ร่มไม้อชปาลนิโครธ

              ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จจากร่มไม้ราชยายตนะ ไปประทับยังร่มไม้อชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง ทรงพระดำริถึงพระองค์ว่า การดำรงพระองค์อยู่โดยความเป็นผู้ไม่มีที่เคารพ กราบไหว้ เป็นความลำบาก ก็แลพระองค์ควรจะเคารพกราบไหว้ผู้ใดดี เมื่อได้ทรงพิจารณาเลือกหาผู้ที่ทรงคุณสมบัติยิ่งกว่า ควรที่พระองค์จะทรงเคารพ ก็มิได้ทรงมองเห็นใครผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม ควรแก่การคารวะ

              ทรงพระดำริว่า พระโลกุตตรธรรม ที่ตถาคตได้ตรัสรู้นี้แล เป็นปูชนียธรรมอันประเสริฐสุด ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วทุก ๆ พระองค์ ก็ทรงเคารพพระสัทธรรม ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเคารพพระธรรม ทรงเทิดทูนพระธรรมขึ้นเป็นที่เคารพบูชา

              ต่อนั้น ก็ทรงได้พิจารณาถึงพระธรรม ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ทั้งหมดนั้น เป็นคุณชาติละเอียดสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง ยากที่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีปัญญาน้อย มีความเพียรน้อย แม้จะได้สดับแล้ว จะตรัสรู้ตามได้ ทำให้พระองค์ทรงท้อพระทัยในอันจะแสดงธรรมโปรดประชากร

              ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบในพระพุทธปริวิตกเช่นนั้น จึงชวนเทพยดาเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ แล้วกราบทูลอาราธนาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดังทะเลหลวง ประชากรทั้งปวงที่มีสาวกบารมีได้สั่งสมไว้มีอยู่ สัตว์ผู้มีธุลีนัยน์ตาน้อย ยังมีอยู่ ถ้าพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดประทานพระธรรมเทศนา ประชาสัตว์ก็จะได้ดวงปัญญาหยั่งรู้ตาม จะได้ข้ามสังสารวัฏฏ์ สมดังมโนรถของพระองค์ที่ทรงมุ่งจะรื้อขนสัตว์ให้เข้าสู่พระนิพพาน"

              ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ก็ทรงพระจินตนาการว่า เป็นธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่สืบ ๆ กันมา ในอันที่จะประกาศธรรมโปรดประชากร แท้จริง ในราตรีแห่งวันที่จะได้ตรัสรู้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ก็ทรงหยั่งเห็นสันดานของประชาสัตว์สิ้นแล้ว ว่ามีอุปนิสสัยต่าง ๆ กัน เป็น ๔ จำพวก คือ

              ๑. อุคฆติตัญญู ผู้สามารถจะตรัสรู้ตามพระธรรมเทศนาได้ฉับพลัน

              ๒. วิปจิตัญญู ผู้จะตรัสรู้ตามในกาลภายหลังที่สดับรับพระโอวาทแนะนำในกาลต่อไป

              ๓. เนยยะ ผู้มีสันดานเพียงเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติตามโอวาท ซึ่งสามารถจะรู้ได้ในกาลภายหลัง

              ๔. ปทปรมะ ผู้ยากที่จะสั่งสอน แม้จะได้สดับธรรม ก็จะได้ผลเพียงเป็นอุปนิสสัยปัจจัยในภาพต่อไป ดังดอกบัว ๔ เหล่านั้น จึงได้ทรงน้อมพระทัยไปในอันที่จะแสดงธรรมโปรดประชาสัตว์ ทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ตั้งพระทัยจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วยดี ให้เกิดแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แผ่ไพศาลก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานสืบไป

เทววาจิกอุปาสก    เสด็จโปรดพระปัญจวัคคีย์