พระเขมาเถรี
เอตทัคคะอัครสาวิกาฝ่ายขวาในทางผู้มีปัญญา
   พระเขมาเถรี เกิดในราชสกุล กรุงสาคละ แคว้นมัททะ พระประยูรญาติได้ให้พระนามว่า “ เขมา ” เพราะนางมีผิวพรรณเลื่อมเรื่อดังสีทอง เมื่อเจริญพระชันษาแล้ว ได้อภิเษกเป็นมเหสีพระเจ้าพิมพิสารแห่งนครราชคฤห์

  เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์นั้นพระนางได้สดับข่าวว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษในรูปสมบัติและเพราะความที่พระนางเป็นผู้หลงมัวเมาในรูปโฉมของตนเอง จึงไม่กล้าไปเข้าเฝ้าพระทศพลด้วยเกรงว่าพระพุทธองค์จะแสดงโทษในรูปโฉมของพระนาง


หลงอุบายถูกหลอกให้ไปวัด

  ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงดำริว่า “ เราเป็นอัครอุปฏฐากของพระศาสดาแต่อัครมเหสี ของอริยสาวกเช่นเรานี้กลับไม่ไปเฝ้าพระทศพล ข้อนี้เราไม่ชอบใจเลย ” ดังนั้น พระองค์จึงคิดหาอุบายด้วยการให้พวกนักกวีผู้ฉลาด แต่งบทกวีประพันธ์ถึงคุณสมบัติความงามของพระวิหารเวฬุวันราชอุทยานแล้ว รับสั่งให้นำไปขับร้องใกล้ ๆ ที่พระนางเขมาเทวีประทับ เพื่อให้ทรงสดับบทประพันธ์นั้น

  พระนาง ได้สดับคำพรรณนาความงดงามของพระราชอุทยานแล้ว ก็มีพระประสงค์จะเสด็จไปชม จึงเข้าไปกราบทูลพระราชาผู้สามี ซึ่งท้าวเธอก็ทรงยินดีให้เสด็จไปตามพระประสงค์ เมื่อพระนางได้เสด็จชมพระราชอุทยานจนสิ้นวันแล้วใคร่เสด็จกลับ พวกราชบุรุษทั้งหลายได้นำพระนางไปยังสำนักของพระบรมศาสดาทั้ง ๆ ที่พระนางไม่พอพระทัยเลย

  พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระนางกำลังเสด็จมา จึงทรงเนรมิตนางเทพอัปสรนางหนึ่ง ซึ่งกำลังถือพัดก้านใบตาลถวายงานพัดให้พระองค์อยู่เบื้องหลัง พระนางเขมาเทวี เห็นนางเทพอัปสรนั้นแล้วถึงกับตกพระทัยดำริว่า
    “ แย่แล้วสิเรา สตรีที่งามปานเทพอัปสรเห็นปานนี้ยืนอยู่ใกล้ ๆ พระทศพล แม้เราจะเป็นปริจาริกา หญิงรับใช้ของนาง ก็ยังไม่คู่ควรเลย เพราะเหตุไร เราจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจจิตคิดชั่วหลงมัวเมาอยู่ในรูปเช่นนี้หนอ ”

  พระนางยืนทอดพระเนตรเพ่งดูสตรีนั้นอยู่ ในขณะนั้นเอง พระบรมศาสดา ได้ทรงอธิษฐานให้สตรีนั้นมีสรีระเปลี่ยนแปลงล่วงเลยปฐมวัยย่างเข้าสู่มัชฌิมวัย ล่วงมัชฌิมวัยแล้วย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย เป็นผู้มีหนังเหี่ยวย่น ผมหงอกฟันหัก แก่หง่อมแล้วล้มลงกลิ้งพร้อมกับพัดใบตาลนั้น

  พระนางเขมาเทวี ได้ทอดพระเนตรเห็นรูปสตรีนั้นโดยตลอดแล้ว จึงดำริว่า
    “ สรีระที่สวยงามเห็นปานนี้ยังถึงกับความวิบัติอย่างนี้ได้ แม้สรีระของเราก็จักมีคติเป็นไปอย่างนี้เหมือนกัน ”

  ขณะที่พระนางกำลังมีพระดำริอย่างนี้อยู่นั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสพระคาถาภาษิตว่า
      “ ชนเหล่าใดถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมตกไปในกระแสราคะ
        เหมือนแมลงมุมตกไปในข่ายใยที่ตนทำเอง
        เมื่อชนเหล่านั้นตัดกระแสนั้นได้ โดยไม่มีเยื่อใยแล้ว
        ละกามสุขเสียได้ ย่อมออกบวช ”

        เมื่อจบพระพุทธดำรัสคาถาภาษิตแล้ว พระนางเขมาเทวี ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในอิริยาบทที่ประทับยืนนั้นเอง


พระอรหันต์ฆราวาสเป็นได้ไม่นาน

  ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือน เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้วจำต้องปรินิพพานหรือไม่ก็บวชเสียในวันนั้น เพราะเพศฆรวาสไม่สามารถจะรองรับความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่พระนางรู้ว่าอายุสังขารของตนยังเป็นไปได้ จึงเสด็จกลับพระราชนิเวศน์เพื่อให้พระเจ้าพิมพิสารพระสวามีทรงอนุญาตการบวชก่อน แม้พระราชาก็ทรงทราบโดยสัญญาณคืออาการที่พระนางแสดงว่าบรรลุอริยธรรมแล้ว ทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ให้พระนางประทับบนวอทองแล้วนำไปอุปสมบทในสำนักของภิกษุณีสงฆ์


  เมื่อพระนางบวชแล้วได้นามว่า “ พระเขมาเถรี ” เพราะอาศัยเหตุที่พระนางมีปัญญามาก บรรลุพระอรหัตผลทั้ง ๆ ที่อยู่ในเพศฆราวาส พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่อมเธอไว้ในตำเหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้มีปัญญา และทรงแต่งตั้งให้เป็น อัครสาวิกาฝ่ายขวา.....

     วิชชา    ความรู้แจ้ง ,    ความรู้วิเศษ   มี ๘ คือ
       ๑. วิปัสสนาญาณ    ญาณอันนับเข้าในวิปัสสนา
       ๒. มโนมยิทธิ    ฤทธิ์ทางใจ
       ๓. อิทธิวิธิ    แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
       ๔. ทิพพโสต    หูทิพย์
       ๕. เจโตปริยญาณ    รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้
       ๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ    ระลึกชาติได้
       ๗. ทิพพจักขุ    ตาทิพย์ ( จุตูปปตาญาณ)
       ๘. อาสวักขยญาณ    รู้จักทำอาสวะให้สิ้น

ย้อนกลับ             ปิดหน้านี้         ถัดไป