พระปฏาจาราเถรี
เอตทัคคะในฝ่าย ผู้ทรงพระวินัย
      พระปฏาจาราเถรี เป็นธิดาของมหาเศรษฐีในเมืองสาวัตถี เมื่ออายุย่างได้ ๑๖ ปี เป็นหญิงมีความงดงามมาก บิดามารดาทะนุถนอมห่วงใย ให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ เพื่อป้องกันการคบหากับชายหนุ่ม

  แม้กระนั้น เพราะนางเป็นหญิงโลเลในบุรุษ จึงได้คบหาเป็นภรรยาคนรับใช้ในบ้านของตน ต่อมาบิดามารดาของนาง ได้ตกลงยกนางให้แก่ชายคนหนึ่งที่มีชาติสกุลและทรัพย์เสมอกัน เมื่อใกล้กำหนดวันวิวาห์ นางได้พูดกับคนรับใช้ผู้เป็นสามีว่า

  ได้ทราบว่าบิดามารดาได้ยกฉันให้กับลูกชายสกุลโน้น ต่อไปท่านก็จะไม่ได้พบกับฉันอีก ถ้าท่านรักฉันจริง ท่านจงพาฉันหนีไปจากที่นี่แล้วไปอยู่ร่วมกันในที่อื่นเถิด

  เมื่อตกลงนัดหมายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชายคนรับใช้ผู้เปลี่ยนฐานะมาเป็นสามีนั้น ได้ไปรออยู่ข้างนอก แล้วนางก็หนีบิดามารดาออกจากบ้าน ไปร่วมครองรักครองเรือนกันในบ้านตำบลหนึ่งซึ่งไม่มีคนรู้จัก ช่วยกันทำไร่ ไถนา เข้าป่าเก็บผักหักฟืน หาเลี้ยงกันไปตามอัตภาพ นางต้องตักน้ำตำข้าว หุงต้มด้วยมือของตนเอง ได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส เพราะตนไม่เคยทำมาก่อน


คลอดลูกกลางทาง

  กาลเวลาผ่านไป นางได้ตั้งครรภ์บุตรคนแรก เมื่อครรภ์แก่ขึ้นนางจึงอ้อนวอนสามีให้พานางกลับไปยังบ้านของบิดามารดาเพื่อคลอดบุตร เพราะการคลอดบุตรในที่ไกลจากบิดามารดาและญาตินั้นเป็นอันตราย แต่สามีของนางก็ไม่กล้าพากลับไป เพราะเกรงว่าจะถูกลงโทษ อย่างรุนแรง จึงพยายามพูดจาหน่วงเหนี่ยวเธอไว้ จนนางเห็นว่าสามีไม่พาไปแน่ วันหนึ่ง เมื่อสามีออกไปทำงานนอกบ้าน นางจึงสั่งเพื่อนบ้านใกล้เคียงกันให้บอกกับสามีด้วยว่า นางไปบ้านของบิดามารดา แล้วนางก็ออกเดินทางไปตามลำพัง

  เมื่อสามีกลับมาทราบความจากเพื่อนบ้านแล้ว ด้วยความห่วงใยภรรยาจึงรีบออกติดตาม ไปทันพบนางในระหว่างทาง แม้จะอ้อนวอนอย่างไรนางก็ไม่ยอมกลับ ทันใดนั้น ลมกัมมัชวาต คือ อาการปวดท้องใกล้คลอด ก็เกิดขึ้นแก่นาง จึงพากันเข้าไปใต้ร่มไม้ริมทาง นางนอนกลิ้งเกลือกทุรนทุรายเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างหนัก ในที่สุดก็คลอดบุตรออกมาด้วยความยากลำบาก เมื่อคลอดบุตรโดยปลอดภัยแล้ว ก็ปรึกษากันว่า กิจที่ต้องการไปคลอดที่เรื่อนของบิดามารดานั้นก็สำเร็จแล้ว จะเดินทางต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ จึงพากันกลับบ้านเรื่อนของตน อยู่ร่วมกันต่อไป


สามีถูกงูกัดตาย

  ต่อมาไม่นานนักนางก็ตั้งครรภ์อีก เมื่อครรภ์แก่ขึ้นตามลำดับ นางจึงอ้อนวอนสามีเหมือนครั้งก่อน แต่สามีก็ยังไม่ยินยอมเช่นเดิม นางจึงอุ้มลูกคนแรกหนีออกไปจากบ้าน แม้สามีจะตามมาทัน ชักชวนให้กลับก็ไม่ยอมกลับ จึงเดินทางร่วมกันไป เมื่อเดินทางมาได้อีกไม่ไกลนัก เกิดลมพายุพัดแรงและฝนก็ ตกลงมาอย่างหนัก พร้อมกันนั้นนางก็ปวดท้องใกล้จะคลอดขึ้นมาอีก จึงพากันแวะลงข้างทาง ฝ่ายสามีได้ไปหาตัดกิ่งไม้เพื่อมาทำเป็นที่กำบังลมและฝน แต่เคราะห์ร้ายถูกงูพิษกัดตายในป่านั้น

  นางทั้งปวดท้องทั้งหนาวเย็น ลมฝนก็ยังคงตกลงมาอย่างหนัก สามีก็หายไปไม่กลับมา ในที่สุดนางก็คลอดบุตรคนที่สองอย่างน่าสังเวช ลูกของนางทั้งสองคนทนกำลังลมและฝนไม่ไหว ต่างร้องไห้กันเสียงดังลั่นแข่งกับลมฝน นางต้องเอาลูกทั้งสองมาอยู่ใต้ท้อง

  โดยนางใช้มือและเข่ายืนบนพื้นดินในท่าคลาน ได้รับทุกข์เวทนาอย่างมหันต์สุดจะรำพันได้ เมื่อรุ่งอรุณแล้วสามีก็ยังไม่กลับมา จึงอุ้มลูกคนเล็กซึ่งเนื้อหนังยังแดง ๆ อยู่ จูงลูกคนโต ออกตามหาสามี เห็นสามีนอนตายอยู่ข้างจอมปลวกจึงร้องไห้รำพันว่า สามีตายเพราะนางเป็นเหตุ

  เมื่อสามีตายแล้ว ครั้นจะกลับไปที่บ้านทุ่งนาก็ไม่มีประโยชน์ จึงตัดสินใจไปหาบิดามารดาของตนที่เมืองสาวัตถี โดยอุ้มลูกคนเล็ก และจูงลูกคนโต เดินไปด้วยความทุลักทุเลเพราะความเหนื่อยอ่อนอย่างหนัก ดูน่าสังเวชยิ่งนัก


หัวใจสลายเพราะสูญเสียลูกน้อยทั้งสอง

  นางเดินทางมาถึงริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี มีน้ำเกือบเต็มฝั่งเนื่องจากฝนตกหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา นางไม่สามารถจะนำลูกน้อยทั้งสองข้ามแม่น้ำไปพร้อมกันได้ เพรานางเองก็ว่ายน้ำไม่เป็น แต่อาศัยที่น้ำไม่ลึกนักพอที่จะเดินลุยข้ามไปได้ จึงสั่งให้ลูกคนโตรออยู่ก่อน แล้วอุ้มลูกคนเล็กข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง

   เมื่อถึงฝั่งแล้ว ได้นำใบไม้มาปูลองลูกคนเล็กนอนที่ชายหาด แล้วกลับไปรับลูกคนโต ด้วยความห่วงใยลูกคนเล็ก นางจึงเดินดูพลางหันกลับไปดุลูกคนเล็กพลาง ขณะที่มาถึงกลางแม่น้ำนั้น มีนกเหยี่ยวตัวหนึ่งบินวนไปมาอยู่กลางอากาศ มันเห็นเด็กน้อยนอนอยู่มีลักษณะเหมือนก้อนเนื้อ จึงบินโฉบลงมาแล้วเฉี่ยวเอาเด็กน้อยไป นางตกใจสุดขีดไม่รู้จะทำอย่างไรได้ จึงได้แต่โบกมือไล่ตามเหยี่ยวไป แต่ก็ไม่เป็นผล เหยี่ยวพาลูกน้อยของนางไปเป็นอาหาร

   ส่วนลูกคนโตยืนรอแม่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง เห็นแม่โบกมือทั้งสองตะโกนร้องอยู่กลางแม่น้ำ ก็เข้าใจว่าแม่เรียกให้ตามลงไป จึงวิ่งลงไปในน้ำด้วยความไร้เดียงสา ถูกกระแสน้ำพัดพาจมหายไป


ทราบข่าวการตายของบิดามารดาถึงกับเสียสติ

  เมื่อสามีและลูกน้อยทั้งสองตายจากนางไปหมดแล้ว เหลือแต่นางคนเดียว นางจึงเดินทางมุ่งหน้าสู่บ้านเรือนของบิดามารดา ทั้งหิวทั้งเหนื่อยล้า ได้รับความบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ รู้สึกเศร้าโศกเสียใจสุดประมาณ พลางเดินบ่นรำพึงรำพันไปว่า บุตรคนหนึ่งของเราถูกเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไป บุตรอีกคนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีก็ตายในป่าเปลี่ยว นางเดินไปก็บ่นไปแต่ยังพอมีสติอยู่บ้าง ได้พบชายคนหนึ่งเดินสวนทางมา สอบถามทราบว่ามาจากเมืองสาวัตถี จึงถามถึงบิดามารดาของตนที่อยู่ในเมืองนั้น ชายคนนั้นตอบว่า

  “น้องหญิง เมื่อคืนนี้เกิดลมพายุและฝนตกอย่างหนัก เศรษฐีสองสามีภรรยาและลูกชายอีกคนหนึ่ง ถูกปราสาทของตนพังล้มทับตายพร้อมกันทั้งครอบครัว เธอจงมองดูควันไฟที่เห็นอยู่โน่น ประชาชนร่วมกันเผาทั้ง ๓ พ่อ แม่ และลูกบนเชิงตะกอนเดียวกัน “

  นางปฏาจารา พอชายนั้นกล่าวจบลงแล้ว ก็ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่รู้สึกตัวว่า ผ้านุ่งผ้าห่มที่นางสวมใส่อยู่นั้นหลุดลุ่ยลงไป เดินเปลือยกายเป็นคนวิกลจริต ร้องไห้ไปบ่นเพ้อรำพันเซซวนคร่ำครวญว่า บุตรสองคนของเราตายแล้ว สามีของเราก็ตายที่ทางเปลี่ยว บิดามารดาและพี่ชายของเราก็ถูกเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน นางเดินไปบ่นไปอย่างนี้ คนทั่วไปเห็นแล้วคิดว่า นางเป็นบ้า พากันขว้างปาด้วยก้อนดินบ้าง โรยฝุ่นลงบนศีรษะนางบ้าง และนางยังคงเดินต่อเรื่อยไปอย่างไร้จุดหมายปลายทาง


หายบ้าแล้วได้บวช

  ขณะนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางพุทธบริษัท ทรงทราบด้วยพระญาณว่านางปฏาจารามีอุปนิสัยแห่งพระอรหัต จึง บันดาลให้นางเดินทางมายังวัดพระเชตวัน นางได้เดินมายืนเกาะเสาศาลาโรงธรรมอยู่ท้ายสุดพุทธบริษัท หมู่คนทั้งหลายพากันขับไล่นางให้ออกไป แต่พระบรมศาสดาตรัสห้ามไว้ แล้วตรัสกับนางว่า

  “จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง”

  ด้วยพุทธานุภาพ นางกลับได้สติในขณะนั้นเอง มองดูตัวเองเปลือยกายอยู่ รู้สึกอายจึงนั่งลง อุบาสกคนหนึ่งโยนผ้าให้นางนุ่งห่ม นางเข้าไปกราบถวายบังคมพระศาสดาที่พระบาท แล้วกราบทูลเคราะห์กรรมของนางให้ทรงทราบโดยลำดับ พระพุทธองค์ได้ตรัสพระดำรัสว่า

  “แม่น้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ ก็ยังน้อยกว่าน้ำตาของคนที่ถูกความทุกข์ ความเศร้าโศกครอบงำ ปฏาจารา เพราะเหตุไร เธอจึงยังประมาทอยู่”

  ปฏาจารา ฟังพระดำรัสนี้แล้วก็คลายความเศร้าโศกลง พระบรมศาสดาทรงทราบว่านางหายจากความเศร้าโศกแล้ว จึงตรัสต่อไปว่า

   “ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าบุตรสุดที่รัก ไม่อาจเป็นที่พึ่ง เป็นที่ต้านทาน หรือเป็นที่ป้องกันแก่ผู้ไปสู่ปรโลกได้ บุตรเหล่านั้น ถึงจะมีอยู่ก็เหมือนไม่มี ส่วนผู้รู้ทั้งหลายรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ควรชำระทางไปสู่พระนิพพานของตนเท่านั้น”

  “แม่น้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ ก็ยังน้อยกว่าน้ำตาของคนที่ถูกความทุกข์ ความเศร้าโศกครอบงำ ปฏาจารา เพราะเหตุไร เธอจึงยังประมาทอยู่”

  ปฏาจารา ฟังพระดำรัสนี้แล้วก็คลายความเศร้าโศกลง พระบรมศาสดาทรงทราบว่านางหายจากความเศร้าโศกแล้ว จึงตรัสต่อไปว่า

   “ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าบุตรสุดที่รัก ไม่อาจเป็นที่พึ่ง เป็นที่ต้านทาน หรือเป็นที่ป้องกันแก่ผู้ไปสู่ปรโลกได้ บุตรเหล่านั้น ถึงจะมีอยู่ก็เหมือนไม่มี ส่วนผู้รู้ทั้งหลายรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ควรชำระทางไปสู่พระนิพพานของตนเท่านั้น”

  เมื่อจบพระธรรมเทศนา นางปฏาจาราดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน แล้วกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงอนุญาต แล้วจึงบวชเป็นพระภิกษุณี ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อนางปฏาจาราได้อุปสมบทแล้ว ปรากฏว่าเป็นพระภิกษุณีผู้มีความรอบรู้ในเรื่องพระวินัยเป็นอย่างดี อาศัยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องเธอไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ทรงพระวินัย

  วันหนึ่ง พระปฏาจาราเถรีตักน้ำมาล้างเท้า พอเห็นน้ำตกลงถึงพื้นดิน น้ำไหลไปหน่อยหนึ่งแล้วก็หยุดขาดสาย ท่านจึงเทน้ำลงไปอีกเป็นครั้งที่สอง น้ำก็ ไหลไปไกลกว่าครั้งแรกอีกแล้วขาดสาย ท่านจึงเทน้ำลงไปอีกเป็นครั้งที่สาม น้ำก็ไหลไปไกลกว่าครั้งที่สองอีกแล้วก็ขาดสาย ท่านจึงเอาการเทน้ำทั้งสามครั้งนั้นมาเป็นอารมณ์ พิจาราณาเปรียบเทียบกับ “วัย” ทั้ง ๓ ว่า

   สัตว์โลกบางพวกตายใน “ ปฐมวัย ” คือวัยต้นเปรียบเสมือนน้ำที่เราได้เทลงไปในครั้งแรกก็มี

   สัตว์โลกบางพวกตายใน “มัชฌิมวัย” คือวัยกลาง เปรียบเสมือนน้ำที่เราเทลงไปเป็นครั้งที่สองก็มี

   สัตว์โลกบางพวกตายใน “ปัจฉิมวัย” คือวัยสุดท้าย เปรียบเสมือนน้ำที่เราเทลงไปครั้งที่สามก็มี

  พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฏี ทรงเปล่งพระรัศมีไปให้ปรากฏเหมือนดังพระองค์ประทับยืนตรัสอยู่ในสถานที่ เฉพาะหน้าพระปฏาจาราเถรี แล้วจึงตรัสว่า “ข้อเปรียบเทียบนี้ถูกต้องแล้วปฏาจารา การมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวก็ดี ขณะ(เวลา)เดียวก็ดี ของผู้เห็นความตั้งขึ้นและเสื่อมไปแห่งขันธ์ ๕ ยังดีกว่าการมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปีของผู้ไม่เห็นความเสื่อมไปและความตั้งขึ้นแห่งขันธ์ ๕ และพระองค์ตรัสพระคาถาธรรมว่า

  “ผู้ใดไม่เห็นความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป ถึงมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี การมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวของผู้เห็น ความตั้งขึ้นและเสื่อมไปยังดีกว่าการมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ปี ของผู้นั้น”

  คำอธิบายขยายความพระคาถาธรรมนี้ว่า คำว่าผู้ไม่เห็นความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป ได้แก่ไม่เห็นความตั้งขึ้นและความเสื่อมแห่งขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยลักษณะ ๒๕ คือความเกิดดับแห่งขันธ์ ๕ พร้อมด้วยเหตุ ได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม อาการนับเป็นอย่างละหมวดรวมเป็น ๕ หมวด

  ส่วนผู้เห็นความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป ได้แก่ ผู้มีชีวิตอยู่แม้เพียงวันเดียวที่ได้เห็นความตั้งขึ้นและความ เสื่อมไปแห่งขันธ์ ๕

  ในเวลาจบพระธรรมเทศนาลง พระปฏาจาราเถรีก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

ย้อนกลับ             ปิดหน้านี้         ถัดไป
                                

  ขอขอบคุณๆลุงที่ส่งเรื่องนี้