นางสามาวดี
เอตทัคคะในฝ่ายผู้อยู่ด้วยเมตตา
  นางสามาวดี เป็นธิดาของเศรษฐีนามว่าภัททวดีย์ แห่งเมืองภัททวดีย์ เดิมชื่อว่า “ สามา ” และบิดาของนางเป็นสหายที่ไม่เคยเห็นหน้ากันกับโฆสกเศรษฐี แห่งเมืองโกสัมพี

เศรษฐีตกยาก

  ครั้นต่อมา เกิดโรคอหิวาต์ระบาดในเมืองในภัททวดีย์ เศรษฐีภัททวดีย์ต้องพาภรรยาและลูกสาวอพยบหนีโรคร้ายไปยังเมืองโกสัมพี เพื่อขอพักอาศัยกับโฆสกเศรษฐีผู้เป็นสหาย แต่บังเอิญโชคร้ายประสบเคราะห์กรรมซ้ำเข้าอีก คือเมื่อเดินทางมาถึงเมืองโกสัมพีแล้ว ด้วยสภาพร่างกายที่อดอาหารมาหลายวัน อีกทั้งความเหน็ดเหนื่อยเมื้อยล้าจากการเดินทางไกล ทำให้ไม่กล้าไปพบสหายในสภาพอย่างนั้น จึงพักอาศัยในศาลาใกล้ ๆ โรงทานของโฆสกเศรษฐีนั้น ตั้งใจวาเมื่อแข็งแรงดีแล้วจึงจะเข้าไปหาเพื่อน

  วันรุ่งขึ้น ให้ลูกสาวเข้าไปรับอาหารที่โรงทานของโฆสกเศรษฐี เมื่อได้มาแล้วภัททวดีย์เศรษฐีกับภรรยาบริโภคอาหารเกินพอดี ไฟธาติไม่สามารถจะย่อยได้จึงถึงแก่ความตายทั้งสองคน เหลือแต่นางสามาเป็นกำพร้าพ่อแม่อยู่แต่ผู้เดียว


ได้นามว่าสามาวดี

  ต่อมา โฆสกเศรษฐีได้พบนางสามา ได้ทราบประวัติความเป็นมาของนางโดยตลอดแล้ว เกิดความรักสงสาร จึงรับนางไว้เลี้ยงดูดุจลูกสาวแท้ ๆ ของตน และยกนางไว้ในฐานะธิดาคนโต อีกทั้งได้มอบหญิงบริวารให้อีก ๕๐๐ คน

  ตามปกติที่บ้านของโฆสกเศรษฐี เมื่อเวลาแจกทานจะมีเสียงเซ็งแซ่จากการยื้อแย่งของผู้มาขอรับแจกทาน ท่านเศรษฐีก็ฟังทุกมันจนเคยชิน แต่เมื่อนางสามาเข้ามาอยู่ในบ้านของท่านเศรษฐีแล้ว เห็นความไม่มีเรียบร้อยดังกล่าว จึงคิดหาทางแก้ไข นางจึงใหคนทำรั่วมีประตูทางเข้าและประตูทางออก ให้ทุกคนเรียงแถวตามลำดับเข้ารับแจกทาน ทุกอย่างเรียบร้อยไม่มีเสียงเซ็งแซ่เหมือนแต่ก่อน โฆสกเศรษฐีพอใจเป็นอย่างยิ่ง กล่าวยกย่องชมเชยในความฉลาดของนางเป็นอันมากหลังจากนั้น นางจึงได้ชื่อว่า “ สามาวดี ” ( วดี - รั่ว )

  จนกระนั้นวันหนึ่ง มีงานนักขัตฤกษ์ในนครโกสัมพี นางได้ขออนุญาตบิดาออกไปดูงาน เมื่อบิดาอนุญาตแล้ว นางพร้อมด้วยสาวใช้บริวารก็ออกไปเที่ยวชมงานอย่างสำราญใจ

  บนปราสาทของเจ้าผู้ครองนครโกสัมพีนี้ พระเจ้าอุเทนราชกำลังทอดพระเนตรผ่านบัญชรลงมา ก็บังเอิญสายตามาสัมผัสกับหญิงงามนางหนึ่งที่กำลังเดินชมงานพร้อมด้วยสาวใช้จำนวนมาก พระองค์คิดว่าคงจะเป็นนักฟ้อนรำที่มาแสดงในงานนักขัตฤกษ์ จึงถามคนใกล้ชิดว่า

  หญิงที่รูปงามคนนั้นเป็นนักฟ้อนของคณะใดรู้มั๊ย

  ไม่ใช่นักฟ้อนพะยะค่ะ นางเป็นบุตรสาวของโฆสกเศรษฐี พะยะค่ะ

  พระจันทร์คล้อยต่ำลงแล้ว การแสดงทั้งหลายยุติลงชั่วคราว นักแสดงและผู้เที่ยวชมงานต่างพากันกลับเรือนและที่พัก เพื่อพักผ่อนหลับนอนตามธรรมดาของมนุษย์ ความเหน็ดเหนื่อยทำให้การหลับเป็นไปอย่างง่ายดาย ไม่นานนักนครโกสัมพีก็เงียบเชียบเพราะผู้คนต่างหลับใหลอยู่อย่างเป็นสุข แต่ว่าดวงตาทั้งคู่ของพระเจ้าอุเทนราชยังคงลืมโพลงอยู่ พระองค์มิอาจจะข่มให้หลับลงได้ ภาพบุตรีที่แสนงดงามของโฆสกเศรษฐียังคงติดตรึงตาตรึงใจอยู่ตลอดเวลา ราตรีนี้ช่างเป็นราตรีที่ทรมานดวงพระหทัยแก่พระเจ้าอุเทนราชยิ่งนัก

  อันธรรมดาบุคคลที่ไม่สามารถจะนอนหลับได้มี ๔ อย่างคือ

  ๑. บุรุษที่มีจิตปฏิพัทธ์ในสตรี
  ๒. สตรีที่มีจิตปฏิพัทธ์ในบุรุษ
  ๓. ผู้ที่จำเป็นต้องทำงานให้เสร็จในวันนั้น
  ๔. พวกที่เป็นโจรคอยลักทรัพย์ในยามกลางคืน

  สองข้อหลังนี้เมื่อผู้ที่ทำงานได้ทำเสร็จแล้วหรือโจรที่ลักทรัพย์ได้แล้ว เขาย่อมล้มตัวลง นอนหลับได้อย่างเป็นสุข แต่ผู้ที่ตกอยู่ในสองข้อแรกนั้นสิ ไม่อาจจะหลับตาลงได้เลย

  พระเจ้าอุเทนราชคือผู้ที่ตกอยู่ในข้อแรก พระองค์ถูกบ่วงแห่งตัณหาและตาข่ายแห่งราคะอันพญามารถักทอไว้อย่างเหนียวแน่นรัดจนยากยิ่งที่ผู้ใดจะดิ้นหลุดหนีรอดออกไปได้นั่นเอง

  รุ่งเช้าพระราชาแห่งนครโกสัมพีจึงสั่งให้ราชบุรุษถือคำสั่งไปยังเรือนของโฆสกเศรษฐี สั่งให้นำบุตรสาวมาถวาย แต่ด้วยความรักและเอ็นดูที่เศรษฐีมีต่อนางสามาวดีจึงไม่ยอมทำตาม ได้ขัดขืนคำสั่งของพระเจ้าอุเทนราชอยู่ถึง ๓ หน จนพระเจ้าอุเทนทรงพิโรธ สั่งให้ราชบุรุษไปปิดเรือนเศรษฐีและไม่ให้เศรษฐีเข้าเบ้าน เมื่อนางสามาวดีทราบความจริง จึงสมัครใจมาเป็นหเหสีของพระเจ้าอุเทนราช และเพื่อเป็นการทดแทนพระคุณของบิดาบุญธรรมด้วยนั่นเอง


นางสามาวดีบรรลุโสดาปัตติผล

  พระนางสามาวดีนับเป็นสตรีที่ทีความงดงามทั้งร่างกายและจิตใจ พระนางมีความเลื่อมใสในพระบรมศาสดาอย่างมาก และพระนางยังได้บรรลุโสดาปัตติผลโดยความน่าพิศวงเป็นอย่างมาก กล่าวคือ นางให้สาวใช้คนหนึ่งชื่อนางขุชชุตตราหญิงพิการหลังค่อม ไปซื้อดอกไม้เพื่อมาประดับห้อง วันนั้นนายมาลาขายดอกไม้ได้อาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยเหล่าพระสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้าน สาวใช้ของนางได้นั่งรอดอกไม้อยู่ในบ้านนายมาลา

   ขณะเมื่อพระบรมศาสดาแสดงธรรมเทศนาอยู่นั้น นางขุชชตตราได้ส่งจิตไปตามกระแสแห่งธรรมธารานั้น สังโยชน์เบื้องแรก ๓ ข้อก็ได้ถูกทำลายลง ดั่งกำแพงที่ขวางกั้นได้ถูกเจาะทะลุเป็นรูใหญ่ แสงสว่างอันเฉิดฉายจากอีกด้านหนึ่งของกำแพงจึงสาดส่องรอดรูที่ทะลุกำแพงออกมา ดวงตาเห็นแสงธรรมอันสว่างไสวได้บังเกิดขึ้น ความละอายใจต่อบาปแผ่ซ่านไปทุกความรู้สึกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และบัดนี้นางได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว

  ปกตินางชขุชชุตตราได้เงินมาซื้อดอกไม้วันละ ๘ กหาปณะ แต่ว่าจะซื้อจริงเพียง ๔ กหาปณะ ส่วนที่เหลืออีก ๔ กหาปณะ นางจะยักยอกไว้ใช้ส่วนตัว แต่วันนี้เป็นวันเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ ทุกอย่างในจิตใจของนางได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว การยักยอกเงินไว้ใช้ส่วนตัวจะไม่มีในจิตใจอีกต่อไปแล้ว วันนี้นางจึงซื้อดอกไม้ด้วยเงินทั้งหมด ๘ กหาปณะ จึงได้ดอกไม้มาเท่าตัว

  เมื่อกลับมาถึง พระนางสามาวดีสังเกตเห็นดอกไม้ในวันนี้มากมายผิดปกติ จึงสอบถามความเป็นจริงจากสาวใช้ นางขุชชตตราสาวใช้ซึ่งบัดนี้ได้ความเป็นโสดาบันแล้ว จึงไม่มีการกล่าวคำเท็จอีกต่อไป นางได้เล่าเรื่องราวแต่หนหลังที่ได้ยักยอกเงินซื้อดอกไม้วันละ ๔ กหาปณะ จนกระทั่งได้ฟังธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาให้พระนางสามาวดีฟังทั้งหมด และยอมรับการลงทัณฑ์โดยดุษฎียภาพ แต่พระนางสามาวดีกลับมีความสนพระทัยในธรรมเทศนาที่ยิ่งใหญ่จนสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจคนได้ จึงให้สาวใช้นั่งในที่นั่งของพระนาง แล้วพระนางลงนั่งในที่ต่ำลง ทรงโปรดให้นางขุชชุตตราสาวใช้แสดงธรรมเทศนาที่ได้ฟังมาในวันนี้ พอฟังจบลงแล้วพระนางพร้อมด้วยสาวใช้บริวารทั้ง ๕๐๐ ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลพร้อมกันทุกคน

  ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าอุเทนได้พระนางวาสุลทัตตาพระราชธิดาพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนีมาอภิเศกเป็นมเหสีองค์ที่สอง และได้นางมาคันทิยา สาวงามแห่งแคว้นกุรุมาอภิเษกเป็นมเหสีองค์ที่สาม และด้วยความงามเป็นเลิศทำให้พระเจ้าอุเทนทรงสิเนหานางมาคันทิยายิ่งนัก ได้พระราชทานหญิงบริวาร ๕๐๐ คนไว้คอยรับใช้นาง


นางมาคันทิยาผูกอาฆาตพระศาสดา

  ก่อนที่นางมาคันทิยาจะได้รับการอภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนนั้น เดิมทีนางเป็นธิดาของเศรษฐีในแคว้น กุรุ เนื่องจากนางมีรูปร่างงามดุจนางเทพอัปสรจึงมีเศรษฐี คฤหบดี ตลอดจนพระราชาจากต่างเมืองต่าง ๆ ส่งสารมาสู่ขอมากมายแต่บิดามาดาของนางก็ปฏิเสธทั้งหมดด้วยคำว่า “ พวกท่านไม่คู่ควรแก่ธิดาของเรา ” นางจึงครองความเป็นโสดเรื่อยมา พระบรมศาสดาทรงพิจณาเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหันของสองสามีภรรยา จึงเสด็จมายังแคว้นกุรุ

  ฝ่ายพราหมณ์ผู้บิดาได้เห็นแล้วก็ชื่นชมในความสง่างามของพระพุทธองค์ รำพึงในใจว่า โอ้หนอ...ตั้งแต่เราเกิดมา ยังมิเคยเห็นผู้ใดที่มีความสง่างามดุจสมณะรูปนี้เลย ดูแล้วบุตรสาวของเราช่างเหมาะสมควรคู่กับสมณะท่านนี้เสียจริงๆ

  อย่ากระนั้นเลย เรายกนางให้แก่สมณะท่านนี้เถิด คิดดังนั้นแล้วจึงร้องขึ้นว่า

  “ หยุดก่อนท่านสมณะ ท่านเหมาะสมกับบุตรสาวของเรายิ่งนัก เชิญท่านหยุดรอ อยู่ที่นี่ก่อนประเดี๋ยวหนึ่ง ข้าพเจ้าจักเข้าเรือนไปแต่งตัวบุตรสาวให้งดงามเสียก่อน แล้วจักมอบนางให้เป็นภรรยาแด่ท่าน ”

  ฝ่ายพระบรมศาสดามิได้ประทับอยุ่ที่ตรงเดิม แต่ได้อธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้แล้วเสด็จไปประทับในที่ไม่ไกลจากที่นั้น

  ว่าแล้วพราหมณ์ก็เข้าเรือนไปบอกภรรยาให้รีบแต่งตัวบุตรสาวให้งดงามโดยไว ครั้นเสร็จแล้วก็พากันมาที่หน้าเรือน แต่หาได้พบพระพุทธองค์ไม่

  พราหมณ์จึงชักชวนให้ออกเดินตามหา แต่ภรรยาพราหมณ์ได้สังเกตเห็นรอยพระบาทที่พระพุทธองค์ทรงประทับทิ้งเอาไว้ จึงกล่าวแก่สามีว่า

  “ ท่านอย่าตามหาให้เหนื่อยเปล่าเลย เพราะอันธรรมดารอยเท้าของบุคคลที่มีโทสะจะหนักส้น บุคคลที่มีโมหะจะจิกปลาย บุคคลที่มีราคะจะแอ่นกลาง แต่รอยเท้านี้มีความราบเรียบเสมอกันตลอด ตั้งแต่ต้นจรดปลาย ย่อมเป็นรอยเท้าของผู้ที่ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ท่านย่อมไม่มีความปรารถณาในบุตรสาวของเราดอก ”

  แต่พราหมณ์สามียังคงดื้อดึง ออกตาม หาจนมาพบพระบรมศาสดาที่โคนไม้แห่งหนึ่ง จึงเข้าไปถวายบังคมยืนยันจุดประสงค์เดิมที่จะมอบนาง มาคันทิยา ให้พระพุทธองค์เช่นเดิม พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ

  “ ดูก่อนพราหมณ์ แม้ว่าบุตรสาวของท่านจะเลอโฉมงดงามก็จริง แต่เราใช่ว่าจะไม่เคยพบเห็นสตรีที่เลอโฉมก็หาไม่ สมัยที่เรายังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ เราห้อมล้อมด้วยเหล่านางสนมที่ล้วนแล้วแต่งดงามเลือกเฟ้นมาอย่างดี แต่เราก็เกิดความเบื่อหน่ายในที่สุด เพราะความงามนั้นไม่ยั่งยืน แท้จริงร่างกายอันมีอาภรณ์ปกปิดนี้ เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล อันมี น้ำมูก น้ำลาย น้ำปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น หลั่งไหลออกจากทวารทั้ง ๙ อยู่เสมอๆ อย่าว่าแต่จะสัมผัสบุตรสาวท่านด้วยปลายนิ้วมือเราเลย แม้แต่ปลายเท้า เราก็ไม่อยากจะสัมผัส ”

  ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมเทศนา แสดงโทษของกาม อานิสงค์ของทาน ศีล ภาวนา และการดำริออกจากกาม เพื่อกล่อมเกลาจิตใจของพราหมณ์ทั้งสองให้อ่อนโยนลงแล้ว จึงแสดงธรรมอันละเอียดลุ่มลึกอันมี อริยสัจจ์สี่ เป็นต้น จนกระทั่งพราหมณ์ทั้งสองบังเกิดความแจ่มแจ้งได้บรรลุ อนาคามีผล และทูลขอบรรพชา ต่อมาก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ .....

  ฝ่ายนางมาคันทิยา ได้ยินพระดำรัสของพระศาสดาโดยตลอด รู้สึกโกรธที่พระพุทธองค์ตำหนิประณามว่าร่างกายของนางเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะไม่ปรารถนาจะสัมผัสถูกต้องแม้ด้วยเท้า จึงผูกอาฆาตจองเวรต่อพระศาสดา เมื่อบิดามารดาออกบวชหมดแล้ว นางจึงได้ไปอาศัยอยู่กับน้องชายของบิดาผู้เป็นอา ต่อมาอาของนางคิดว่า หลายสาวผู้มีความงามเป็นเลิศอย่างนี้ ย่อมคู่ควรแก่พระราชาเท่านั้น จึงนำไปถวายเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน


จ้างนักเลงด่าพระพุทธองค์

  สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จมายังเมืองโกสัมพี มีพระอานนท์เถระมาด้วย พระนางมาคันทิยาได้โอกาส จึงว่าจ้างทาส กรรมกร และนักเลงพวกมิจฉาทิฏฐิ ผู้ไม่เลื้อมใสในพระรัตนตรัย ให้ติดตามด่าพระพุทธองค์ไปในทุกหนทุกแห่งทั่วทั้งเมืองด้วยคำด่า ๑๐ ประการ คือ เจ้าเป็นโจร เป็นคนพาล เป็นคนบ้า เป็นอูฐ เป็นลา เป็นวัว เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน สุคติของเจ้าไม่มี เจ้ามีแต่ทุคติอย่างเดียว พระอานนท์เถระได้ฟังแล้วสุดที่จะทุนไหว จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์ไปยังเมืองื่น พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า

   “ อานนท์ ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ? ”

  “ ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า ”

  “ ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจักทำอย่างไร ? ”

  “ ก็เสด็จต่อไปอีกเมื่องอื่นอีก พระเจ้าข้า ”

  “ ดูก่อนอานนท์ ถ้าอย่างนั้นเราก็จะหนีกันไม่สิ้นสุด ทางที่ถูกนั้นอธิการณ์เกิดขึ้นในที่ใด ก็ควรให้อธกรณ์สงบระงับในที่นั้นก่อนแล้วจึงไป ”

   พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า

  “ ดูก่อนอานนท์ ธรรดาอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมไม่เกิน ๗ วัน ก็จะสงบไปเอง ”


นางสามีวดีถูกใส่ความเรื่องไก่

  พระนางมาคันทิยา เมื่อไม่สามารถจะทำให้พระพุทธองค์อับอายจนหนีไปยังเมืองอื่นได้ก็ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น จึงคิดอุบายใส่ความแก่พระนางสามาวดีและบริวารผู้มีศรัทธาในพระพระพุทธองค์ โดยส่งข่าวไปบอกแก่อาของตนขอให้ส่งไก่เป็น ที่ยังมีชีวิตมาให้ ๘ ตัว และไก้ตายอีก ๘ ตัว เมื่อได้ไก่มาตามต้อการแล้วจึงเข้าไปกราทูลพระเจ้าอุเทนว่า

  “ ข้าแต่สมมติเทพ ท่านปุโรหิตส่งไก่มาเป็นบรรณาการแด่พระองค์ เพคะ ”

  “ ผู้ใด ทีความชำนาญในการแกงอ่อมไก่บ้าง ? ” พระราชาตรัสถาม

  พระนางสามาวดีกับหญิงบริวาร เพคะ พระนางมีฝีมือในการปรุงแกงไก่เป็นเลิศนักหนา” พระนางมาคันทิยา กราบทูล

  พระเจ้าอุเทนราชจึงสั่งให้ราชบุรุษนำไก่เหล่านั้นไปให้พระนางสามาวดีปรุงมาถวาย เมื่อราชบุรุษนำไก่มายังที่ประทับของพระนางสามาวดีและแจ้งพระราชประสงค์ของพระเจ้าอุเทนราชแล้ว เนื่องจากไก่นั้นยังเป็นไก่ที่มีชีวิต พระนางสามาวดีบัดนี้ได้เป็นโสดาบันแล้ว ไฉนเลยจะล่วงปาณาติบาตเช่นนั้นได้ พระนางจึงสั่งให้ราชบุรุษนำไก่กลับไปถวายคืน

  พระนางมาคันทิยาจึงรีบกราบทูลต่อพระเจ้าอุเทนราชว่า

  ดูสิเพคะ พระนางสามาวดีมิได้มีความเคารพยำเกรงต่อพระองค์เลย พระนางเคารพพระบรมศาสดายิ่งกว่า หากไม่ทรงเชื่อ ลองส่งไก่กลับไปใหม่แล้วรับสั่งให้ปรุงไปถวายแก่พระบรมศาสดา ดูสิเพคะ

  เมื่อพระเจ้าอุเทนราชทำตาม ระหว่างทางที่นำไก่กลับไปยังที่ประทับของพระนางสามาวดี ปุโรหิตที่เป็นอาก็แอบฆ่าไก่ให้ตายเสียทั้งหมดก่อน ด้วยครั้งนี้ไก่ทั้งหมดนั้นไม่มีชีวิตแล้ว พระนางสามาวดีจึงยอมรับมาและปรุงไปถวายแก่พระบรมศาสดา

  ดังนั้นพระนางมาคันทิยาจึงทูลว่า

  พระองค์เห็นหรือไม่ว่า พระนางสามาวดีไม่ยอมปรุงแกงไก่มาถวายพระองค์ แต่กลับยอมปรุงไปถวายพระบรมศาสดา พระนางไม่เคารพยำเกรงพระองค์เลย

  แต่พระเจ้าอุเทน ได้สดับของพระนางมาคันทิยาแล้วทรงอดกลั้นนิ่งเฉยไว้อยู่ จนกระทั้งพระนางมาคันทิยาต้องคิดหาอุบายใส่ร้ายด้วยวิธีอื่นต่อไป


ถูกใส่ร้ายความเรื่องงู

  ตามปกติ พระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปประทับที่ปราสาทของพระมเหสีทั้ง ๓ คือ พระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตา และพระนางมาคันทิยา ตามวาระแห่งละ ๗ วัน ครั้นอีก ๒ – ๓ วัน จะถึงวาระเสด็จไปประทับที่ปราสาทของพระสามาวดี พระมาคันทิยาได้วางแผนส่งข่าวไปถึงอา ให้ส่งงูพิษที่ถอนเขี้ยวออกแล้วมาให้พระนางด่วน

  เมื่อได้มาแล้วจึงใส่งูเข้าไปในช่องพิณซึ่งพระเจ้าอุเทนทรงเล่นและนำติดพระองค์เป็นประจำแล้วนำช่อดอกไม้ปิดช่องพิณไว้ ก่อนที่พระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปยังปราสาทของพระนางสามาวดีนั้น พระนางมาคันทิยาได้ทำทีเป็นกราบทูลทัดทานว่า “ ขอพระองค์ อย่าเเสด็จไปเลย เพราะเมื่อคืนหม่อมฉันฝันไม่เป็นมงคล เกรงว่าพระองค์จะได้รับอันตราย” เมื่อพระราชาไม่เชื่อคำทัดทานจึงขอติดตามเสด็จไปด้วย

  ขณะที่พระนางสามาวดีและหญิงบริวารปรนนิบัติพระเจ้าอุเทนอยู่ และทรงวางพิณไว้บบนพระแท่นบรรทมนั้นพระนางมาคันทิยาก็ทำเป็นเดินมาใกล้ ๆ บริเวณนั้น เมื่อไม่มีใครสังเกตเห็นจึงดึงช่อดอกไม้ที่ปิดช่องผิณออก และงูที่อดอาหารมาหลายวันได้เลื่อยออกมาพ่นพิษแผ่พังพาน พระราชาทอดพระเนตรเห็นงูก็ตกพระทัยกลัวมรณภัยจะมาถึง จึงด่าตวาดพระนางสามาวดีที่คิดปลงพระชนม์ และตำหนิพระองค์เองที่ไม่เชื่อคำทัดทานของพระนางมาคันทิยา ด้วยเพลิงแห่งความโกรธจึงตัดสินพระทัยประหารชีวิตพระนางสามาวดีและหญิงบริวารด้วยพระองค์เอง


อานุภาพแห่งเมตตาธรรม

  พระเจ้าอุเทนทรงยกคันธนูประจำพระองค์ขึ้นสายแล้วพาดลูกศรอาบยาพิษโก่งคันธนูเล็งเป้าไปที่พระอุระของพระนางสามาวดี ซึ่งประทับอยู่ข้างหน้าแห่งหญิงบริวาร ก่อนที่ลูกศรจะเเล่นออกจากคันธนูนั้น พระนางสามาวดีได้ให้โอวาทแก่หญิงบริวารว่า

  “ แม่หญิงสหายทั้งหลาย ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เธอทั้งหลายจงเจริญเมตตาจิตให้สม่ำเสมอส่งไปให้แก่พระราชา แก่พระเทวีมาคันทิยา และแก่ตนเอง อย่าถือโทษโกรธต่อใคร ๆ เลย ”

  ครั้นให้โอวาทจบลง หญิงเหล่านั้นก็ปฏิบัติตาม เมื่อพระราชาปล่อยลูกศรออกไป แทนที่ลูกซรจะพุ่งเข้าสู่พระอุระพระนางสามาวดี แต่หวนกลับพุ่งเข้าหาพระอุระของพระองค์เสียเอง จึงสดุ้งตกพระทัยพลางดำริว่า

  “ ธรรมดาลูกศรนี่ย่อมแทงทะลุแม้กระทั้งแผ่นหิน บัดนี้ สิ่งที่เป็นวัตถุที่จะกระทบในอากาศก็ไม่มี เหตุใดลูกศรจึงหวนกลับเข้าหาเรา ลูกศรนี้แม้จะไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ยังรู้จักคุณของพระนางสามาวดี เราเสียอีกแม้เป็นมนุษย์กลับไม่รู้คุณของพระนาง ”

  ทันใดนั้น ท้าวเธอทิ้งคันธนูแล้วประนมหัตถ์ประคองอัญชลี กราบที่พระบาทของพระนางสามาวดี อ้อนวอนให้พระนางยกโทษให้ และขอถึงพระนางเป็นที่พึ่งตลอดไป พระนางสามาวดีกราบทูลให้พระราชาทรงถึงพระบรมศาสดาเป็นสรณที่พึ่งเหมือนอย่างที่พระนางกระทำอยู่ ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าอุเทนทรงมีศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ทรงรักษาศีลฟังธรรมร่วมกับพระนางสามาวดีตามกาลเวลาและโอกาสอันสมควร


พระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็นพร้อมหญิงสหาย

  ความจริงแล้ว พระนางมาคันทิยา มีความโกรธแค้นต่อพระบรมศาสดาที่ทรงประณามว่า “ นางมีร่างกายเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะ ไม่ปรารถนาจะสัมผัสแม้ด้วยเท้า ” และนางก็ได้ชำระความแค้นด้วยการว่าจ้างนักเลงให้ตามด่าพระพุทธองค์ไปส่วนหนึ่งแล้ว ในส่วนของพระนางสามาวดีนั้น ที่นางต้องโกรธแค้นด้วยก็สาเหตุหนึ่งเป็นพระมเหสีคู่แข่ง แต่ที่สำคัญก็คือพระนางไม่มีศรัทธาในพระพุทธสมณโคดม เมื่อแผนการทำลายพระนางสามาวดีที่ทำไปหลายครั้งแล้วนั้น ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ครั้งหลังสุดยังทำให้พระเจ้าอุเทนพระสวามีไปมีศรัทธาเลื่อมใสในพระสมณโคดมอีกด้วย ยิ่งทำให้พระนางมาคันทิยาเพิ่มความโกรธแค้นยิ่งขึ้นแล้วแผนการอันโหดเหี้ยมของพระนางก็เกิดขึ้น

  ลำดับนั้น ขณะที่พระเจ้าอุเทนเสด็จประพาสราชอุทยาน พระนางมาคันทิยาสั่งคนใช้ให้เอาผ้าชุบน้ำมันแล้วนำไปพันที่เสาทุกต้น ในปราสาทของพระนางสามาวดี พูดเกลี้ยกล่อมให้พระนางและบริวารเข้าไปรวมอยู่ในห้องเดียวกันแล้วจึงลั้นกลอนข้างนอกแล้วจุดไฟเผาพร้อมทั้งปราสาท

   เปลวเพลิงได้ลุกโชนขึ้นที่พระตำหนักอย่างรวดเร็ว เหมือนไฟที่ต้องเชื้อน้ำมันอย่างรุนแรงจนยากแก่การดับได้ พระอานนท์เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นจึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา

  ” บัดนี้เพลิงได้เผาผลาญพระตำหนักของพระนางสามาวดีจนหมดสิ้นแล้ว พระเจ้าข้า”

  ” ดูก่อนอานนท์ วันนี้เป็นวันที่ ๗ ที่มีคนพวกหนึ่งคอยเดินตามแล้วด่าทอเราใช่ไหม ”

  ” วันนี้เป็นวันที่ ๗ แล้วพระเจ้าข้า ”

  ” อานนท์ เธอจงดูต่อไป พรุ่งนี้จักไม่มีคนเหล่านั้นเดินตามเราอีกแล้ว ..........”

  พระนางสามาวดี ขณะเมื่อไฟกำลังลุกลามเข้ามาใกล้ตัวอยู่นั้น มีสติมั่นคงไม่หวั่นไหว ให้โอวาสแก่หญิงบริวารทั้ง ๕๐๐ ให้เจริญเมตตาแผ่ไปยังบุคคลทั่ว ๆ ไป แม้พระนางมาคันทิยา ให้ทุกคนมีสติ ไม่ประมาท ให้มีจิตตั้งมั่นในเวทนาปริคคหกัมมัฏฐานอย่างมั้นคง พวกหญิงบริวารปฏิบัติตามทุกประการ จนบางพวกได้บรรลุสกทาคามิผล บางพวกบรรลุอนาคามิผล ก่อนที่จะถูกไฟเผาผลาญกระทำกาละถึงแก่กรรม ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกันทั้งหมด


ชดใช้กรรมเก่า

  ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัตในกรุงพาราณสี ได้ถวายภัตาหารแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์เป็นประจำ และนางสามาวดีกับหญิงสหาย ๕๐๐ คน ก็เกิดอยู่ในพระราชนิเวศน์นั้นด้วย ได้ช่วยทำกิจบำรุงเลี้ยงพระปัจเจกพุทธะทั้ง ๘ นั้นด้วย ต่อมาพระปัจเจกพุทธะองค์หนึ่งได้ปลีกตัวไปเข้าฌานสมาบัติในดงหญ้าริมแม่น้ำ

   ส่วนพระราชาได้พาหญิงเหล่านั้นไปเล่นน้ำกันทั้งวันพวกผู้หญิงพออาบน้ำนาน ๆ ก็หนาว จึงพากันขึ้นมาก่อไฟที่กองหญ้าผิง พอไฟไหม้กองหญ้าหมดก็เห็นพระปัจเจกพุทธะถูกไฟไหม้ ต่างพากันตกใจ เพราะเป็นพระปัจเจกพุทธะของพระราชา ด้วยเกรงว่าจะถูกลงโทษ จึงช่วยกันทำลายหลักฐานด้วยการช่วยกันหาฟืนมาสุมจนท่วมองค์พระปัจเจกพุทธะจนแน่ใจว่าหมดฟืนนี้พระปัจเจกพุทธะก็คงจะถูกเผาไม่เหลือซาก แล้วพากันกลับพระราชนิเวศน์

  ความจริง บุคคลแม้จะนำฟืนตั้ง ๑,๐๐๐ เล่มเกวียนมาสุมก็ไม่อาจทำให้พระปัจเจกพุทธะเกิดความรู้สึกแม้ว่าอุ่น ๆ ได้ ดังนั้น ในวันที่ ๗ พระปัจเจกพุทธะออกจากสมาบัติแล้วก็เสด็จไปตามปกติ ส่วนหญิงเหล่านั้นเมื่อตายแล้วถูกไหม้ในนรกหลายหลายพันปี พ้นจากนรกแล้วถูกเผาอย่างนี้อีก ๑๐๐ ชาติ นี้เป็นผลกรรมของนางสามาวดีกับหญิงสหาย


กรรมใหม่ให้ผลทันตา

  พระเจ้าอุเทน ทรงรู้สึกสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ที่พระนางสามาวดี ประสบเคราะห์กรรมเช่นนี้ ทรงมีพระดำริว่า ถ้าคุกคามถามพระนางมาคันทิยาก็คงจะไม่ยอมรับ จึงออกอุบายตรัสปราศรัยกับอำมาตย์ทั้งหลายว่า

  “ ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนนี้ เราจะลุกจะนั่งจะไปในที่ใด ๆ ก็หวาดระแวงสังสัยกลัวภัยอยู่รอบข้าง ด้วยพระนางสามาวดีคิดประทุษร้ายต่อเราเป็นนิตย์ บัดนี้พระนางตายแล้ว เรารู้สึกสบายใจไม่ต้องหวาดระแวงอีกแล้ว และการกระทำอันนี่ก็คงเป็นการกระทำของคนที่รักและห่วงใยในตัวเรา ปรารถนาดีต่อเราอย่างแน่นอน เราขัดเคืองนางมานานนัก วันนี้มีผู้มากำจัดนางเสียได้ ช่างรู้ใจเราเหลือเกิน อยากจะตกรางวัลอย่างงามให้แก่ผู้นั้นเสียนี่กระไร ”

  พระนางมาคันทิยาได้ฟังมิทันเฉลียวใจในอุบายของพระเจ้าอุเทน จึงเฉลยความจริงออกมาทั้งหมดว่า พระนางคบคิดกับปุโรหิตลอบวางเพลิงพระตำหนักเอง พระเจ้าอุเทนราชจึงตรัสต่อไปว่า

  ดีแล้ว เราจะให้รางวัลแก่เธอและบรรดาญาติของเธอด้วย พรุ่งนี้เช้าเธอจงพาปุโรหิตและญาติของเธอทั้งหมดมาเข้าเฝ้าเถิด

  พระนางมาคัณฑิยาจึงประกาศไปยังญาติของตนทุกคน รวมทั้งบุคคลที่ไม่ใช่ญาติแต่ได้เคยรับการว่าจ้างให้เดินตามพระบรมศาสดาเหล่านั้นด้วย รุ่งเช้าวันต่อมา บุคคลดังกล่าวเหล่านั้นก็มารวมกันในพระราชวัง พระเจ้าอุเทนได้พระราชทานรางวัลแก่ทุกๆคนตามที่ตรัสไว้ จากนั้นสั่งให้ราชบุรุษคุมตัวคนเหล่านั้นออกไปนอกกำแพงพระนคร ให้ขุดหลุมใหญ่แล้วโยนคนเหล่านั้นลงไป เอาฟางและน้ำมันราดแล้วจุดเพลิงเผาคนเหล่านั้นเสียทั้งสิ้น ส่วนพระนางมาคันทิยาให้ทรมานด้วยการต้มน้ำมันร้อนๆเดือดๆกรอกใส่ปากจนกว่าจักสิ้นใจ นี่เป็นผลกรรมที่นางได้กล่าวร้ายต่อพระพุทธองค์นั่นเอง

  ส่วนพระนางสามาวดี ผู้ปกติอยู่ประกอบด้วยเมตตา ( เมตตาวิหาร) ได้รับยกย่อจากพระบรมศาสดา ในเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้อยู่ด้วยเมตตา...

ย้อนกลับ             ปิดหน้านี้         ถัดไป