• ท่านตัดวิชา คือความโง่ออกเสียได้สิ้นเชิง ท่านหมดความพอใจในสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่ยั่งยืน ท่านเห็นว่า ไม่ว่าอะไรมีเกิด แล้วก็มีเสื่อม และในที่สุดก็ต้องทำลาย ฉะนั้น อารมณ์ของท่านจึงไม่ถืออะไร มีก็ใช้ ไม่มีก็ไม่มีทุกข์ ตัดความกำหนัดยินดีในสมบัติของโลก ไม่มีเยื่อใยแม้แต่สังขารของท่าน

          พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกองค์มีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านที่เจริญอนุสสติข้อนี้ เมื่อใคร่ครวญตามความดีทั้งสิบประการนี้เสมอ ๆ ทำอารมณ์ให้ผ่องใสในพระพุทธคุณมากขึ้น จะเป็นเหตุให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้

2. สัมมาสัมพุทโธ แปลว่า ตรัสรู้เองโดยชอบ ความหมายนี้ หมายความว่าพระองค์ทรงรู้อริยสัจ 4 คือ รู้ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ รู้สมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่่ ตัณหา 3 ประการ คือ

  1. กามตัณหา อยากได้ในสิ่งที่ไม่เคยมี อยากให้มีีขึ้น
  2. ภวตัณหา สิ่งใดที่มีอยู่แล้ว อยากให้คงสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่อยากให้เก่า ไม่อยากให้เปล่ียนแปลง
  3. วิภวตัณหา อยากให้สิ่งที่ต้องสลายตัวนั้น ที่ี่เป็นตามกฎธรรมดา มีความปรารถนาไม่ให้กฎธรรมดาเกิดขึ้น คือไม่อยากให้สลายและไม่อยากเสื่อม ไม่อยากตายนั้น ความรู้สึกอย่างนี้เป็นความรู้สึกทฝืนกฎธรรมดา เป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์

      ทรงนิโรธะ คือความดับสูญไปแห่งความทุกข์ และทรงทราบมรรค คือปฎิทาที่ปฎิบัติให้เข้าถึงความทุกข์ คือทุกข์นั้นสูญสิ้นไป ได้แก่ทรงทราบมรรค คือข้อปฎิบัติ 8 ประการดังต่อไปนี้

  1. สัมมาทิฏฐิ    ความเห็นชอบ
  2. สัมมาสังกับโป ความดำริชอบ
  3. สัมมาวาจา    เจรจาชอบ
  4. สัมมากัมมันโต มีการงานชอบ
  5. สัมมาอาชีโว    เลี้ยงชีพชอบ
  6. สัมมาวายาโม   ความพยายามชอบ
  7. สัมมาสติ      ระลึกชอบ
  8. สัมมาสมาธิ    ตั้งใจชอบ

      ในมรรค คือข้อปฎิบัติที่จะเข้าถึงดับสูญไปแห่งทุกข์นี้ ย่อลงเหลือสามคือ

  • ศีล การรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อย ตามขอบเขตของสิกขาบท
  • สมาธิ การดำรงความตั้งมั่นของจิตที่ไม่เป็นเวรเป็นภัยต่อสังคม คือดำรงฌานไว้ด้วยดี เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ
  • ปัญญา ได้แก่การเจริญวิปัสสนาญาณจนรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดาไม่มีอารมณ์คิดที่จะฝืนกฎธรรมดานั้น

      3. วิชชาจรณสัมปันโน แปลว่า พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือ ทรงมีความรู้รอบและความประพฤติครบถ้วน

      วิชชา แปลว่า ความรู้ หมายถึงรู้ในวิชาสาม ที่สามัญชนไม่สามารถจะรู้ได้ คือ

  1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงมีความรู้ในการระลึกชาติที่ล่วงแล้วมาอย่างได้อย่างไม่จำกัด ไม่มีผู้อื่นใดจะระลึกชาติได้มากเท่าพระองค์ และพระองค์ทรงมีความชำนาญในการระลึกชาติได้อย่างเยี่ยม
  2. จุตุปปาตญาณ พระองค์ทรงมีความรู้ความเกิดและความตายของสัตว์ โดยทรงรู้ว่า สัตว์ที่ตายไปแล้วนี้ไปเกิด ณ ที่ใด มีความสุขความทุกข์เป็นประการใด เพราะผลกรรมอะไรเป็นเหตุ และทรงทราบว่า สัตว์ที่ตายไปแล้วนี้มาจากไหน ที่มีความสุขความทุกข์อยู่นี้ เพราะอาศัยกรรมอะไรเป็นเหตุ
  3. อาสวักขยญาณ ทรงรู้วิชชาที่ทำอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป

      จรณะ หมายถึงความประพฤติ พระองค์มีความประพฤติครบถ้วนยอดเยี่ยม ความประพฤติที่มี 15 ข้อด้วยกัน คือ

  1. สีลสัมปทา พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยศีล คือทรงปฎิบัติในศีลไม่บกพร่อง
  2. อินทรีสังวร ทรงระมัดระวังในการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ
  3. โภชเนมัตตัญญุตา ทรงรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
  4. ชาคริยานุโยค ทรงประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่ คือ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนบริบูรณ์
  5. สัทธา ทรงมีความเชื่อมั่นในผลการปฎิบัติ ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย
  6. หิริ ทรงมีความละอายต่อผลของความชั่วทั้งมวล
  7. โอตตัปปะ ทรงเกรงกลัวต่อผลของความชั่วทั้งมวล
  8. พาพุสัจจะ ทรงสั่งสมวิชาการต่าง ๆ ด้วยการศึกษามาแล้วด้วยดี
  9. วิริยะ ทรงมีความเพียรไม่ท้อถอย โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
  10. สติ ทรงมีสติสมบูรณ์
  11. ปัญญา มีปัญญารอบรู้ในวิทยาการทุกแขนง และทรงรู้แจ้งในอริสัจโดยที่มิได้ศึกษาจากผู้ใดมากาลก่อน ทรงค้นคว้าพบด้วยพระองค์เอง
  12. ปฐมฌาน ทรงฝึกฌาน จนได้ปฐมฌาน
  13. ทุติยฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนได้ฌานที่สอง
  14. ตติยฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนได้ฌานที่สาม
  15. จตุถฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนทรงฌานที่ 4 ไว้ได้ด้วยดีเป็นพิเศษ

      ทั้งหมดนี้ จัดเป็นจริยา คือความประพฤติของพระองค์ อันเป็นแบบอย่างที่บรรดาพุทธสาวกจะพึงปฏิบัติตามให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เพื่อผลในการปฎิบัติเพื่อมรรคผล เพราะพระองค์ทรงมีความประพฤติอย่างนี้ จึงทรงบรรลุมรรคผล หากพุทธศาสนิกชนที่นับถือพระองค์ปฎิบัติตาม ก็มีหวังได้บรรลุมรรคผลในชาติปัจจุบัน

      4. สุคโต แปลว่า เสด็จไปดีแล้ว หมายความว่า พระองค์เสด็จไป ณ ที่ใดพระองค์นำแต่ความสุขไปให้เจ้าของถิ่น คือนำความรู้อันเป็นเหตุของความสุขไปให้ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด ใครก็ตาม บูชาพระองค์แล้ว ไม่เคยผิดหวังที่จะได้รับความสุขในทางปฎิบัติ

      5. โลกวิทูแปลว่า รู้แจ้งโลก หมายความว่า โลกทุกโลกยมโลก คือโลกแห่งการทรมาน ได้แก่นรก เปรต อสุรกาย เป็นต้น มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก และพระนิพพาน อันเป็นแดนพ้นโลก พระองค์ทรงทราบตลอดหมดสิ้น แม้แต่ปฎิปทาที่จะให้ไปเกิดในโลกนั้น ๆ

      6. อนุตตโร ปุรสทัมมมสารถิ แปลว่า เป็นายสารถีผู้ฝึก ไม่มีนายสารถีใดมีความสามารถฝึกได้เสมอเหมือนพระองค์ ทั้งนี้หมายความถึงการฝึกธรรมปฎิบัติพระองค์ทรงมีญาณพิเศษที่เรียกว่า เจโตปริญาณ ทรงรู้ใจคนว่า ผู้นี้ควรสอนอย่างไรจึงจะได้ผล พระองค์ทรงฝึกสอนตามที่รู้ด้วยพระญาณนั้นจึงทีความสามารถฝึกฝนได้ดีเป็นพิเศษ

      7. สัตถา เทวมนุสสานัง แปลว่า พระองค์ทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ หมายความว่า การสั่งสอนเพื่อมรรคผลนั้น พระองค์มิได้ทรงสอนแต่มนุษย์เท่านั้น แม้เทวดาและพรหม พระองค์ทรงสั่งสอน การสอนมนุษย์ท่านอาจไม่สงสัยแต่การสอนเทวดานั้นท่านอาจจะแปลกใจ ข้อนี้ขอให้อ่านพุทธประวัติจะทราบ ว่าพระองค์ทรงสั่งสอนเทวดาและพรหมเป็นปกติเกือบทุกวัน เช่นเดียวกับสอนมนุษย์เหมือนกัน

      8. พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว ความหมายถึงคำว่าพุทโธ คือพระองค์ทรงรู้พระองค์ ด้วยความเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลานั้นเอง

      9. ภควา แปลว่า ผู้มีโชค หมายถึงพระองค์เป็นผู้มีโชคก่อนใคร ๆ ที่พระองค์เป็นผู้รู้เท่าทันอวิชชา คือความโง่เขลา ความโง่ไม่สามารถครอบงำพระองค์ได้โดยอาศัยพระองค์ค้นพบอริยสัจ 4 จึงสามารถทำลายอำนาจอวิชา คือความโง่ให้สลายตัวไปเสียได้ เหลือไว้แต่ความฉลาดหลักแหลม ไม่ทำให้ พระองค์ให้หลงใหลไปในอำนาจกิเลสและตัณหาต่อไป พระองค์ทรงพบความสุขที่ยอดเยี่ยมไม่มีความสุขอื่นยิ่งกว่า ความสุขที่ว่านี้ คือ พระนิพพาน

      พระพุทธคุณทั้ง 9 ประการนี้ จัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน คือตั้งอารมณ์ข่มนิวรณ์ปรารภถึงความดีของพระพุทธเจ้า เพื่อพระโยคาวจร คือท่านนักปฎิบัติพระกรรมฐานได้คำนึงนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ตามนี้ทั้งหมด หรือข้อใดข้อหนึ่ง หรือจะนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าในลักษณะอื่น แต่เป็นไปตามแบบพระพุทธจริยาแล้วจนจิตมีความเคยชิน ระงับนิวรณ์ธรรมห้าประการเสียได้ จิตตั้งอยู่ในอุปจารสมาธิแล้วเจริญวิปัสสนาญาณ ท่านว่าท่านผู้นั้นสามารถจะชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ เพราะอาศัยความเลื่อมใสในพระพุทธจริยา จัดว่าเป็นผู้มีโชคอย่างยิ่ง คือจะสำเร็จมรรคผลได้

      พุทธานุสสติกรรมฐานนี้ กล่าวตามแบบแผนที่ท่านสอน และเป็นแบบตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะอาศัยที่พุทธานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานทีมีอารมณ์คิด จึงมีกำลังเพียงอุปจารฌาน ไม่สามารถจะเข้าให้ถึงระดับฌานได้ แต่ที่ท่านสอนกันในปัจจุบัน ในแบบพุทธานุสสตินี้ท่านสอนแบบควบหลาย ๆ อย่างรวมกัน เช่น

      แบบหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

      เริ่มต้นให้พิจารณาขันธ์ 5 ก่อน โดยพิจารณาว่า ขันธ์ 5 นี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านสอนให้รู้เรื่องของขันธ์ 5 จนละเอียด แล้วสั่งให้พิจารณาไป ท่านบอกว่าการพิจารณาอย่างนี้ ถ้าพิจารณาได้ตลอดไป โดยที่จิตไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ท่านให้พิจารณาเรื่อยไป ท่านบอกว่าพิจารณาได้ตลอดวันตลอดคืนยิ่งดี แต่ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นวิปัสสนาญาณเพียงแต่บอกว่า ก่อนภาวนาควรพิจารณาขันธ์เสียก่อน และไม่ต้องรีบภาวนา ถ้าใครพิจารณาจนเห็นร่างกาย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในกาย เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา อัตภาพตัวตนเป็นเพียงธาตุ 4 ประชุมร่าง เป็นที่อาศัยชั่วคราวของจิต จนละความห่วงใยในขันธ์ 5 เสียได้ โดยที่ไม่ได้ภาวนาเลยก็ยิ่งดี

      ต่อเมื่อจิตจะส่าย พิจารณาไม่ได้ดีท่านให้ภาวนาโดยตั้งอารมณ์ดังต่อไปนี้ กำหนดลมหายใจไว้สามฐาน คือ ที่จมูก อก และศูนย์เหนือสะดือ ลมกระทบสามฐานนี้ ให้กำหนดณรู้ทั้งสามฐานเพื่อลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา พร้อมกันนั้นท่านก็ให้ภาวนาว่า พุทธ ภาวนาเมื่อสูดลมหายใจเข้า โธ ภาวนาเมื่อลมหายออก แล้วท่านให้นึกถึงภาพพระพุทธที่ผู้ปฎิบัติเคารพมาก จะเป็นพระพุทธรูปวัดใดองค์ก็ได้ ท่านสอนดังนี้ ตอนที่ภาวนา ท่านให้กรรมฐาน 4 อย่างรวมกัน คือ ตอนพิจารณาขันธ์ 5 เป็นวิปัสสนาญาณ ตอนกำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นอานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนภาวนา เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ตอนเพ่งรูปพระเป็นกสิณ ท่านมีความฉลาดสอนรวมคราวเดียว 4 อย่าง กำลังพุทธานุสสติมีเพียงอุปจารฌาน อานาปานและกสิณมีกำลังถึงฌาน 4 หากพบท่านที่มีอุปนิสัยสุกขวิปัสสโกเข้า ท่านเหล่านั้นก็พอใจในวิปัสสนาญาณ ท่านก็จะพากันได้มรรคผลไปตาม ๆ กัน

2. ธัมมานุสสติกรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์เป็นการงาน เป็นงานในการระลึกนึกถึงคุณพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ คำว่าเป็นอารมณ์ หมายถึงให้เอาจิตใจจดจ่ออยู่ในคุณของพระธรรมเป็นปกติ ไม่เอาจิตไปนึกไปคิดอารมณ์อื่น นอกเหนือไปจากพระธรรม อาการที่คิดถึงคุณของพระธรรมนี้มีอารมณ์การคิดมากมาย เช่นเดียวกับการคิดถึงคุณพระพุทธเจ้า เพราะพระธรรมมีีความสำคัญมากกว่าสิ่งใด ๆ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็มีความเคารพในพระธรรม เพราะพระธรรมเป็นหลักความประพฤติดี ประพฤติชอบประจำโลก การที่พระพุทธเจ้าพระองค์จะทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณได้ ก็เพราะอาศัยพระธรรมเป็นหลักปฏิบัติ ฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้จึงนิยมยกย่องพระธรรมว่า เป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐสรณะหนึ่ง การระลึกถึงคุณพระธรรมนี้ อาจจะเลือกเอาคำสั่งสอนตอนใดตอนหนึ่งที่ท่านชอบในบรรดาคำสอน 84.000 พระธรรมขันธ์มาเป็นอารมณ์ระลึกได้ตามใจชอบ แต่ท่านโบราณาจารย์ท่านประะพับธ์บทสรรเสริญพระธรรมไว้ 6 ข้อ

คุณของพระธรรม 6

      1. สวาขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรมอันผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ข้อนี้ หมายถึงเอาการคำนึงถึงคุณพระธรรมแบบรวม ๆ ว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวม 84,000 พระธรรมขันธ์ ย่อลงเหลือสาม คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้แก่ศีลที่บริสุทธิ์อย่างเยี่ยม สมาธิที่ตั้งมั่นอย่างยิ่งคือ สมาบัติแปด อธิปัญญา ได้แก่การเจริญวิปัสสนาญาณได้มรรคผล คือพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตตผล คุณธรรมทั้งหมดนี้ประเสริฐยอดเยี่ยม เพราะสามารถกำจัดความทุกข์ความเดือดร้อนได้ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และมรณะไปแล้ว

      คุณธรรมที่เบากว่านั้น เช่น ทาน การให้ ศีล รักษาวาจาใจให้สงบจากเวรสมาธิรักษาใจไห้สงบจากอกุศล 5 ประการ คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความคิดประทุษร้าย ถีนมิทธะ ความเคลิบเคลิ้มที่ขาดสติสัมปชัญญะ และความง่วงเหงาหาวนอนในเวลาทำความดี อุทธัจจกุกกจจะ อารมณ์หงุดหงิดฟุ้งซ่านและความรำคาญใจวิจิกิจฉาความสงสัยในผลของการปฎิบัติธรรม และปัญญา คือการฝึกวิปัสสนาญาณเบื้องต้น

      คุณธรรมขนาดเบานี้ ก็มีผลมากแก่ผู้ปฎบัติ เพราะ

  • ทาน การให้เป็นคุณธรรมที่ทำลายอารมณ์โลภอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น และเป็นเหตุแห่งความรักความเสน่หาของผู้รับทาน คนที่ให้ทานเป็นปกติ ย่อมเป็นที่รักของผู้รับทานทั่วไป เป็นเหตุให้ปลอดภัยจากอันตราย
  • ศีล เมื่อรักษาดีแล้ว ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้ ศีลผู้รักษาไว้ดีแล้วย่อมเป็นที่รักของปวงชน เพราะผู้รักษาศีล มีเมตตาเป็นปกติ และจะมีชื่อเสียงในด้านความดี เมื่อเวลาใกล้จะตายจะมีสติสมบูรณ์ เมื่อตายแล้วจะได้ไปสู่สุคติ
  • สมาธิ ย่อมส่งผลให้เป็นคนมีสติสมบูรณ์ และเป็นที่รักแก่ชนทั่วไป เพราะท่านที่ทรงสมาธิย่อมกำจัดเวร คือกุศล 5 ประการมีโลภะเป็นต้นเสียได้
  • วิปัสสนาญาณ มีอานิสงส์ทำจิตใจให้ทีความสุข เพราะจิตเคารพต่อกฎของธรรมดา เพราะรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดาทุกประการ หมดความหวั่นไหวในทุกข์ภัยที่ปรากฎ มีอารมณ์สงัด เยือกเย็นเป็นปกติ คล้ายต้นไม้ที่ไม่มีลมร้ายมาถูกต้อง

      ในข้อนี้ท่านสอนให้ระลึกถึงคุณของพระธรรมตามที่กล่าวมาโดยบ่ออย่างนี้หรือจะจำพระสูตร คือคำสอนที่ยกตัวบุคคล แล้วจะติดตามนั้นหรือท่านจะคิดตามพระธรรมข้อใดก็ตามใจชอบ เป็นที่ระลึกถึงคุณพระธรรมตามข้อนี้เหมือนกัน เพราะบทสวกขาโตนี้ท่านนี้กล่าวรวม ๆ เข้าไว้

      2. สันทิฎฐิโก แปลว่า ผู้บรรลุจะพึงมองเห็นเอง หมายความว่าผลของการปฎิบัติธรรมนี้ ไม่ใช่จะปฎิบัติกันไปตามเรื่อง ผลของการปฎิบัติธรรมนี้เป็นความสุขใจ ท่านปฎิบัติจริงจะได้รับผลจริงในชาตินี้

      3. อกาลิโก แปลว่า ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย หมายถึงผลของการปฎิบัติธรรมนี้ได้รับผลทุกขณะที่ปฎิบัติ ไม่จำกัดกาลเวลาว่าจะต้องเป็นเวลานั้นเวลานี้ ตัวอย่างเช่นผู้ปฎิบัติธรรมในด้านพรหมวิหาร ท่านที่ทรงพรหมวิหารย่อมประทานความรักให้แก่คนและสัตว์ไม่เลือกหน้า ท่านไม่ถือโกรธใคร พบคนควรไหว้ท่านก็ไหว้ พบคนควรให้ท่านก็ให้ ท่านที่หน้ายิ้มตลอดเวลา ท่านลองคิดดูว่าท่านพบคนอย่างนี้เข้า ท่านควรจะรักเคารพหร้อท่านควรจะคิดประทุษร้าย ผลของการปฎิบัติธรรมได้ผลไม่จำกัดกาลเวลาอย่างนี้ คุณของพระธรรมยืนยันอยู่อย่างนี้ ว่าผลแห่งการบรรลุ มีได้ไม่เลือกกาลเวลา ขอให้ปฎิบัติจริง ปฏิบัติตรงตามคำสั่งสอนและปฏิบัติพอดี รับรองว่าท่านต้องการคุณธรรมขนาดไหน ก็มีหวังได้ทุกขนาดและไม่จำกัดกาลเวลา

      4. เอหิปัสสิโก แปลว่า ควรเรียกให้มาดู การปฎิบัติธรรมนั้น ขอให้ทำถูก ทำตรง ทำพอดี ต้องได้รับผลแน่นอน ขออย่างเดียว ขอให้เอาจริงเท่านั้น ถ้าผู้ปฏิบัติจริง ผลของพระธรรมท่านก็ให้จริง

      5. โอปนยิโก แปลว่า ควรน้อมเข้ามา ท่านหมายความว่า ผู้หวังผล คือความสุขทางใจ สุขทั้งชาตินี้และชาติหน้าและชาติต่อ ๆ ไปแล้ว เชิญเข้ามาฝึกได้ ไม่จำกัดกาลเวลาไม่จำกัดเพศและวัย ไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา ถ้าปฎิบัติจริงท่านรับรองว่าต้องได้ผลจริง

      6. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ แปลว่า อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน คำว่าวิญญูหมายความถึงผู้รู้ คือผู้ปฎิบัติที่ได้รับผลแล้ว ท่านผู้นั้นจะรู้ผลเองว่า การปฎิบัติพระธรรมนี้มีผล คือความสุขอันประณีต และความเยือกเย็นใจเป็นพิเศษ มีความสุขประณีต กว่าความสุขอันเกิดขึ้นจากโลกวิสัย

ย้อนหน้า 1    ต่อหน้า 4