พระมหากัสสปกราบพระยุคลบาท

              ขณะนั้น พระบรมบาททั้งคู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้แสดงอาการประหนึ่งว่า พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ได้ทำลายคู่ผ้าทุกุลพัสตร์ที่ห่อหุ้มอยู่ทั้ง ๕๐๐ ชั้น กับทั้งพระหีบทองออกมาปรากฎในภายนอก ในลำดับแห่งคำอธิษฐานของพระมหากัสสปะเถระเจ้า ดุจดวงอาทิตย์ที่แลบออกจากกลีบเมฆ ฉะนั้น พุทธบริษัททั้งปวงเห็นเป็นอัศจรรรย์พร้อมกัน

              ทันใดนั้น พระมหากัสสปะเถระ ก็ยกมือขึ้นประคองรองรับพระยุคลบาทของพระบรมศาสดาขึ้นชูเชิดเทิดทูลไว้บนศีรษะ แล้วก็กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มิได้อยู่ปฏิบัติพระองค์ ไปอยู่เสียในเสนาสนะป่าอรัญญิกาวาส แม้พระองค์จะทรงพระกรุณาประทานโอกาสว่า "กัสสปะ ชราแล้ว ทรงบังสุกุลจีวรเนื้อหนาพานจะหนัก จะทรงคหบดีจีวรอันทายกถวายบ้าง ก็ตามอัธยาศัย จงอยู่ในสำนักตถาคต แม้จะทรงพระมหากรุณาถึงเพียงนี้ กัสสปะก็มิได้อนุวัตรตามพระมหากรุณา ได้ประมาทพลาดพลั้งถึงดังนี้ ขอภควันตะมุนีได้ทรงพระกรุณาโปรดอดโทษานุโทษแก่ข้าพระองค์อันมีนามว่า กัสสปะ ณ กาลบัดนี้"

              ครั้นพระมหากัสสปะ กับพระสงฆ์บริวาร ๕๐๐ และมหาชนทั้งหลายกราบนมัสการ พระบรมยุคลบาทโดยควรแล้ว พระบาททั้งสองก็ถอยถดหดหายจากหัตถ์พระมหากัสสปะ นิวัตตนาการคืนเข้าพระหีบทองดังเก่า ทุกสิ่งทุกอย่างได้ตั้งอยู่เป็นปกติ มิได้ขยับเขยื่อนเคลื่อนไหวจากที่แต่ประการใด เป็นมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่อีกวาระหนึ่ง ขณะนั้น เสียงโศกาปริเทวนาการของมวลเทพดาและมนุษย์ ซึ่งได้หยุดสร่างสะอื้นแล้วแต่ต้นวัน ก็ได้พลันดังสนั่นขึ้นอีก เสมอด้วยวันเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

              ขณะนั้น เตโชธาตุ ก็บันดาลติดพระจิตรกาธารขึ้นเองด้วยอานุภาพเทพดา เพลิงได้ลุกพวยพุ่งโชตนาเผาพระพุทธสรีระศพ พร้อมคู่ผ้า ๕๐๐ ชั้น กับหีบทองและจิตรกาธารหมดสิ้น ยังมีสิ่งซึ่งเพลิงมิได้เผาให้ย่อยยับไป ด้วยอานุภาพพระพุทธอธิษฐาน ดังนี้
              ๑. ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระชั้นใน ๑ ผืน
              ๒. ผ้าหุ้มภายนอก ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระ ๑ ผืน กับทั้ง
              ๓. พระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔
              ๔. พระรากขวัญ ทั้ง ๒
              ๕. พระอุณหิส ๑ รวมพระบรมธาตุ ๗ องค์นี้ ยังคงปกติอยู่ดีมิได้แตกกระจัดกระจาย และพระบรมสรีระธาตุทั้งหลายนอกนั้น แตกฉานกระจัดกระจายทั้งสิ้น มีสัณฐานต่างกันเป็น ๓ ขนาด คือ

              ๑. ขนาดโต มีประมาณเท่า เมล็ดถั่วแตก
              ๒. ขนาดกลาง มีขนาดเท่า เมล็ดข้าวสารหัก
              ๓. ขนาดเล็ก มีประมาณเท่า เมล็ดพันธุ์ผักกาด

              แท้จริง โดยปกติพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงมีพระชนมายุยืนยาวไม่แตกทำลาย คงอยู่เป็นแท่ง แต่พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงดำริว่า "ตถาคตจะมีชนมายุน้อย ประกาศพระศาสนาอยู่ไม่นาน ก็จะปรินิพพาน พระศาสนาจะไม่แผ่ไพศาลไปนานาประเทศ เหตุดังนั้น จึงทรงอธิษฐานว่า เมื่อตถาคตปรินิพพานเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว พระธาตุทั้งหลายจงแตกกระจายออกเป็น ๓ สัณฐานมหาชนจะได้เชิญไปนมัสการ ทำสักการะบูชาในนานาประเทศที่อยู่ของตน ๆ จะเป็นทางให้เข้าถึงกุศล อันอำนวยผลให้บังเกิดในสุคติภพต่อไป"

              ครั้นเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว ท่ออุทกธารแห่งน้ำทิพย์ก็ตกลงจากอากาศดับเพลิงให้อันตรธาน มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ก็มีความชื่นบาน ได้อัญเชิญมาซึ่งถาดทองอันเต็มไปด้วยสุคนธ์วารี มาโสรจสรงลงที่พระจิตรกาธาร แล้วก็เก็บพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายใส่ไว้ในพระหีบทองน้อย กับให้ตกแต่งซึ่งพระราชสัณฐาคารในท่ามกลางพระนคร ให้งามวิจิตรตระการด้วยสรรพาภรณ์ ควรเป็นที่สถิตประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่คารวะอันสูง แล้วให้อัญเชิญพระหีบทองพระบรมสารีริกธาตุขึ้นเหนือคชาธารช้างพระที่นั่ง อันตกแต่งด้วยเครื่องอลังการ อันมีเกียรติสูง ทำสักการะบูชาด้วยธูปเทียนสุคนธ์มาลาบุปผาชาติ แล้วแห่เข้าสู่ภายในพระนคร อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ เบื้องบนรัตนบัลลังก์ ภายใต้เศวตฉัตร ณ พระโรงราชสัณฐาคารนั้น

              มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย พากันกริ่งเกรงว่า อริทรราชทั้งหลายจักยกแสนยากรมาช่วงชิงพระบรมสารีริกธาตุ จึงให้จัดตั้งจาตุรงคเสนาโยธาหาญ พร้อมสรรพด้วยศัตราวุธป้องกันรักษาพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งภายในและภายนอกพระนครอย่างมั่นคง แล้วให้จัดการสมโภชบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยเครื่องดุริยางค์ดนตรี ฟ้อนรำ ขับร้อง ทั้งกีฬานักษัตรนานาประการเป็นมโหฬารยิ่งนัก ตลอดกาลถึง ๗ วัน

              ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูราช ผู้ครองพระนครราชคฤห์ พระเจ้าลิจฉวี ีแห่งพระนครไพศาลี พระเจ้ามหานาม แห่งกบิลพัสดุ์นคร พระเจ้าฐุลิยะราช แห่งเมืองอัลลกัปปนคร พระเจ้าโกลิยราช แห่งเมืองรามคาม พระเจ้ามัลลราช แห่งเมืองปาวานคร และ มหาพราหมณ์ ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะนคร รวม ๗ นครด้วยกัน ล้วนมีความเลื่อมใส และความเคารพนับถือมั่นในพระพุทธศาสนา ครั้นได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระบรมศาสดา มีความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก จึงได้แต่งราชทูตส่งไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกุสินารานคร เพื่อจะได้สร้างพระสถูปบรรจุไว้เป็นที่สักการะบูชา เป็นศิริมงคลแก่พระนครของพระองค์สืบไป

              ครั้นส่งราชทูตไปแล้ว ก็ยังเกรงไปว่า กษัตริย์มัลลราช แห่งกุสินารานั้น จะขัดขืนไม่ยอมให้ดังปรารถนา จึงให้จัดโยธาแสนยากรเป็นกองทัพ พร้อมด้วยจาตุรงคเสนาโยธาหาญครบถ้วน ด้วยสรรพศัตราวุธเต็มกระบวนศึก เดินทัพติดตามราชทูตไป ด้วยทรงตั้งพระทัยว่า หากกษัตริย์มัลลราช แห่งนครกุสินาราขัดขืน ไม่ยอมให้ด้วยไมตรี ก็จะยกพลเข้าโหมหักบีบบังคับ เอาพระบรมธาตุด้วยกำลังทหาร

              เมื่อกษัตริย์ทั้งหลาย มีพระเจ้าอชาตศัตรูราช เป็นอาทิ ต่างยกจาตุรงคเสนาโยธาหาญมาถึงชานเมืองกุสินารา โดยลำดับ ครั้นทราบข่าวจากราชทูตว่า มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ไม่ยอมให้พระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดาดังประสงค์ ก็ไม่พอพระทัย ต่างก็ยกทัพเข้าประชิดกำแพงพระนคร จัดตั้งพลับพลาและตั้งค่ายรายเรียงพระนครกุสินารา รวม ๗ ทัพด้วยกัน แล้วให้ทหารร้องประกาศเข้าไปในเมืองว่า ให้มัลลกษัตริย์เร่งปันส่วนพระบรมสารีริกธาตุให้โดยดี แม้นมิให้ ก็จงออกมาชิงชัยยุทธนาการกัน

              ฝ่ายมัลลกษัตริย์ในเมืองกุสินารานั้น เห็นกองทัพยกมาผิดรูปการณ์เป็นไมตรีเช่นนั้น ก็ตกใจ ส่งให้ทหารขึ้นประจำที่ รักษาหน้าที่เชิงเทินปราการรอบพระนครให้มั่นคง เมื่อได้ยินทหารร้องประกาศเข้ามาดังนั้น ก็ให้ทหารบนเชิงเทินร้องตอบไปว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาปรินิพพานในพระนครของเรา ความจริง เราก็มิได้ไปทูลอัญเชิญให้เสด็จ และเราก็มิได้ส่งข่าวสารไปทูลเชิญเสด็จ พระองค์เสด็จมาเอง แล้วส่งพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ให้มาบอกเราให้ไปสู่สำนักพระองค์ แม้เพียงดวงแก้วอันมีค่าเกิดในเขตแคว้นแดนเมืองของท่าน ท่านก็มิได้ให้แก่เรา ก็แล้วแก้วอันใดเล่าจะประเสริฐเสมอด้วยแก้ว คือ พระพุทธรัตนะ และก็เมื่อเราได้ ซึ่งปฐมอุดมรัตนะเช่นนั้นแล้ว ที่จะให้แก่ท่านทั้งปวง อย่าพึงหวังเลย ใช่ว่าจะดื่มน้ำนมมารดา และเป็นบุรุษแต่เฉพาะท่านทั้งหลาย ก็หาไม่ แม้เราก็ดื่มน้ำนมมารดา เป็นบุรุษเหมือนกัน จะขยาดเกรงกลัวท่านเมื่อไรมี ” กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายต่างทำอหังการแก่กันและกันด้วยขัตติยมานะ คุกคามท้าทายด้วยถ้อยคำมีประการต่าง ๆ ใกล้จะทำสงครามสัมประหารซึ่งกันและกันอยู่แล้ว"

              ในกาลนั้น โทณพราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิต เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ สอนไตรเภทแก่กษัตริย์ทั้งหลาย พิจารณาเห็นเหตุอันจะพึงมี ในสิ่งซึ่งมิใช่เหตุอันควรจะสัมประหารซึ่งกันและกัน จึงดำริว่า ควรเราจะระงับเสีย ซึ่งความวิวาทของกษัตริย์ทั้งปวง และชี้ให้เห็นประโยชน์แห่งความสามัคคีเถิด ครั้นโทณพราหมณ์ดำริเช่นนั้นแล้ว จึงขึ้นยืนอยู่บนที่สูง ปรากฎร่างแก่กษัตริย์ทั้งหลาย พร้อมกับกล่าววาจาห้ามว่า "ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ขอทุกท่านจงสงบใจฟังคำของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคำที่ท่านทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามโดยส่วนเดียวเถิด"

              ครั้นโทณพราหมณ์ เห็นกษัตริย์ทั้งหลายตั้งใจสดับฟังถ้อยคำของตนเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวต่อไปว่า "ข้าแต่ท่านผู้จอมแห่งประชาราษฎร์ทั้งหลาย แท้จริงทุก ๆ ท่าน ก็มิใช่สักการะ เคารพ บูชา พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยฐานที่พระองค์เป็นกษัตริย์ที่สูงโดยชาติ และโคตร หรือสูงโดยเกียรติ ยศ ศักดิ์ และทรัพย์สมบัติแต่ประการใดเลย ปรากฎว่า เราทั้งหลายสักการะ เคารพบูชา พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยธรรม ด้วยความเชื่อถือในธรรม ที่พระองค์ทรงประทานไว้ทั่วกัน ก็ธรรมทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้นั้น พระองค์ทรงสรรเสริญขันติ ความอดทน อหิงสา ความไม่เบียดเบียน และสามัคคีความพร้อมเพรียงกัน อันเป็นธรรมทรงคุณค่าอันสูง ควรที่คนทั้งหลายจะพึงปฏิบัติทั่วกัน เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว เหตุอันใดเล่า เราจะพึงวิวาทกัน จะพึงสัมประหารกัน ข้อนั้น ไม่เป็นการสมควรเลย เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลาย จงสามัคคีปรองดองกันเถิด ขอทุกท่านจงมีส่วนได้พระบรมสารีริกธาตุ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าอัญเชิญไปสักการะจงทั่วกันเถิด ขอพระบรมสารีริกธาตุที่เคารพบูชาอันสูง จงแพร่หลายออกไปยังพระนครต่าง ๆ เพื่อเป็นที่สักการะ เคารพ บูชาของมหาชนทั้งปวงเถิด"

              เมื่อกษัตริย์ทั้งปวง ได้สดับคำของโทณพราหมณ์อันชอบด้วยธรรม สอดคล้องต้องกันกับรัฐประศาสโนบายเช่นนั้น ก็ได้สติ ดำริเห็นสอดคล้องต้องตามคำของโทณพราหมณ์ เลื่อมใสในถ้อยคำนั้น แล้วพร้อมกันตรัสว่า "ชอบแล้ว ท่านอาจารย์ ขอท่านอาจารย์จงแบ่งปันพระบรมสาริกธาตุออกเป็นส่วน ๆ ให้เป็นของควรแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะพึงอัญเชิญไปสักการะบูชาตามปรารถนาเถิด"

              เมื่อโทณพราหมณ์ได้สดับ คำยินยอมพร้อมเพรียงของกษัตริย์ทั้งปวงเช่นนั้น ก็ให้เปิดประตูเมืองกุสินารา อัญเชิญกษัตริย์ทั้งปวงเข้ามาในภายใน แล้วให้อัญเชิญไปประชุมพร้อมกันยังพระโรงราชสัณฐาคาร ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แล้วให้เปิดพระหีบทองน้อย ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ให้กษัตริย์ทั้งปวง พร้อมกันถวายอภิวาท สมตามมโนรถ

              ขณะนั้น พระบรมสารีริกธาตุ อันทรงพรรณพิลาศงามโอภาสด้วยรัศมี ซึ่งปรากฏอยู่ในพระหีบทอง เฉพาะพระพักตร์ ได้เตือนพระทัยกษัตริย์ทั้งปวง ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้มีพระภาค กษัตริย์ทั้งปวงจึงได้ทรงกรรแสงปริเทวนาการต่าง ๆ ครั้งนั้น โทณพราหมณ์เห็นกษัตริย์ทั้งหลายมัวแต่โศกศัลย์รันทดอยู่เช่นนั้น จึงได้หยิบพระทักษิณทาฐธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว ข้างขวา เบื้องบน ขึ้นซ่อนไว้ในมวยผม แล้วจัดการตักตวงพระบรมสารีริกธาตุด้วยทะนานทอง ถวายกษัตริย์ทั้ง ๘ พระนคร ซึ่งประทับอยู่ ณ ที่นั้น ได้พระนครละ ๒ ทะนานเท่า ๆ กันพอดี รวมพระบรมธาตุเป็น ๑๖ ทะนานด้วยกัน

ดอกมณฑาตก    ท้าวสักกะอัญเชิญพระทักษิณทาฐธาตุไปเทวโลก