ปรัชญาปารมิตาหทัยสูตร
ย้อนหลังขึ้นไป ๒๕๐๐ กว่าปี ณ.เชิงเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ คราวนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังทรงหยั่งเข้าสู่สมาธิที่ชื่อว่า คัมภีราวสมาธิ ท่ามกลางบรรดาพระโพธิสัตว์และพระอรหันต์สาวกจำนวนมาก ในเวลานั้นพระมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ได้ดำริขึ้นว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นความว่างอยู่แล้วตามธรรมชาติ ดังนั้นพระอรหันต์องค์หนึ่งมีนามว่า พระสารีบุตรจึงได้ปรารภขอให้พระมหาโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแสดงธรรมเรื่องความว่างสุญตา ท่ามกลางที่ประชุมนั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดพระสูตรที่ชื่อว่า ปรัชญาปารมิตาหทัยสูตร หรือในสำเนียงจีน(แต้จิ๋ว)ว่า ปัวเยียกปอลอมิกตอซิมเกง
พิจารณาในด้านภาษาศาสตร์
คำว่า ปรัชญา ในสำเนียงจีนกลางว่า ปัว ยว่อ ส่วนจีนแต้จิ๋ว ปัว เหยียก หรือ ปอ แย
คำว่า ปารมิตา ในสำเนียงจีนกลางว่า ปอ หลอ มี ตวอ ส่วนจีนแต้จิ๋ว ปอ ลอ มิก ตอ
คำว่า หทัย ซึ่งแปลว่าหัวใจ ตรงกับคำในภาษาจีนกลางว่า ซิน ส่วนแต้จิ๋ว ซิม
คำว่า สูตร ซึ่งแปลว่าคาถา ตรงกับคำในภาษาจีนกลางว่า จิง ส่วนแต้จิ๋ว เก็ง
รวมแล้วจะได้คำออกเสียงในภาษาจีน ๓ สำเนียงคือ
ปัว ยว่อ ปอ หลอ มี ตวอ ซิน จิง
ปัว เยียก ปอ ลอ มิก ตอ ซิม เกง
ปอ แย ปอ ลอ มิก ตอ ซิม เกง
(ในคำแปลที่ท่านอาจารย์ เย็นเต็ก แปลไว้มิได้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว แต่กระผมเห็นว่าในประเทศไทยของเราใช้ภาษาแต้จิ๋วกันมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ จึงขออนุญาตดัดแปลงเป็นสำเนียงแต้จิ๋ว หวังว่าคงได้รับการอภัยด้วยอย่างยิ่ง........น้ำใส.)
คำว่า ปรัชญา หมายถึง ปัญญา หรือ ญาณ คือการรู้แจ้งแทงตลอด
คำว่า ปารมิตา หมายถึง พาให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพานนั่นเอง
คำว่า หทัย คือ หัวใจ หมายถึง มีความสำคัญยิ่งเปรีบประดุจหัวใจ
รวมความแล้ว ปรัชญาปารมิตาหทัยสูตร มีความหมายว่า พระสูตรที่เน้นปัญญาเป็นสำคัญพาไปให้ถึงฝั่งพระนิพพาน
พระสูตรนี้ได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาษาจีนในราว พ.ศ. ๑๒๐๒โดยท่าน เฮียงจั่น หรือ ท่านพระถังซำจั๋ง โดยอาศัยต้นฉบับจากภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาหลักที่ฝ่ายมหายานยึดเป็นหลักอยู่นั่นเอง โดยพระสูตรนี้มักเรียกสั้นๆว่า สูตรหัวใจ หรือ ซิมเกง เป็นพระสูตรที่มีความยาว ๒๖๘ ตัวอักษร จัดอยู่ในหมวดปรัชญา ( ในราชวงศ์เหม็งได้แบ่งพระสูตรมหายานออกเป็น ๕ หมวดใหญ่คือ หมวดอวตสกะ หมวดไวปุลยะ หมวดปรัชญา หมวดสัทธรรมปุณฑริก และหมวดปรินิรวาณา )
เมื่อทราบถึงความสำคัญของพระสูตรนี้แล้ว เราควรจะพิจารณาต่อไปถึงความอันลึกซึ้ง ซึ่งอาจทำได้โดยการนำประโยคแต่ละประโยคขึ้นมาพิจารณาในเชิงธรรมะดังนี้คือ
๑.( กวน จือ ไจ ผู่ สัก เฮ้ง ชิม ปัว เยียก ปอ ลอ มิก ตอ ซี้ )
คำว่า กวน จือ ไจ ผู่ สัก คือพระนามของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ( เจ้าแม่กวนอิม ) เป็นชื่อที่ท่านพระถังซำจั๋งตั้งและเขียนขึ้นเป็นครั้งแรก มีความหมายว่า ผู้มีกายและใจเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง ผู้ประกอบด้วยโลกุตรปัญญาอันลึกซึ้ง
๒.( เจา เกียน โงว อุง ไก คง )
พิจารณาเล็งเห็นว่าโดยธรรมชาติที่แท้แล้ว ขันธ์ทั้งห้านั้นว่างเปล่า
( ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ โดยรวมได้เป็น ๒ ลักษณะคือ รูปขันธ์ และ นามขันธ์ รูปขันธ์ก็คือ รูป ส่วน นามขันธ์ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า กาย กับ ใจ โดยรูปขันธ์ก็คือ กาย ส่วนนามขันธ์ก็คือ ใจ นั่นเอง
รูปขันธ์ คือ ร่างกาย อวัยวะน้อยใหญ่ทั้งภายใน ภายนอก
เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกในอารมณ์ มีสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์
สัญญาขันธ์ คือ ความจดจำได้ เช่นได้กลิ่นก็รู้ว่าทุเรียน แม้ไม่ได้เห็นลูกทุเรียนเลยก็ตาม
สังขารขันธ์ คืออารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเพราะเราคิดปรุงแต่งเอาเอง
วิญญาณขันธ์ คือ ความเข้าใจ เช่นเมื่อตามองเห็นแก้วบรรจุน้ำสีแดงอยู่ เรียกว่าตาเห็นรูป รู้ว่าเป็นแก้วน้ำ ( สัญญาขันธ์ ) คาดว่าน้ำจะเป็นน้ำหวาน ( สังขารขันธ์ ) รู้ว่าน้ำหวานสีแดงคือ น้ำ- น้ำตาล- และสีแดง มารวมกัน ( วิญญาณขันธ์ ) ไม่ใช่วิญญาณในความหมายที่ว่าล่องลอยคอยเข้าสิงผู้หนึ่งผู้ใดก็หาไม่
คำว่า ความว่าง หรือ สุญตา หรือ อนัตตา นั่นเอง มิใช่ว่าไม่มีตัวตนให้เห็นหรือไม่มีอยู่เลย ตามวิสัยของโลกย่อมมีอยู่ แต่เราทำใจได้ว่ามันไม่มีอยู่ คือไม่เอาใจไปยึดว่ามี เพราะถ้าไปยึดว่ามีก็เกิด ชอบ-ชัง-หวงแหนขึ้นมา คำว่าใจว่าง มิใช่ใจที่ขาดสติไม่รู้ดีรู้ชั่ว แต่เป็นใจเหมือนคนธรรมดาเพียงแต่เอาความยึดมั่นถือมั่นออก ไม่เอาทุกสิ่งภายนอกมาเป็นอารมณ์ )
๓.( โต่ว เจก เชียก โค้ว แอะ )
จึงได้ก้าวล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้
คือเมื่อเล็งเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่คงทน ( อนิจจัง ) ล้วนเป็นความว่าง ( อนัตตาหรือสุญตา ) แม้นจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆกับใจของผู้รู้อีกต่อไป คือการรู้เท่าทันตามสภาพความจริงของสิ่งนั้นๆ ดังนั้นจึงเป็นผู้ปราศจากความทุกข์ทั้งปวง
๔. ( เสีย ลี่ จือ )
ท่านสารีบุตร
เหตุที่ต้องเอ่ยนามของท่านพระสารีบุตร ก็เพราะท่านเป็นผู้ขอให้พระอวโลกิเตศวร ( เจ้าแม่กวนอิม ) เป็นผู้แสดงธรรมบทนี้ ดังนั้นพระอวโลกิเตศวร จึงตรัสเรียกท่านเป็นการเท้าความก่อนที่แสดงธรรมโดยละเอียดต่อไป
๕. ( เสก ปุก อี คง )
รูปไม่ต่างจากความว่าง
( คง ปุก อี เสก )
ความว่าง ก็ไม่ต่างไปจากรูป
( เสก เจียก สี่ คง )
รูปคือความว่างนั่นเอง
( คง เจียก สี่ เสก )
ความว่างก็คือรูปนั่นเอง
( ซิ่ว เสียง เฮง เสก )
เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ
( เอีย หอก หยู่ สี )
ก็เป็นดังนี้ด้วยเช่นกัน
๖. ( เสีย ลี่ จือ )
ท่านสารีบุตร
( สี่ จู ฮับ คง เซียง )
ธรรมทั้งปวงมีความว่างเป็นลักษณะ
๗.( ปุก เซง ปุก มิก )
ไม่เกิด ไม่ดับ
( ปุก อู ปุก เจ๋ง )
ไม่มัวหมอง ไม่ผ่องแพ้ว
( ปุก เจง ปุก เกี้ยม )
ไม่เต็ม ไม่พร่อง
( ในข้อนี้เป็นการอธิบายขยายความในข้อข้างบน คือเน้นที่ความว่าง-สุญตา-อนัตตา นี้เป็นภาษาธรรม จะนึกคิดง่ายๆเหมือนภาษาที่เราพูดจากันนั้นไม่ได้ คำว่าความว่างไม่ได้แปลว่าไม่มีเลย คือมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ คือสภาวธรรมที่เป็นอยู่แล้วดั้งเดิมของสภาวะที่เรียกว่านิพพาน คือเป็นสิ่งที่ไม่มีการเกิด-ไม่มีการดับ(สิ้นสุด) ไม่สวยงามหรือมัวหมอง ไม่มีส่วนที่ขาดตกไม่ครบและ-ไม่มีความหมายว่าเต็มบริบูรณ์แล้วในความหมายของภาษาพูดของคน คือเป็นสภาวะที่ไม่อาจใช้คำพูดอธิบายให้เข้าใจได้นั่นเอง จะรู้ได้ก็โดยผู้มีจิตว่างที่แท้จริง คือ มองทุกอย่าง-รับเอาทุกอย่างด้วย จิตว่างที่แท้จริงตามธรรมชาติ ตัวธรรมชาติแท้ๆดั้งเดิมของมนุษย์นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า สุญตา-อนัตตา-นิพพาน นั่นเอง )
๘.( สี่ กู่ คง ตัง บ่อ เสก )
ดังนั้น ในความว่างจึงไม่มีรูป
๙. ( บ่อ ซิ่ว เสียง เฮง เสก )
ไม่มี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
๑๐.( บ่อ งั้ง ยือ พี จิ เซง อี่ )
ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๑๑.( บ่อ เสก เสียง เฮียง บี ตก หวบ )
ไม่มีรูป เสียง กลิ่น -รส สัมผัส -ธรรมารมณ์
๑๒. ( บ่อ งัน ไก่ ไน จี้ บ่อ อี้ เสก ไก่ )
ไม่มีผัสสะ และวิญญาณ ในอายตนะทั้ง ๖
( ความหมายของคำว่าวิญญาณในที่นี้คือ ความรู้สึกที่ได้จากอายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกันเข้า คือ
ตา มองเห็น รูป เรียกว่า จักษุวิญญาณ
หู ได้ยิน เสียง เรียกว่า โสตวิญญาณ
จมูก ดม กลิ่น เรียกว่า ฆานวิญญาณ
ลิ้น ได้ลิ้ม รส เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
กาย ได้สัมผัสแตะต้อง เรียกว่า กายวิญญาณ
ใจ ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ เรียกว่า มโนวิญญาณ )
๑๓.( บ่อ บ่อ เม้ง )
ไม่มีอวิชชา ไม่มีวิชชา
(เอีย บ่อ บ่อ เมง เจ๋ง )
ไม่มีความดับลงแห่งอวิชชาและวิชชา
( ไน จี้ บ่อ เหลา ซี้ เอีย บ่อ เหลา ซี้ จิ๋ง )
จนถึงไม่มีความแก่และความตาย และไม่มีความดับลงซึ่งความแก่และความตาย
( คำว่า วิชชา ในที่นี้คือ ความรู้อย่างชัดแจ้งใน ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และแนวทางเพื่อการดับทุกข์ คือรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ นั่นเอง ส่วนคำว่า อวิชชา ก็มีความหมายตามนัยตรงข้ามกับคำว่า วิชชา
เมื่อมีใจเป็นสุญตาหรือพิจารณาแจ้งชัดแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความว่างอยู่แล้ว ดังนั้นใจก็หลุดพ้นได้ถึงนิพพานแล้ว จึงไม่สนใจหรือยอมรับว่า วิชชา แห่งการดับทุกข์เป็นเรื่องที่ต้องทำให้แจ้งอีกแล้ว และเมื่อใจว่างแล้วก็เป็นใจที่ไม่มีอวิชชาอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงระบุว่าไม่มีวิชชาและอวิชชาอยู่เลย จึงไม่มีความสิ้นไปแห่งวิชชาและอวิชชา เมื่อมีใจว่างเป็นวิมุติ คือหลุดพ้นแล้ว ไม่ต้องวนเวียนในวัฏฏะอีกต่อไปอีก ดังนั้นจึงไม่มีความแก่และความตาย )
๑๔.( บ่อ โค้ว จิก มิก เต๋า )
ไม่มีความทุกข์ สมทัย นิโรธ มรรค
( เมื่อมีใจเป็นสุญตาหรือพิจารณาแจ้งชัดแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความว่างอยู่แล้ว ดังนั้นใจก็ไม่มีทุกข์ เมื่อไม่มีทุกข์ย่อมไม่มีเหตุที่ให้เกิดทุกข์เหลืออยู่ต่อไป ก็ไม่ต้องมีการดับทุกข์ และไม่จำเป็นต้องมีมรรคเพื่อการดับทุกข์ )
๑๕.( บ่อ ตี่ เอีย บ่อ เต็ก )
ไม่มี ญาณ ( การประจักษ์แจ้ง ) และไม่มีการบรรลุถึง
๑๖.( อี บ่อ ซอ เต็ก กู่ )
เพราะไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอีกต่อไป
(เมื่อเป็นผู้สามารถบำเพ็ญปัญญาบารมีจนถึงสภาวะจิตว่าง หรือพิจารณาแจ้งชัดแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความว่างอยู่แล้ว ดังนั้น ปัญญา หรือ ญาณ ย่อมมาถึงที่สุด ดังนั้นจึงไม่ต้องแสวงหาปัญญาอื่นอีก และไม่ต้องขวนขวายใดๆที่จะให้บรรลุถึงอีก )
๑๗.( ผู่ ที สัก เตย )
พระโพธิสัตว์
( ฮี ปัว เยียก ปอ ลอ มิก ตอ กู่ )
ผู้บำเพ็ญปัญญาบารมี
(ในตำราจีนกล่าวว่า มีพระโพธิสัตว์จำนวนมากมาย ที่ถือกันว่าอาวุโสหรือเป็นพระมหาโพธิสัตว์นั้นมีด้วยกัน ๗ พระองค์
๑.พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ ( เจ้าแม่กวนอิม ) ( กวน ซี อิม ผู่ สัก )
๒.พระมหาสถามปราปต์มหาโพธิสัตว์ ( ไต้ ซี จี้ ผู่ สัก )
๓.พระมัญชูศรีมหาโพธิสัตว์ ( บุน ชู ผู่ สัก )
๔.พระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์ ( โผ้ว เฮียง ผู่ สัก )
๕.พระกษิติครรภ์มหาโพธิสัตว์ ( ตี่ ใช่ หวั่ง กวง )
๖.พระศรีอารียเมตไตยมหาโพธิสัตว์ ( หมี เล็ก ผู่ สัก )
๗.พระวัชรปราณีมหาโพธิสัตว์ ( กิม กัง ผู่ สัก )
๑๘.( ซิม บ่อ ควง ไก่ )
จิตของพระองค์เป็นอิสระจากความกังวลใดๆ
( ปอ ควง ไก่ กู่ )
ไม่ถูกผูกมัดขวางกั้น
๑๙.( บ่อ อู่ คง ปู่ )
พระองค์จึงไม่มีความกลัวใดๆ
๒๐.( เอียง ลี้ เต็ง เต้า ม่วง เซียง )
ก้าวล่วงพ้นไปจากมายาหรือสิ่งลวงตา
๒๑.( กิ้ว เก่ง เน็ง พวง )
ในที่สุดก็บรรลุถึงพระนิพพาน
๒๒.( ซา ซี่ จู ฮุก )
พระพุทธเจ้าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
๒๓.( อี ปอ เยียก ปอ ลอ มิก ตอ กู่ )
ล้วนแต่ได้บำเพ็ญปัญญาบารมีมาทุกๆพระองค์
๒๔. ( เตก ออ นอ ต่อ ลอ ซำ เมา ซำ ผู่ ที้ )
เพราะได้บำเพ็ญปัญญาบารมีแล้วจึงได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมโพธิญาณ
๒๕.( กู่ ใจ ปัว เยียก ปอ ลอ มิก ตอ )
ดังนั้น ควรได้ทราบเถิดว่า ปัญญาบารมีนี้
๒๖. ( สี่ ไต่ เซ้ง จิ่ว )
เป็นมหามนต์อันศักดิ์สิทธิ์
๒๗. ( สี่ ไต่ เม่ง จิ่ว )
เป็นมนต์แห่งความรู้อันยิ่งใหญ่
๒๘.( สี่ บ่อ เซียง จิ่ว )
เป็นมนต์อันไม่มีมนต์อื่นยิ่งกว่า
๒๙. ( สี่ บ่อ เต้ง เต้ง จิ่ว )
เป็นมนต์อันไม่มีมนต์อื่นใดมาเทียบได้
๓๐. ( แนน ตี่ เจก เขียก โค๋ว )
ซึ่งจะตัดเสียได้ซึ่งความทุกข์ทั้งปวง
( จิง สิก ปุก ฮี )
นี่เป็นสัจจะเป็นอิสระจากความเท็จทั้งมวลอย่างไม่ต้องกังขา
๓๑. (กู่ ส่วย ปัว เยียก ปอ ลอ มิก ตอ จิ่ว )
ดังนั้น จงหมั่นสวดภาวนามนต์แห่งโลกุตรปัญญานี้เถิด
๓๒. ( เจียก ส่วย จิว เฮียก )
ด้วยเหตุนี้แล
๓๓. ( กิด ที้ กิด ที้ )
จงไป จงไป
(ปอ ลอ กิด ที้ )
ไปยังฟากฝั่งโน้น
(ปอ ลอ เจง กิด ที้ )
ไปให้พ้นอย่างสิ้นเชิง
( ผู่ ที สัก พอ ลอ )
ไปสู่ความเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
( มอ ฮอ ปัว เยียก ปอ ลอ มิก ตอ ) ( ๓ จบ )
นมัสการปรัชญาปารมิตา ฯ ฯ
|