พระภัททกาปิลานีเถรี
เอตทัคคะในฝ่ายบุพเพนิวาสานุสสติญาณ
      พระภัททกาปิลานีเถรี เป็นธิดาของเศรษฐีโกสิยพราหมณ์ ในสาคลนครมารดาชื่อ สุจิบดี เมื่อเจริญวัยขึ้นมาได้ทำอาราหมงคลเป็นภรรยาของปิปผลิมานพ ตรกูลกัสสปะ เรียกชื่อตามตระกูลว่า “ กัสสปะ” นับว่าเป็นสามีภรรยาที่แปลกเพราะทั้งคู่ไม่ยินดีในการถูกเนื้อต้องตัวกัน แม้จะนอนบนเตียงเดียวกันแต่ก็ขึ้นคนละข้าง และมีแจกันดอกไม้กั้นตรงกลาง อยู่ครองคู่กันจนบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายถึงแก่กรรม ทรัพย์สมบัติทั้งหลายจึงตกอยู่ในปกครองดูแลรับผิดชอบของคนทั้งสอง
ไม่ทำบาปแต่ต้องคอยรับบาป

  เนื่องด้วยตระกูลทั้งสองนั้น เป็นตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์มาก เมื่อรวมเป็นตระกูลเดียวกันก็ยิ่งมากมายมหาศาล มีสัตว์เลี้ยงและคนงานจำนวนมาก ทั้งสองสามีภรรยาต้องบริหารสั่งการทุกอย่าง วันหนึ่ง ขณะที่กัสสปะผู้เป็นสามีออกไปตรวจดูการทำไร่ไถนาอยู่นั้น เห็นนกกาจิกกินสัตว์เล็กสัตว์น้อยแล้วรู้สึกสลดใจที่ตนเองจะต้องคอยรับบาปกรรมที่คนอื่นทำ แม้นางภัททกาปิลานีใช้ให้ทาสและกรรมกรนำเมล็ดถั่วเมล็ดงามาตากที่ลานหน้าบ้าน เห็นนกกามาจิกกินตัวหนอนก็เกิดสลดใจเช่นกัน

  ดังนั้น เมื่อสองสามีภรรยาอยู่พร้อมหน้าจึงปรึกษากันแล้วมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรจะมานั่งคอยรับบาปกรรมที่คนอื่นกระทำเพื่อตนเลย จึงพร้อมใจกันมอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่ญาติและทาสกรรมกรแบ่งกันไปดูแล ส่วนตนทั้งสองได้ปลงผมแล้วนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อธิษฐานเพศบรรพชา บวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลก แล้วเดินทางออกจากบ้านไปด้วยกัน พอถึงทางแยกสองแพร่ง

  “ ข้าแต่ท่าน ๆ เป็นชาย ควรแก่ทางขวา ส่วนข้าเป็นหญิงควรแก่ทางซ้าย ” นางภัททกาปิลานีเอ่ยขึ้น

  ว่าแล้วนางก็เดินประทักษิณ (เวียนขวา) เพื่อแสดงความเคารพสามี ๓ รอบแล้วก้มลงกราบตรงเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องซ้าย และเบื้องขวา ก่อนที่ทั้งสองจะจากกัน

  คัมภีร์บันทึกไว้ว่า ขณะที่ทั้งสองแยกทางกันเดินนั้นเกิดมีเหตุการณ์อัศจรรย์ คือแผ่นดินไหว ยอดภูเขาพระสุเมรุเอนเอียง ในอากาศมีแสงฟ้าแลบแปลบปลาบฉวัดเฉวียนอยู่ไปมา

  ท่านกัสสปะได้ไปทางขวา และได้พบพระบรมศาสดา ที่ใต้ร่มพหุปุตตนิโครธ แล้วกราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา


บวชในสำนักปริพาชก

  ส่วนนางภัททกาปิลานี แยกไปทางซ้าย เดินทางไปพบสำนักของปริพาชก จึงบวชอยู่ในสำนักนั้นถึง ๕ ปี เนื้องด้วยขณะนั้นพระพุทธองค์ยังมิได้ทรงอนญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระนางมหาปชาบดีโครตมีได้บวชแล้ว นางจึงได้มาบวชในสำนักของนางภิกษุณี ได้ศึกษาพระกรรมฐานบำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๓ อภิญญา ๖ เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเครื่องระลึกชาติได้

  ดังนั้น พระบรมศาสดา ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนา พระภัททกาปิลาเถรีนี้ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้บุพเพนิวาสานุสสติญาณ...

       วิโมกข์ ความหลุดพ้นจากกิเลส มี ๓ ประการ คือ
 ๑ .  สุญญตวิโมกข์     หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตาคือความว่าง
 ๒.   อนิมิตตวิโมกข์    หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจังแล้วถอนนิมิตได้
 ๓.   อัปปณิหิตวิโมกข์     หลุดพ้นด้วยเห็นทุกแล้วถอนความปราถนาได้

ย้อนกลับ             ปิดหน้านี้         ถัดไป