นางอุตตรานันทมารดา
เอตทัคคะในฝ่ายเพ่งด้วยฌาณ
   นางอุตตรา เกิดเป็นลูกสาวของนายปุณณะ ซึ่งเป็นคนรับใช้อยู่ในเรือนของสมุนเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ เขาเป็นคนขยันในการทำงาน แม้ในวันนักขัตฤกษ์กัน แต่นายปุณณะก็ยังไปทำการไถนาตามหน้าที่ของตนตามหน้าที่ของตนปกติ

   ขณะที่เขากำลังไถนาอยู่นั้น พระสารีบุตรเถระเมื่อออกจากนิโรธสมาบัติแล้วได้ถือบาตรเที่ยวภิกขาจารผ่านมายังทุ่งนาที่นายปุณณะกำลังไถอยู่นั้นนายปุณณะพอเห็นพระเถระ ก็หยุดไถแล้วเข้าไปกราบด้วยเจญจางคประดิษฐ์แล้วถวายน้ำบ้วนปากและไม้สีฟัน พระเถระทำกิจสีฟันและบ้วนปากแล้วเดินภิกขาจารต่อไป นายปุณณะคิดว่า “ เหตุที่พระเถระมาทางนี้ในวันนี้ก็คงจะมาสงเคราะห์เรา ถ้าภริยาของเราได้พบพระเถระแล้ว ขอให้นางได้ใส่อาหารที่นำมาให้เราลงในบาตรของพระเถระด้วยเถิด”

   ส่วนภริยาของเขาเมื่อนำอาหารไปส่งให้เขาที่นา ในระหว่างทางได้พบ พระเถระจึงคิดว่า “ วันอื่น ๆ เราพบพระเถระแต่ไทยธรรมเราไม่มี ส่วนในวันที่มีไทยธรรมก็ไม่ได้พบพระเถระ แต่วันนี้ทั้งสองอย่างของเรามีพร้อมแล้ว เราควรถวายอาหารที่เตรียมไปให้สามี แก่พระเถระก่อนแล้วจึงกลับไปทำมาใหม่ ”

   เมื่อคิดดังนี้แล้วก็ใส่โภชนาหารลงในบาตรของพระเถระแล้วกล่าวว่า “ ด้วยอานิสงส์แห่งทานนี้ ขอให้ชีวิตของดิฉันพ้นจากความยากจนด้วยเถิด ” พระเถระกล่าว อนุโมทนาให้ความปราถนาของนางสำเร็จตามที่ต้องการแล้วก็กลับไปสู่วิหาร

   เมื่อนางได้ถวายอาหารแก่พระเถระแล้ว ก็รีบกลับบ้านเพื่อจัดอาหารมาให้สามีของตน ฝ่ายนายปุณณะไถนาเรื่อยไปจนเวาลาสาย ภริยาก็ยังไม่นำอาหารมาส่งเช่นทุกวัน รู้สึกหิวเป็นกำลังจึงหยุดไถแล้วนอนพักที่ใต้ร่มไม้ เมื่อภริยามาถึงนา ก็เกรงว่าสามีจะโกรธที่มาช้า จึงรีบพูดกับสามีขึ้นก่อนว่า “ ท่านพี่อย่าเพิ่งโกรธ ขอให้ฟังดิฉันก่อน” แล้วนางก็เล่าเหตุที่มาช้าให้สามีฟังโดยตลอด นานปุณณะกล่าวว่า “ เธอทำดีแล้ว แม้ฉันเองก็ได้ถวายน้ำป้วนปากและไม้สีฟันแก่พระเถระเหมือนกัน วันนี้นับว่าเป็นบุญของเราเหลือเกิน” ทั้งสองสามีภรรยานั้นจ่างก็ปีติอิ่มเอิบใจ ในการกระทำของตน


ขี้ไถกลายเป็นทอง

  นายปุณณะ กินอาหารเสร็จแล้วก็นอนหนุนตักภรรยาแล้วก็หลับไปสักครู่หนึ่งพอตื่นขึ้นมา มองไปที่ทุ่งนา เห็นก้อนดินที่ตนไถมีสีเหมือนทองคำทั่วท้องนาจึงบอกให้ภรรยาดูด้วย ภริยาเมื่อมองดูก็เห็นมีแต่ก้อนดินจึงพูดว่าขึ้นว่า “ ท่านคงจะเหน็ดเหนื่อย และหิวจนตาลาย” แต่เมื่อเขาลุกไปหยิบมาให้ภรรยาดู ต่างก็เห็นเป็นทองคำเหมือนกัน

  สองสามีภรรยาเก็บทองใส่ถาดจนเต็มแล้ว นำไปถวายพระราชา พร้อมทั้งกราบทูลให้ส่งคนไปขนทองคำ ที่ทุ่งนาของตนนั้นมาเก็บไว้ในท้องพระคลัง พระราชาส่งราชบุรุษพร้อมเกวียนไปบรรทุกทองคำตามที่นายปุณณะกราบทูล ราชบุรษทั้งหลาย ในขณะที่กำลังขนทองคำใส่เกวียนนั้นพากันพูดว่า “ บุญของพระราชา” ทันใดนั้นทองคำก็กลายเป็นดินขี้ไถเหมือนเดิม พวกราชบุรษจึงกลับไปกราบทูลให้ทรงทราบ พระราชารับสั่งว่า “ พวกท่านจงไปขนมาใหม่พร้อมกับจงพูดว่า บุญของนายปุณณะ” พวกราชบุรุษทำตามรับสั่ง ก็ปรากฏว่าได้ทองคำมาหลายเล่มเกวียน นำมากองที่หน้าพระลานหลวง พระราชารับสั่งถามว่า ในพระนครนี้ ใครมีทรัพย์มากเท่านี้บ้าง เมื่อได้สดับว่าไม่มี จึงพระราชทานตำเหน่งเศรษฐีแก่นายปุณณะได้นามว่า “ ธนเศรษฐี ” พร้อมทั้งมอบทองคำทั้งหมดนั้นแก่นายปุณณะด้วย

  นายปุณณะเศรษฐี เมื่อทำการมงคลฉลองตำเเหน่งเศรษฐี ได้กราบอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์มาเสวยและฉันภัตตาหารที่บ้านเป็นเวลา ๗ วัน พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมเทศนาอนุโมทนาทาน นายปุณณะเศรษฐีพร้อมด้วยภริยาและธิดาได้บรรลุโสดาปัตติผล


นางอุตตราถูกน้ำมันเดือดราดศีรษะ

  ในกาลต่อมา ราชคหเศรษฐี ได้ส่งคนไปสู่ขอนางอุตตราธิดาของนายปุณณะเพื่อทำอาวาหมงคลกับบุตรของตน เมื่อนายปุณณะไม่ขัดข้องจึงได้จัดพิธีอาวาหมงคลเป็นที่เรียบร้อยนางได้มาอยู่ในตระกูลของสามีเมื่อถึงฤดูกาลเข้าพรรษานางกล่าวกับสามีว่า ปกตินางจะอธิษฐานองค์อุโบสถเดือนละ ๘ วัน ขอให้สามีอนุญาตให้นางด้วย แต่สามีไม่อนุญาต นางจึงส่งข่าวไปถึงบิดามารดาว่า นางถูกส่งตัวไปอยู่ในที่คุมขัง ไม่สามารถจะอธิษฐานองค์อุโบสถแม้สักวันเดียว ขอให้บิดามารดาช่วยส่งหรัพย์ไปให้นางจำนวน ๑๕,๐๐๐ กหาปณะด้วยเถิด

  เมื่อนางได้ทรัพย์ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็ได้ไปหานางสิริมา ซึ่งเป็นหญิงโสเภณีประจำนครนั้น ได้เจรจาติดต่อขอให้ช่วยเป็นตัวแทนในการบำรุงบำเรอสามีของนางเองเป็นเวลา ๑๕ วัน แล้วมอบทรัพย์ให้นาง ๑๕,๐๐๐ กหาปณะ นางสิริมา ก็ตกลงยอมรับ และสามีของนางก็พอใจอนุญาตให้นางอธิษฐานองค์อุโบสถได้ตามความปรารถนา

  เมื่อสามีอนุญาตแล้ว นางอุตตราจึงได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเสวยและฉันภัตตาหารที่บ้านของตน เป็นเวลา ๑๕ วัน นางพร้อมด้วยทาสีผู้เป็นบริวาร ช่วยกันจัดของเคี้ยวของฉันอันควรแก่สมณบริโภคน้อมนำเข้าไปถวายพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ อธิษฐานองค์อุโบสถครบกำหนดกึ่งเดือนโดยทำนองนี้

  ในวันสุกท้ายของการรักษาอุโบสถ ขณะที่นางอุตตรากำลังขวนขวายจัดแจงภัตตาหารอยู่นั้น สามีของนางกับนางสิริมายืนดูอยู่ที่หน้าต่างบนปราสาทพลางคิดว่า “ นางอุตตราหญิงโง่คนนี้ คงเกิดมาจากสัตว์นรก ชอบทำการงานสกปรกเหมือนทาสีทั้งหลาย ทรัพย์สมบัติก็มีอยู่มากมายแต่กลับไม่ยินดี นางทำอย่างนี้ไม่สมควรเลย” คิดดังนี้แล้วก็แสดงอาการยิ้มแย้มเป็นเชิงเยาะเย้ย

  ส่วนนางอุตตราผู้เป็นภริยาก็คิดว่า “ บุตรเศรษฐีผู้เป็นสามีของเรานี้ มีปกติประมาท โง่เขลา สำคัญว่าทรัพย์สมบัติของตนเหล่านี้เป็นของยั่งยืนถาวรตลอดไป ” แล้วนางก็แสดงอาการแย้มยิ้มบ้าง

  นางสิริมา ซึ่งยืนอยู่กับบุตรเศษฐีนั้น เห็นสองสามีภรรยายิ้มแย้มด้วยกันดังนั้นก็โกรธ ไม่คำนึงว่าตนเองเป็นคนนอกเรือน และไม่ใช่ภรรยาของเศรษฐีบุตร เป็นเพียงหญิงบำเรอที่เขาจ้างโดยมีกำหนดวันแน่นอน เผลอคิดสำคัญไปว่าตนเป็นหญิงแม่เจ้าเรือนนี้ และเป็นภรรยาของเศรษฐีบุตร ฉะนั้นจึงหึงและริษยา แล้วเคียดแค้นนางอุตตรา จึงรีบลงมาจากปราสาทเพื่อจะทำร้ายนางอุตตรา

  นางอุตตรามองเห็นนางสิริมาตั้งแต่เดินลงมาจากเรือนลำดับจนมุ่งหน้ามาที่นาง จึงแผ่เมตตาจิตไปสู่นางสิริมา ด้วยคิดว่า

   “ หญิงผู้นี้มีคุณต่อเราอย่างมาก เราได้อาศัยนางจึงมีโอกาสทำบุญถวายทานและฟังธรรมโดยสดวกทุกวันตลอดมา หากประมาณคุณอันยิ่งใหญ่ที่นางมีต่อเรา โดยเอาจักรวาลเป็นความกว้าง จักรวาลก็แคบเกินไป เอาพรหมโลกเป็นความสูง พรหมโลกก็ต่ำนักอีก ฉะนั้น หากนางคิดโกรธเคืองเราด้วยเรื่องใดก็ตาม และเราไม่โกรธตอบต่อนาง ถึงนางจะราดรดเราด้วยเนยใสเช่นนั้น ขอให้เราอย่าต้องร้อนเลย แต่หากเราโกรธนางตอบ ก็จงให้ต้องร้อนเพราะถูกนางราดรดเราด้วยเนยใสซึ่งเดือดพล่าน ตามที่นางมุ่งประทุษร้ายเราเถิด ” ดังนี้

  นางสิริมา ได้จับกระบวยตักน้ำมันที่กำลังเดือดอยู่ในกระทะแล้ว เทราดลงบนศีรษะของนางอุตตราที่กำลังเข้าฌาณและแผ่เมตตาจิตอยู่ ด้วยอำนาจแห่งเมตตาฌาณบันดาลให้น้ำมันที่กำลังร้อนจัดนั้นได้ปราศจากความร้อน และไหลตกไปประหนึ่งน้ำตกจากใบบัว เหล่านางทาสีของนางอุตตราที่ทำงานอยู่ในโรงครัวเห็นเช่นนั้นต่างมีความโกรธเคือง ที่นางสิริมามุ่งประทุษร้ายนายหญิงของตน จึงกรูเข้ามาจับ นางสิริมา แล้วทุบตี จนนางสิริมาบอบซ้ำทั้งตัว นางอุตตรารีบเข้าห้าม และสั่งให้พวกทาสีเหล่านั้นให้นำพานางสิริมาไปอาบน้ำ ทายา รักษาบาดแผลอันฟกช้ำที่เกิดแก่นางสิริมา

   โดยนางอุตตราลงมือช่วยทำด้วยตนเองด้วย จนนางสิริมาสบายขึ้นและสำนึกถึงความผิดของตนได้ และเห็นคุณความดีของนางอุตตราที่ไม่โกรธตน แม้ตนจะได้บังอาจประทุษร้ายนาง ทั้งยังห้ามพวกทาสีซึ่งรุมทำร้ายตน ตลอดจนช่วยเหลืออาบน้ำ ทายาและรักษาบาดแผลอันฟกช้ำที่เกิดขึ้นอีกด้วย โดยช่วยลงมือทำเอง แสดงว่านางอุตตราผู้นี้มีน้ำใจงามอย่างประเสริฐ เกิดความรู้สึกซาบซึ้งประทับใจนัก จึงกราบลงแทบเท้านางอุตตราแล้วขอขมาโทษที่ตนล่วงเกินต่อนางอย่างยิ่ง และสำนึกในความผิดนั้นได้แล้ว แต่นางอุตตรากล่าวว่า “ ฉันจะยกโทษให้ ก็ต่อเมื่อบิดาของฉันคือพระบรมศาสดายกโทษให้เธอก่อนเท่านั้น ”

  เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาพร้อมภิกษุสงฆ์ ประทับบนพุทธอาสน์เพื่อเสวยภัตตาหาร ณ ที่บ้านของนางอุตตราในเช้าวันนั้น นางสิริมาได้กราบทูลกิริยาที่ตนกระทำต่อนางอุตตราให้ทรงทราบโดยตลอดแล้ว กราบทูลขอให้ทรงยกโทษให้

  พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งถามนางอุตตราว่า

   “ ดูกรอุตตรา เป็นความจริงตามที่นางสิริมาได้กล่าวแก่ตถาคตแล้วเช่นนั้นหรือ ? ”

  เมื่อนางอุตตรากราบทูลยืนยันว่าเป็นความจริงดังเช่นนั้น จึงตรัสถามนางอุตตราด้วยมีพระพุทธประสงค์จักให้คนทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกันว่า

   “ ดูกรอุตตรา แล้วเธอคิดเช่นไร เมื่อถูกนางสิริมาผู้นี้น้ำเนยใสที่กำลังร้อนจัดราดรดลงบนศีรษะของเธอเช่นนั้น ”

  นางอุตตราจึงได้กราบทูลตอบดังที่ตนคิดว่าได้เห็นนางสิริมาตั้งแต่เดินลงมาจากเรือนลำดับจนมุ่งหน้ามาที่นาง จึงแผ่เมตตาจิตไปสู่นางสิริมา ด้วยคิดว่า

   “ หญิงผู้นี้มีคุณต่อเราอย่างมาก เราได้อาศัยนางจึงมีโอกาสทำบุญถวายทานและฟังธรรมโดยสดวกทุกวันตลอดมา หากประมาณคุณอันยิ่งใหญ่ที่นางมีต่อเรา โดยเอาจักรวาลเป็นความกว้าง จักรวาลก็แคบเกินไป เอาพรหมโลกเป็นความสูง พรหมโลกก็ต่ำนักอีก ฉะนั้น หากนางคิดโกรธเคืองเราด้วยเรื่องใดก็ตาม และเราไม่โกรธตอบต่อนาง ถึงนางจะราดรดเราด้วยเนยใสเช่นนั้น ขอให้เราอย่าต้องร้อนเลย แต่หากเราโกรธนางตอบ ก็จงให้ต้องร้อนเพราะถูกนางราดรดเราด้วยเนยใสซึ่งเดือดพล่าน ตามที่นางมุ่งประทุษร้ายเราเถิด พระพุทธเจ้าข้า ”

   พระผู้มีพระถาคเจ้าจึงตรัสแก่นางอุตราว่า    “ ดีแล้วอุตตรา ดีแล้วที่เธอสามารถชนะตนเอง โดยไม่โกรธต่อนางสิริมาด้วยความคิดและด้วยวิธีเช่นนั้น... จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

  พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ
 พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี
 พึงชนะคนตระหนีด้วยการให้
 พึงชนะคนพูดเท็จด้วยคำจริง ฯ

  เมื่อจบพระคาถาที่ทรงเทศนา นางสิริมาสำเร็จเป็นอริยบุคล ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตผล แสดงตนเป็นอุบาสิกาให้ทานรักษาศิลและฟังธรรมตามกาลเวลา พระบรมศาดาอาศัยเหตุที่นางอุตตราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเข้าฌาณ จึงประกาศยกย่องให้นางเป็นเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้เพ่งด้วยฌาณ หรือ ผู้เข้าฌาณ....

ย้อนกลับ             ปิดหน้านี้         ถัดไป