กายานคร

  

พุทธัง ชีวิตตัง ยาวะนิพพานัง สะระณังคัจฉามิ

  ธัมมัง ชีวิตตัง ยาวะนิพพานัง สะระณังคัจฉามิ

  สังฆัง ชีวิตตัง ยาวะนิพพานัง สะระณังคัจฉามิ

 

 

  ในตำนานโบราณกาลนานมา ยังมี นครอันรุ่งเรืองนครหนึ่งมีนามว่า “ กายานคร” พระราชาผู้ซึ่งครองนครแห่งนี้มีนามว่า “ พระเจ้าอวิชชา” และพระมเหสีชื่อ “ พระนางโมหา” อยู่ต่อมาไม่นานก็มีพระราชธิดาด้วยกัน ๓ พระองค์ มีนามว่า พระนางตัณหา พระนางราคะ และ พระนางอรตี พระราชธิดาทั้ง ๓ เจริญวัยขึ้นก็ยิ่งมีรูปโฉมงดงามยิ่งนัก และยังมีความฉลาดในเล่ห์กลอุบาย ๑๐๘ มายา ๑๐๐๙ มากมายหาที่สิ้นสุดมิได้

  พระราชธิดาทั้ง ๓ พระองค์นี้ชอบการละเล่นอย่างหนึ่งมาก คือมักจะออกไปที่ตลาดชุมชนนอกวัง แล้วเล่นทายปัญหา โดยมีเดิมพันว่าใครตอบปัญหาได้ นางก็จะยอมตกเป็นภรรยาของคนผู้นั้น แต่ถ้าตอบไม่ได้คนนั้นก็ต้องตกเป็นนักโทษคอยรับใช้นาง พระราชธิดาทั้ง ๓ มักมาเล่นทายปัญหานี้อยู่เป็นประจำ และไม่เคยพ่ายแพ้แก่ผู้ใดเลย

  ห่างออกไปจาก กายานคร นี้ยังมีพระราชาอีกองค์หนึ่ง มีนามว่า “ พระเจ้าเวทนา” ซึ่งมีความเกี่ยวพันธ์เป็นเครือญาติกัน คือ พระเจ้าเวทนานี้เป็นน้องของพระเจ้าอวิชชา พระเจ้าเวทนามีโอรสองค์หนึ่งมีพระนามว่า เจ้าชายจิตตราช บัดนี้เติบใหญ่ห้าวหาญ เรียนจบศิลปะศาสตร์ ทั้งพิชัยสงครามก็ชำนาญ ทรงรักการขี่ม้าอย่างยิ่ง

  วันหนึ่งจึงขออนุญาตพระราชบิดาขี่ม้าออกไปเที่ยวในป่านอกเมือง และในระหว่างที่ท่องเที่ยวอยู่นั้น บังเอิญเกิดพายุใหญ่มืดครึ้ม ฝนตกหนักอยู่หลายวัน ทำให้เจ้าชายจิตตราชหลงทางอยู่ในป่า จนกระทั่งพลัดมาถึง กายานครแห่งนี้

  วันนั้นเป็นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสหลังจากผ่านพายุฝนมาหลายวัน พระราชธิดาทั้ง ๓ องค์มิได้ออกมาเล่นทายปัญหาหลายวันเนื่องจากฝนตก จึงหงุดหงิดวันนี้จึงรีบเสด็จออกมาเล่นทายปัญหาแต่เช้า เจ้าชายจิตตราชได้เห็นพระราชธิดาทั้ง ๓ ก็ตกตลึงลุ่มหลงในความงามอันเย้ายวน เกิดปฏิพัทธ์อยากได้มาเป็นชายา จึงออกไปกลางสนามเพื่อขอตอบปัญหา โดยเริ่มจากนางตัณหาก่อน

  

ปัญหาของนางตัณหา

  

  อันธรรมดาอาหารทั้งหลายไม่ว่าจะมีรสอร่อยปานใด มนุษย์และสัตว์เมื่อทานอิ่มท้องแล้วก็ไม่สามรถทานต่อไปได้อีก แต่มีอาหารอยู่อย่างหนึ่งที่มนุษย์และสัตว์ทานเท่าไรก็หาอิ่มไม่ ยิ่งได้ทานมากเท่าไรก็ยิ่งหิวโหยหามากขึ้นเท่านั้น อยากทราบว่าอาหารนั้นคืออะไร

  เจ้าชายจิตตราช ขบคิดเท่าไรก็หาคำตอบไม่ได้ แม้ว่าจะได้ร่ำเรียนศิลปะศาสตร์นานา มาเจนจบแล้วก็ตาม จึงยอมจำนนต่อปัญหา ตกเป็นนักโทษของนางตัณหา แต่ก็ขอตอบปัญหาของนางราคะบ้าง โดยหวังว่า ถ้าตอบได้ ก็จะประกันตัวออกจากการเป็นนักโทษได้

  

ปัญหาของนางราคะ

  

  อันธรรมดาไฟย่อมร้อนและเผาไหม้ทุกอย่างให้มอดไหม้ไป มนุษย์และสัตว์ต่างถอยห่างจากกองไฟ แต่มีไฟอยู่กองหนึ่ง มนุษย์และสัตว์ต่างพากันยินดี แม้จะร้อนอย่างไรก็ยอมให้เผารนด้วยความกระหายพอใจ ทั้งนั่งและนอนบนกองไฟนั้น แม้นว่าจะสร้างความเร่าร้อนทุรนทุรายมากเพียงใดก็ตาม อยากทราบว่ากองไฟนั้นคืออะไร

  

  เจ้าชายจิตตราช ขบคิดเท่าไรก็หาคำตอบไม่ได้เช่นเดิม จึงยอมตกเป็นนักโทษของนางราคะ แต่ก็ขอตอบปัญหาของนางอรตีอีก โดยหวังจะประกันตัวออกจากการเป็นนักโทษให้ได้

  

ปัญหาของนางอรตี

  

  อันธรรมดาอำนาจของพระราชาย่อมเป็นอำนาจสูงสุด จะสั่งให้ผู้ใดทำอย่างไรก็ได้ แม้จะสั่งให้ผู้นั้นไปฆ่าตัวตายก็ย่อมได้ แต่ทว่าจักสั่งให้ผู้นั้นไปฆ่าภรรยาหรือฆ่าบุตรอันเป็นที่รักของตนเองนั้นนับเป็นเรื่องยาก หรือไม่สามารถสั่งได้เลย แต่ว่ามีอำนาจอย่างหนึ่งยิ่งใหญ่กว่า อำนาจนี้สามารถสั่งให้สามีฆ่าภรรยา หรือ ภรรยาฆ่าสามี หรือแม้แต่พ่อฆ่าลูก หรือ ลูกฆ่าพ่อได้อย่างง่ายดาย อยากทราบว่าอำนาจนั้นคืออะไร

  เจ้าชายจิตตราช ขบคิดเท่าไรก็หาคำตอบไม่ได้ ยอมจำนนต่อปัญหา ตกเป็นนักโทษของนางทั้ง ๓ นับจากนั้น

  ฝ่ายพระเจ้าเวทนา เมื่อไม่เห็นราชโอรสคือ เจ้าชายจิตตราช กลับมา ก็เที่ยวออกตามหาไปทั่วก็ไม่พบ จึงเดินทางมายังเมือง กายานคร เพื่อให้พระเจ้าอวิชชาช่วยตามหาอีกแรง พระเจ้าอวิชชาจึงให้ประกาศไปทั่วเมือง ก็ยังไม่มีใครหาพบ พระเจ้าเวทนาก็เศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่หาลูกของตนไม่เจอ ทันใด...พระเจ้าอวิชชา ก็นึกได้ว่า พระธิดาทั้ง ๓ ของตนชอบเล่นทายปัญหา และได้นักโทษมามากมาย จึงให้คุมตัวบรรดานักโทษมาดู ก็พบ

  เจ้าชายจิตตราช อยู่ในนั้นด้วย พระเจ้าอวิชชาจึงให้ปล่อยตัว และ อภิเษกพระธิดาทั้ง ๓ ให้เป็นชายาตามที่เจ้าชายจิตตราช ปรารถนา ต่อมาเจ้าชายจิตตราช ก็ขึ้นครองราชย์สมบัติ ปกครอง กายานคร อย่างมีความสุข

  ยังมีพระราชาอีกองค์หนึ่ง มีนามว่า พญามัจจุราช ทรงมีอำมาตย์ใหญ่เป็นทหารเอกอยู่ ๓ คน มีนามว่า ชาติ (ออกเสียงว่า ชา-ติ)อำมาตย์ และ ชรา (ชะ-รา)อำมาตย์ และ พยาธิ (พยา-ธิ)อำมาตย์ ได้ยินกิตติศัพท์ความเจริญรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์ของเมือง กายานคร จึงอยากได้ครอง ก็ส่งทหารเอกทั้ง ๓ คือ ชาติ ชรา พยาธิ ไปตีเมือง กายานคร แห่งนั้น. เจ้าชายจิตตราช ได้ต่อสู้จนสุดความสามารถ แต่ก็มิอาจสู้กำลังของทหารเอกทั้ง ๓ ของพญามัจจุราชได้

  ในที่สุดเมือง กายานคร ก็แตกสลาย แล้วเจ้าชายจิตตราชก็ต้องพาชายาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางราคะ นางอรตี พร้อมด้วย พระเจ้าอวิชชา พระนางโมหา และ พระเจ้าเวทนา ติดตามไปแสวงหาดินแดนใหม่ แล้วสร้างเมือง กายานคร ขึ้นมาใหม่อีก

  เมื่อเจ้าชายจิตตราชปกครองเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรือง พญามัจจุราช ก็ส่งทหารเอกทั้ง ๓ มาทำลายเมืองอีก วนเวียนกันอยู่แบบนี้เรื่อยมา เจ้าชายจิตตราชไม่อาจต่อสู้ทหารเอกของพญามัจจุราชได้เลยสักครั้งเดียว จนกระทั่งมาสร้าง กายานคร แห่งใหม่ เจ้าชายจิตตราช ไม่ต้องการประสบความพ่ายแพ้อีกแล้ว จึงปรึกษากับอำมาตย์ทั้งหลาย ปัญญะมหาอำมาตย์กราบทูลว่า ในที่ไม่ไกลจากที่นี้ มีพระฤาษีตนหนึ่งซึ่งมีนามว่า พระฤาษีลักษณาญาณ มีตบะแก่กล้า มีอิทธิฤทธิ์มาก ขอพระองค์ได้โปรดปรึกษากับท่าน พระฤาษีนั้นเถิด

   เจ้าชายจิตตราชจึงเดินทางไปหาพระฤาษีลักษณาญาณ พระฤาษีถวายคำตอบว่า ยังมีดินแดนอยู่แห่งหนึ่งที่ พญามัจจุราช ไม่สามารถไปถึงได้ มีชื่อว่า นิพพาลัย แต่มีแม่น้ำใหญ่สายหนึ่งกั้นขวางอยู่ เรียกว่า สงสารมหานที จักต้องข้ามแม่น้ำใหญ่นี้ไปให้ได้ และไม่สามารถพาผู้ใดติดตามด้วย ต้องทอดทิ้งชายาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางราคะ นางอรตี พร้อมด้วย พระเจ้าอวิชชา พระนางโมหา รวมทั้ง พระเจ้าเวทนา ด้วย

   พระฤาษีลักษณาญาณ ได้มอบแก้วมณีอันวิเศษให้ ๕ ดวง สำหรับต่อสู้กับทหารเอกทั้งสามของ พญามัจจุราช คือ

  เจ้าชายจิตตราชรับแก้วมณีทั้ง ๕ดวง แล้วกราบลาพระฤาษีลักษณษญาณ กลับมายังกายานคร ครั้นต่อมาไม่นาน ทหารเอกทั้ง ๓ คือ ชาติ ชรา พยาธิ ก็ยกกำลังมาทำลายเมือง กายานครใหม่อีก เจ้าชายจิตตราชก็ออกจากเมืองทันที มุ่งหน้าไปยัง แม่น้ำสงสารมหานที โดยทอดทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ครั้นพอทหารเอกของพญามัจจุราชเข้ามาใกล้ เจ้าชายจิตตราช ก็นำดวงแก้วดวงแรกคือ ศีลขันธมณี โยนไปในอากาศ ทันใดนั้นแก้วมณีก็กลายเป็นกำแพงขึ้นมาสกัดกั้นทหารเอกของพญามัจจุราช เจ้าชายจิตตราชรีบเดินทางต่อได้สัก ๑๐ โยชน์

  ทหารเอกของพญามัจจุราชก็ทำลายกำแพงได้แล้วตามมาทัน เจ้าชายจิตตราช ก็นำดวงแก้วดวงที่สองคือ สมาธิขันธมณี โยนไปในอากาศ

  ทันใดนั้นแก้วมณีก็กลายเป็นกำแพงสูงใหญ่กว่าเก่าขึ้นมาสกัดกั้นทหารเอกของพญามัจจุราช เจ้าชายจิตตราชรีบเดินทางต่อได้สัก ๒๐ โยชน์ ทหารเอกของพญามัจจุราชก็ได้ทำลายกำแพงแล้วตามมาทันอีก เจ้าชายจิตตราช ก็นำดวงแก้วดวงที่สามคือ ปัญญาขันธมณี โยนไปในอากาศ ทันใดนั้นแก้วมณีก็กลายเป็นกำแพงสูงใหญ่กว่าเดิมอีกขึ้นมาสกัดกั้นทหารเอกของพญามัจจุราช

  เจ้าชายจิตตราชรีบเดินทางต่อได้สัก ๓๐ โยชน์ มาถึงฝั่งของแม่น้ำสงสารมหานที ขณะที่ทหารเอกของพญามัจจุราชจักตามมาทัน เจ้าชายจิตตราช ก็นำดวงแก้วดวงที่สี่ คือ วิมุตติขันธมณี โยนไปในน้ำ ทันใดนั้นแก้วมณีก็กลายเป็นแพลอยขึ้นมากลางน้ำ เจ้าชายจิตตราชลงแพลอยออกไปกลางแม่น้ำ ก็พบกับความมืดสนิทไม่รู้จักไปทิศทางใด จึงนำแก้วมณีดวงที่ห้า คือ วิมุตติญาณทัสสนขันธมณี ออกมา พลันแก้วมณีก็เปล่งแสงรัศมีสว่างไสว พร้อมกับส่งลำแสงนำทางไปสู่ดินแดนใหม่ที่มีชื่อว่า นิพพาลัย .......

  * เพิ่มเติมโครงสร้างภายในของกายานคร กายานครนี้มีโครงสร้างจากกระดูก (เปรียบเสมือนเหล็กเส้น) มีเส้นเอ็นร้อยรัดเอาไว้ไม่ให้หลุด (เปรียบเสมือนเส้นลวดที่ใช้ผูกเหล็ก) มีเนื้อห่อหุ้มไว้ (เปรียบเสมือนก่ออิฐเป็นหรือเทปูนหล่อเสา แต่ภายในเป็นโพรง) ใช้เลือดเป็นตัวประสานระหว่างเนื้อกับกระดูกให้ติดกัน (เปรียบเสมือนเอาน้ำผสมปูนตามสัดส่วน) แล้วใช้ผิวหนังเป็นเครื่องห่อหุ้มภายนอก และทาสีต่าง ๆ ให้สวยงาม (เปรียบเสมือนการฉาบปูนภายนอก แล้วทาด้วยสีต่าง ๆ ให้สวยงาม)*