พระอานนท์เถระครองบาตรและจีวรด้วยลีลาอันแช่มช้อย เดินออกจาก ป่าประดู่ลายอันเงียบสงัดมาสู่บ้านเรือนชาวนิคม พระเถระเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของชาวนครแห่งนี้ดี จึงมีชาวนิคมมาดักรอใส่บาตรเป็นระยะๆ เมื่อพระเถระได้อาหารมาพอสมควรแล้ว ก็หาที่อันสงบนั่งทำภัตตกิจ

  แสงอรุโณทัยยามนี้เริ่มทอแสงเจิดจ้าขึ้นแล้ว สาดส่องต้องปราสาทอันงดงามประดับประดาด้วยโลหะอันมีค่า นั่นคือที่ประทับของพระเจ้าอุเทนราช พระราชาแห่งนครโกสัมพีอันมั่งคั่งแห่งนี้ พระอานนท์ทอดสายตาไปตามท้องทุ่งอันกว้างใหญ่นอกนคร แลเห็นภาพชายชราชาวนาคนหนึ่งกำลังรับประทานอาหารเช้าที่มีเพียงผักดองกับข้าวแดงก้อนหนึ่ง แล้วรีบออกไปทำงานในท้องทุ่ง ดูไปแล้วในโลกนี้ คงไม่มีอาชีพใดที่จะลำบากเท่าชาวนาปลูกข้าวอีกแล้วกระมัง

  ในเวลาเดียวกันนี้ พระเจ้าอุเทนราช ขณะนี้ก็ทรงตื่นบรรทมขึ้น และมีอาหารอันโอชาเลิศหรูจัดเตรียมรอไว้แล้วอย่างมากมายจนเหลือเฟือ ความจริงมนุษย์เราบริโภคอาหารเพื่อยังอัตตภาพร่างกายนี้ให้ดำรงอยู่และเพื่อบำบัดทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะความหิวเท่านั้น อาหารส่วนที่เกินมาหาได้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายไม่ ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาโรคภัยต่างๆมากมายที่มาจากอาหารส่วนเกินที่เราพากันสะสมไว้ในร่างกาย อีกทั้งการประกอบอาหารแต่ละครั้งก็ต้องสูญเสียเวลาไปไม่ใช่น้อย พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้ภิกษุฉันเพียงมื้อเดียวเท่านั้น ก็เพราะไม่ต้องการให้สะสมอาหารส่วนเกินที่ไม่จำเป็นไว้ในร่างกาย และไม่ต้องเสียเวลาไปกับการแสวงหา และบริโภคส่วนเกินโดยเปล่าประโยชน์ด้วยนั่นเอง

  ข่าวพระอานนท์เถระเดินทางมาถึงนครโกสัมพีนี้ก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว จนถึงพระเจ้าอุเทนราช พระองค์ทรงปลาบปลื้มดีพระทัยอย่างยิ่ง ถึงกับรีบเสด็จออกมานอกนครเพื่อมาเฝ้าพระอานนท์ ขบวนพยุหยาตราอันประดับประดาด้วนเครื่องกษัตริย์ขัตติยราชก็เคลื่อนขบวนออกมุ่งหน้ามายังป่าประดู่ลายแห่งนั้น พระอานนท์มองเห็นริ้วขบวนกษัตริย์ที่มีพระเจ้าอุเทนที่ครั้งหนึ่งเคยมีรูปงามสง่าผมดกดำ แต่บัดนี้กาลเวลาผ่านไป ไม่มีมนุษย์ผู้ใดเอาชนะความชราได้ ความแก่ เจ็บ ตาย ย่อมอยู่เหนืออำนาจของมนุษย์แม้แต่จะเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่ ก็ยังต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความแก่ เจ็บ ตาย เฉกเช่นเดียวกับผู้ไม่มีอำนาจอันใดเลยอย่างชาวนาธรรมดาๆคนหนึ่งนั่นเอง พระเจ้าอุเทนซึ่งบัดนี้พระเกศาหงอกเป็นสีขาวแล้ว เสด็จลงจากราชรถแล้วเดินด้วยพระบาทมาแต่ลำพัง เพราะเหตุแห่งพระมเหสีซ้ายขวาทั้งสองพระองค์คือ พระนางมาคัณฑิยา และพระนางสามาวดีได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนนานแล้ว

  ความตายและความพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนแก่มหาชนทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์ ก็เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันความจริงข้อนี้ เมื่อได้ยอมรับความเป็นจริงข้อนี้แล้วย่อมทำใจได้ และไม่เกิดความเศร้าโศกยามเมื่อยามต้องเผชิญหน้ากับความพลัดพรากที่มาเยือน

  ในสมัยหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ในนครโกสันพีแห่งนี้ พระนางมาคัณฑิยามเหสีได้ว่าจ้างบุรุษและสตรีด้วยทรัพย์เป็นจำนวนมาก เพื่อให้เดินตามพระพุทธองค์ แล้วด่าทอด้วยวาจาอันไม่เหมาะสมประการต่างๆทุกๆวัน จนพระอานนท์เถระทนนิ่งเฉยไม่ได้ ได้กราบทูลให้พระพุทธองค์หลีกออกจากนครโกสัมพีนี้เสีย แต่พระองค์ทรงตรัสว่า “ ดูก่อนอานนท์ คำนินทาว่าร้ายเหล่านี้จักมีอยู่เพียง ๗ วันเท่านั้น แล้วก็จะหายไป ” .....

  อันธรรมดาในโลกย่อมถูกครอบงำด้วยโลกธรรม ๘ ประการคือ มีทุกข์ มีสุข มีลาภ มีเสื่อมลาภ มียศ มีเสื่อมยศ มีสรรเสริญ และมีนินทา ผู้ที่ไม่หวั่นไหวไปตามโลกธรรม ๘ ย่อมอยู่เป็นสุข และเป็นมงคลอันสูงยิ่ง ....

  ปะริชิณณะมิทัง รูปัง ........ โรคะนิทธัง ปะภังคุณัง

  ภิชชะติ ปูติ สันเทโห ....... มะระณันตัง หิ ชีวิตัง

  

ธรรมบท ชราวรรค

  รูปชายหญิงทั่วท้่อง .... ธาตรี

  เป็นภักษ์แ่ก่เดือนปี ............ สุดสิ้น

  อัฐิถมทั่วปฐพี ................... รายเรี่ย

  ประเทศเท่าปีกริ้น .............. ร่างพ้นฤามี ฯ

  

สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร

  

  ถอดความ... สังขารของคนในโลกนี้ เปรียบเสมือนเป็นอาหารของกาลเวลา คือต้องแก่ เจ็บ ตาย

  ในผืนแผ่นดินที่เราเดิน ยืน นั่ง นอน อยู่ขณะนี้ เต็มไปด้วยซากศพและกระดูกที่ทับถมกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าเต็มไปหมด จะหาที่ว่างแม้เท่าปีกของตัวริ้นก็หามิได้เลย

  ชาติ เกิดรูปพร้อม .... อาการ

  ชรา ร่างสาธารณ์ .............. เหี่ยวแห้ง

  พยาธิ บันดาล ................. ต่างต่าง

  มรณะ กาแร้ง .................. แย่งยื้อกันกิน

  สงสารจักรสี่นี้ ......... เวียนวัย

  เกิดแต่โรคบรรลัย ............ ห่อนสิ้น

  เพราะเหตุบ่ตรองไตร-........ ลักณะ ธรรมแฮ

  พึงวิจารณ์ประขิ้น ............. คิดเค้าเปล่าสูญ ฯ

  

ของโบราณ

  

  ถอดความ... การเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นกฎธรรมดาแห่งวัฏฏะสงสาร ไม่มีใครสามารถหลีกพ้นได้ หากแต่การพิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้ง ๓ ประการนี้ ผู้ที่พึงพิจารณาอาจหลีกพ้นห้วงแห่งจตุจักร เวียน ว่าย ตาย เกิด เหล่านี้ไปได้ ฯ

  

เอวํ ก็มีด้วยประการะฉะนี้