มหาชนก ๑

    ในอดีตที่ล่วงมาแล้ว มีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งนามว่า มหาชนก เสวยราชสมบัติในเมืองมิถิลา ท้าวเธอมีโอรสสองพระองค์ องค์หนึ่งนามว่า อริฎฐชนก อีกองค์หนึ่งมีนามว่าโปลชนก พระองค์ได้ทรงตั้งอริฎฐชนกในตำเเหน่ง อุปราช และโปลชนกในตำเเหน่ง เสนาบดี ต่อมาเมื่อท้าวเธอสวรรคตแล้ว อุปราชก็ได้ขึ้นครองแผ่นดินเสวยราชสมบัติแทน และได้แต่งตั้งเจ้าโปลชนกผู้เป็นน้องให้เป็นอุปราช ในขณะเมื่อเจ้าอริฎฐชนกเป็นอุราชอยู่นั้นก็รู้สึกว่าเป็นคนยุติธรรมดีอยู่ แต่เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วหูเบา ฟังแต่ถ้อยคำคนประจบสอพลอ เพราะตามธรรมดาคนประจบสอพลอนั้น จะต้องหาเรื่องฟ้องคนนั้นคนนี้อยู่เสมอ เพราะคนไม่ทำงานแต่ก็อยากได้ความชอบ และการได้ความชอบโดยไม่ต้องทำงานวิธีง่ายที่สุดคือเหยียบย่ำผู้อื่นให้ตกแล้วตนจะได้แทนตำแหน่งนั้น

            ตามธรรมดาของโลกย่อมจะมีเช่นนี้ตลอดกาล ผู้ทรงอำนาจกับความหูเบามักจะเป็นของคู่กัน ถ้าใครได้อ่านพงศาวดารจีน หรือแม้แต่ประวัติศาตร์ของไทย จะเห็นความหูเบามักจะทำไห้บ้านเมืองต้องพินาศ เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน

เจ้าอุปราชโปลชนกถูกกล่าวหาจากผู้ใกล้ชิดของพระเจ้ากรุงมิถิลาว่าจะทำการกบฎ เพราะเจ้าอุปราชทรงอำนาจในทางการเมืองมาก ครั้งแรกก็ยัง ไม่ยอมเชื่อ ครั้งที่สองก็ชักลังเล พอครั้งมี่สามก็ทรงเชื่อเอาเลย ลืมคิดว่าผู้เป็นน้องของพระองค์ที่คลานตามกันออกมาแท้ ๆ ลักษณะเช่นนี้เข้าหลักที่ว่า

“อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลักไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว”


            แม้ความรักระหว่างพี่กับน้องก็ตัดได้ ถึงกับสั่งให้จับพระมหาอุปราชไปคุมขังไว้ยังที่แห่งหนึ่ง โดยหาความผิดมิได้มีคนควบคุมอยู่อย่างแข็งแรง เจ้าอุปราชถูกควบคุมโดยหาความผิดมิได้ ก็คิดจะหลบหนีออกไป จึงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า
   “ขอเดชะพระเสื้อเมืองทรงเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายตัวข้าพเจ้ามิได้คิดทรยศต่อที่ชายเลย แต่กลับถูกจับคุมขังทำโทษหาความผิดมิได้ ถ้าใจของข้าพเจ้าซื่อสัตย์ต่อพี่ชายจริงแล้ว ขอให้โซ่ตรวนขื่อคาตลอดจนประตูคุก จงเปิดให้ประจักษ์เถิด”

    พอสิ้นคำอธิษฐานเท่านั้นด้วยความสัตย์สุจริตของมหาอุปราช บรรรดาเครื่องจองจำทั้งหลายก็หลุดออกจากกายของพระองค์ประตูเรือนจำก็เปิด มหาอุปราชก็เลยหนีออกจากที่นั้นไปซุ่มซ่อนอยู่ตามชายแดน

    พวกพลเมืองได้ทราบข่าวอุปราชหนีออกมา และเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินเชื่อถือแต่คำสอพลอถึงกับกำจัดน้องในไส้จึงพากันเห็นใจเจ้าอุปราช ๆ ก็ไพล่พลมากขึ้น ตอนนี้พระเจ้าแผ่นดินไม่กล้าส่งคนออกติดตามแล้ว เพราะกลัวจะเกิดศึกกลางเมืองขึ้น เพราะทราบดีว่าถ้าส่งคนออกไปจับเจ้าอุปราชก็คงจะต้องสู้จึงเลยทำเป็นใจดีไม่ติดตาม


           เจ้าอุปราชรวบรวมไพล่พลได้พอสมควรแล้วก็คิดว่า
   “ครั้งก่อนเราซื่อสัตย์ต่อพี่ชาย แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎถูกจับคุมขัง จนต้องทำสัตยาอธิษธานจึงหลุดพ้นออกมาได้ ต่อไปนี้เราจะต้องทำความชั่วตอบแทนพี่ชายบ้างล่ะ”

    เมื่อตัดสินใจเช่นนี้แล้ว เจ้าโปลชนกก็รวบรวมไพล่พลเสบียงอาหาร พร้อมแล้วก็ยกกองทัพเข้ามายังมิถิลานคร บรรดาหัวเมืองรายทางรู้ว่าเป็นกอง ทัพของพระเจ้าโปลชนก ก็ไม่สู้กลับเข้าด้วยเสียอีก เจ้าโปลชนกก็เลยได้คนมากขึ้นอีก ทัพก็ยกมาได้โดยเร็วเพราะหาคนต้านทานมิได้ ตราบจนกระทั่งถึงชานพระนคร จึงมีสาส์นส่งเข้าท้ารบว่า
   “พระเจ้าพี่ ครั้งก่อนหม่อมฉันไม่เคยจะคิดประทุษร้ายพระเจ้าพี่เลย แต่หม่อมฉันก็ต้องถูกจองจำทำโทษที่พระเจ้าพี่เชื่อแต่คำสอพลอ บัดนี้หม่อมฉันจะประทุษร้ายพระเจ้าพี่บ้างล่ะ ถ้าจะไม่ให้เกิดสงคราม ขอให้พระเจ้าพี่มอบราชสมบัติให้หม่อมฉันเสียโดยดี ถ้าไม่ให้ก็จงเร่งเตรียมตัวออกมาชนช้างกับหม่อมฉันในวันรุ่งขึ้น


            พระเจ้าอริฎฐชนก พอมาถึงตอนนี้ก็ต้องตกกระไดพลอยโจน จึงคิดจะยกพลออกไปต่อสู้กัน แต่ในขณะนี้นพระอัครมเหสีทรงพระครรภ์อยู่ พระเจ้าอริฎฐชนกจึงตรัสเรียกมาสั่งว่า
   “น้องหญิง ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้วไม่ดีเลย เพราะมีแต่ความพินาศเท่านั้น ประดุจสาดน้ำรด กันก็ย่อมจะเปียกปอนไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย
อีกประการหนึ่งเป็นเรื่องที่คาดหมายลงไปแล้วแน่นอนว่าจะชนะฝ่ายเดียวนั้นก็ไม่ได้ พี่จะยกพลออกไปสู้กับเจ้าโปลชนก หากพี่เป็นอะไรไป เจ้าจงพยายามรักษาครรภ์ให้จงดีเจ้าจงคิดถึงลูกของเราให้มาก”

           
        แล้วก็ยกพลออกไป และก็เป็นตามลางสังหรณ์ที่พระเจ้าอริฎฐชนกคาดว่าจะแพ้ก็แพ้จริง ๆ เพราะเมื่อได้ชนช้างกับเจ้าโปลชนกก็พลาดพลั้งเสียที ถูกเจ้าโปลชนกฟันสิ้นพระชนม์กับคอช้าง ไพล่พลก็แตกกระจัดกระจายพ่ายหนีอย่างไม่เป็นกระบวน

           
พระเทวีได้ทราบข่าวว่าพระสวามีสิ้นพระชนม์ และประชาชนพลเมืองแตกตื่นอุ้มลูกจูงหลานหนีข้าศึก พระนางก็เก็บของมีค่าใส่ลงใน กระเช้า เอาผ้าเก่า ๆ ปิดแล้วแอาข้าวสารใส่ข้างบน แล้วแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่า ๆ ร้องไห้ฟูมฟายหลบหนีปะปนไปกับประชาชนพลเมือง โดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร
“จะหนีไปทางใดจึงจะรอดพ้นจากข้าศึก” พระนางคิดอยู่แต่ในใจ แล้วระลึกขึ้นได้ว่า
“เมืองกาลจัมปาอยู่ทางทิศเหนือกับมิถิลา ถ้าหากหลบหนีไปเมืองนี้ได้ก็ปลอดภัย” จึงพยายามดั้นด้นไปจนออกประตูด้านเหนือของเมืองได้

     ด้วยบุญญาธิการของทารกในครรภ์ บันดาลให้ร้อนไปถึงพระอินทร์ เข้าลักษณะที่ว่า “ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน " อมรินทร์เร่งคิดสงสัย จึงสอดส่องทิพย์เนตรดูเหตุภัย ก็ได้ทราบว่าพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในครรภ์ของพระนางจะได้รับทุกข์ พระนางจะไปเมืองกาลจัมปาแต่ก็ไม่รู้จักหนทาง เดี๋ยวนี้ไปนั่งถามทางผู้คนที่ผ่านไปมาอยู่ ณ ศาลาพักคนเดินทางจำจะต้องอนุเคราะห์ ถ้าไม่อนุเคราะห์หัวเราจะต้องแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง เออ.? คิดดูก็น่าหนักใจแทนพระอินทร์เสียจริง ไม่ว่าคนมีบุญจะตกทุกข์ได้ยากอย่างไร เป็นต้องเดือดร้อนไปกับเขาด้วยเสมอ เวลาเขาเสวยสุขสิไม่ เคยคิดถึงพระอินทร์เลย จึงเนรมิตตนเป็นคนชรา ขับเกวียนผ่านมาทางนั้น พระนางพอเหลือบแลเห็นก็ออกปากถามทันที

          
“ตาจ๋า หลานอยากจะรู้ว่าเมืองกาลจัมปาอยู่ทางไหน”
“แม่หนูจะไปไหนล่ะ”
“ฉันจะไปเมืองกาลจัมปา”
“ญาติฉันมีอยู่ทางเมืองนั้น สามีออกไปรบข้าศึกก็ตายเสีย ฉันก็เลยจะพึ่งพาอาศัยญาติอยู่”
“ถ้าอย่างนั้นดีทีเดียว ตาก็จะไปเมืองกาลจัมปาเหมือนกันแม่หนูมาขึ้นเกวียนเถิด” เหมือนเทวดามาโปรด และแท้ที่จริงก็เทวดามาโปรดจริง ๆ

หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5   หน้า 6