วิธีปฏิบัติในอรูปฌาน คือฌานที่ไม่มีรูป ๔ อย่าง คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานา สัญญายตนะ รวม ๔ อย่างด้วยกัน
อรูปฌานทั้ง ๔ นี้ เป็นฌานละเอียดและอยู่ในระดับฌานที่สูงสุด
ท่านที่ปฏิบัติได้อรูปทั้ง ๔ นี้แล้ว เจริญวิปัสสนาญาณ ย่อมได้บรรลุมรรคผลรวดเร็วเป็นพิเศษ
เพราะอารมณ์ในอรูปฌานและอารมณ์ในวิปัสสนาญาณ มีส่วนคล้ายคลึงกันมาก ต่างแต่
อรูปฌานเป็นสมถภาวนา มุ่งดำรงฌานเป็นสำคัญสำหรับวิปัสสนาภาวนามุ่งรู้แจ้งเห็นจริง
ตามอำนาจของกฎธรรมดาเป็นสำคัญ แต่ทว่าอรูปฌานนี้ก็มีลักษณะเป็นฌานปล่อยอารมณ์
คือ ไม่ยึดถืออะไรเป็นสำคัญ ปล่อยหมดทั้งรูปและนาม ถือความว่างเป็นสำคัญ
อานิสงส์อรูปฌาน
ท่านที่ได้อรูปฌานทั้ง ๔ นี้ นอกจากจะมีผลทำให้จิตว่าง มีอารมณ์เป็นสุข ประณีตในฌานที่ได้ แล้วยังมีผลให้สำเร็จมรรคผลง่ายดายอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย นอกจากนั้นท่านที่ได้ อรูปฌานนี้แล้วเมื่อสำเร็จมรรคผลจะได้เป็น พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ คือ มีคุณสมบัติพิเศษเหนือจากที่ทรงอภิญญา ๖ อีก ๔ อย่าง สำหรับท่านที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณนี้
ท่านทรงอภิญญา ๖ และคุณสมบัติพิเศษอีก ๔ คือ
ปฏิสัมภิทา ๔
- อัตถปฏิสัมภิทา มีปัญญาแตกฉานในอรรถ คือฉลาดในการอธิบายถ้อยคำที่
ท่านอธิบายมาแล้วอย่างพิสดาร ถอดเนื้อความที่พิสดารนั้นให้ย่อสั้นลงมาพอได้ความชัด
ไม่เสียความ
- ธัมมปฏิสัมภิทา ฉลาดในการอธิบายหัวข้อธรรม ที่ท่านกล่าวมาแต่หัวข้อให้
พิสดารเข้าใจชัด
- นิรุตติปฏิสัมภิทา มีความฉลาดในภาษา รู้และเข้าใจภาษาทุกภาษาได้อย่าง
อัศจรรย์
- ปฏิภาณปฏิสัมภิทา มีปฏิภาณเฉลียวฉลาด สามารถแก้อรรถปัญหาได้อย่าง
อัศจรรย์
ปฏิสัมภิทาญาณนี้ มีความแปลกจากอภิญญา ๖ อยู่อย่างหนึ่ง คือท่านที่จะทรงปฏิสัมภิทา หรือทรงอรูปฌานนี้ได้ ท่านต้องได้กสิณ ๑๐ และทรงอภิญญามาก่อนแล้วจึงจะปฏิบัติต่อในอรูปนี้ได้ ถ้าท่านนักปฏิบัติที่ไม่เคยเรียนกสิณเลย หรือทรงกสิณได้บางส่วนยังไม่ถึงขั้นอภิญญาแล้วท่านมาเรียนปฏิบัติในอรูปนี้ย่อมปฏิบัติไม่สำเร็จ เพราะการที่ทรงอรูปฌานได้ ต้องใช้กสิณ ๙ ประการ ปฐวี เตโช วาโย อาโป นีล ปีตะ โลหิตะ โอทาตะ อาโลกะ เว้นอากาสกสิณอย่างเดียว เอามาเป็นบาทของอรูปฌานคือต้องเอากสิณ ๘ อย่างนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งมาตั้งขึ้น แล้วเข้าฌานในกสิณนั้นจนถึงจตุตถฌาน
แล้วเพิกนิมิตในกสิณนั้นเสีย คำว่าเพิก หมายถึงปล่อยไม่สนใจในกสิณนั้นการที่จะปฏิบัติ
ในอรูปฌาน ต้องเข้ารูปกสิณก่อนอย่างนี้ ฉะนั้นท่านที่จะเจริญในอรูปฌานจึงต้องเป็นท่าน
ที่ได้กสิณจนคล่องอย่างน้อย ๙ กอง จนชำนาญและได้อภิญญาแล้วจึงจะมาปฏิบัติในอรูปฌานนี้ได้ ฉะนั้นท่านที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณจึงเป็นผู้ทรงอภิญญาด้วย สำหรับอภิญญากับ
ปฏิสัมภิทาญาณนี้ มีข้อแตกต่างกัน อยู่อย่างหนึ่งที่นักปฏิบัติควรทราบ อภิญญานั้น
ท่านที่ปฏิบัติกสิณครบ ๑๐ หรืออย่างน้อยครบ ๘ ยกอาโลกกสิณและอากาสกสิณเสีย
เมื่อชำนาญในกสิณทั้ง ๑๐ หรือทั้ง ๘ นี้แล้ว ก็ทรงอภิญญาได้ทันทีในสมัยที่เป็นฌานโลกีย์
ส่วนปฏิสัมภิทาญาณ ๔ นี้ เมื่อทรงอรูปฌานที่เป็นโลกียฌานแล้วยังทรงปฏิสัมภิทาไม่ได้
ต้องสำเร็จมรรคผลอย่างต่ำเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหัตตผลปฏิสัมภิทาจึงจะปรากฏ
บังเกิดเป็นคุณพิเศษขึ้นแก่ท่านที่บรรลุ ข้อแตกต่างนี้นักปฏิบัติควรจดจำไว้
๑. อากาสานัญจายตนะ
การอธิบายในอรูป ๔ นี้ ขอกล่าวแต่พอเป็นแนวเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเป็นกรรมฐาน
ละเอียดทั้งผู้ที่จะปฏิบัติก็ต้องทรงอภิญญามาก่อน เรื่องการสอนหรืออธิบายในกรรมฐานนี้
มีความสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือ ถ้ากรรมฐานกองใดท่านผู้อธิบายไม่ได้มาก่อน ก็อธิบาย
ไม่ตรงตามความเป็นจริง ท่านที่จะอธิบายได้ถูกต้องและตรงจริง ๆ ก็ต้องได้กรรมฐานกอง
นั้นๆ มาก่อน ผู้เขียนนี้ก็เช่นกันอาศัยที่ศึกษาเรื่องของกรรมฐานมาเฉพาะประเภทวิชาชาสามสำหรับเรื่องของวิชชาสามเรียนมาพอเขียนได้อ่านออก ถึงแม้จะไม่ได้สำเร็จมรรคผล
ใด ๆ ก็ตาม แต่ก็ฟังคำสอนมาพอเอาตัวรอดได้บ้างพอควร ไม่ถึงเก่งและถ้าไปโดนท่านที่
ฉลาดจริงเข้าท่านอาจไล่เบี้ยเอาจนมุมเหมือนกัน ส่วนด้านอภิญญานั้น อาศัยที่เคยศึกษา
ในกสิณบางส่วนมาบ้าง พอเห็นทางไร ๆ แต่ก็ได้ไม่ครบ แต่ถึงจะได้ไม่ครบก็ทราบว่าแนว
ของกสิณมีแนวเป็นอันเดียวกัน ฉะนั้นเรื่องอภิญญาพอจะแอบ ๆ ฟุ้งได้บ้างพอสมควร
อากาสานัญจายตนะนี้ ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า ก่อนที่จะเจริญอรูปอากาสานัญจายตนะนี้ ท่านจะเข้าจตุตถฌานในกสิณกองใดกองหนึ่งแล้วให้เพิก คือไม่สนใจในกสิณนิมิตนั้นเสีย ใคร่ครวญว่า กสิณนิมิตนี้เป็นอารมณ์ที่มีรูปเป็นสำคัญ ความสุข ความทุกข์
ที่เป็นปัจจัยของภยันตราย มีรูปเป็นต้นเหตุ เราไม่มีความต้องการในรูปแล้วละรูปนิมิตกสิณ
นั้นถืออากาศเป็นอารมณ์จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิตที่มีขอบเขตกว้างใหญ่ แล้วย่อให้สั้นลงมา
อธิษฐานให้เล็กใหญ่ได้ตามประสงค์ ทรงจิตรักษาอากาศไว้โดยกำหนดใจว่า อากาศหาที่สุด
มิได้ดังนี้จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์ เป็นฌาน ๔ ในอรูปฌาน
๒. วิญญาณัญจายตนะ
อรูปนี้กำหนดวิญญาณเป็นอารมณ์ โดยจับอากาสานัญจายตนะ คือกำหนด
อากาศจากอรูปเดิมเป็นปัจจัย ถือนิมิตอากาศนั้นเป็นฐานที่ตั้งของอารมณ์ แล้วกำหนด
ว่า อากาศนี้ยังเป็นนิมิตที่อาศัยรูปอยู่ ถึงแม้จะเป็นอรูปก็ตามแต่ยังมีความหยาบอยู่มาก
เราจะทิ้งอากาศเสีย ถือเฉพาะวิญญาณเป็นอารมณ์ แล้วกำหนดจิตว่า วิญญาณหาที่สุด
มิได้ ทิ้งอากาศและรูปทั้งหมดเด็ดขาดกำหนดวิญญาณ คือถือวิญญาณ ตัวรู้เป็นเสมือน
จิต โดยคิดว่าเราต้องการจิตเท่านั้นรูปกายอย่างอื่นไม่ต้องการจนจิตตั้งอยู่เป็นอุเบกขารมณ์
๓. อากิญจัญญายตนะ
อรูปนี้กำหนดความไม่มีอะไรเลยเป็นสำคัญ โดยเข้าฌาน ๔ ในวิญญาณ
แล้วเพิกวิญญาณคือ ไม่ต้องการวิญญาณนั้น คิดว่าไม่มีอะไรเลยเป็นสำคัญ อากาศ
ก็ไม่มีวิญญาณก็ไม่มี ถ้ายังมีอะไรสักอย่างหนึ่งแม้แต่น้อยหนึ่ง ก็เป็นเหตุของภยันตราย ฉะนั้นการไม่มีอะไรเลยเป็นการปลอดภัยที่สุดแล้วก็กำหนดจิตไม่ยึดถืออะไร
ทั้งหมดจนจิตตั้งเป็นอุเบกขารมณ์ เป็นจบอรูปนี้
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ
เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ กำหนดว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ คือ
ทำความรู้สึกตัวเสมอว่า ทั้งมีสัญญาอยู่นี้ก็ทำความรู้สึกเหมือนไม่มีสัญญา คือไม่ยอมรับรู้จดจำอะไรหมด ทำตัวเสมือนหุ่นที่ไร้วิญญาณ ไม่รับรู้ ไม่รับอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
หนาวก็รู้ว่าหนาวแต่ไม่เอาเรื่อง ร้อนก็รู้ว่าร้อนแต่ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย มีชีวิตทำ
เสมือนคนตาย คือไม่ปรารภสัญญาคำจดจำใด ๆ ปล่อยตามเรื่องเปลื้องความสนใจใด ๆ ออกจนสิ้น จนจิตเป็นเอกัคคตาและอุเบกขารมณ์
|