นางมัลลิกาถวายเครื่องมหาลดาประสาธน์

              ขณะนั้น นางมัลลิกา ผู้เป็นภรรยาของท่านพันธุละเสนาบดี ซึ่งมีนิเวศน์อยู่ในนครนั้น ครั้นได้ทราบว่า ขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพจะผ่านทางนั้น นางก็มีความยินดี ที่จะได้อัญชลีอภิวาทเป็นครั้งสุดท้าย นางจึงดำริด้วยความเลื่อมใสว่า นับตั้งแต่ท่านพันธุละล่วงลับไปแล้ว เครื่องประดับอันมีชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ เราก็มิได้ตกแต่ง คงเก็บรักษาไว้เป็นอันดี ควรจะถวายเป็นอาภรณ์ประดับพระพุทธสรีระพระชินสีห์ในอวสานกาลบัดนี้เถิด

              อันเครื่องอาภรณ์มหาลดาประสาธน์นี้ งามวิจิตรมีค่ามากถึง ๙๐ ล้าน เพราะประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ ในสมัยนั้นมีอยู่เพียง ๓ เครื่อง คือ ของนางวิสาขา ๑ ของนางมัลลิกา ภรรยาท่านพันธุละ ๑ ของเศรษฐีธิดา ภรรยาท่านเทวปานิยสาระ ๑ ซึ่งเป็นอาภรณ์ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นของสำหรับผู้มีบุญ

              ครั้นเมื่อขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพผ่านมาถึงหน้าบ้านนางมัลลิกา นางจึงได้ขอร้องแสดงความประสงค์จะบูชาด้วยอาภรณ์มหาลดาประสาธน์ มหาชนผู้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพก็วางเตียงมาลาอาสน์ ที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระลง ให้นางมัลลิกาถวายอภิวาท เชิญเครื่องมหาลดประสาธน์สรวมพระพุทธสรีระศพ เป็นเครื่องสักการะบูชา ขณะนั้นพระพุทธสรีระศพก็งามโอภาศ เป็นที่เจริญตาเจริญใจ ปรากฎแก่มหาชนทั้งหลาย ต่างพากันแซ่ซร้องสาธุการเป็นอันมาก แล้วมหาชนก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพเคลื่อนจากที่นั้น ออกจากประตูเมืองด้านบูรพทิศ ไปสู่มกุฏพันธนะเจดีย์

              ครั้นถึงยังที่จิตรกาธาร อันสำเร็จด้วยไม้จันทน์หอม งามวิจิตร ซึ่งได้จัดทำไว้แล้ว ก็จัดการห่อพระพุทธสรีระศพด้วยทุกุลพัสตร์ภูษา ๕๐๐ ชั้น แล้วก็อัญเชิญลงประดิษฐานในหีบทอง ซึ่งเต็มด้วยน้ำมันหอม ตามคำพระอานนท์เถระแจ้งสิ้นทุกประการ

พระสรีระศพไม่เคลื่อนจากที่    ถวายพระเพลิงแต่เพลิงไม่ติด