ศากยะราช ๖ พระองค์ออกบวช

              วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังมหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยะอัมพวันใกล้บ้านอนุปิยะมลานิคม แขวงเมืองพาราณสี ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา เข้าไปหาพระอนุรุทธะ ผู้เป็นอนุชา ทรงปรารถว่า "ในตระกูลเรา ยังไม่มีใครออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย ฉะนั้น ในเราสองคน คือ อนุรุทธะกับพี่ จะต้องออกบวชคนหนึ่ง พี่จะให้อนุรุทธะเลือกเอา อนุรุทธะจะบวชหรือจะให้พี่บวช"

              เนื่องจากพระอนุรุทธะ เป็นพระโอรสพระองค์เล็ก ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระมารดารักมาก ทั้งเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีบุญมาก ได้รับความรักใคร่เมตตาปราณีจากพระญาติทั้งหลายเป็นอันมาก ดังนั้น อนุรุทธะกุมารจึงทูลว่า "หม่อมฉันบวชไม่ได้ดอก ขอให้เจ้าพี่บวชเถอะ"

              พระมหานามะจึงรับสั่งว่า "ถ้าอนุรุทธจะอยู่ ก็ต้องศึกษาเรื่องการครองเรือน เรื่องบำรุงวงศ์ตระกูลให้จงดี" และพระมหานามะ ก็ถวายคำแนะนำการครองชีพด้วยกสิกรรม ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ อนุรุทธะกุมารก็ฟังแล้วทรงระอาในการงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อกันไปไม่รู้สิ้น จึงรับสั่งว่า "ถ้าเช่นนั้น ให้เจ้าพี่อยู่เถอะ หม่อมฉันจะบวชเอง รำคาญที่จะต้องไปวุ่นอยู่กับงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อไม่รู้สิ้น" รับสั่งแล้วก็ลาพระมารดาขออนุญาตบรรพชาตามพระบรมศาสดา พระมารดาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง ภายหลังทรงอนุญาตเป็นนัยว่า "ถ้าพระภัททิยะราชกุมาร ผู้เป็นโอรสของพระนางกาฬีโคธาศากยะวงศ์ ผู้เป็นเพื่อนเล่นที่สนิทสนมของพ่อจะออกบรรพชา พ่อจะบรรพชาด้วยก็ตามเถิด" พระอนุรุทธะก็ไปชวนพระภัททิยะ ให้ออกบวชด้วยกัน แต่วิงวอนชวนอยู่ถึง ๗ วัน พระภัททิยะจึงยินยอมปฎิญญาว่าจะบวชด้วย

              ในกาลนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ คือ พระภัททิยะ ๑ พระอนุรุทธะ ๑ พระอานนท์ ๑ พระภัคคุ ๑ พระกิมพิละ ๑ พระเทวทัต ๑ ได้พร้อมใจกันจะออกบรรพชา ชวน อุบาลี อำมาตย์ ช่างกัลบก(๑) เป็น ๗ ด้วยกัน เดินทางไปสู่มลรัฐชนบทเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยะอัมพวัน ถวายอภิวาทแล้ว ขอประทานบรรพชาอุปสมบท

              อนึ่ง ก่อนแต่พระบรมศาสดาจะทรงประทานบรรพชา พระอนุรุทธะได้กราบทูลว่า "ข้าแต่ผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ สูงด้วยขัตติยะมานะอันกล้า ขอให้พระองค์ประทานบรรพชาแก่อุบาลี อำมาตย์ ผู้รับใช้สอยติดตาม ของมวลข้าพระองค์ก่อน ให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรพชาต่อภายหลัง จะได้คารวะ ไหว้นบ เคารพนับถืออุบาลี ผู้บวชแล้วก่อน บรรเทาขัตติยะมานะให้บางเบาจากสันดาน"

              พระบรมศาสดาจึงได้ประทานอุปสมบทแก่อุบาลี กัลบกก่อน แล้วจึงประทานอุปสมบทแก่ ๖ กษัตริย์ในภายหลัง พระภัททิยะ นั้น ได้สำเร็จไตรวิชา พระอรหัตตผลในพรรษานั้น พระอนุรุทธะ ได้บรรลุทิพจักษุญาณก่อน ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนา มหาปุริสวิตักสูตร จึงสำเร็จพระอรหัตตผล พระอานนท์ นั้น ได้บรรลุอริยะผลเพียงพระโสดาบัน พระภัคคุ และ พระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุพระอรหัตตผล ส่วนพระเทวทัตนั้น ได้บรรลุปุถุชนฤทธิ์ อันเป็นของโลกิยะบุคคล

              สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปประทับ ณ เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น ลาภสักการะบังเกิดแก่พระองค์กับทั้งภิกษุสงฆ์สาวกเป็นอันมาก คนทั้งหลายถือสักการะ มีจีวร บิณฑบาต เภสัช อัฎฐบาน เป็นต้น เข้ามาสู่วิหาร ถวายแก่พระสงฆ์สาวกเป็นเนืองนิตย์ ส่วนมากทุก ๆ คนที่มา ย่อมถามถึงแต่พระอัครสาวกทั้งสอง และพระสาวกองค์อื่น ๆ ว่า ท่านอยู่ ณ ที่ใด แล้วพากันไปเคารพนบไหว้สักการะบูชา ไม่มีใครถามถึงพระเทวทัตแม้แต่ผู้เดียว

              พระเทวทัตเกิดความโทมนัสน้อยใจ ตามวิสัยของปุถุชนจำพวกที่มากด้วยความอิจฉา ฤษยา คิดว่า เราเป็นกษัตริย์ศากยะราชสกุลเหมือนกัน ออกบรรพชากับด้วยกษัตริย์ขัตติวงศ์นั้น ๆ แต่ไม่มีใครนับถือ ถามหา น่าน้อยใจ เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็เกิดตัณหาในลาภสักการะ เข้าครอบงำจิต คิดใคร่จะได้ลาภสักการะ สัมมานะ เคารพนับถือ แล้วก็คิดต่อไปว่า เราจะทำบุคคลผู้ใดให้เลื่อมใส กราบไหว้บูชาดีหนอ จึงจะบังเกิดลาภสักการะ ครั้นคิดต่อไปก็มองเห็นอุบายทันทีว่า พระอชาตศัตรูราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารนั้น ยังทรงพระเยาว์ ยังไม่รอบรู้คุณและโทษแห่งบุคคลใด ๆ ควรจะไปคบหาด้วยพระราชกุมารนั้นเถิด ลาภสักการะก็จะพลันบังเกิดเป็นอันมาก

              ครั้นดำริดังนั้นแล้ว ก็หลีกจากเมืองโกสัมพีไปสู่เมืองราชคฤห์ แล้วนิรมิตกายเป็นกุมารน้อย เอาอสรพิษ ๔ ตัว ทำเป็นอาภรณ์ประดับมือและเท้า ขดทำเป็นเทริดบนศรีรษะ ๑ ตัว ทำเป็นสังวาลย์พันกาย ๑ ตัว สำแดงปาฎิหาริย์ปุถุชนฤทธิ์ของตนเหาะไปยังพระราชนิเวศน์ ลอยลงจากอากาศ ปรากฎกายอยู่เฉพาะหน้าพระอชาตศัตรูราชกุมาร

              ครั้นพระราชกุมารตกพระทัยกลัว ก็ทูลว่า "อาตมา คือพระเทวทัต" แล้วเจรจาเล้าโลมให้พระราชกุมารหายกลัว สำแดงกายเป็นพระทรงไตรจีวรและบาตร ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระราชกุมาร เมื่อพระราชกุมารเห็นปาฎิหาริย์เช่นนั้น ก็ทรงเลื่อมใส เคารพนับถือ ถวายลาภสักการะบูชาเป็นอันมาก

              ภายหลัง พระเทวทัตเกิดบาปจิตคิดใฝ่สูงด้วยอำนาจตัณหา มานะครอบงำจิตคิดผิดไปว่า เราสมควรจะเป็นผู้ครองพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง พอดำริดังนั้น ปุถุชนฤทธิ์ของตนก็เสื่อมสูญพร้อมกับจิตตุบาท ครั้นคิดดังนั้นแล้ว ก็เดินทางมาเฝ้าพระพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร ณ เมืองราชคฤห์ ในเวลาที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่มวลพุทธบริษัท ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารมหาราชประทับเป็นประธานอยู่ เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเทวทัตได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้พระองค์ทรงชราภาพแล้ว จงเสวยทิฎฐธรรมสุขวิหารสำราญพระกมล มีความขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จะรับภาระธุระช่วยว่ากล่าวครอบครองภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ขอพระองค์จงมอบเวรพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งสิ้นให้แก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะได้ว่ากล่าวสั่งสอนแทนพระองค์สืบไป"

              ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับ จึงตรัสห้ามว่า "ไม่ควร" ไม่ทรงอนุญาตให้เป็นไปตามความปรารถนาของพระเทวทัต ๆ ก็โทมนัส ผูกอาฆาตในพระบรมศาสดา จำเดิมแต่นั้นมา พระบรมศาสดาได้ทรงประกาศความประพฤติอันไม่ดีอันไม่งามของพระเทวทัต ซึ่งเกิดขึ้นด้วยจิตลามกให้พระสงฆ์ทั้งหลายทราบ เพื่อให้ภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ จะได้สังวรระวังจิตมิให้วิปริตไปตาม

              ต่อมาพระเทวทัตคิดการใหญ่ ปรารถนาจะทำอันตรายแก่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปเฝ้าพระอชาตศัตรูราชกุมาร แล้วด้วยอุบายทูลว่า แต่ก่อนมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืน บัดนี้อายุของมนุษย์น้อยถอยลง หากพระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อนพระราชบิดา แต่เวลายังหนุ่มอยู่แล้ว ไฉนพระองค์จะได้รับราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยพระราชสมบัติสมดังพระทัยที่ปรารถนาไว้เล่า ฉะนั้น พระองค์จงปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดา จัดการสถาปนาพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติเสียตั้งแต่บัดนี้เถิด แม้อาตมาก็จะฆ่าพระสมณะโคดมเสีย จะได้เป็นพระบรมศาสดา ปกครองพระสงฆ์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน.

ถวายพระเชตวันวิหาร    พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระบิดา