การนับเวลาเป็น...อสงไขย...เขานับกันอย่างไร

  

เรื่องของอสงไขย

  

  เป็นเรื่องของการนับเวลา ของอสงไขย คุณ คนธรรมดา ได้พยายามหาคำตอบมาให้อ่าน อย่างมาก แต่หลังจากผมอ่านแล้ว พบว่า มีการแก้ไขอยู่มาก(พี่คนธรรมดา เป็นคนพบข้อบกพร่องและแก้ไขอันนั้นเองนะครับ) ประกอบกับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่มาก และเป็นเรื่องที่ผมเองก็ใคร่อยากจะรู้อยู่ไม่น้อย

  หลังจากได้อ่านกระทู้นั้นแล้ว ก็ได้พยายามค้นหา ข้อมูลเท่าที่ผมจะมี และนำมาทำสรุปให้ เพื่อ เพื่อนๆ พี่ๆ และน้องๆ ท่านใดสนใจ จะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้อีกต่อหนึ่ง

  การนับ อสงไขย นั้น จะต้องรู้จักกับคำหลายคำต่อไปนี้นะครับ....

  1. อสงไขยปี

  2. รอบอสงไขยปี

  3. อันตรกัป

  4. อสงไขยกัป

  5. มหากัป

  คำทั้งหมดนั้นมีความหมาย

  และมีความสัมพันธ์ กันดังนี้ครับ

  1 รอบอสงไขยปี เป็น 1 อันตรกัป

  64 อันตรกัป เป็น 1 อสงไขยกัป

  4 อสงไขยกัป เป็น 1 มหากัป

  

อสงไขยปี เป็นอย่างไร

  

  ในยุคแรกๆ มนุษย์นั้น จะมีอายุขัยที่ยืนยาวมาก คือจะมีอายุ เท่ากับ เอาเลข 1 นำหน้า แล้วตามด้วยเลข 0 อีก 140 ตัว จำนวนทั้งหมดนี้แหละครับที่เขาเรียกกันว่า อสงไขยปี

  

หนึ่งรอบอสงไขยปี เป็นอย่างไร

  

  ในทุก 100 ปี มนุษย์เราจะมีอายุขัยสั้นลง 1 ปี และจะเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยมา คือ จะมีอายุขัยสั้นลงๆ จนกว่าจะมีอายุขัยที่ต่ำสุด คือ 10 ปี การลดลงของอายุขัยก็จะหยุดลง และจะเริ่มต้น การมีอายุที่ยืนยาวขึ้น จาก 10 ปี เป็น 11 ปี โดยใช้วิวัฒนาการ ทุกๆ 100 ปีเช่นกัน และจะมีการพัฒนาเช่นนี้ ต่อไปเรื่อยๆ

  จนกว่า อายุ จะเท่ากับ อสงไขยปี เช่นเดิม คือ 1 แล้วตามด้วย 140 ศุนย์ กำหนดระยะเวลาทั้งหมดนี้ เราเรียกว่า หนึ่งรอบอสงไขยปี และการที่ครบรอบหนึ่งอสงไขยปีนี้แหละ ก็จะเท่ากับ หนึ่ง อันตรกัป

  

อสงไขยกัป เป็นอย่างไร

  

  เมื่อนับจำนวนอันตรกัป ตามที่พูดมานั้น ได้ครบ 64 อันตรกัป นั้น จึงเรียกว่า อสงไขยกัป

  ทีนี้ผมขอขยายความ คำว่า อสงไขยกัป นิดหนึ่งนะครับ

  อสงไขยกัปนี้ มีอยู่ 4 อสงไขยกัป ด้วยกัน โดยแบ่งเป็นตอนๆ ดังนี้ คือ

  1. สังวัฏฏอสงไขยกัป เป็นอสงไขยกัป ที่ปรากฏในตอนที่โลกถูกทำลาย ซึ่งได้แก่คำว่า สงวฏฏตีต สงวัฏโฏ คือ กัปที่กำลังพินาศอยู่

  2. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป เป็นอสงไขยกัป ที่ปรากฏในตอนที่โลกถูกทำลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้แก่คำว่า สงวฏโฏ หุตวา ติฏฐตีติ สงวฏฏฐยี คือ กับที่มีแต่ความพินาศตั้งอยู่

  3. วิวัฏฏอสงไขยกัป เป็นอสงไขยกัป ที่ปรากฏในตอนที่โลกกำลังจะเริ่มพัฒนาเข้าสู่สภาวะปกติซึ่งได้แก่คำว่า วิวฏฏตีติ วิวฏโฏ คือกัปที่กำลังเริ่มเจริญขึ้น

  4. วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป เป็นอสงไขยกัป ที่ปรากฏในตอนที่โลกเจริญขึ้น พัฒนาเรียบร้อยเป็นปกติตามเดิมแล้ว ซึ่งได้แก่คำว่า วิวฏโฏ หุตวา ติฏฐตีติ วิวฏฏฐายี คือกัปที่เจริญขึ้น พร้อมแล้วทุกอย่างตั้งอยู่ตามปกติ

  ทีนี้มีข้อควรทราบไว้คือ สัตว์โลกทั้งหลายเช่นมนุษย์และเดียรฉาน เป็นต้น จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ก็เฉพาะตอน อสงไขยกัปสุดท้าย คือ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัปนี้เท่านั้น ส่วนในตอน 3 อสงไขยกัปข้างต้น จะไม่มีสิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่ในโลกนี้เลย

  

มหากัป เป็นอย่างไร

  

  เมื่อนับจำนวนทั้ง 4 อสงไขยรวมกัน เราจะเรียกว่า 1 มหากัป คือ

  1. สังวัฏฏอสงไขยกัป นานถึง 64 อันตรกัป

  2. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป นานถึง 64 อันตรกัป

  3. วิวัฏฏอสงไขยกัป นานถึง 64 อันตรกัป

  4. วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป นานถึง 64 อันตรกัป

  รวม 4 อสงไขยกัป ก็เป็น 256 อันตรกัป ซึ่งจะเท่ากับ 1 มหากัป

  แต่ทีนี้เวลาบอกว่า พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญเพียร สั่งสมบารมี เป็น 4 อสงไขยกับหนึ่งแสนมหากัป นั้น คำว่า อสงไขยในที่นี้ หมายถึง การนับจำนวนของมหากัป เป็นอสงไขย กับ อีกหนึ่ง แสน มหากัป ครับ

  ตรงนี้แหละครับที่ผมเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ว่า การนับ จำนวนของ มหากัปได้ เท่ากับ อสงไขยนั้น เป็นจำนวนเท่าไหร่ ขอฝากไว้ให้ลองคิดกันดูแล้วกันนะครับ

  หมายเหตุ คำว่ากัปและกัลนั้น ต่างก็มีความหมายเหมือนกัน แตกต่างกันที่ คำหนึ่งเป็น ภาษาบาลี อีกคำหนึ่งเป็น ภาษาสันสกฤต แต่ไม่แน่ใจว่าคำใดเป็นบาลี คำใดเป็นภาษาสันสกฤต

  แหล่งข้อมูล จากหนังสือชื่อ ศาสตร์ว่าด้วยการเป็นพระพุทธเจ้า (มุนีนาถทีปนี) สำนักพิมพ์ คณะสังคมผาสุก ผู้แต่ง พระเทพมุนี (วิลาส ญาณวโร) ISBN: 974-7437-92-9

  ในเรื่องของมหากัป นั้น มีการแบ่งมหากัป ออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ประเภทที่ มีพระพุทธเจ้าลงมาตรัสรู้ เรียกว่า อสุญกัป

  2. ประเภทที่ไม่มี พระพุทธเจ้าลงมาตรัสรู้ สุญกัป

  อสุญกัป คือ กัปที่ไม่สูญจากพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังรวมถึง การที่จะมีพระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอริยบุคคล และพระจักรพรรดิ จะได้มาอุบัติในมหากัปดังกล่าวนี้ด้วย

  ในทางตรงกันข้าม สุญกัปคือ กัปที่ไม่มีบุคคลผู้วิเศษเหล่านี้เลย

  หากพูดถึงเรื่องอสุญกัปแล้ว ไม่กล่าวถึงเรื่องต่อไปนี้คงจะไม่ครบถ้วนกระบวนความนะครับ

  ในบรรดาอสุญกัปนั้น คือกัปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ยังมีชื่อเรียกตามจำนวนสมเด็จพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้อีก ดังต่อไปนี้

  1. สารกัป อสุญกัปใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพียง 1 พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกว่า สารกัป

  2. มัณณฑกัป อสุญกัปใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพียง 2 พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกว่า มัณฑกัป

  3. วรกัป อสุญกัปใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพียง 3 พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกว่า วรกัป

  4. สารมัณฑกัป อสุญกัปใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพียง 4 พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกว่า สารมัณฑกัป

  5. ภัทรกัป อสุญกัปใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกว่า ภัทรกัป

  ในกัป ประเภทสุดท้ายนี้ เป็นกัปที่ประเสริฐที่สุด คือมี พระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัส มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ เหล่าสัตว์โลก คือ มนุษย์และเทวดาอินทร์ พรหม ผู้ที่มีจิตเป็นกุศลโสภณ ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ ประกอบไปด้วยบุญวาสนาบารมี ย่อมสามารถที่จะกระทำอาสวะกิเลส ให้สูญสิ้นไปจากขันธสัน-ดาน แห่งตนโดยชุกชุม เป็นกัปที่หาได้โดยยากยิ่ง นานแสนนาน จึงจักปรากฏมีในโลกเรานี้สักครั้งหนึ่ง ท่านจึงขนานนามอสุญกัปนี้ว่า ภัทรกัป = กัปที่เจริญที่สุด

  

อายุของเหล่าเทวดา

  

  เทวดาที่จะพูดถึงนี้คือ เทวดาที่อยู่ในชั้นกามวจรทั้ง 6 ชั้น ต่อไปนี้

  1. สวรรค์ชั้น จาตุมมหาราชิกา มีอายุ 500 ปีสวรรค์

  2. สวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ มีอายุ 1,000 ปีสวรรค์

  3. สวรรค์ชั้น ยามา มีอายุ 2,000 ปีสวรรค์

  4. สวรรค์ชั้น ดุสิต มีอายุ 4,000 ปีสวรรค์

  5. สวรรค์ชั้น นิมมานรดี มีอายุ 8,000 ปีสวรรค์

  6. สวรรค์ชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี มีอายุ 16,000 ปีสวรรค์

  ปัญหาต่อไปคือ ใน 1 วันสวรรค์ของ สวรรค์แต่ละชั้น มีระยะเวลาเมื่อเทียบกับระยะเวลาในโลกมนุษย์ไม่เท่ากันดังนี้

  1. 1 วันของสวรรค์ชั้น จาตุมมหาราชิกา เท่ากับ 50 ปีโลกมนุษย์

  2. 1 วันของสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ เท่ากับ 100 ปีโลกมนุษย์

  3. 1 วันของสวรรค์ชั้น ยามา เท่ากับ 200 ปีโลกมนุษย์

  4. 1 วันของสวรรค์ชั้น ดุสิต เท่ากับ 400 ปีโลกมนุษย์

  5. 1 วันของสวรรค์ชั้น นิมมานรดี เท่ากับ 800 ปีโลกมนุษย์

  6. 1 วันของสวรรค์ชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี เท่ากับ 1,600 ปีโลกมนุษย์

  เพราะฉะนั้น อายุของเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ ถ้าจะเทียบกับเวลาในมนุษย์จะได้ดังนี้

  1. ชั้น จาตุมมหาราชิกา เท่ากับ 9 ล้านปีมนุษย์ (500 ปีสวรรค์ * 12 เดือน * 30 วัน * 50ปีมนุษย์ )

  2. ชั้น ดาวดึงส์ เท่ากับ 36 ล้านปีมนุษย์ (1,000 ปีสวรรค์ * 12 เดือน * 30 วัน * 100ปีมนุษย์ )

  3. ชั้นยามา เท่ากับ 144 ล้านปีมนุษย์ (2,000 ปีสวรรค์ * 12 เดือน * 30 วัน * 200ปีมนุษย์ )

  4. ชั้น ดุสิต เท่ากับ 576 ล้านปีมนุษย์ (4,000 ปีสวรรค์ * 12 เดือน * 30 วัน * 400ปีมนุษย์ )

  5. ชั้น นิมมานรดี เท่ากับ 2,304 ล้านปีมนุษย์ (8,000 ปีสวรรค์ * 12 เดือน * 30 วัน * 800ปีมนุษย์ )

   6. ชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี เท่ากับ 9,216 ล้านปีมนุษย์ (16,000 ปีสวรรค์ * 12 เดือน * 30 วัน * 1,600ปีมนุษย์ )

  ข้อมูลนี้ได้มาจากตำรา ผมไม่แน่ใจว่า ตำราที่ผมอ่านนั้น มีความถูกต้องแม่นยำแค่ไหน ฝากไว้ให้ผู้รู้ช่วยตรวจสอบด้วยแล้วกันครับ

@ จากคุณกวางน้อย @

  ***เพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาดไปหน่อยนะครับ ***

  คำว่า อสงไขย นั้นมี ๒ ความหมาย คือในแง่ที่เป็นตัวเลขสังขยา คือ ตัวเลขที่นับได้ ก็หมายถึงจำนวน ๑ ตามด้วย ๐ อีก ๑๔๐ ตัว ตามที่อธิบายไว้แล้ว แต่ในแง่ที่เป็นอุปมา มันมากมายถึงขั้นนับไม่ได้ นับไม่ไหวแล้ว เอาพระพรหมจากพรหมโลกมานับท่านก็นับไม่ไหว คือมากกว่า ๑ ตามด้วย ๐ อีก ๑๔๐ ตัวไปแล้วครับ

  คราวนี้ก็สงสัยว่าพระโพธิสัตว์ท่านบำเพ็ญปรมัตถบารมีในช่วง ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัปสุดท้ายนี่นับกันยังไง เขาไม่นับกันเป็นตัวเลขแล้วครับ เพราะนับไม่ได้อย่างที่บอก แต่เขาใช้วิธีนับเป็นช่วงแทน ในช่วง ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัปสุดท้ายนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสุญอสงไขยครับ คือแต่ละกัปที่ผ่านไปนี่ไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติเลย

  ย้อนกลับไปอสงไขยที่ ๕ ก่อนโน้นเป็นอสุญอสงไขย เรียกว่า สัพพผาละอสงไขย มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๒,๐๐๐ พระองค์ เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว กัปก็สูญสิ้นไป แล้วก็เกิดสุญกัปจำนวนหนึ่ง

  .....จากนั้นก็มีสารมัณฑกัปหนึ่ง มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๔ พระองค์ คือ พระตัณหังกร พระเมทังกร พระสรณังกร และพระทีปังกร กัปนี้เขาเรียกว่ากัปแทรก เป็นกัปต้นของอสงไขยที่ ๔ ย้อนหลังไปครับ เพราะพอสิ้นกัปนี้ไปแล้ว ก็เกิดเป็นสุญกัปจำนวนเท่ากับ ๑ ๒ ๓ ....... จนถึง ๑ ตามด้วย ๐ อีก ๑๔๐ ตัว แล้วก็ยังต่อไปอีกแบบนับไม่ได้ นี่แหละครับเรียกว่าอสงไขย อสงไขยนี้ชื่อว่าเสละอสงไขย แล้วเสละอสงไขยสิ้นสุดกันตรงไหน สิ้นสุดอสงไขยนี้ตรงที่มีกัปหนึ่งมาคั่นอยู่ เรียกว่า สารกัป มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๑ พระองค์ คือ พระโกณฑัญญะ

  เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว กัปก็สูญสิ้นไป แล้วก็เกิดสุญกัปจำนวนมาก จำนวนเท่ากับ ๑ ๒ ๓ ....... จนถึง ๑ ตามด้วย ๐ อีก ๑๔๐ ตัว แล้วก็ยังต่อไปอีกแบบนับไม่ได้ นี่เป็นอีกอสงไขยหนึ่ง อสงไขยนี้ชื่อว่าภาสะอสงไขย แล้วภาสะอสงไขยสิ้นสุดกันตรงไหน สิ้นสุดตรงมีสารมัณฑกัปหนึ่งมาแทรกอยู่ มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติอีก ๔ พระองค์ คงพอเข้าใจคำว่าอสงไขยกันนะครับ ถ้าถามว่า แต่ละอสงไขยนี่มันยาวนานเท่ากันไหม ไม่เท่ากันครับ เพราะมันเป็นเพียงอุปมา ไม่สามารถบอกระยะเวลาจริงๆ ได้ อสงไขยหนึ่งอาจจะนานกว่าอีกอสงไขยหนึ่งเป็น ๒ เท่าก็ได้ครับ แต่ที่แน่ๆ คือนานจริงๆ ครับ
                                                                 จากคุณ อังคาร