นิมิตในอสุภกรรมฐาน

      อสุภกรรมฐานมีนิมิตเป็นเครื่องกำหนดในการเข้าถึงเหมือนกสิณ แต่ต่างจากกสิณ ตรงที่เอารูปซากศพเป็นนิมิต นิมิตในอสุภนี้มี 2 ระดับ คือ

  1. อุคคหนิมิต ได้แก่ นิมิตติดตา คือรูปเดิมที่กำหนดจดจำไว้
  2. ปฏิภาคนิมิต ได้แก่ นิมิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือ รูปต่างจากภาพเดิม ดังจะยกมาต่อไปนี้
  1. อุทธุมาตกอสุภ
          อสุภที่ร่างกายขึ้นอืดพอง เมื่อเห็นภาพอสุภที่เป็นนิมิต ท่านให้กำหนดรูปแล้วภาวนา "อุทธุมาตะกัง ปะฏิกุลัง" ภาวนาอย่างนี้ตลอดไป เมื่อเพ่งพิจารณาจนจำรูปได้ชัดเจนแล้ว ก็ให้หลับตาภาวนาพร้อมกำหนดจำรูปไปด้วย จนรูปอสุภนั้นติดตาติดใจ นึกเมื่อไหร่ก็เห็นภาพนั้น ภาพนั้นเกิดขึ้นแก่จิต คือ อยู่ในความทรงจำ ไม่ใช่ภาพลอยมาให้เห็น เมื่อภาพนั้นติดใจจนชินตามที่กำหนดจดจำไว้ได้แล้ว ท่านเรียกว่า "อุคคหนิมิต" แปลว่า นิมิตติดตา
          สำหรับปฏิภาคนิมิตนี้ รูปที่ปรากฎนั้นผิดไปจากเดิม คือรูปเปลี่ยนไปเสมือนคนอ้วนพีผ่องใส ผิวสดสวย อารมรณ์จิตใจเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ท่านเรียกว่าเข้าถึงอัปปนาสมาธิ ได้ปฐมฌาน
          เมื่อทรงสมาธิได้ถึงอัปปนาสมาธิ มีนิมิตเข้าถึงปฏิภาค คือเข้าถึงปฐมฌานแล้ว นิวรณ์ทั้ง 5 ก็จะระงับไปเอง
  2. วินีลกอสุภ
          อสุภนี้ ปกติพิจารณาสี มีสีแดง เขียว สีขาวปนกัน เมื่อขณะกำหนดภาวนา ว่า "วินีละกัง ปะฏิกุลัง" จนภาพนิมิตที่มีสี แดง ขาว เขียว เกิดติดตาติดใจคละกันอย่างนี้ ท่านเรียกว่า อุคคหนิมิต
          ถ้าในจำนวนสีสามสีนั้น สีใดสีหนึ่งแผ่ปกคลุมสีอีกสองสีนั้นจนหนาทึบ ปิดบังสีอื่นแล้ว ทรงสภาพอยู่ได้นาน ท่านเรียกนิมิตอย่างนี้ว่า ปฏิภาคนิมิต ทางสมาธิเรียกว่า อัปปนาสมาธิ ทางฌานเรียกว่า ปฐมฌาน
  3. วิปุพพกอสุภ
          อสุภนี้พิจารณาน้ำเหลืองน้ำหนองเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า "วิปุพพะกังปะฏิกุลัง" จนเกิดอุคคหนิมิต ซึ่งปรากฎเห็นเป็นน้ำหนองไหลอยู่เป็นปกติ สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นมีสภาพเป็นนิมิตตั้งอยู่เป็นปกติ ไม่มีอาการไหลออกเหมือนอุคคหนิมิต
  4. วิฉิททกอสุภ
          อสุภนี้ พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อย และท่อนใหญ่ ขณะพิจารณาให้ภาวนาว่า "วิฉิททะกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ มีรูปซากศพขาดเป็นท่อนน้อยและใหญ่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น มีรูปบริบูรณ์ เสมือนมีอวัยวะครบถ้วน
  5. วิกขายิตกอสุภ
          อสุภนี้ พิจารณาอสุภที่ถูกสัตว์กัดกินเป็นซากศพที่เว้าแหว่งด้านหน้าและด้านหลัง และในฐานต่าง ๆ ขณะพิจารณา ให้ภาวนาว่า "วิกขายิตตะกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฎเป็นรูปซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฎเป็นรูปซากศพที่มีร่างกายบริบูรณ์
  6. วิกขิตตกอสุภ
          วิกขิตตอสุภนี้ ให้รวบรวมเอาซากศพที่กระจัดกระจายพลัดพรากกันในป่าช้ามาวางรวมเข้าแล้วพิจารณา ขณะพิจารณา ก็ภาวนาว่า "วิกขิตตะกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ มีรูปเป็นอสุภนั้นตามที่นำมาวางไว้ มีรูปอย่างไร ก็มีรูปร่างอย่างนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น เห็นเป็นรูปมีร่างกายบริบูรณ์ไม่บกพร่อง
  7. หตวิกขิตตกอสุภ
          ท่านให้พิจารณาศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อน ๆ แล้วเอามาวางห่างกันท่อนละ 1 นิ้ว แล้วเพ่งพิจารณา ขณะพิจารณา ก็ภาวนาว่า "หะตะวิกขิตตะกัง ปะฏิกุลัง" อุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฎเป็นปากแผลที่ถูกสับฟัน ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นร่างบริบูรณ์
  8. โลหิตกอสุภ
          อสุภนี้ ท่านให้พิจารณาซากศพที่ถูกประหาร มีมือเท้าขาดเลือดไหล ขณะพิจารณาภาวนาว่า "โลหิตะกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิตมิตในอสุภนี้ ปรากฏเหมือนผ้าแดงที่ถูกลมปลิวไสวอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น ปรากฏเป็นสีแดงนิ่งสงบไม่เคลื่อนไหว
  9. ปุฬุวกอสุภ
          อสุภนี้ท่านให้พิจารณาซากศพที่ตายแล้วสองสามวัน มีหนอนคลานอยู่บนซากศพนั้น ขณะพิจารณาภาวนาว่า "ปุฬุวะกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ ปรากฏเป็นรูปซากศพที่มีหนอนคลานอยู่บนซากศพ แต่ปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นภาพนิ่ง คล้ายกองสำลีที่กองอยู่เป็นปกติ
  10. อัฏฐิกอสุภ
          อัฏฐิกอสุภนี้ ท่านให้เอากระดูกของซากศพที่พึงหาได้ จะเป็นกระดูกที่มีเนื้อ เลือด เส้น เอ็น รัดรึงอยู่ก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกล้วนก็ตาม หรือจะเป็นกระดูกบางส่วนของร่างกายมีเพียงส่วนน้อยหรือท่อนเดียวก็ตาม มาเป็นวัตถุพิจารณา เวลาพิจารณา ภาวนาว่า "อัฏฐิกัง ปะฏิกุลัง" สำหรับอุคคหนิมิตในอสุภนี้ จะมีรูปเป็นกระดูกเคลื่อนไหวไปมา สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้น จะมีสภาพเป็นกระดูกวางเฉยเป็นปกติ

ย้อนหน้า 1    ต่อหน้า 3