นิทานเรื่องที่
๒๓

          ครั้นแล้ว พระราชาตริวิกรมเสนก็เสด็จกลับไปทางเดิม ถึงต้นอโศกก็ดึงตัวเวตาลกลับลงมา แม้มันจะแปลงตัวร้อยอย่างพันอย่างเพื่อตบตาพระองค์ แต่ในที่สุดก็ยอมแพ้ พระราชาจับมันพาดพระอังสาแล้วเสด็จไปตามทาง ทรงนิ่งเงียบไม่ตรัสอะไรเลย ในที่สุดเวตาลก็เป็นฝ่ายพูดขึ้นเองว่า “โอ ราชะ ถ้าจะว่าไปธุรกิจส่วนพระองค์ที่จะต้องทำก็ยังมาไม่ถึง แม้จะต้องทรงพากเพียรอีกมาก อย่ากระนั้นเลย ข้าจะเล่านิทานดี ๆ ให้ฟังสักเรื่องหนึ่งจะได้หายเหนื่อย”

           ในแคว้นกลิงคะ มีเมืองหนึ่งชื่อโศภาวดี สวยงามราวกับนครอมราวดีของท้าวศักระ อันเป็นที่อาศัยของผู้ชอบธรรมทั้งหลาย เมืองนี้มีกษัตริย์ชื่อประทยุมน์ปกครองอยู่ พระองค์เป็นผู้กล้าหาญและเป็นชายชาตรีเหมือนดังเทพประทยุมน์ (ประทยุมน์ – โอรสคนสำคัญของพระกฤษณะ (นารายณ์อวตารปางที่ ๘) กับนางรุกมิณี ถือกันว่ามีรูปโฉมงดงามยิ่งกว่าชายทั้งหลายในโลก เพราะพระกามเทพกลับชาติมาเกิดเป็นมนุษย์ หลังจากที่ถูกพระศิวะเผาไหม้เป็นจุณจนไม่มีรูปร่างมาช้านาน แต่ในที่สุดพระศิวะมีความสงสารนางรตี ชายาของกามเทพที่พลัดพรากสามีและมีความเศร้าโศกน่าสงสาร พระมหาเทพจึงอนุญาตให้กามเทพไปเกิดเป็นโอรสของพระกฤษณะ ส่วนนางรตีลงมาเกิดเป็นนางมายาวตี ได้เป็นชายาของพระประทยุมน์ ต่อมาพระประทยุมน์ได้ชายาใหม่ชื่อนางกกุทมตี และโอรสด้วยกันชื่ออนิรุทธิ์) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งพระนามของพระองค์ ถ้าจะค้นหาสิ่งซึ่งเรียก ว่าความชั่วแล้วไซร้ก็เห็นจะเป็นไปได้เพียงชื่อของยุคสมัย (กลียุค) เท่านั้นเอง

           ส่วนหนึ่งของพระนครโศภาวดีนี้เป็นเขตที่พระราชทานให้เป็นหมู่บ้านพราหมณ์โดยเฉพาะ เรียกว่า ยัชญสถล ฉะนั้นที่ชุมนุมพราหมณ์แห่งนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยผู้รู้ทั้งหลาย ที่หมู่บ้านยัชญสถลนี้เอง มีพราหมณ์มหาศาลผู้ชำนาญพระเวททั้งสี่ มีนามว่า ยัชญโสม เขาเป็นผู้ที่ทำพิธีสังเวยไฟเป็นประจำเพื่อสวัสดิมงคลของผู้มาเยือนและเพื่อสังเวยทวยเทพทั้งปวง ยัชญโสมผู้นี้มีชีวิตล่วงวัยหนุ่มมาช้านาน จนมีอายุมากจึงได้บุตรชายคนหนึ่งสมใจจากนางผู้เป็นภริยาที่ดีพร้อม เขาจึงถือว่าบุตรของเขากับนางได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้ เด็กชายผู้นั้นจำเริญวัยขึ้นในบ้านของบิดา เป็นที่รักดังดวงใจของพ่อแม่ ท่านบิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า เทวโสม จำเนียรกาลต่อมาเด็กหนุ่มอายุได้สิบหกปี มีความรู้ในพระเวทและศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ทำให้ได้รับความยกย่องจากคนทั้งหลายเป็นอันมาก แต่แล้วจู่ ๆ เด็กที่น่ารักคนนี้ก็สิ้นชีวิตโดยกะทันหันด้วยไข้ชนิดหนึ่ง ทำให้พ่อแม่เสียใจดังจะตายตามไปด้วย เฝ้าแต่กอดร่างบุตรชายอันหาชีวิตไม่แล้ว ร่ำไห้เพียงใจจะขาดรอน ทั้งสองคนเก็บศพลูกชายไว้ช้านานโดยไม่ยอมให้ใครเอาไปเผา

           ดังนั้นพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านนั้นก็มาประชุมกัน และกล่าวให้สติแก่พราหมณ์สามีภรรยาคู่นั้นว่า “แน่ะพราหมณ์ ท่านควรจะมีสติพิจารณาว่า ไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ หรอกที่จะช่วยให้เขามีชีวิตกลับคืนมาอีก ปาฏิหาริย์เช่นเดียวกับฟองบนผิวน้ำ แลดูเหมือนจะมีแก่นสาร แต่มันก็แตกง่าย แล้วก็ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากอากาศธาตุ จงดูเยี่ยงกษัตริย์มหาศาลผู้ทรงเดชานุภาพ มีกองทหารเต็มโลก ใคร ๆ ก็สยบด้วยความกลัวเกรง กษัตริย์โง่เขลาเหล่านั้นเสวยความสุขอยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลก แล้วยังหลงว่าตนเองจะได้กลายเป็นอมตะอีกเล่า สุขสำราญอยู่ในวังอันวิจิตร นั่งนอนบนเตียงประดับไปด้วยแก้วมณี มีแต่เสียงดนตรีประโคมกล่อมอย่างไพเราะเสนาะหู แต่พอตายลง มีอะไร เขาก็เอาร่างของจอมราชันนั้นอาบน้ำ เอาประทิ่นของหอมเช่นผงจันทน์ชะโลมลูบไล้ นอนสงบนิ่งอยู่บนบรรจถรณ์ มีนางร้องไห้ขับเสียงแสดงโศกาดูรเพียงจิตใจจะแตกสลาย แล้วหลังจากนั้นก็ถูกเขายกร่งไปตั้งบนจิตกาธาน จุดไฟเผามอดไหม้ไปเหลือแต่กระดูกและอังคาร คนทั้งหลายก็มีสภาพอย่างเดียวกันนี้แหละ ไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ จะช่วยใครให้ฟื้นคืนชีพได้หรอก ไม่มีใครหนีความตายได้ แล้วตัวท่านจะเอาแต่กอดศพคร่ำครวญอยู่ไย” คนอื่น ๆ อีกหลายคนก็กล่าวเตือนสติสองผัวเมียด้วยคำพูดคล้าย ๆ กันนี้

           บรรดาญาติพี่น้องเห็นว่าสองผัวเมียค่อยได้สติแล้วก็ค่อยดึงร่างพราหมณ์ทั้งสองออกจากการกอดรัดลูกชาย จัดการแต่งศพให้เรียบร้อย นำขึ้นแคร่ตรงไปยังสุสาน ตั้งศพบนจิตกาธานเพื่อจุดไฟเผา ในเวลาดังกล่าวนั้นเอง ปรากฎว่ามีนักบวชประเภทปาศุบตผู้หนึ่ง ตั้งอาศรมอยู่ในบริเวณสุสานนั้น นักพรตผู้นี้เป็นผู้ชำนาญในมายาศาสตร์คนหนึ่ง มีชื่อว่า วามศิวะ ร่างกายเหี่ยวย่นด้วยเส้นเอ็นปูดระเกะระกะ อันเกิดจากชราภาพและบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายมาช้านาน ร่างกายถูกชะโลมด้วยขี้เถ้าจากที่เผาศพจนดูขาวโพลนไปหมด มีมวยผมขมวดมุ่นบนศีรษะ ภาพลักษณ์ทั้งหมดดังกล่าวนี้ทำให้วามศิวะดูเหมือนพระศิวะจริง ๆ ฤษีนั่งเล่นอยู่ในอาศรม พอได้ยินเสียงผู้คนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ไกล ๆ ในป่าช้า จึงกล่าวแก่ศิษย์ที่อาศัยอยู่ด้วยกันว่า “เฮ้ย ลุกขึ้น ลองออกไปดูซิว่าเสียงนั่นมาจากไหน รีบไปเร็ว ๆ แล้วกลับมารายงานข้า การณ์ปรากฎว่าศิษย์ที่อาจารย์เรียกไปใช้นั้นเป็นคนที่ถือมั่นในปฏิญญาว่าจะเสพอาหารก็แต่เฉพาะบิณฑบาต มาได้เท่านั้น ตัวศิษย์คนนี้เป็นคนโง่และเป็นคนชั่ว เย่อหยิ่งหลงตัวเองจองหองว่าตนมีฌาน รู้เวทมนตร์มายาศาสตร์และอื่น ๆ ในประเภทเดียวกัน ขณะที่อาจารย์เรียกตัวมาใช้ เขากำลังอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดพาลรีพาลขวางเพราะอาจารย์ชอบหาเรื่องด่าเขาบ่อย ๆ ดังนั้นเมื่ออาจารย์ใช้เขาคราวนี้อีก เขาจึงตอบไปว่า “ข้าไม่ไป ท่านไปเองสิ เพราะเวลาบิณฑบาตของข้าเหลือน้อยเต็มที ข้าจะต้องรีบไป” เมื่ออาจารย์ได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวว่า “เจ้านี่มันน่าด่าเสียจริง ๆ โง่เง่าและเห็นแก่กินเป็นเรื่องใหญ่ เวลานี้ก็เพิ่งผ่านไปครึ่งยามเท่านั้น จะว่าถึงเวลาบิณฑบาตแล้วอย่างไร” เมื่อศิษย์ชั่วไดยินดังนั้นก็โกรธมากกล่าวว่า “คนอย่างเจ้ามันก็น่าด่าเหมือนกัน อ้ายแก่สกปรก ข้าไม่ใช่ลูกศิษย์ของเจ้าอีกแล้ว และเจ้าก็ไม่ใช่ครูของข้าอีกต่อไป ข้าจะไปอยู่ที่อื่น เจ้าจงถือบาตรของเจ้าไปภิกขาจารเองเถอะ” เมื่อกล่าวดังนี้แล้วก็ลุกไปหยิบไม้เท้าและบาตรมาวางตรงหน้าอาจารย์แล้วก็เดินจากไป

           ฝ่ายฤษีเมื่อลูกศิษย์หนีไปแล้ว ก็เดินไปหัวเราะไป และเดินทางมาถึงสถานที่เผาศพบริเวณสุสาน ก็เห็นศพพราหมณ์หนุ่มนอนอยู่บนกองฟืนเตรียมจะจุดไฟเผา ฤษีเฒ่าผู้มีมนตร์วิเศษก็เกิดความคิดว่าตนจะเข้าสิงร่างเด็กหนุ่มเพื่อละร่างชราน่าเกลียดของตนกลับไปเป็นหนุ่มอีกครั้งหนึ่ง คิดฉะนี้แล้วก็หลบออกไปด้านหนึ่งแล้วเปล่งเสียงร้องไห้ดัง ๆ หลังจากนั้นก็กระโดดโลดเต้นอย่างมีความสุข ต่อจากนั้นฤษีเฒ่าผู้ต้องการจะเป็นหนุ่มอีก ก็ละร่างของตนและร่ายมนตร์วิเศษเข้าสิงร่างเด็กหนุ่มในบัดดล ทันใดนั้นร่างของเด็กหนุ่มซึ่งนอนอยู่บนกองฟืนในจิตกาธาน ก็ขยับร่างและลุกขึ้นนั่งพร้อมกับอ้าปากหาวนอน เมื่อบรรดาญาติและคนทั้งหลายที่รายล้อมอยู่ ณ ที่นั้นแลเห็นก็พากันส่งเสียงตะโกนกึกก้องว่า “ไชโย เขาฟื้นแล้ว เขาฟื้นแล้ว”

           ฝ่ายนักบวชเจ้าเล่ห์ ผู้เป็นหมอผีอาคมฉมัง ได้เข้าสิงพราหมณ์หนุ่มเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องการที่จะละศีลของตน (เพราะตนเป็นนักพรตอยู่) จึงประกาศแก่คนทั้งหลายว่า “เมื่อข้าเพิ่งตายลง ข้าละโลกนี้ไปสู่ปรโลก องค์พระศิวะได้มาช่วยให้ข้ากลับคืนชีวิตอีกครั้ง และพระองค์ตรัสแก่ข้าว่า พระองค์มีพระประสงค์ให้ข้าถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างพวกนักบวชปาศุบต บัดนี้ข้าจะต้องไปสู่ที่อันวิเวก เพื่อบำเพ็ญพรตดังกล่าว หาไม่แล้วชีวิตข้าจะอยู่สืบไปมิได้ ดังนั้นข้าจะต้องจากพวกเจ้าไปแล้ว” กล่าวแก่บรรดาผู้มาชุมนุม ณ ที่นั้นแล้ว นักพรตผู้ตัดสินใจเด็ดขาด ก็ละคนทั้งหลายให้กลับไปบ้านของตน ตัวเองบังเกิดความยินดีและความเศร้า แต่ในที่สุดก็หักใจได้ ละทิ้งร่างเดิมเสีย กลายเป็นร่างชายหนุ่ม เดินทางออกจากที่นั้นท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง

           เวตาล เมื่อเล่านิทานจบลง ก็กล่าวแก่พระเจ้าตริวิกรมเสนว่า “โอ ราชะ ช่วยอธิบายให้ข้าทราบหน่อยเถอะว่า เหตุใดนักมายาเวทผู้ยิ่งใหญ่คนนั้น เมื่อสิงร่างของคนอื่นจึงร้องไห้ในครั้งแรก และกระโดดโลดเต้นในครั้งหลัง ข้าอยากฟังเหตุผลอย่างมากเลย”

           เมื่อพระราชาผู้ทรงรอบรู้กว่านักปราชญ์ทั้งหลาย ได้สดับปัญหาของเวตาลที่ทูลถามเช่นนั้น จะไม่พูดก็กลัวคำสาป จึงกล่าวทำลายความเงียบขึ้นด้วยคำตอบดังนี้ “เมื่อพิจารณาความรู้สึกของนักพรตผู้นี้แล้วจะเห็นได้ว่า ที่นักพรตร้องไห้ก็เพราะเขากำลังจะละทิ้งร่างเดิมเพื่อเข้าร่างใหม่ ก็ร่างเดิมนั้นเป็นของเขามาแต่กำเนิด และเขาอยู่กับสังขารนั้นมาช้านานหลายสิบปีจนแก่เฒ่า ก็ร่างนี้แหละที่พ่อแม่อุ้มชูเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่ยังแบเบาะ เมื่อจะจากสังขารนี้ไปจะไม่ให้อาลัยอาวรณ์กระไรได้ ก็ความรักตัวเองนั้นเป็นอุปนิสัยสันดานของทุก ๆ คนมิใช่หรือ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาจะต้องสูญเสียของที่รักไป เขาจึงเศร้าใจและร้องไห้ แต่การที่เขาเต้นรำทำเพลงเช่นนั้นก็เพราะว่า เขามีความสุขที่จะได้เข้าไปสู่ร่างกายใหม่ และจากการที่เขาจะกลายเป็นหนุ่มนั้น จะทำให้เขามีเวลาในการใช้ชีวิตได้อีกยาวนานหลายสิบปี เป็นกำไรชีวิตที่หาได้ยากอย่างหนึ่ง และจะทำให้เขามีเวลาอีกมากมายที่จะฝึกมายาเวทได้อย่างสบาย ๆ และจะก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปเป็นไหน ๆ และถ้าจะว่าไป ใครเล่าที่ไม่ยินดีต่อความเป็นหนุ่ม?”

           เมื่อเวตาลซึ่งสิงอยู่ในศพได้ฟังคำตอบของพระราชาก็ยิ้มอย่างสมใจ กระโดดจากพระพาหาของพระราชา หายวับไปในความมืด กลับคืนไปยังต้นอโศกตามเดิม พระเจ้าตริวิกรมเสนผู้มีน้ำพระทัยอันเด็ดเดี่ยวและหนักแน่น เหมือนภูผาที่ไม่แคลนคลอนแม้ถึงคราวจะสิ้นกัปกัลป์ก็ตาม ทรงหันหลังกลับและวิ่งกวดผีเจ้าเล่ห์ไปอย่างเร็วเพื่อเอาตัวมันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง