โปรดพระนางพิมพาเทวี

              พระเจ้าสุทโธนะกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระนางพิมพาเทวี เป็นชนปทกัลยาณี มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ สุดจะหาสตรีที่ใดเสมอได้ นับแต่พระองค์เสด็จจากพระนครไป สิ่งอันใดที่ก่อให้เกิดราคี เสื่อมศรีเสียเกียรติยศแล้ว พระนางจะห่างไกลไม่กระทำ เฝ้าแต่รำพันถึงคุณสมบัติของพระองค์ แล้วก็โศกเศร้าอาดูร มิได้ใส่ใจถ่อยคำของผู้ใดจะช่วยแนะนำให้บรรเทาความเศร้าโศก ไม่สนใจในการตกแต่งกายทุกอย่าง เลิกเครื่องสำอางค์ทุกชนิด เมื่อได้ทราบว่าพระองค์ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ พระนางก็จัดหาผ้ากาสาวพัสตร์มาใช้ตามพระองค์ตลอดจนทุกวันนี้ ได้ทราบข่าวว่าพระองค์อดพระกระยาหาร ทรมานกาย พระนางก็พอใจอดพระกระยาหารตามเสด็จตลอดเวลา จะหาสตรีที่มีความจงรักภักดีเช่นนี้ เห็นสุดหา"

              "อนึ่ง นับแต่พระองค์เสด็จมาสู่พระราชนิเวศน์เข้า ๓ วันนี้ พระนางพิมพาก็มิได้มาเฝ้า เศร้าโศกอยู่แต่ในห้องผทม ตั้งใจอยู่ว่าพระองค์คงจะเสด็จเข้าไปหายังห้องที่เคยเสด็จประทับในกาลก่อน หากพระองค์จะไม่เสด็จไปยังห้องของพระนางแล้ว พระนางคงจะเสียพระทัยถึงแก่วายชีวิตเป็นแน่แท้ หม่อมฉันขออาราธนาพระองค์เสด็จไปโปรดพระนางพิมพาเทวี ขอให้ทรงพระกรุณาประทานชีวิตแก่พระนางผู้มีความจงรักภักดีในครั้งนี้ด้วยเถิด"

              พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "ดูกรพระราชสมภาร อันพระนางพิมพาเทวีมารดาราหุลกุมาร มีความจงรักภักดีต่อตถาคต สมจริงดังพระองค์รับสั่งทุกประการ และก็สมควรที่ตถาคตจะไปอนุเคราะห์พระนางให้สมมโนรถ เพื่อบรรเทาความเศร้าโศก ให้ได้รับความสดชื่น สุขใจ ในอมตธรรมตามควรแก่วาสนา ด้วยพระนางมีคุณแก่ตถาคตมามากยิ่งนัก ในอดีตกาล ได้ช่วยตถาคตบำเพ็ญมหาทานบารมีมากกว่าแสนชาติ " ครั้นแล้วก็รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายรออยู่ที่ปราสาทราชนิเวศน์ ให้ตามเสด็จแต่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ อัครสาวก ๒ องค์ เป็นปัจฉาสมณะ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปยังปราสาทของพระนางพิมพาเทวี พลางมีพระวาจารับสั่งแก่อัครสาวกว่า “ พระมารดาราหุลนี้ มีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมาก ผิว่านางจะจับบาทตถาคตลูบคลำสัมผัส และโศกเศร้าอาดูรพิลาปร่ำไห้ ด้วยกำลังเสน่หา ท่านทั้งสองอย่าได้ห้ามปราม ปล่อยตามอัธยาศัย ให้พระนางพิไรรำพันปริเวทนาจนกว่าจะสิ้นโศก ผิว่าไปห้ามเข้า นางก็ยิ่งเพิ่มความเศร้าเสียพระทัยถึงชีวิต ไม่ทันได้สดับพระธรรมเทศนา ตถาคตยังเป็นหนี้พิมพามิได้เปลื้องปลด จะได้แทนทดใช้หนี้แก่พิมพาในกาลบัดนี้” ครั้นตรัสบอกอัครสาวกทั้งสองแล้ว ก็เสด็จพระพุทธลีลาเข้าไปในห้องแห่งประสาท ขึ้นสถิตบนรัตนบัลลังก์อาสน์อันงามวิจิตร

              ฝ่ายนางสนมทั้งหลาย ครั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่บนปราสาท จึงรีบไปทูลความแด่พระนางพิมพาว่า "บัดนี้ พระสิทธัตถะราชสวามีของพระนางเจ้า ได้เสด็จมาประทับยังห้องแห่งปราสาทของพระนางแล้ว"

              เมื่อพระนางพิมพาเทวีทรงสดับ ก็ลุกจากที่ประทับ จูงหัตถ์พระราหุล ราชโอรสกลั้นความกำสรดโศก แล้วก็เสด็จคลานออกจากพระทวารสถานที่สิริไสยาสน์ ตรงเข้ากอดบาทพระบรมศาสดา แล้วซบพระเศียรลงถวายนมัสการ พลางทรงพิลาปกราบทูลสารว่า "โทษกระหม่อมฉันนี้มีมาก เพราะเป็นหญิงกาลกิณี พระองค์จึงเสด็จหนีให้อาดูรด้วยเสน่หา แต่เวลายังดรุณภาพ พระองค์มิได้ตรัสบอกให้ทราบ แสร้งทรงสละข้าพระบาทไว้ไม่มีอาลัย ดุจก้อนเขฬะบนปลายพระชิวหา อันถ่มออกจากพระโอฐมิได้โปรดปราน เสด็จบำราศร้างจากนิวาสน์สถานไปบรรชา ถึงมาตรว่า ข้าพระบาทพิมพานี้มีโทษแล้ว ส่วนลูกแก้วราหุลราชกุมาร เพิ่งประสูติจากพระครรภ์ในวันนั้น ยังมิทันได้รู้ผิดชอบประการใด นั้นมีโทษสิ่งไรด้วยเล่า พระผ่านเกล้าจึงแกล้งทอดทิ้งไว้ให้ร้างพระปิตุรงค์"

              "ประการหนึ่ง ข้าพระบาทของพระองค์นี้ โหราจารย์ญาณเมธีได้ทำนายไว้แต่ยังเยาว์วัยว่า ยโสธราพิมพาราชกุมารี มีบุญญาธิการใหญ่ยิ่ง ควรเป็นมิ่งมเหษีอดุลกษัตริย์จักรพรรดิราช คำทำนายนั้นก็เคลื่อนคลาดเพี้ยนผิด พิมพากลับวิปริตเป็นหญิงหม้ายชายร้างสิ้นราคา" เมื่อพระนางพิมพาเทวีปริเวทนามาฉะนี้ แล้วก็กลิ้งเกลือกพระอุตมางคโมลีเหนือหลังพระบาทพระศาสดา ดูเป็นที่เวทนา

              ส่วนสมเด็จพระพุทธบิดา ก็ได้กราบทูลพรรณนาถึงความดีของพระนางพิมพาเทวีศรีสะไภ้ว่า "จะหาสตรีคนใดเสมอได้ยากยิ่ง มีความจงรักภักดีต่อพระองค์จริงประจักษ์ตา ทราบว่าพระองค์ผทมเหนือพื้นพสุธา พระนางก็ประพฤติตามเสด็จ โดยผทมยังภาคพื้นเมธนีดล ครั้นทราบว่า พระองค์เว้นเครื่องสุคนธ์ลูบไล้ ตลอดดอกไม้บุบผชาติ พระนางก็เว้นขาดจากเครื่องประดับทุกประการ ทั้งเครื่องลูบไล้สุมามาลย์ก็เลิกหมด เฝ้าแต่รันทดถึงพระองค์อยู่ไม่ขาด แม้บรรดาพระประยูรญาติของพระนาง ในเทวหะนคร ส่งข่าวสารมาทูลวอนว่า จะรับกลับไปบำรุงเลี้ยงรักษาปฎิบัติ พระนางก็บอกปัด มิได้เล็งแลดูหมู่กษัตริย์ศากยะวงศ์พระองค์ใด ตั้งพระทัยภักดีมีสัตย์ซื่อเสน่หาเฉพาะพระองค์ดำรงมา ดังพรรณนามาฉะนี้ "

              เมื่อพระชินสีห์ได้ทรงเสวนาการ จึงมีพระพุทธบรรหารดำรัสว่า "ดูกรบรมบพิตร พระนางพิมพาเทวี จะได้มีจิตจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสามีแต่ในชาตินี้เท่านั้น ก็หาไม่ พระมารดาราหุลนี้นั้น น้ำใจเป็นหนึ่งแน่ไม่แปรผันในสวามีแม้ในอดีตกาล ครั้งเสวยชาติเป็นเดรัจฉานกินนรี ก็มีจิตจงรักภักดีเลิศคุณดิลก" แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงจันทกินนรชาดกโดยพิสดาร บันเทาความโศกเศร้าปริเวทนาการของพระนางพิมพาให้เสื่อมหายคลายกำสรด เสมือนหนึ่งหลั่งน้ำอมตรสลงตรงดวงจิตของพระนาง ซึ่งเร่าร้อนด้วยเพลิงพิษคือกิเลสให้พลันดับ กลับให้ความสดชื่นเกษมสานต์

              ส่วนพระนางพิมพาราชกัญญา ครั้นสร่างโศกสิ้นทุกข์ มีใจผ่องแผ่ว เบิกบานตั้งพระทัยสดับพระธรรมที่พระศาสดาทรงพระกรุณาประทานสืบไป ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาทพระศาสดา ด้วยความทราบซึ้งในพระมหากรุณา ที่ทรงอุตสาห์เสด็จมาประทานชีวิตให้สดชื่นรื่นรมย์ ทั้งประทานอมตธรรมให้ชื่นชม สมกับที่พระนางได้จงรักภักดีตั้งแต่ต้นมา แล้วสมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จพระพุทธลีลา พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๒ หมื่น เสด็จคืนสู่พระนิโครธมหาวิหาร

โปรดพระพุทธบิดา    นันทกุมารออกบวช