พระสถูปเจดีย์สถาน

              ในสมัยนั้น บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ต่างองค์ต่างก็จัดขบวนอันมโหฬาร อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังพระนครของตนด้วยเกียรติยศอันสูง แล้วให้ก่อพระสถูปเจดีย์ขึ้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่สักการะบูชาของมหาชน จึงปรากฏว่า มีพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้-
              ๑. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองราชคฤห์
              ๒. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองไพศาลี
              ๓. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองกบิลพัสดุ์
              ๔. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองอัลลกัปปะนคร
              ๕. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองรามนคร
              ๖. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองเวฏฐทีปกะนคร
              ๗. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองปาวานคร
              ๘. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองกุสินารานคร
              ๙. พระอังคารเจดีย์ ที่เมืองโมรีนคร
              ๑๐. พระตุมพเจดีย์ ที่เมืองกุสินารานคร
รวมเป็น ๑๐ เจดีย์ด้วยกัน ยังส่วนต่าง ๆ ที่เป็นส่วนพระบรมธาตุบ้าง ที่เป็นส่วนบริกขารพุทธบริโภคบ้าง ก็ปรากฏว่าได้รับอัญเชิญไปสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้ในเมืองต่าง ๆ ดังนี้-

              ๑. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา กับพระรากขวัญเบื้องขวา ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์สถาน ณ ดาวดึงสเทวโลก
              ๒. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา เดิมไปประดิษฐาน ณ เมืองกาลิงคราฐ แต่บัดนี้ไปสถิตย์อยู่ในลังกาทวีป
              ๓. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราฐ
              ๔. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ในนาคพิภพ
              ๕. พระรากขวัญเบื้องซ้าย กับพระอุณหิส ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก

              ส่วนพระทนต์ทั้ง ๓๖ และพระเกศา พระโลมา กับทั้งพระนขาทั้ง ๒๐ นั้น เทพดาอัญเชิญไปองค์ละองค์ สู่จักรวาฬต่าง ๆ

              อนึ่ง พระบริกขารพุทธบริโภคทั้งหลายนั้น ก็ได้รับอัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูปตามนครต่าง ๆ ดังนี้ –
              ๑. พระกายพันธ์ สถิตย์อยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร
              ๒. พระอุทกสาฎก สถิตย์อยู่ที่เมืองปัญจาลราฐ
              ๓. พระจัมมขันธ์ สถิตย์อยู่ที่เมืองโกสราฐ
              ๔. ไม้สีฟัน สถิตย์อยู่ที่เมืองมิถิลา
              ๕. พระธัมมกรก สถิตย์อยู่ที่เมืองวิเทหราฐ
              ๖. มีดกับกล่องเข็ม สถิตย์อยู่ที่เมืองอินทปัตถ์
              ๗. ฉลองพระบาท สถิตย์อยู่ที่บ้านอุสิรพราหมณคาม และถลกบาตร
              ๘. เครื่องลาด สถิตย์อยู่ที่เมืองมกุฏนคร
              ๙. ไตรจีวร สถิตย์อยู่ที่เมืองภัททราฐ
              ๑๐. บาตร เดิมสถิตย์อยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร ภายหลังไปอยู่เมืองลังกาทวีป
              ๑๑. นิสีทนะสันถัด สถิตย์อยู่ที่เมืองกุรุราฐ

              พระสังคีติกาจารย์ได้พรรณาประมวลพระสถูปเจดีย์ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระบริกขารพุทธบริโภคไว้ด้วยประการ ฉะนี้.

วนฺทามิ เจติยํ สพฺพํ สพฺพฏ ฐาเน สุปติฏฐิตํ
สารีริกธาตุมหาโพธิ ํ พุทฺธรูปํ สกลํ สทา. ฯ (แปล)
ข้าฯ ขอน้อมไหว้ พระเจดีย์ใน ทั่วทุกสถาน
ทั้งพระปะระมะ ธาตุพระทรงญาณ ซึ่งประดิษฐาน โอฬารรูจี
ไหว้พระมหาโพธิ์ พวยพุ่งรุ่งโรจน์ ร่มรื่นฤดี
เป็นไม้พระตรัส จำรัสรัศมี ของพระชินสีห์ ศาสดาจารย์
ไหว้พระปฏิมา รูปพระตถา – คตเจ้าทรงญาณ
ทั้งน้อยใหญ่ เก่าใหม่ทุกสถาน ข้าขอนมัสการ เป็นนิรันดร ฯ

ขอเสร็จอภิเสกสร้อย         สัพพัญ - ญูเฮย
พระปัญญาธิกะบรรพ์         แบบไว้
ขอทรงปิฏกธรรม์         ทุกชาติ
หนึ่งนึกสิ่งใดได้         เสร็จสิ้นดังประสงค์ ข้า ฯ เทอญ.

ท้าวสักกะอัญเชิญพระทักษิณทาฐธาตุไปเทวโลก
๙-๖-๒๕๔๗