปฏิบัติถึงฌาน 4 แล้ว แต่มิได้ฝึกอธิษฐานต่าง ๆ ตามแบบ ท่านว่าผู้นั้นยังไม่จัดว่าเป็นผู้เข้าถึงกสิณ อำนาจฤทธิ์ในกสิณต่าง ๆ มีดังนี้

  • ปฐวีกสิณ มีฤทธิ์ เช่น นิรมิตคน ๆ เดียวให้เป็นคนมากได้ ให้คนมากเป็นคน ๆ เดียวได้ ทำน้ำและอากาศให้แข็งได้
  • อาโปกสิณ สามารถนิรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่นอธิษฐานสถานที่เป็นดินหรือหินที่กันดารน้ำให้เกิดบ่อน้ำ อธิษฐานหินดินเหล็กให้อ่อน อธิษฐานในสถานมีฝนแล้งให้เกิดฝนอย่างนี้เป็นต้น
  • เตโชกสิณ อธิษฐานให้เกิดเป็นเพลิงเผาผลาญ หรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำให้แสงสว่างเกิดแก่จักษุญาณสามารถเห็นภาพต่าง ๆ ในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ ทำให้เกิดความร้อนในทุกที่ทุกสถานได้
  • วาโยกสิณ อธิษฐานจิตในตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็ได้ สถานที่ใดไม่มีลม อธิษฐานให้มีลมได้
  • นีลกสิณ สามารถทำให้เกิดสีเขียว หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครื้มได้
  • ปีโตกสิณ สามารถนิรมิตสีเหลืองหรือสีทองให้เกิดได้
  • โลหิตกสิณ สามารถนิรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์
  • โอทาตกสิณ สามารถนิรมิตสีขาวให้ปรากฎ และทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐานที่อำนวยประโยชน์ในทิพยจักษุญาณ เช่นเดียวกับเตโชกสิณ
  • อาโลกกสิณ นิรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้สว่างได้ เป็นกรรมฐานสร้างทิพยจักษุญาณโดยตรง
  • อากาสกสิณ สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ได้ เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้ง สถานที่ใดอับด้วยอากาศ ก็สามารถอธิษฐานให้เกิดความโปร่งมีอากาศเพียงพอแก่ความต้องการได้

วิธีอธิษฐานฤทธิ์

      วิธีอธิษฐานจิตให้เกิดผลตามฤทธิ์ที่ต้องการ ท่านให้เข้าฌาน 4 ก่อน แล้วออกจากฌาน 4 แล้วอธิษฐานในสิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น แล้วกลับเข้าฌาน 4 อีก ออกจากฌาน 4 แล้วอธิษฐานจิตทับลงไปอีกครั้ง สิ่งที่ต้องการจะปรากฎสมความปรารถนา

แนะกสิณร่วมวิปัสสนาญาณ

      ท่านผู้ฝึกกสิณ ถ้าต้องการให้ได้อภิญญา 6 ก็เจริญไปจนกว่าจะชำนาญทั้ง 10 กอง ถ้าท่านประสงค์ให้ได้รับผลพิเศษเพียงวิชชาสาม ก็เจริญเฉพาะอาโลกกสิณ หรือเตโชกสิณ หรือโอทาตกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฝึกทิพยจักษุญาณ แต่ท่านที่ประสงค์จะเข้าสู่พระนิพพานเร็ว ๆ ไม่มีความประสงค์จะได้ญาณพิเศษเพราะเกรงจะล่าช้า ก็ขอให้พิจารณาดังนี้

เข้าฌานออกฌานพิจารณาขันธ์ 5

      ท่านควรจะให้ถึงฌาน 4 หรือฌาน 5 เมื่อได้แล้วก่อนจะพิจารณาวิปัสสนาญาณ ท่านต้องเข้าฌานให้ถึงที่สุดจนอารมณ์จิตเป็นอุเบกขาเงียบสงัดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ มีอารมณ์ผ่องใสในกุศลธรรมแล้ว ออกจากฌาน 4 หรือฌาน 5 พิจารณาขันธ์ตามแบบวิปัสสนารวมดังนี้

      พิจารณาว่า ขันธ์ 5 คือ

  • รูป ได้แก่ สภาพที่เห็นได้ด้วยตา
  • เวทนา ความรับอารมณ์ที่เป็นสุขและทุกข์ อารมณ์สุข เรียกว่า สุขเวทนา อารมณ์ทุกข์ เรียกว่า ทุกขเวทนา อารมณ์ว่างเฉย ๆ ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ เรียกว่า อุเบกขา
  • สัญญา แปลว่า ความจำ
  • สังขาร หมายถึงอารมณ์ที่เป็นบุญ คืออารมณ์ผ่องใส ที่เต็มไปด้วยความเมตตาปรานี อารมณ์ที่เป็นบาป คืออารมณ์ขุ่นมัว คิดประทุษร้ายที่เกิดขึ้นแก่ สังขาร
  • วิญญาณ แปลว่า ความรับรู้ เช่น รู้ร้อน หนาว หิว กระหาย เปรี้ยว เค็ม เป็นต้น

      อาการทั้ง 5 นี้ เรียกว่า ขันธ์ 5 ซึ่งมีปรากฎประจำร่างกายมนุษย์และสัตว์ ท่านให้พิจารณาว่า ขันธ์ 5 นี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา เพราะไม่มีความยั่งยืน มีเกิดขึ้นแล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดก็สลายตัวไป มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของมัน ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมดาที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้ การเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทั้งทางกายและใจ ใจมีทุกข์เพราะไม่ประสงค์ให้ขันธ์ 5 เสื่อมโทรม กายเป็นทุกข์เพราะได้รับการบีดคั้นจากโรคภัยไข้เจ็บ การแสวงหาอาหารมาหล่อเลี้ยง ความไม่แน่นอนของในสภาพของขันธ์ 5 นี้ รูปนิมิตกสิณก็เ่ช่นกัน ขณะนี้รูปกสิณตั้งอยู่ ความผ่องใสมีอยู่ แต่ในบางครั้งรูปกสิณก็เศร้าหมอง และรูปกสิณนี้ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ตลอดไป ปรากฎขึ้นไม่นานก็สลายตัวไป เอาอะไรเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย ปลงไปพิจารณาไป ให้เห็นเหตุเห็นผล ถ้าปลงไปจิตจะซ่าน ก็เข้าฌานในกสิณใหม่ พอใจเป็นอุเบกขาดีแล้ว ก็คลายฌานพิจารณาใหม่ ทำอย่างนี้ ไม่ช้าก็จะเกิดนิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่ายในสังขาร แล้วจะปลงความห่วงใยในสังขารเสียได้ มีอารมณ์วางเฉยเมื่อทุกข์เกิดขึ้นแก่สังขาร ท่านเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ คือวางเฉยในสังขารด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ จากนั้นจิตจะเข้าโคตรภูญาณเป็นจิตอยู่ในระหว่างปุถุชนกับพระโสดาบัน หลังจากนั้นถ้าท่านไม่ประมาท พิจารณาสังขารตามที่กล่าวแล้ว โดยเข้าฌานให้มาก ออกจากฌานพิจารณาสังขารเป็นปกติ จิตจะตั้งมั่น ชำแรกกิเลสให้เด็ดขาดไปได้ โดยกำจัดสังโยชน์สามเบื้องต้นสามประการได้ อันเป็นขั้นพระโสดาบันพึงกำจัดได้ คือ

  • สักกายทิฏฐิ คือ ตัดในที่เห็นว่า ร่างกายขันธ์ 5 เป็นของเรา เรามีในขันธ์ 5 นี้ออกเสีย
  • วิจิกิจฉา ละความสงสัยในมรรคผลเสียได้ โดยมีสัทธาเกิดขึ้น
  • สีลัพพตปรามาส ถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด

องค์พระโสดาบัน

      คู่มือในการพิจารณาตัวเอง ขององค์พระโสดาบัน คือ

  1. รักษาศีล 5 เป็นปกติ ไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยตลอดชีวิต
  2. เคารพพระรัตนตรัยอย่างเคร่งครัด แม้จะพูดเล่น ๆ ก็ไม่พูด
  3. มีอารมณ์รักใคร่ในพระนิพพานเป็นปกติ ไม่มีความปรารถนาอื่นนอกจากพระนิพพาน

      พระโสดาบันตามปกติมีอารมณ์ดังที่กล่าวนี้ อาการนี้จะเป็นความรู้สึกธรรมดาไม่หนัก แต่ถ้าอารมณ์ใดในตอนในยังมีความหนักอยู่บ้าง ก็อย่าคิดว่าท่านเป็นพระโสดาบัน จะเป็นผลร้ายกับท่านได้ ต้องได้จริงถึงจริง แม้ได้แล้วก็ควรก้าวต่อไป เพราะมรรคเบื้องสูงยังมีต่อไปอีก

กลับหน้า 1