อิริยาบถของนักปฏิบััติ

       อิริยาบถที่ว่านี้ เป็นวิธีปฏิบัติในอิริยาบถ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านว่าได้ ทั้ง 4 อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน

การนั่ง

       การนั่งนี้ท่านไม่จำกัด นั่งได้ตามสบาย ชอบขัดสมาธิหรือพับเพียบ หรือท่าใดท่าหนึ่งที่พอเห็นว่า เหมาะสม พอสบาย ทำได้ แต่ตามแบบที่พูดเป็นกลาง ๆ ไว้ว่า เข้าสู่ที่สงัด นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น การตั้งกายให้ตรงนั้น สังเกตดูด้วยการทดลองสูดลมหายใจเข้าออก เอาพอหายใจสบาย ๆ ถ้าคนหลังงอหลังโกง บังคับให้ตรงเป๋งย่อมไม่ได้ ต้องให้เหยียดพอดีเท่าที่จะเหยียดได้

นอน

       ท่านว่าควรนอนตะแคงขวา แบบสีหไสยาสน์ แต่ถ้านอนไม่ได้เพราะเหตุใดก็ตาม จะนอนท่าใดก็ได้ ตามแต่ที่จะเห็นว่าสบาย

ยืน

       การยืนไม่มีหลายท่า เอากันแค่ยืนได้ ก็แค่ยืนกันแบบสบาย ๆ

การเดิน

       การเดินนี้มีความสำคัญมาก เดินนี้ท่านเรียกว่า "จงกรม" ท่านสอนให้เดินหลายอย่าง

  1. เดินนับก้าว ที่เท้าก้าวไป
  2. เดินกำหนดรู้การก้าวไปและถอยกลับ รู้พร้อมทั้งการแกว่งแขนและยกขาว่า ก้าวเท้าซ้ายหรือเท้าขวา แกว่งแขนซ้ายหรือแขนขวา ก้าวไปข้างหน้า หรือข้างหลัง เป็นต้น
  3. เดินกำหนดอารมณ์สมาธิ คือกำหนดนิมิตสมาธิตามอารมณ์กรรมฐานที่เจริญอยู่ โดยเดินไปตามปกติธรรมดา

       การเดินปฏิบัติ ท่านเรียกว่า เดินจงกรม คือเดินควบคุมสติให้รู้ว่า ก้าวไปหรือถอยกลับ ใหม่ ๆ ท่านให้ฝึกนับก้าว ว่าเดินไปได้กี่ก้าวจึงถึงที่หมาย ต่อมาให้กำหนดรู้ว่า เราเดินด้วยเท้าซ้ายหรือเท้าขวาให้กำหนดรู้ไว้ เพื่อรักษาสมาธิ ต่อไปก็เดินกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ถ้าเป็นกรรมฐานที่มีรูป ก็กำหนดรูปกรรมฐานไปพร้อมกัน กรรมฐานกองใด ได้สมาธิในขณะเดิน กรรมฐานกองนั้นสมาธิไม่มีเสื่อม

       วิธีเดิน ตอนแรก ๆ ควรเดินช้า ๆ เพราะจิตยังไม่ชิน ต่อเมื่อชินแล้ว ให้เดินตามปกติแล้วกำหนดรู้ไปด้วย เมื่อใดถ้าเดินเป็นปกติ รู้การก้าวไปและถอยกลับได้จิตไม่เคลื่อน และรักษาอารมณ์สมาธิ หรือนิมิตกรรมฐานได้เป็นปกติ ทั้งเดินในที่ฝึก หรือเดินในธุรกิจ ก็ชื่อว่าท่านเป็นนักปฏิบัติที่เข้าระดับแล้ว

บังคับหยุด

       การเดินควรฝึกทั้งหลับตาและลืมตา ตอนแรก ๆ ฝึกลืมตา พอชำนาญเข้าให้ฝึกหลับตา แล้วกำหนดที่หยุดโดยกำหนดใจไว้ว่า ถึงตรงนั้นจงหยุด หรือบังคับการแยกทางว่า ถึงตรงนั้นจงแยกทาง หรือขณะเดินอยู่นั้นอธิษฐานให้กายเดินย้อนไปย้อนมาตามแนวเส้นทางให้ถูกต้อง ส่วนจิตถอดท่องเที่ยวไปในภพต่าง ๆ บังคับให้กายเดินให้ตรงทางที่มีส่วนตรงและโค้ง เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามเส้นทาง หรือบังคับให้หยุดตรงที่กำหนด ให้หยุดกี่นาที แล้วเดินต่อไปตามกำหนดอย่างนี้ เป็นวิธีเดินจงกรมฝึกกรรมฐาน การเดินควรฝึกให้ถึงขั้นปกติ

อานิสงส์เดินจงกรม

       การเดินจงกรมเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ให้เส้นสายยึดจนกลายเป็นคนง่อยเปลี้ย และยังทำให้ท้องไม่ผูกอีกด้วย