พระนันทาเถรี
เอตทัคคะในฝ่ายผู้เพ่งด้วยฌาน
  พระนันทาเถรี เป็นพระธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นกนิษฐภคินีของเจ้าชายนันทะ พระนามเดิมว่า “ นันทา” แต่เพราะพระนางมีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก น่าทัศนา น่ารัก น่าเลื่อมใส พระประยูรญาติจึงพากันเรียกว่า “ รูปนันทา” บ้าง “ อภิรูปนันทา” บ้าง ชนปทกัลลาณี” บ้าง

  เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้นับเนื่องเป็นพระเชษฐาของนาง เสด็จออกบรรพชา ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแล้ว เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ เทสนาสั่งสอนให้บรรลุมรรคผลตามวาสนาบารมี ทรงนำศากกุมารทั้งหลายมีพระนันทะ พระราหุล และพระภัททิยะ เป็นต้น ออกบรรพชา

  ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าสุทโธทนมหาราชพุทธบิดา เสด็จเข้าสู่พระนิพพานแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีพระมารดา และพระนางยโสธราพิมพาพระมารดาของพระราหุล ต่างก็พาสากิยกุมารีออกบวชในพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น นางจึงมีพระดำริว่า “ เหลือแต่เราเพียงผู้เดียว ประหนึ่งไร้ญาติขาดมิตร จะมีประโยชน์อะไรกับการดำรงชีวิตในฆราวาสวิสัย สมควรที่เราจะไปบวชตามพระประยูรญาติผู้ใหญ่ของเราจะประเสริฐกว่า”


เพราะรักญาติจึงออกบวช

  เมื่อพระนางมีพระดำริดังนี้แล้ว จึงจัดเตรียมผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จไปสู่สำนักพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี กราบแทบเท้ากล่าวของบรรพชาอุปสมบทพระเถรี ก็โปรดให้บรรพชาตามปรารถนา แต่การบวชของนางนันทานั้นมิได้บวชด้วยความศรัทธา แต่อาศัยความรักในหมู่ญาติจึงออกบวช

  ครั้นบวชแล้ว พระรูปนันทาเถรีได้ทราบว่า พระพุทธองค์ทรงตำหนิติเตียนเรื่องรูปกาย จึงไม่กล้าไปเฝ้าพระศาสดา เพื่อรับพระโอวาท เมื่อถึงวาระที่ตนจะต้องไปรับโอวาทก็สั่งให้พระภิกษุณีรูปอื่นไปรับแทน พระบรมศาสดาทรงทราบว่า พระนางหลงมัวเมาในพระสิริโฉมของตนเอง จึงตรัสสั่งว่า..

  “ ต่อแต่นี้ ภิกษุณีทั้งหลาย ต้องมารับโอวาทด้วยตนเอง จะส่งภิกษุณีรูปอื่นมารับแทนไม่ได้”

  ตั้งแต่นั้น พระรูปนันทาเถรี ไม่มีทางอื่นที่จะหลีกเลี่ยงไปได้ จึงจำเป็นเเละจำใจไปรับพระโอวาท ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรารถนา ไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย แต่มิกลัาแม้กระทั่งนั่งอยู่แถวหน้า จึงนั่งหลบอยู่ด้านหลัง

  พระพุทธองค์ ทรงเนรมิตรูปหญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งให้มีรูปสิริโฉมสวยงามสุดที่จะหาหญิงใดในปฐพีมาเปรียบได้ ให้หญิงนั้นดูประหนึ่งว่า ถือพัดวีชนีถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังของพระพุทธองค์ และให้สามารถมองเห็นได้เฉพาะพระพุทธองค์กับพระรูปนันทาเถรีเท่านั้น

  พระรูปนันทาเถรี ได้เห็นหญิงงามรูปเนรมิตนั้นแล้วก็คิดว่า เราหลงผิดคิดมัวเมาอยู่ในรูปโฉมของตนเองโดยใช่เหตุ จึงมิกล้ามาเฝ้าพระพุทธองค์ หญิงคนนี้มีความสนิทสนมอยู่ในสำนักพระบรมศาสดา รูปโฉมของเรานั้นเทียบไม่ได้ส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ ของหญิงนี้เลย ดูนางช่างงามยิ่งนัก ผมก็สวย หน้าผากก็สวย หน้าตาก็สวย ทุกสิ่งทุกอย่างช่างสวยงามพร้อมทั้งหมด


พอเบื่อหน่ายก็ได้สำเร็จอรหัตผล

  เมื่อพระรูปนันทาเถรี กำลังเพลิดเพลินชื่นชมโฉมของรูปหญิงเนรมิตอยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานให้รูปหญิงนั้นปรากฏอยู่ในวัยต่าง ๆ ตั้งแต่เป็นหญิงวัยรุ่น เป็นหญิงสาววัยมีลูกหนึ่งคน มีลูก ๒ คน จนถึงวัยกลางคน วัยชราและวัยแก่หง่อม ผมหงอก ฟันหัก หลังค่อม และล้มตายลงในขณะนั้น ร่างกายมีหมู่หนอนมาชอนไชเจอะกินเหลือแต่กระโครงกระดูก พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระรูปนันทาเถรีเกิดความสังเวชสลดจิตเบื่อหน่ายในรูปกายที่ตนยึดถือแล้วจึงตรัสว่า..

  “ ดูก่อนนันทา เธอจงดูอัตภาพร่างกายอันเป็นเมืองแห่งกระดูกนี้ ( อฏฺฐีนํนครํ ) อันกระสับกระส่าย ไม่สอาด อันบูดเน่านี้เถิด เธอจงอบรมจิตให้แน่วแน่มั่นคง มีอารมณ์เดียวในอสุภกรรมฐาน จงถอนมานะทิฏฐิให้แล้วจิตใจของเธอจะสงบ จงดูว่ารูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอก็เป็นฉันนั้น รูปของเธอเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น รูปอันมีกลิ่นเหม็นบูดเน่านี้ ย่อมเป็นที่เพลิดเพลินอย่างยิ่งของผู้โง่เขลาทั้งหลาย”

  พระรูปนันทาเถรีส่งกระแสจิตไปตามพระพุทธดำรัส เมื่อจบลงก็สิ้นกิเลสาวะบรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าเมื่อพระนางสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วเป็นผู้มีความชำนาญพิเศษในการเพิ่งด้วยฌาน

  ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องพระนางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้เพ่งด้วยฌาน หรือ ผู้ทรงฌาน...


ฌาน

    การเพ่งอารมณ์จนแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ มี ๔ คือ
     ๑.   ปฐมฌาน   ฌานที่ ๑   มีองค์ ๕   คือ
              วิตก   วิจาร   ปีติ  สุข   เอกัคคตา
     ๒.   ทุติยฌาร  ฌานที่ ๒  มีองค์ ๓   คือ
              ปีติ   สุข   เอกัคคตา
     ๓.  ตติยฌาน   ฌานที่ ๓   มีองค์ ๒   คือ  
              อุเบกขา  เอกัคคตา
     ๔.  จตุตถฌาน   ฌานที่ ๔   มีองค์ ๒   คือ  
              อุเบกขา   เอกัคคตา

ย้อนกลับ             ปิดหน้านี้         ถัดไป