ตอนที่ ๑ สำหรับการแนะนำในการเจริญพระกรรมฐานในวันนี้ ก็จะขอเอาจุดใหญ่สำคัญมาแนะนำบรรดาท่านทั้งหลายก่อน ให้ถือว่าคำสอนคราวนี้ ในระยะต่อไปนี้เป็นคำสอนมาตรฐานประจำสำนักเป็นการสอนประจำกันในสำนักของเรา และก็ไม่ถือเป็นการมาตรฐานในการปฏิบัติ ในวันแรกนี้ก็จะขอเอาพระธรรมอันหนึ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัส ว่าบุคคลใดปฏิบัติได้ครบถ้วน ท่านผู้นั้นจะเข้าถึงความเป็นผู้สำเร็จทุกอย่างตามที่ตนประสงค์ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่ว่าวันนี้ในที่นี้เราพูดกันเฉพาะธรรมเรื่องของโลกไม่เกี่ยว โลกจะดีโลกจะชั่วอย่างไรไม่มีความสำคัญ เพราะคำว่าดีของโลกไม่มี โลกมีแต่เลว มันดีก็ดีแบบหลอกๆ โลกมันแปลว่ามีอันที่จะต้องฉิบหายไป ศัพท์นี้จงอย่าถือว่าเป็นคำหยาบเป็นศัพท์ปกติของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ของหยาบไม่ใช่ของโลน ไม่ใช่ของน่าเกลียด ทีนี้คำสอนในที่นี้พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าอิทธิบาท มี ๔ ประการ อิทธิบาทแปลว่าคุณธรรมที่ทำให้สำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง ต้องมีแก่ท่านทุกท่านอย่าถือว่าไม่ไหวนะ คำว่าไม่ไหว คำว่าไม่สามารถจะต้องไม่มีกะสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ถ้าไม่ไหวจริงๆ ละก็ไปเหอะ ไปอยู่ที่ไหนก็ไป ที่นี่ไม่ต้องการคำว่าไม่ไหวของคนใดคนหนึ่ง แล้วก็คนในสำนักเรานี่ที่ยังปากเสียใจเสียอยู่ก็เลิกกันซะนะ ถ้าไม่เลิกไม่ช้าที่นี่ก็ไม่ไหวเหมือนกันรับไว้ไม่ไหว ไล่กลับ อย่าให้มันมีมาอยู่ในสำนักของสมณะเราผู้สงบ ยังจะมีอารมณ์เสียอยู่อีก จะมานั่งอยู่กันทำไม ไปที่อื่นเสียก็หมดเรื่องหมดราวไป ทั้งนี้เพราะอะไรก็เพราะว่า มีอารมณ์ใจไม่ดีพอ ถ้ามีอารมณ์ใจไม่ดีพอนี่ก็เลยทำคนอื่นเขาเสียด้วย สำหรับอิทธิบาท ๔ นี้มีอย่างนี้
ทีนี้อิทธิบาท ๔ ข้อที่ 1.ฉันทะ พอใจอะไร พวกเราบวชเข้ามาเพื่ออะไร หรือว่าเข้ามาอยู่ในเขตพระพุธศาสนาเพื่ออะไร ผมก็จะขอนำถ้อยคำการขอบรรพชา เอาสมัยก่อน แต่สมัยใหม่นี่ผมไม่ค่อยอยากจะคบนัก เพราะอะไรๆ มันใหม่ไปหมดนี่ผมไม่ค่อยชอบ ของใหม่ราคาถูก ของเก่าราคาแพง อย่างพระพุทธรูป ของเก่าๆ ราคาแพงกว่าของใหม่มาก นี้การคำขอบรรพชาก็เหมือนกันของเก่าราคาแพงกว่าของใหม่ มีจุดหนึ่งที่ได้กล่าวว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา จึงแปลเป็นใจความว่าข้าพเจ้าขอรับกาสาวพัสตร์เพื่อจะทำให้แจ้งเสียซึ่งพระนิพพาน นี้เราขอบรรพชามาเรามีความมุ่งหมายอย่างนี้ เวลานี้ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ยังมีถ้อยคำว่าต้องการพระนิพพานอยู่เหมือนกัน นี้เป็นอันว่าคำปฏิญาณของเราที่เราจะบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาเราต้องการอะไร เป็นอันว่าเราต้องการพระนิพพาน ในเมื่อเราต้องการพระนิพพานแล้ว เวลาเราพอใจอะไรอย่าพอใจอะไร ฉันทะความพอใจ เราก็ต้องพอใจในพระนิพพาน ทีนี้การที่จะพอใจในพระนิพพานเนี่ยเขาทำยังไงกันถึงจะถึงพระนิพพาน ต่อนี้ไปเราก็ไปดูคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าคนที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้นี่ก็ต้องขุดรากขุดเหง้าของกรรมที่เป็นอกุศลทิ้งให้หมด ในขณะหนึ่งตัดโลภะความโลภออกจากจิต แม้นด้วยการให้ทาน สองขุดความโกรธความพยาบาทจองล้างจองผลาญออกจากจิตเสียให้หมด เมื่ออาศัยการทรงพรหมวิหาร ๔ สามตัดความหลงออกไปเสียให้หมดด้วยอำนาจของปัญญาที่พิจารณาเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในกายและกายไม่มีในเรา เมื่อสรุปรวมง่ายๆ ได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเราก็พอใจในอริยสัจ ๔ เมื่อเห็นว่าสภาวะของโลกทั้งหมดเป็นทุกข์ เอากันง่ายๆ ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชะราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มะระณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาส ความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ และความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์
ต่อมาเมื่อร่างกายโตขึ้นมา เมื่อร่างกายโตขึ้นมาแล้วเหยียดขาเยียดแข้งเหยียดขาไม่ไหวนั่งคุดคู้อยู่ในท้องแม่เป็นทุกข์ มันจะเมื่อยก็เมื่อย มันจะปวดก็ปวด มันก็เหยียดไม่ได้มันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่เข้าใจว่ามันเป็นทุกข์ ว่างๆ ลองนั่งกอดเข่าเล่นโก้ๆ ซัก ๓ ชั่วโมง แบบคนที่อยู่ในท้องนั่งคุดคู้เอาเข่ายันเข้ามาถึงอกเอาแขนรัดเข้าไว้ อย่างนี้ลองนั่งพิจารณาดู แล้วอยู่ในท้องแม่เป็นเดือนๆ แบบนี้มันจะทุกข์ขนาดไหน เราจะมีทุกขเวทนาใดๆ ท่านผู้เป็นแม่ก็ไม่ทราบ เด็กที่ต้องตายในท้องเสียนับไม่ถ้วน ถึงว่ามารดาบิดามองไม่เห็นทุกข์ของลูกภายในว่าจะมีโรคภัยไข้เจ็บอะไรบ้าง ในขณะที่เกิดมันข้างในมันเป็นทุกข์ ถ้ามองไม่เห็นออกมาจากครรภ์มารดา ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดานี้มันก็ทุกข์ ออกมาแล้ว อยู่ในครรภ์มารดาแล้วความอบอุ่นจากไฟธาตุของร่างกายมารดา ออกมากระทบกับอากาศใหม่ๆ เกิดการแสบตัวเสียงร้องจ้าปรากฏนั่นแสดงว่ามันทุกข์หนัก เจ็บแสบทั้งตัวมันก็เป็นทุกข์ พอออกมาเป็นเด็กขี้ตรงนั้น เยี่ยวตรงนั้น มันเลอะเทอะไปหมด เด็กก็มีความรู้สึกเหมือนกับคนธรรมดา ในการสกปรกโสโครกอย่างนั้นมันทนไม่ไหวถึงได้ร้องออกมา แสดงถึงความทุกข์ ถ้าจะหิวอาหาร ต้องการจะกินอาหาร แม่ก็ยังไม่รู้จะต้องร้องออกมาแล้วเขาถึงจะรู้ว่าหิว มันหิวจนทนไม่ไหวจึงต้องร้อง นี่มันก็เป็นอาการของความทุกข์ รวมความว่าเกิดเป็นทุกข์
ทีนี้ก็ไปนั่งว่าทุกข์มันมาจากไหน นี่เราพอใจมองความทุกข์ ฉันทะ ทุกข์มันก็มาจากความอยากที่เรียกกันว่าตัณหา อยากอะไรอยากรักในเพื่อนในเพศตรงกันข้าม อยากรวย อยากโกรธ อยากหลงว่านั่นเป็นของกู นี่เป็นของกู มันทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของกูไปหมด นี่อาศัยความอยากที่กล่าวมานี้แล้วมันเป็นปัจจัยให้เกิด เพราะว่ายังติดความอยากอยู่เพียงใดเราก็ต้องเกิดมาหาความทุกข์ ในเมื่อเรามีความอยากอยู่มันทุกข์ เรายังขืนอยากต่อไปเราก็หาความสุขไม่ได้ ตอนนี้ทำยังไงก็หาทางทำลายความทุกข์ ทำลายเหตุของความทุกข์คือความอยาก อันที่ ๑ อยากรัก แหมทำลายยากเหลือเกิน อยากรวยมันอยากมาเสียนานแล้วทำลายยาก เพราะงั้นอยากโกรธอยากพยาบาทก็ทำลายยาก อยากหลงว่านั่นเป็นของเรา นี่เป็นของเราทำลายยาก ทำไมจึงว่ายากก็เพราะว่ามันติดใจมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว พ่อแม่ปู่ย่าตายายนี่แหละสำคัญนัก ส่งเสริมให้ลูกหลานทั้งหลายสร้างความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา จึงแนะนำว่าต้องใช้วิริยะความเพียรอย่างหนัก ใช้เหตุใช้ผลว่าทำไมหนอเราจึงจะตัดราคะความรักในเพศเสียได้ ทำอย่างไรหนอเราจึงจะตัดโลภะความโลภไปได้ ทำอย่างไรหนอเราจะตัดความโกรธความพยาบาทเสียได้ ทำอย่างไรหนอเราจึงจะตัดความหลงเสียได้ แล้วไอ้ตัวทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นปัจจัยทำให้เกิดความทุกข์ในอริยสัจ ต่อมาเราก็นั่งพิจารณาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จผู้ทรงสวัสดิ์ ว่าท่านแนะนำว่ายังไง อ๋อ ! การจะตัดความรักในเพศน่ะหรือ ก็ต้องใช้กายคตานุสสติกรรมฐานกับอสุภกรรมฐานสิเข้าประหัตประหารมัน ไม่ช้าความรักในเพศมันก็สลายตัวไป เพราะปัญญามันเกิดรู้ความเป็นจริง เราจะตัดความโลภโมโทสันก็ใช้เมตตากรุณากุศลการ มีการให้ทานเป็นการผลักดันความโลภให้ออกไป เราจะทำลายความโกรธความพยาบาทก็ด้วยอำนาจพรหมวิหาร ๔ เราจะเป็นผู้ไม่ยึดถือ เราจะเป็นผู้มีปัญญาเข้าใจตามความเป็นจริงว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พิจารณาดูร่างกายมันเชื่อเราบ้างไหม เราเลี้ยงมันเท่าไรแนะนำมันเท่าไรมันไม่เคยเชื่อ นี่ตัวนี้จะทำลายมันได้มันก็มีกำลังต่อต้านมาก ก็ต้องใช้วิริยะความเพียรค่อยเคาะไปทีละเล็กเคาะไปทีละน้อยไม่ใช่ว่าจะมาทำทีดียวหมด วันนี้ยังไม่เคาะนะสมมติว่าเริ่มต้นให้รู้จักใช้อิทธิบาท ๔ ต่อมาองค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสว่าจะให้มีผลจริง ๆ ต้องเอาใจเข้าไปจดจ่อในเรื่องนั้นไว้เสมอ คือจิตตะ เหมือนกับที่อธิบายไว้ในพระอุโบสถวันนี้ว่า คำภาวนาหรือว่าพิจารณานี่อย่าปล่อยให้ว่างจากอารมณ์ของจิต คืออย่าให้จิตมันว่าง ถ้าจิตมันว่างจากภารกิจการงานอย่างอื่นแล้วก็ภาวนาไว้ พิจารณาไว้ มันก็จะทรงอารมณ์อยู่สบาย อารมณ์ก็จะทรงอยู่ เมื่ออารมณ์ทรงอยู่แล้ว การใช้คำภาวนาทำให้จิตทรงตัว มีสติสัมปชัญญะ การใช้พิจารณาเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เหตุทั้งสองประการนี้ต้องจิตตะคือเอาใจจดจ่อจ้องเข้าไว้เสมออย่าให้มันคลาดจากจิต เมื่ออารมณ์จิตของเราสามารถจะทรงอารมณ์อย่างนี้ได้เป็นปกติ หมายความว่าอารมณ์ไม่ว่าง ว่างจากการคิดอย่างอื่นเมื่อไร คำภาวนาเกิดขึ้นกับใจทันทีหรือว่าอารมณ์พิจารณาเกิดขึ้นกับใจทันที ถ้าหากว่าบางทีท่านจะบอกว่า เอ๊ะ ! อย่างนี้ไม่ไหว แต่ผมก็ต้องตอบว่าไหวไม่เห็นมันยาก สร้างอารมณ์ให้มันชิน ภาวนาว่ายังไง พิจารณาว่ายังไงไม่ได้จำกัดไว้ ชอบใจอะไรเอาได้หมดเพราะว่าคราวนี้เราจะสอนมหาสติปัฏฐานกัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจะเริ่มไปด้วยมหาสติปัฏฐานสูตรแบบพิสดาร แล้วก็จะสอนกันไว้ประเภทเป็นมาตรฐานประจำสำนัก ต่อไปก็ใช้มหาสติปัฏฐานสูตรเป็นปกติ แต่ความจริงตอนเช้ามืด ท่านเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสียงควรจะใช้ปฏิปทาพระอริยะคือพระโสดาบันกับบารมี ๑๐ ประการ บนตอนเช้ามืดไว้ก็จะมีประโยชน์ แล้วก็สลับกับอย่างอื่นบ้างเป็นการทบทวนกำลังใจบรรดาท่านผู้รับฟังจะได้กำหนดถูก ในเมื่อเราใช้จิตใจจดจ่ออยู่อย่างนี้ หากว่าจะบอกว่ายากผมจะตอบว่าไม่ยาก เมื่อมีอารมณ์ชินแล้วอารมณ์จิตมันจะเป็นอัตโนมัติของมันเอง พอว่างอารมณ์นิดหนึ่งมันจะจับอารมณ์นั้นขึ้นมาทันที แล้วหลังจากนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ใช้วิมังสา ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ ก่อนที่จะทำอะไรลงไป ก่อนที่จะภาวนา ก่อนที่จะพิจารณา ไม่ว่าจะใช้ฉันทะ ความรัก ความพอใจ วิริยะความเพียร จิตตะ เอาจิตใจไปจดจ่อ ตอนนี้ก็ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา พิจารณาไว้เสมอว่าสิ่งที่เราจะทำอย่างนี้ การพอใจอย่างนี้ ถูกต้องตามบทบัญญัติที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้หรือเปล่า ถ้าถูกต้องตามนั้นใช้ได้ ถ้าไม่ตรงใช้ไม่ได้ จะรู้ได้อย่างไร ตำหรับตำรามี คำสอนมี อย่าทำเป็นพวกพหูรูดนะ จงเป็นพหูสูต ถ้าทำเป็นพวกพหูรูดล่ะก็ลงอเวจีมหานรกกันแน่เพราะอยู่ในเขตปูชนียบุคคล และอยู่ในเขตปูชนียสถานชาวบ้านชาวเมืองเขาไหว้ ชาวบ้านชาวเมืองเขายกมือไหว้ เขาบูชา เขาให้ข้าวกิน เราไม่ใช่ฆราวาสธรรมดา ต้องทำตัวให้ถูกต้อง ทีนี้เราจะใช้ความพากเพียรก็ต้องเพียรให้มันถูกจังหวะ เพียรอย่างไหนจะสังหารอะไรกันแน่ คำว่าสังหารนี้ไม่ใช่สังหารคน สังหารกิเลส แกจะจับจะเล่นจะสังหารข้อไหนกันแน่ แล้วก็รับฟังกันต่อไป ถ้าคำสอนนี้มันจะช้าไปละก็ เอาแบบฉบับเก่า ๆ มหาสติปัฏฐานสูตรก็ดี คำสอนในปกิณกะเรื่องสาระธรรม ในคู่มือกรรมฐานก็มี มีอยู่แล้ว ตำหรับตำรามีครบถ้วน ไม่น่าจะมีอะไรที่ใช้คำว่าไม่รู้มาเป็นเครื่องปฏิบัติ แม้ก็ก่อนจะใช้จิตตะก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญเสียให้ดี เป็นอันว่าวิมังสาข้อนี้เป็นตัวที่มีความสำคัญที่สุด ต้องใช้ประกอบอยู่ตลอดเวลา พยายามใคร่ครวญอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราจะควรทำมันจะถูกจะต้องจะผิดเป็นประการใด เราจะแก้จุดไหนมันจะถูกไหม พระพุทธเจ้าว่ายังไง ถ้าแก้แบบนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงแนะนำหรือเปล่าว่ามันถูกหรือมันผิด
ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลาย จงปฏิบัติธรรมะตามกำลังใจที่ท่านตั้งใจไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์จิตจงคิดไว้เสมอว่า เรามุ่งเป็นพระอริยเจ้ากัน ไม่ใช่ว่าเราจะมานั่งบวชให้เปลืองข้าวของชาวบ้านอย่างเดียวซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์ พระอริยเจ้าเบื้องต้นคือพระโสดาบันก็ต้องการโดยเฉพาะ ๑ มรณานุสสติกรรมฐานคิดไว้ ๒ เชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัยเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระอริยสงฆ์ ไม่สงสัยในคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยปัญญา และ ๓ มีศีลบริสุทธิ์ ๔ มีอุปสมานุสสติกรรมฐานเป็นกำลังใจ คือนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ การปฏิบัติของท่านจะนั่งอยู่ท่าไหนก็ได้ตามอัทธยาศัย จะยืนก็ได้ จะเดินแบบจงกรมก็ได้ จะนอนก็ได้ เวลาเลิกท่านจะเลิกเวลาไหนก็เป็นไปตามอัทธยาศัยของท่าน จะไม่กำหนดเวลาให้ แล้วต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านพยามตั้งใจปฏิบัติความดี ตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แนะนำมาแล้วนี้จนกว่าจะได้เวลาอันสมควรของท่าน สวัสดี |