7.มรณานุสสติกรรมฐาน

       มรณานุสสติ แปลว่านึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เรื่องของความตายเป็นของธรรมดาของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมา เมื่อเกิดมาได้แล้ว ก็ต้องตายในที่สุดเหมือนกันหมด พระพุทธเจ้าสอนให้นึกถึงความตายเพื่อประโยชน์อะไร ? เพราะธรรมดาของคนที่มีกิเลสทั่วไป รู้ความตายว่าเป็นธรรมดาจริง แต่ทว่าเห็นว่าเป็นธรรมดาสำหรับผู้อื่นตายเท่านั้น ถ้าความตายจะเข้ามาถึงตนหรือคนที่หรือญาติคนที่รักของตนเข้า ก็ดิ้นรน้เอะอะโวยวาย ไม่ต้องการให้ความตายมาถึงตนหรือคนที่ตนรัก พยายามทุกทางที่จะไม่ยอมตาย ปกติของคนเป็นอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า เกิดมาแล้วต้องตาย ไม่ว่าใครจะหนีความตายไม่ได้ การดิ้นรน เอะอะโวยวาย ต้องการให้ความตายไปให้พ้นนี้ เป็นการดิ้นรนเหนือธรรมดา ไม่มีทางทำได้สำเร็จ จะทำอย่างไรความตายก็ต้องจัดการกับชีวิตแน่นอน เมื่อกฎธรรมดาเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน คือย่ำตามความเป็นจริงว่าภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตายนั้นเป็นสิ่งปกติธรรมดา ไม่มีใครจะหลีกหนีพ้นความตายนี้แบ่งออกเป็นสามอย่างด้วยกัน คือ

  1. สมุจเฉทมรณะ ความตายขาดตอน หมายถึงความตายของพระอรหันต์ท่านเสร็จกิจแห่งพรหมจรรย์ คือสิ้นกิเลสแล้ว เหตุที่จะต้องทำให้เกิด คือกิเลสและตัณหาที่จะควบคุมบังคับท่านให้เกิดอีกไม่ได้ ท่านมรณะแล้วท่านไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เรียกว่าสมุจเฉทมรณะ แปลว่าตายขาดตอน ไม่กลับมาเกิดอีก

  2. ขณิกมรณะ แปลว่า ตายเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านหมายเอาความตาย คือ ความดับหรือการเคลื่อนไปของชีวิต ที่มีการเคลื่อนไปวันหนึ่ง ๆ วันวันเวลาล่วงไป ชีวิตก็เคลื่อนไปใกล้จุดจบสุดยอด คือตายดับทุกขณะ การผ่านไปของชีวิตท่านถือเป็นความตาย คือตายทุกลมหายใจออก และเกิดต่อทุก ๆ ลมหายใจเข้า อาหารเก่าที่บริโภคเข้าไปเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตชั่วคราว เมื่อสิ้นอำนาจของอาหารเก่าร่างกายต้องการอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงแทน แต่ถ้าอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงไว้ เมื่อสิ้นสภาพของอาหารเก่าท่านถือว่าร่างกายต้องตายแล้วไปยุคหนึ่ง พอได้อาหารใหม่มาทดแทน ขีวิตก็เกิดใหม่อีกวาระหนึ่ง การเกิดการตายต่อเนื่องกันทุกวันเวลาอย่างนี้ ถ้าอาหารเก่าหมดสภาพไม่บริโภคใหม่ หรือลมหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า สภาพของร่างกายก็จะสิ้นลมปราณ คือตายทันที ที่ทรงอยู่ได้อย่างนี้ก็เพราะได้ปัจจัยบางอย่างค้ำจุนทดแทนกันเข้าไป ท่านสอนให้มองเห็นสภาพของสังขารร่างกายว่ามีความตายเป็นปกติทุกวันเวลาอย่างนี้ ท่านเรียกว่าขณิกมรณะ แปลว่าตายทีละเล็กละน้อยหรือตายเล็ก ๆ น้อย ๆ

  3. กาลมรณะ และ อกาลมรณะ กาลมรณะ แปลว่า ตายตามกาลสมัย ที่ชาวโลกนิยมเรียกว่า ถึงที่ตาย คือสิ้นอายุ อย่างขนิดที่ไม่มีการแก้ไขได้ อกาลมรณะแปลว่า ตายในโอกาสที่ยังไม่ถึงกาลควรตาย แต่ต้องตายเพราะกรรมบางอย่างที่เป็นอกุศลเข้ามาบีบคั้นให้ตาย การตายประเภทหลังนี้ พอมีทางต่อให้อายุยืนยาวต่อไปได้ตามสมควรแก่กรรมในอดีต จะต่อให้เลยพอดีนั้นไม่ได้ พวกตายแบบกาลมรณะตายไปแล้ว เสวยผลกรรมทันที แต่พวกที่ตายแบบอกาลมรณะนี้ตายแล้วยังไม่ไปเสวยผลกรรมทันที ต้องไปเป็นสัมภเวสี แสวงหาที่เกิดก่อน คือรอกาลที่จะถึงกาลมรณะก่อน เมื่อถึงเวลาแล้วจึงจะได้รับผลกรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไว้ ขณะที่ยังไม่ได้รับผลกรรมที่ทำไว้นั้น ต้องลำบากในเรื่องอาหารและที่อยู่ ท่องเที่ยวไปตามความต้องการ พวกตายแบบอกาลมรณะนี้ ที่ชาวโลกนิยมเรียกว่า ตายโหงนั้นเอง เช่น ถูกฆ่าตาย คลอดลูกตาย รถทับตาย ฟ้าผ่าตาย ฆ่าตัวตาย งูกัดตาย รวมความว่า ตายแบบผิดปกติไม่ใช่ป่วยตายตามธรรมดาเรียกว่า อกาลมรณะ คือตายก่อนกำหนดตายทั้งนั้น การตายแบบนี้ ถ้ามีท่านผู้รู้ช่วยเหลือ สามารถช่วยให้พ้นตายได้ เช่น ที่นิยมเรียกกันว่าสะเดาะเคราะห์ หรือต่ออายุ การสเดาะเคราะห์หรือต่ออายุนั้นต้องทำโดยธรรมจริง ๆ และรู้จริงจึงจะใช้ได้

       นึกถึงความตายมีประโยชน์

       ประโยชน์ของการนึกถึงความตาย ทำให้คนไม่ประมาท เพราะรู้ตัวว่าจะตายจะได้แสวงหาความดีใส่ตัว โดยรู้ตัวว่าชาตินี้จนเพราะชาติก่อนให้ทานไว้น้อย ถ้าชาติหน้าไม่อยากจนอีก ก็พยายามให้ทานเสมอ ๆ ตามกำลังทรัพย์ที่พอจะให้ได้ และอย่าให้จนหมดตัว จะเกินพอดี ต้องให้พอเหมอะพอดี ไม่เดือดร้อนภายหลังนั้นแหละจึงจะควร

       รู้ตัวว่ามีโรคมาก ป่วยไข้ไม่สบายเสมอๆ ของหายบ่อย ๆ รูปร่างสวยน้อยไป คนในบังคับบัญชาดื้อด้าน วาจาไม่ศักดิ์สิทธิ์ อารมณ์ความจำเสื่อม ถ้าต้องการให้สิ่งบกพร่องเหล่านี้สมบูรณ์ในชาติหน้า จะได้รักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ครบถ้วนแล้วจะได้รับอนิสงส์ มีอายุยืน รูปสวย ไม่มีโรคภัยรบกวน ไม่มีภัยจากโจรรบกวนทรัพย์สมบัติ คนในบังคับบัญชาอยู่ในโอวาทเป็นอันดี ไม่มีใครดื้อด้าน มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรเป็นนั้น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ก็ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์

       ถ้าเห็นว่า มีปัญญาน้อย ไม่ใคร่ทันเพื่อน ก็พยายามเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน พอมีฌานมีญาณเล็กน้อย ในชาติต่อไปก็จะเป็นคนมีปัญญาเลิศ

       ถ้าเห็นว่า ความเกิดเป็นทุกข์ เพราะการเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร มีตระกูลสูงส่งประการใดก็ตาม ต้องประสบกับความทุกข์อย่างมหันต์ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องการความเกิดอีกก็เร่งรัดเจริญสมถะให้ได้ฌานต้น แล้ววิปัสสนาญาณให้จบกิจพระศาสนา ท่านที่นึกถึงความตายเป็นปกติ หรือที่เรียกว่าเจริญมรณานุสสติกรรมฐาน กรรมฐานกองนี้ เป็นกรรมฐานหลักสำหรับเจริญวิปัสสนาญาณ จะเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องอาศัยการปรารภความตายเป็นปกติ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์แม้จะเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่ทิ้งมรณานุสสติกรรมฐาน คือนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ วันหนึ่งพระองค์ตรัสถามอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์กราบทูลตอบว่า นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก การนึกถึงความตายเป็นปกติเป็นของดี แม้พระพุทธเจ้ายังเฝ้าคิดถึงความตาย เพราะผู้ที่คิดถึงความตายรู้ตัวว่าจะต้องตายแล้วย่อมไม่สั่งสมความชั่ว คอยปลีกตัวออกจากชั่วและมีอารมณ์ไม่หวั่นไหว ในเมื่อความตายมาถึงแล้ว เพราะคิดอยู่รู้อยู่เสมอแล้วว่าเราต้องตายแน่ ความตายนี้หานิมิตเครื่องหมายไม่ได้ กำหนดการเกิดหมอบอกได้ แต่กำหนดเวลาตายไม่มีใครกำหนดได้แน่นอน สำหรับปุถุชนคนธรรมดา สำหรับพระอริยเจ้าหรือท่านที่ชำนาญในอานาปานุสสติกรรมฐาน ท่านสามารถบอกเวลาตายที่แน่นอนของท่านได้ พระอริยเจ้าที่จะบอกเวลาได้ ก็ต้องเป็นท่านที่ได้วิชาสามเป็นอย่างน้อย ถ้ามีความรู้พิเศษต่ำกว่านั้นท่านก็กำหนดเวลาตายไม่ได้เหมือนกัน ท่านเปรียบชีวิตไว้คล้ายกับคนขีดเส้นบนผิวน้ำ ขีดพอปรากฎว่ามีเส้น แล้วในทันทีเส้นที่ขีดนั้นก็พลันสูญไป ชีวิตของสัตว์ที่เกิดมาก็เช่นเดียวกัน ความตายรออยู่แค่ปลายจมูก ถ้าสิ้นลมปราณเมื่อไร ก็สิ้นภาระเมื่อนั้น เอาความยั่งยืนไม่ได้เลย

       ท่านที่เจริญมรณานุสสติกรรมฐาน เมื่อท่านคิดถึงความตายเป็นปกติ จนเห็นความตายเป็นปกติธรรมดา เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ คือให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาพอสมควร แก่ความต้องการแล้ว ถ้าคิดให้ไกลไปอีกสักนิดว่าความตายเป็นของมีแน่ เราไม่หนักใจแล้ว ความเกิดต่อไปก็ไม่มีแน่ จะเกิดเป็นอะไรก็ตามเต็มไปด้วยความทุกข์ หนีีทุกข์ไม่พ้น เราไม่ต้องการความเกิดอันเป็นเหยื่อของวัฏฏะอีก แม้แต่ร่างกายอันเป็นที่หวงแหนยิ่งจะต้องพังทลายเรายังไม่มีเยื่อใย ็สมบัติอะไรในโลกีย์ที่เราต้องการ เราไม่ต้องการอะไรอีก เทวโลก พรหมโลก เราไม่ต้องการ สิ่งที่พอใจที่สุดก็คือพระนิพพาน ทำใจให้ว่างจากความเกิด ความเกาะในชาติภพ ปรารภพระนิพพานในชาติปกติ อย่างนี้ ท่านมีหวังสิ้นชาติสิ้นภพ ประสบผลอย่างยอด คือถึงพระนิพพานใจชาติปัจจุบันแน่นอน

       8. กายคตานุสสติกรรมฐาน

       กายคตานุสสติ แปลว่า พิจารณากายให้เห็นว่า ไม่สวยไม่งาม มีความโสโครก ตามกฎแห่งความเป็นจริงเป็นอารมณ์ กายคตานุสสตินี้เป็นกรรมฐานสำคัญที่พระอริยเจ้าทุกองค์ไม่เคยเว้น เพราะพระอริยเจ้าก่อนแต่จะได้สำเร็จมรรคผล ทุกท่านนิยมพิจารณาให้เห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก น่ารังเกียจ เพราะมีสภาพน่าสะอิดสะเอียนตามปกติเป็นอารมณ์ และกายคตานุสสตินี้เป็นกรรมฐานพิเศษกว่ากรรมฐานกองอื่น ๆ เพราะถ้าพระโยควาจรพิจารณาตามกฎของกายคตานุสสติ ผลที่ได้รับจะเข้าถึงปฐมฌาน แต่ถ้ายึดสีต่าง ๆ ร่างกายที่ปรากฎมีสีแดงของเลือดเป็นต้น ยึดเป็นอารมณ์ในการเพ่งกสิณ กรรมฐานกองนี้ก็มีผลได้ฌาน 4 ตามแบบของกสิณ

       การพิจารณา ตามแนวสอนในวิสุทธิมรรคท่านให้พิจารณาอาการ 32 คราวละ 5 อย่าง เช่น พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ รวม 5 อย่างเป็นหมวดหนึ่ง ท่านให้พิจารณาตามลำดับและย้อนกลับ เช่นพิจารณาทั้งสีและสัณฐาน สภาพตามความเป็นจริง ว่าไม่มีอะไรสวยงามเพราะมีความสกปรกโสโครกอยู่เป็นปกติ ต้องคอยขัดสีฉวีวรรณอยู่เสมอๆ ทั้ง ๆ ที่คอยประคับประคองอยู่เพียงใดสิ่งเหล่านี้ก็ยังจะมีการแปดเปืิ้ื้อนสกปรกอยู่เสมอ เช่น ผมก็ต้องคอยหวี คอยสระชำระอยู่ทุกวัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่สนใจเพียง 3 วัน เหงื่อไคลก็จะจับทำให้เหม็นสาบเหม็นสาง รวมกายทั้งกายนี้ ท่านแสวงหาความจริงจากกายทั้งมวลว่า มันสวยจริงสะอาดจริงหรือไม่ ค้นคว้าหาความจริงให้พบ กายทั้งกายที่ว่าสวยนั้นมีอะไรเป็นความจริง ความสวยของร่างกายมีความจริงเป็นอย่างนี้ ร่างกายทั้งกายที่ว่าสวยนั้น ไม่มีอะไรสวยจริงตามที่คิด เพราะร่างกายนี้เต็มไปด้วยสิ่งโสโครก คืออวัยวะภายใน มีตับ ไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ กระเพาะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำดี อุจาระ ปัสสาวะ เหงื่อไคล ที่หลั่งไหลออกมาภายนอก ความจริงขังอยู่ภายในของร่างกาย เนื้อที่ปราศจากผิวคือหนังหุ้มห่อ จะมองเห็นไม่เห็นความสวยสดงดงามเลย ยิ่งมีเลือดหลั่งไหลทั่วร่างแล้ว ยิ่งไม่น่าปรารถนาเลย แทนที่จะน่ารัก น่าประคับประคอง กลับกลายเป็นของน่าเกลียด ไม่มีใครปรารถนาจะอยู่ใกล้ ถ้าลอกเนื้อออก จะแลเห็นใส้ใหญ่ ไส้น้อย ปอด กระเพาะอุจจาระ กระเพาะปัสสวะ และม้าม ไต น้ำเลือด น้ำหนอง เสลด หลั่งไหลอยู่ทั่วร่างกาย มองแล้วอยากจะอาเจียนมากกว่าน่ารัก ถ้าฉีกกระเพาะออก ภายในกระเพาะจะพบึอุจจาระ ปัสสาวะอยู่ภายใน เป็นภาพที่อยากหนีมากกว่าเป็นภาพที่น่ารัก ถ้าเอาอวัยวะต่าง ๆ ออกหมด จะเห็นแต่ร่างโครงกระดูก ที่มีสภาพเหมือนโครงบ้านเรือน ตั้งตระหง่านอยู่ โครงกระดูกทั้งสองร้อยท่อนนี้ ปะติดปะต่อกันอยู่เป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ มีเนื้อและเลือดติดเกรอะกรัง ท่านคิดตามไป ท่านเห็นหรือยังว่าส่วนที่มี เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าพอจะเป็นของสวยของงาม มีนิดเดียวคือตอนหนังกำพร้าเท่านั้น หนังนี้ใช่ว่าจะเกลี้ยงเกลาเสมอไปก็หาไม่ ต้องคอยชำระล้างตลอดวันและเวลา เพราะสิ่งโสโครกภายในพากันหลั่งไหลมาลบเลือนความผุดผ่องของผิวตลอดวัน ถ้าไม่คอยชำระล้าง เจ้าตัวปฎิกูลนั้นก็จะพอกพูนเสียจนเลอะเทอะแถมจะส่งกลิ่นเหม็นสาป เหม็นสางตลบไปทั่วบริเวณช่องทวาร อุจจาระ ปัสสาวะ ก็จะพากันหลั่งไหล่ออกมา ตามกำหนดเวลาที่มันต้องออก สิ่งที่น่าคิดก็คือ ผู้นิยมตนเองว่าสวยหรือเทิดทูนใครก็ตามว่าสวย ต่อเมื่อสิ่งโสโครกหลั่งไหลออกมา เขากลับไม่สนใจ ไม่พยายามมองหาความเป็นจริงจากของจริง กลับรอให้ชำระล้างสิ่งโสโครกเสียก่อน จึงใคร่ครวญและสนใจ ต่างคนต่างพยายามหลบหลีกไม่รับรู้ความเป็นจริงของสังขารร่างกายในส่วนที่สกปรกโสโรก ทั้งนี้ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความจริงไว้ ทั้ง ๆ ที่อุจาระหลั่งไหลโสโครก ทั้งนี้ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความจริงไว้ ทั้ง ๆ ที่อุจาระหลั่งไหล ออกมาทุกวัน เหงื่อไคลมีเสมอ เสมหะน้ำลายออกไม่เว้นแต่ละนาที แต่เจ้ากิเลสและ ตัณหามันก็พยายามโกหกมดเท็จ ปัดเอาความจริงออกมาจากความรู้สึก หากพยายามสอบสวน ทบทวนความรู้สึกค้นคว้าหาความจริง ยอมรับรู้ตามกฎของความจริงว่า สังขารร่างกายนี้ไม่มีอะไรน่ารัก มีสภาพเป็นส้วมเคลื่อนที่ เพราะภายในมีแต่สิ่งโสโครกต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเรารักส้วม ถ้าเราประคับประคองเราก็ประคับประคองส้วม ถ้าเราเทิดทูน เราก็เทิดทูนส้วม จะว่าส้วมปกติเลวแล้ว ความจริงส้วมปกติดีกว่าส้วมเคลื่อนที่มาก เพราะส้วมปกติมันตั้งอยู่ตามที่ของมัน มันไม่ไปรบกวนใคร เราไม่เดินเข้าใกล้ มันก็ไม่มาหาเรา ไม่รบกวน ไม่สร้างทุกข์ ไม่หลอกหลอน ไม่ยั่วยวนชวนให้เกิดราคะ แต่เจ้าส้วมเคลื่อนที่นี้มันร้ายกาจ เราไม่ไปมันก็มา เราไม่มองดูมันก็พูดให้ได้ยิน เสแสร้งแกล้งตกแต่งปกปิดสิ่งที่น่าเกลียดด้วยสีผ้าที่หลายหลากสี กลบกลิ่นเหม็นด้วยกลิ่นหอม หาอาภรณ์มาประดับ เพื่อปกปิดพรางตากันเห็นสิ่งที่ไม่น่าชม เพื่อตาจะได้หลงเหยื่อติดในอาภรณ์เครื่องประดับ ผู้เห็นท่ีไร้การพิจารณา และมีสภาพเป็นส้วมเช่นเดียวกัน เป็นส้วมที่ไร้ปัญญาเหมือนกัน ต่างส้วมต่างก็หลอกหลอนกัน ปกปิดสิ่งโสโครกมิให้กันและกันเห็น ความจริงทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีครบถ้วน แทนที่จะเห็นตัว รู้ตัวว่าข้านี้ก็เป็นผู้เลิศในความเหม็น เลิศในส่วนของความสกปรกเหมือนเธอ แทนที่จะเป็นอย่างนั้นกลับปกปิดพยายามข่มตนเองว่า ฉันนี้แหละยอดผู้ศิวิไลซ์ละ น่าสงสารสัตว์ผู้เมาไปด้วยราคะ มีอารมณ์ หน้ามืดตามัวเพราะอำนาจกิเลสแท้้ๆ ถ้าเขามองตัวเองสักนิด ก็จะเห็นตัวเอง และจะมองเห็นผู้อื่นตามความเป็นจริง พระอริยเจ้าท่านนิยมความจริง รู้จริง เห็นจริง ค้นคว้าจริง ไม่หลอกหลอนตนเอง ท่านจึงได้บรรลุมรรคผลเพราะพิจารณาตนเองเป็นส่วนใหญ่ ท่าน จงพิจารณาตนเองให้เห็นชัด จนเป็นนิมิตเป็นปฎิภาคนิมิต สร้างสมาธิให้เป็นอัปปนาสมาธิ โดยพิจารณาสังขารให้เห็นว่าไม่สวยไม่งามนี้ เมื่ออัปปนาสมาธิแล้ว จงยึดสีที่ปรากฎในร่างกายที่สีแดงเป็นต้น หรือจะเป็นสีอะไรก็ได้ ยึดเอาเป็นอารมณ์กสิณ ท่านจะได้ฌานที่ 4 ภายในเวลาเล็กน้อย ต่อไปก็ยึดสังขารที่ท่านเห็นว่าเป็นของน่าเกลียดนี้ ให้เป็น

      อนิจจัง คือมีความไม่เที่ยง เพราะมีความเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมไปทุกวันเวลาเป็นปกติ

      ทุกขัง เพราะอาศัยที่มันเคลื่อนไปสู่ความทำลายทุกวันเวลา มันนำความไม่สบายกายไม่สบายใจจากโรคภัยไข้เจ็บ และในการกระทบกระทั่งทางอารมณ์ ให้เกิดความเดือดร้อนทุกวันเวลา จึงจัดว่าสังขารร่างกายนี้เป็นรังของความทุกข์ ให้เห็นเป็น

      อนัตตา เพราะความเสื่อม ความเคลื่อน และในที่สุดคือความทำลายขันธ์ เราไม่ต้องการอย่างนั้น แต่มันเป็นไปตามนั้นเพราะเป็นกฎธรรมดาของขันธ์ จะต้องเป็นอย่างห้ามไม่ได้บังคับไม่ได้ของสังขารร่างกายนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ปล่อยอารมณ์ในการยึดถือเสีย เพราะจะยึดจะถือเพียงใดก็ไม่เป็นไปตามความต้องการ สังขารร่างกายเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าที่มีใจครองหรือไม่มีใจครองตราบใดที่เรายังต้องการ สังขารเราต้องประสบความทุกข์ ความทรมาน เพราะสิ่งโสโครก ที่เข้าประกอบเป็นขันธ์ เราเห็นสภาพความเป็นจริงของสังขารร่างกายนี้ว่า เป็นของโสโครก ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนา ควรปลีกตัวออกให้พ้นจริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนจริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นทุกข์จริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นอนัตตาจริง ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นทุกข์ โรคนิทธัง เรือนร่างของขันธ์ 5 เป็นรังของโรค ถ้าร่างกายไม่มี โรคก็มาเบียดเบียนก็ไม่มี เพราะไม่มีร่างกายให้โรคอาศัย ปภังคุณัง เรือนร่างมีสภาพต้องผุพัง ถ้าไม่มีเรือนร่าง เรื่องการผุพังอันเป็นเครื่องเสียดแทงใจให้เกิดทุกข์ก็ไม่มี เมื่อร่างกายไม่มีจะเอาอะไรมาเป็นอนัตตา เราไม่ต้องการทุกข์ที่มีความเกิดเป็นสมุฎฐาน เราไม่ต้องการความเกิดในวัฎฎะอีก เราต้องการนิพพาน ที่ไม่มีความเกิดและความตาย เป็นดินแดนเกษมที่หาความทุกข์มิได้ พระนิพพานนั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ท่านที่จะไปสู่พระนิพพานได้ไม่มีอะไรยาก ท่านสอนให้พิจารณาให้เห็นความจริงของร่างกายว่าโสโครก ถอนความรักความอาลัยในสังขารเสีย เราเชื่อแล้วว่าสังขารร่างกายเป็นทุกข์ เพราะอารมณ์ยึึดมั่นว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เราคือร่างกาย ร่างกายคือเรา ความคิดเห็นอย่างนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้อุปาทาน เรารู้แล้ว เราเห็นแล้ว คือ เราเห็นว่าสังขารร่างกายไม่น่ารัก มีความสกปรกน่าสอิดสะเอียน ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือจิตที่มีสภาพไม่แก่ ไม่ตาย ไม่สลายตัว ที่เข้ามาอาศัยร่างกายที่ประกอบไปด้วย

      ธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

      นามธรรม 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน

      อันเป็นอย่างเป็นเครื่องประกอบ เป็นเครื่องจักรกลที่บริหารตนเองโดยอัตโนมัติ ร่างนี้ค่อยเจริญขึ้นและเสื่อมลง มีการสลายตัวไปในที่สุด พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ตัด ความพอใจในสรรพสังขารทั้งหมดเสีย ให้ได้ และให้ตัดราคะ คือความกำหนัดยินดีในสรรพสังขารทั้งหมด คือไม่ยึดอะไรเลย ในโลกนี้ว่า เป็นของเรา ไม่มีอะไรในเรา เราไม่มีในอะไรทั้งสิ้น เราคือจิต ท่ีมีคุณวิเศษดีกว่าอัตตภาพทั้งปวง เราเกลียดสรรพวัตถุทั้งหมด เราไม่ยอมรับสรรพวัตถุ แม้แต่เรือนร่างที่เราอาศัยนี้เป็นของเรา และเป็นเรา เราปล่อยแล้วในความยึดถือ แต่จะอาศัยอยู่ชั่วคราวเพื่อสร้างสรรค์ความดี สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องของสังขาร สังขารร่างกายจะผุพัง ก็เป็นเรื่องของสังขารร่างกาย เราไม่รับรู้รับทราบ เราวางแล้ว จากภาระในการยึดถือ เรามีความสุขแล้ว เรามีพระนิพพานเป็นเป็นที่ไปในกาลข้างหน้า สร้างอารมณ์ความโปร่งใจให้มีเป็นปกติ ยึดพระนิพพานเป็นอารมณ์ทำจิตเป็นปปกติ จิตยึดความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา จนเป็นปกติ เห็นอะไร ได้อะไรมา คิดเห็นว่า นี่มันไม่ใช่ของเราจริง เขาให้รับ เพื่อเกืื้อกูลแก่อัตภาพชั่วคราว ไม่ช้าก็คนต่างสลาย ทั้งของที่ได้มาและอัตตภาพ ใครไปก่อนไปหลังกันเท่านั้น จนอารมณ์มีความรู้สึกอย่างนี้ีเป็นปกติ จิตก็ว่างจากอุปาทาน ในที่สุดก็ถึงพระนิพพานสมความมุ่งหมาย

ย้อนหน้า 1    ต่อหน้า 7