อิทธิบาท ๔     อิทธิบาท ๔ และบารมี ๑๐

เริ่มฝึกอิทธิบาท ๔ บารมี ๑๐
ตอนที่ ๒

                เอาว่าจะแนะนำกันเป็นครั้งสุดท้าย ก็หมายความว่าจะแนะนำกันไปเต็มแบบฉบับอีกที เอาไว้เป็นหลักสูตรในการปฏิบัติประจำสำนัก แล้วก็สำหรับอย่างอื่นก็ถือว่าให้เป็นเกร็ดความรู้ อันที่เรียกว่าเป็นเรื่องของวิชชา ๓ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณนั้น ก็จะเอาไว้เป็นในคลาสเส็ทสำหรับที่จะออกให้แก่ท่านทั้งหลายมารับไปฟังกันเอง แต่ว่าสำหรับเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตรนี้สอนและก็บันทึกไว้ด้วย แล้วต่อไปก็จะให้รับฟังกันตลอดไป เพราะว่าหลักสูตรในมหาสติปัฏฐานสูตรแต่ละข้อ แม้แต่อานาปานบรรพ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงสอนยันนิพพานหมด เป็นอันว่าทำอย่างเดียวถึงนิพพานเลย ไม่ต้องไปทำกันทั้งหมดทั้ง ๔ บรรพ ทำกันบรรพเดียวถึงนิพพาน ท่านสอนไว้อย่างนั้นจริงๆ คราวนี้จึงจะบอกว่าจะสอนมหาสติปัฏฐานสูตรกันอย่างเต็มแบบฉบับจริงๆ แต่ถ้าเป็นหนังสือก็เล่มเบ้อเร่อแน่ แต่ผมไม่สนใจหรอกหนังสือ ผมสนใจเรื่องเสียง แต่ก่อนที่เราจะสอนแนะนำกันในเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร ก็อย่าพึ่งเอามหาสติปัฏฐานสูตรมาว่ากันก่อน เมื่อคืนวานนี้ผมได้พูดถึงอิทธิบาท ๔ นี้ต้องระวัง ระวังให้ดีนะว่าในด้านจรณะ ๑๕ น่ะ ผมถือว่าทุกท่านจำได้หมด เมื่อจำได้แล้วก็ปฏิบัติได้หมด อย่ามีท่านองค์ใดองค์หนึ่งมาอ้างบอกว่าจำไม่ได้หรือไม่ได้ฟัง ที่นี่ไม่มีความต้องการที่จะได้ยินถ้อยคำประเภทนี้ หรือไม่อยากจะได้ยินและก็ไม่ต้องการจะได้ยิน เมื่อได้ยินแล้วก็ไม่รับทราบ ถือว่าเข้ามาอยู่ในสำนักนี้แล้วต้องทราบแล้วก็ปฏิบัติได้ ถ้าท่านองค์ใดหรือท่านคนใดที่เห็นว่าไม่สามารถ ก็รีบย้ายไปซะก่อนที่จะเข้าพรรษา มิฉะนั้นเมื่อเวลาเข้าพรรษาแล้วจะลำบาก คำว่าไม่รู้ย่อมไม่มีในฐานะที่เราอยู่ในเขตของพระพุทธศาสนา มานั่งหลอกนั่งลวงชาวบ้านเขาว่าเราเป็นพระเป็นเณรจะมีประโยชน์อะไร ที่นี่ไม่ต้องการ ไม่ต้องการเอาเงินไปซื้อคนชั่วเข้ามาไว้ในสำนัก ความจริงผมอยู่ในสภาพเวลานี้ก็คล้ายๆ กับซื้อคนเข้าไว้ เพราะว่าผมจะต้องลงทุนทุกอย่าง เดือนหนึ่งค่าใช้จ่ายประจำอยู่ในเกณฑ์ ๑๐,๐๐๐ บาทเศษ นี่มันใช้จ่ายกันเป็นภายในที่ว่าไม่เป็นวัตถุก่อสร้างขึ้นมา แต่เงินจำนวนนี้ถ้าผมจะซื้อเอา เลี้ยงเอาคนชั่วเข้าไว้นี่ผมก็เสียดายสตังค์ของผม ไอ้สตังค์ก็ไม่ใช่สตังค์ของผม สตังค์ของชาวบ้านเขา ชาวบ้านเขาให้มาด้วยบูชาพระพุทธเจ้า แต่ถ้าหากว่าได้เอาคนชั่วเข้ามาเลี้ยงเข้าไว้นี่มันก็เสียข้าวเสียของ เสียศรัทธาปสาทะของชาวบ้าน เหมือนกับเอาปุ๋ยไปใส่ต้นขี้กานี้มันจะมีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นขอท่านทั้งหลายจงมีความเข้าใจเสียด้วยว่าที่นี่ไม่ต้องการปริมาณของคน ไม่ว่าคนชั่วคนดีไม่รู้จะต้องการอย่างนั้นขอให้คนมาก ที่นี่ไม่ต้องการคนมากต้องการแต่คนดี ถ้าคนดีมาก พอใจ ถ้ามากแล้วชั่วไม่พอใจและไม่ต้องการ เดี๋ยวเขาจะหาว่าสนับสนุนให้คนให้ชั่ว ขอทุกท่านรู้ตัวไว้ด้วย

                ทีนี้ก่อนที่เราจะพูดกันถึงมหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อวานนี้พูดถึงอิทธิบาท ๔ ต้องจำให้ได้แล้วก็ทำให้ได้นะ อย่ามาอ้างว่าจำไม่ได้ทำไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้ อ้างว่าจำไม่ได้ ทำไม่ได้เชิญออกไปได้ทันที ที่นี่ไม่มีการประวิงสำหรับคนที่ไม่มีสมรรถภาพ แล้วก็อยากจะให้ออกไปให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้ ทีนี้ก่อนจะพูดเรื่องมหาสติปัฏฐาน วันนี้ก็พูดเรื่องบารมีต่อ มีอิทธิบาท ๔ เราต้องทำให้ครบถ้วน นอกจากนั้นก่อนที่จะเจริญพระกรรมฐานด้วยการที่เข้ามาเป็นพระเป็นเณรก็ดีจะเจริญหรือไม่เจริญก็ตาม จะต้องปรับปรุงบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วน นี่ถือเป็นกฎตายตัวอีกเหมือนกัน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องที่พูดให้ฟังเฉยๆ นะ เรื่องที่พูดให้ฟังนี้ให้ถือว่าต้องนำไปปฏิบัติได้ครบถ้วน แต่ว่าท่านองค์ใดไม่สามารถจะปฏิบัติครบถ้วนได้ก็จงทราบว่าท่านองค์นั้นเป็นบุคคลที่สำนักนี้ไม่พึงปรารถนาเอาไว้ ถ้าหาคนปฏิบัติไม่ได้เลยทั้งหมด ผมอยู่ของผมองค์เดียวสบาย อยู่คนเดียวมีความสุข แต่ถ้าคนดีอยู่มากผมชอบใจผมก็มีความสุข ถ้าคนเลวอยู่แม้แต่คนเดียวผมก็มีความทุกข์ ผมไม่ต้องการ เป็นอันว่าบารมี ๑๐ ประการนี้ต้องทำให้ครบถ้วนทุกอย่าง อย่าถือว่าบวชใหม่นะ ยังไม่รู้ยังไม่ได้สา นี่แม้แต่คนที่ยังไม่มา คนที่มาทีหลังยังไม่มาก็ต้องถือว่ารู้ด้วย ต้องถือว่าปฏิบัติได้ครบด้วย ถ้าเขาทำไม่ได้ก็จะได้เชิญเขากลับไป นี่ทราบระเบียบภายในของเราไว้ ทีนี้คำว่าบารมีนี่แปลว่าเต็ม หรือว่าทำกำลังใจให้เต็ม จำให้ดีนะมี ๑๐ อย่าง คือ

                ๑. ทาน การให้ เรามีอารมณ์อยู่เสมอว่าเราจะสงเคราะห์คนและสัตว์อื่นให้มีความสุขตามกำลังที่เราจะพึงให้ได้ ถ้าเราสามารถจะสงเคราะห์ได้ด้วยวัตถุเราก็ให้ด้วยวัตถุ ถ้าเราไม่มีวัตถุเราก็จะสงเคราะห์ด้วยกำลังทางกายเข้าช่วยเหลือ ถ้าไม่สามารถจะสงเคราะห์ด้วยกำลังทางกายได้เราก็จะสงเคราะห์ด้วยปัญญา แต่นี้สำหรับการให้เราเต็มใจอยู่เสมอเพื่อการให้ นี่มันตัดการสะสม บุคคลผู้ต้องการให้นี่ มันเป็นการตัดการสะสม ตัดความโลภ ไอ้การตัดความโลภด้วยการให้นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าดี เป็นกิจของภิกษุสามเณรทั้งหมด หรือท่านพระโยคาวจรทั้งหลายจะต้องทำ แต่ว่าการให้นี่ก็ต้องดูคน ไม่ใช่สักแต่ว่าคนเราก็ให้ ถ้าให้แล้วจะเป็นโทษย้อนมาภายหลังเราก็จงงดการให้เสีย ให้แล้วจะเดือดร้อน ให้แล้วจะมีภัยอันตราย งด ไม่ให้ ไม่ใช่ว่าจะให้ดะ ก็ต้องดูกาลควรให้ ไม่ควรให้ ทั้งนี้ก็ต้องดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะแสดงพระธรรมเทศนาโปรดใคร องค์สมเด็จพระจอมไตรต้องพิจารณาก่อนว่าการเทศนี้จะมีผลมั๊ย ถ้าหากว่าเทศน์ไปไม่มีผล องค์สมเด็จพระทศพลก็ไม่เทศน์ นี่การให้ทานของเราก็เหมือนกัน จิตเราพร้อมเพื่อการให้ มันเป็นการตัดโลภะความโลภ ไม่ใช่พร้อมเพื่อสะสม แต่ว่าทรัพย์สินของสงฆ์ที่เขาให้มา ชาวบ้านถวายมาต้องรักษาศรัทธาเขาไว้ ไม่ใช่ไปทิ้งไปขว้างไปทำลายทานกำลังใจของชาวบ้านให้เสียไป แต่ของมันมีมากเท่าไรก็ตาม จงมีความรู้สึกว่านี่เป็นของของพระพุทธศาสนาไม่ใช่ของเรา เราเป็นผู้อาศัยพระพุทธศาสนาใช้เท่านั้น เท่านี้จิตมันก็ไม่ติดในลาภสักการะ นี่ต้องทำอารมณ์ให้เต็ม

          ๒. ศีลบารมี ก็หมายความว่ามีกำลังใจรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ศีลมีกี่สิกขาบท เขาอ่านให้ฟังกัน เขาพูดให้ฟังกันทุกเย็น ตำหรับตำรามี ก็จะมานั่งแก้ตัวว่าไม่รู้น่ะมันไม่ได้ ถ้าคิดว่าจะไม่รู้ก็รีบออกไปเสียจากที่นี่ เราไม่ต้องการคนที่ใช้คำว่าไม่รู้ว่าศีลมีกี่สิกขาบท และอารมณ์ของตนจะต้องเป็นผู้เต็มไปด้วยศีล ที่เรียกว่าสีลาานุสสติกรรมฐาน สำหรับทานก็ได้แก่จาคานุสสติกรรมฐานนึกถึงการให้ทานการสงเคราะห์อยู่เสมอ ใคร่ครวญในศีลของตนระมัดระวังศีลให้บริสุทธิ์ให้มีกำลังใจเต็มอยู่เสมอไม่ท้อถอย

                ข้อต่อไปเรียกว่า เนกขัมมะบารมี เนกขัมมะแปลว่าการถือบวช คำว่าบวชในที่นี้ต้องหมายถึงว่าบวชใจ ไอ้บวชกายภายนอกเนี่ยเพียงแค่โกนหัวห่มผ้าเหลืองเขายังไม่ถือว่าเป็นการบวช ดีไม่ดีเราก็มีสภาพเลวกว่าชาวบ้านเขาก็มีนักบวชเนี่ย สักแต่ว่าบวชเข้ามาเท่านั้นไม่ประพฤติพระธรรมวินัย เนกขัมมะบารมีตัวนี้ก็ได้แก่การระงับจิตให้ชนะนิวรณ์ ๕ อยู่เสมอ คือ ๑ เราจะไม่มัวเมาในกามฉันทะ หรือไม่เมาในรูปสวย ในเสียงเพราะ ในกลิ่นหอม ในรสอร่อย ในการสัมผัสระหว่างเพศ เป็นอันว่าข้อนี้เราจะต้องใช้กายคตานุสสติ และอสุภกรรมฐานเข้าประหัตประหารไว้เป็นปกติ และก็เราจะต้องระงับความโกรธความพยาบาท ความโกรธความพยาบาทนี่จะต้องไม่มีในจิตของเรา บังเอิญมันจะมีก็ระงับเสียโดยเร็ว อย่าให้มันไหลมาทางวาจาหรือว่าไหลมาทางกาย วิธีระงับกิเลสตัวนี้ก็ได้แก่การเจริญพรหมวิหาร ๔ หรือว่าวรรณกสิณ ๔ ได้แก่กสิณสีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว อันนี้ขอท่านทั้งหลายต้องมีกำลังใจเข้มข้นให้เต็มอยู่เสมอ การอยู่ด้วยกันที่บอกว่าเข้ากันไม่ได้นี่มันขาดตัวนี้ แล้วก็ขาดบารมี ก็ไม่ควรจะมีกาสาวพัสตร์อยู่ ไม่ควรจะอยู่ในร่มเงาของกาสาวพัส ในเมื่อเราบวชเข้ามาเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส มีศีลบริสุทธิ์ ถ้ามีศีลกันเป็นอธิศีล มีอิทธิบาท ๔ มีบารมีครบ อยู่กันยังไงก็อยู่ได้ ไอ้ที่บอกว่ารวมกับใครไม่ได้ก็แสดงว่าความเลวมันมาก ไม่ได้มีสภาวะหรืออารมณ์เป็นพระอยู่เลย นี่เนกขัมมะบารมีต่อไปก็ตัดอารมณ์ฟุ้งซ่าน ตัดความสงสัยด้วยกำลังของปัญญา ต้องเอาอย่างนี้นะ ให้มันได้นะ ต้องได้ต้องเตรียมพร้อมด้วยอิทธิบาท ๔ กับบารมี ๑๐ ต้องพร้อมไว้ก่อนเสมอ ไม่ใช่จะมานั่งหลับหูหลับตาภาวนาว่าอย่างโน้นว่าอย่างนี้ แต่คุณธรรมที่ดีจริงๆ เบื้องต้นไม่ทำ ไม่มีก็ไปทำไปอีกกี่โกฏิปีมันก็ไม่ได้อะไร ได้แต่ความเลว

                ทีนี้มาปัญญาบารมี คือต้องมีปัญญา มีกำลังใจทรงปัญญาให้เต็ม ปัญญานี่รู้อะไรมันดี รู้อะไรมันชั่ว ต้องใช้ปัญญา พวกเรานี้มันโตกันมากแล้วไม่ใช่เด็ก ปัญญาในขอบเขตของพระพุทธศาสนา

                ๑. สัพพะปาปัสสะ อะกะระณังเราไม่ทำความชั่วทั้งหมด ใช้ปัญญาค้นคว้าพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทำส่วนใดชั่ว ทำส่วนใดดี ทำส่วนใดชั่วทำลายล้างให้หมดอย่าให้เกิดขึ้นกับจิต ถ้าใช้อภิญญาก็ระมัดระวังไว้
                ๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา ทำแต่ความดีทุกอย่าง
                ๓. สะจิตตะปริโยทะปะนัง ทำใจผ่องใสด้วยอำนาจการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

                นี้ปัญญานี่ต้องเต็มเป็นปกติอย่าให้มันบกพร่อง อย่ามานั่งใช้คำว่าไม่รู้กัน ที่นี่ไม่มีคำว่าไม่รู้จำไว้ด้วย เพราะว่าตำหรับตำรามี เทป แผ่นเสียงก็มี จะฟังกันเมื่อไหร่ก็ได้ ฟังกันเองโดยไม่ต้องเสียสตางค์วันละ ๔ เวลา ตำหรับตำราก็มีดู ยังบอกว่าไม่รู้แล้วก็เชิญออกไปได้ทันที

                มาวิริยะบารมี ความเพียร การต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดกับอารมณ์ใจ เราจะทำดีแต่อารมณ์ใจมันชั่ว ดีตรงไหน ชั่วตรงไหน อารมณ์แก้ก็มีแล้วในพระกรรมฐาน ใช้ความพยายามค้นคว้าอารมณ์ในพระกรรมฐานก็มีทั้งคลาสเส็ท ก็มีทั้งเทปให้รับฟัง มีทั้งเทปสำหรับไปฟังเอง มีทั้งหนังสือ มีอยู่แล้ว อารมณ์ชั่วอย่างใดอย่างไหนมันเกิด ใช้อารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งที่เป็นคู่ปรับกัน ดูตัวอย่างในจริต ๖ ถ้าอารมณ์ความชั่วเกิดกับราคะจริตรักสวยรักงาม ก็ใช้กายคตานุสสติ ๑ อสุภกรรมฐาน ๑๐ เข้าประหัดประหารทันที ถ้ามันมีอารมณ์หนักไปในโทสะจริตก็ใช้พรหมวิหาร ๔ ใช้พรหมวิหาร ๔ กับกสิณ ๔ ถ้ามีวิตกจริตหรือว่าโมหะจริตก็ใช้อานาปานุสสติ ถ้ามีศรัทธาจริตตัวนำดี ตัวนี้เราก็ใช้ อนุสสติ ๖ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ ถ้ามีอารมณ์ผ่องใสฉลาดเราก็ใช้มรณานุสสติกรรมฐาน อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตววัตถาน ๔ อุปสมานุสสติกรรมฐาน นี่อารมณ์ชั่วที่เราจะรู้ตัวจะพึงแก้เนี่ยเขามีอยู่แล้วไม่จำเป็น อย่ามาบอกกันว่าไม่รู้ไม่ได้ ใช้กำลังใจเข้าต่อสู้กับมันความชั่ว อย่าคบมันไว้

                ทีนี้มาด้านขันติบารมี ความอดทน ความอดกลั้น ในขณะที่มันจะต้องต่อสู้กับอารมณ์ชั่ว นี่อารมณ์ชั่วมันมีอยู่แล้วในกาลก่อน ต่อมาอารมณ์ชั่วมันเข้ามาขัดขวางความดีของเรา ก็ต้องใช้ขันติ ความอดทน ไม่ท้อแท้ ไม่ป้อแป้ ไม่เป็นคนที่ไร้กำลังของกำลังใจ

                มาสัจจะบารมีเราจะถือความจริงใจไว้อยู่เสมอว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา เรารับกาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อันนี้จะต้องเอาจริงเอาจังกับมันอยู่เสมอ เราจะไม่ท้อถอยกับอุปสรรคใดๆ ทั้งหมด

                ทีนี้ต่อไปในขั้นอธิษฐานบารมี คือความตั้งใจมั่น การทรงกำลังใจไว้เป็นปกติ ว่าเราคิดว่าในขณะนี้เราจะเอากำลังชนะอะไรกันแน่ เราบวชเข้ามาปฏิบัติกันแบบประเภทที่เรียกว่าลอยแพอะไรก็ได้ อย่างนี้มันก็ไม่ถูก อันดับต้นจับอารมณ์อันหนึ่งที่เราพอที่จะชนะได้ นั่นก็ได้แก่ อารมณ์ของพระโสดาบัน ศึกษาอารมณ์ของพระโสดาบันไว้ว่า

                ๑ พระโสดาบัน สักกายทิฐิละได้ถึงมีความรู้สึกว่าเราจะต้องตายแน่ แต่ว่าไม่รู้เวลาตาย พร้อมอยู่เสมอว่าจะตาย แต่ก่อนจะตายเราจะทรงความดีในการมีพุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐานเป็นประจำใจ เพื่อป้องกันความทุกข์ในวันหน้า และเราต้องการปิดอบายภูมิ ๔ ประการ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ไม่ให้มีแก่เรา เราจะไม่ไปแดนนั้นด้วยการรักษาศีลบริสุทธิ์ ตั้งใจอธิษฐานเข้าไว้ให้อารมณ์นี้มันทรงตัว อารมณ์นี้ได้แล้วก็ก้าวไปสู่เป็นพระอนาคามีเลย สกิทาคามีไม่ต้องพูดกัน อนาคามีก็รวบรวมกำลังใจในกายคตานุสสติและอสุภกรรมฐานคู่กับปัญญามาประหัดประหารกามฉันทะให้พินาศไปจากจิตไม่ใช่ระงับ เนกขัมมะบารมีนี่ระงับ นี่ทำลายให้พินาศไป แล้วทำลายกำลังใจที่มีปฏิฆะที่มีอารมณ์ขัดข้องให้มันหมดไปด้วยอำนาจของพรหมวิหาร ๔ หรือกสิณ ๔ คู่กับปัญญา นี่อธิษฐานบารมีต้องตั้งจุดไว้อย่างนี้ว่าเป็นพระโสดาบันแล้วเราจะเป็นอนาคามีเลย เพราะสกิทาคามีก็มีกำลังเท่าๆ กัน สังโยชน์มันสูงกว่ากันนิดหน่อย หรือมิฉะนั้นก็ตั้งใจมุ่งหวังว่าเราจะเอาอรหัตผล อันนี้ไม่ยากเพราะว่าการพิจารณาคือทำลายกิเลสคือสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการ เราก็ละข้อเดียวคือข้อสักกายทิฏฐิ และไอ้การพิจารณาว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา จนกระทั่งอารมณ์จิตเราไม่เกาะอยู่ในขัน ๕ เราก็เป็นพระอรหันต์ อธิษฐานบารมีต้องตั้งมั่นไว้อย่างเลวที่สุด คุมอารมณ์ไว้ว่าเราจะต้องทรงความเป็นพระโสดาบันให้ได้ ถ้าบังเอิญมันยังไม่ได้เขาเรียกว่าผู้ปฏิบัติเป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีความดีอยู่มาก ไม่ใช่ว่าเราจะทะเยอทะยาน เพราะว่าขอบเขตของพระพุทธศาสนาต้องเป็นอย่างนั้น

                ทีนี้เมตตาบารมี อารมณ์ความรัก ตัวนี้มีความสำคัญมาก ความรักนี่ก็หมายความว่าเราจะรักคนก็ดี เราจะรักสัตว์ก็ดี คนอื่นก็ตาม ตัวเราเองก็ตาม สัตว์อื่นก็ตามเราจะมีความเห็นอกเห็นใจ มีความรักสม่ำเสมอกัน ถือว่าเขากับเรานี่มีสภาวะเท่ากัน มีความปรารถนาเสมอกัน รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน เราไม่ต้องการศัตรูฉันใด คนอื่นและสัตว์อื่นก็ไม่ต้องการศัตรูฉันนั้น เมื่อเราไม่ต้องการศัตรูเราก็ไม่ประกาศตนเป็นศัตรูกับบุคคลอื่น เราไม่ต้องการความทุกข์ที่บุคคลอื่นจะบันดาลให้กับเรา เราก็ไม่บันดาลความทุกข์ใหัแก่บุคคลอื่น เราต้องการความสุขด้วยการเกื้อกูลแก่คนอื่นเพื่อเราเพียงใด เราก็มีความปราถนาในการเกื้อกูลให้แก่บุคคลอื่นมีความสุขเหมือนกับเราที่ต้องการ อารมณ์เมตตามันก็จะสมบูรณ์ จัดเป็นเมตตาบารมีสมบูรณ์ นี้ต้องจำไว้แล้วก็นึกไว้แล้วก็ทรงไว้กันอยู่ในใจเสมอๆ แล้วก็ทำด้วย

                มาบารมีสุดท้ายที่เรียกว่าอุเบกขาบารมี คือวางเฉย เฉยตัวนี้ไม่ใช่เฉยแบบในอุเบกขาต้นพรหมวิหาร ๔ เฉยตัวนี้ได้แก่สังขารูเปกขาญาณ คือเฉยในขันธ์ ๕ หรือว่าเฉยในกฎของกรรมต่างๆ เฉยในโลกธรรม หรือว่าไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ไม่ติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่เร่าร้อนเมื่อลาภเสื่อมไป ยศเสื่อมไป นินทา แล้วก็ทุกข์เกิดขึ้น มีอารมณ์สบายถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่กฎของกรรมใดๆ ที่มันเกิดมาเป็นผลของความสุขหรือความทุกข์ ก็ถือว่านี่มันเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องคิดอะไร ธรรมดาของชาวโลกเกิดมามันต้องเป็นอย่างนี้ แล้วต่อมาถ้าขันธ์ ๕ ของเรานี้มันถึงที่ต้องแตกสลายไปเราก็เฉยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แก่แล้วก็เชิญแก่ ป่วยแล้วก็เชิญป่วย จะตายก็เชิญตาย ฉันรู้แล้วว่านายจะเป็นอย่างนี้

                เอาล่ะบรรดาท่านพระโยคาวจรทุกท่าน บารมี ๑๐ ประการก็ดี แล้วก็อิทธิบาท ๔ ก็ดี เป็นสภาวะที่มีความจำเป็นที่พวกท่านทั้งหลายจะต้องทรงไว้ในกำลังใจเสมอแล้วก็ปฏิบัติด้วย จึงจะช่วยให้บรรดาพวกท่านทั้งหลายพอจะเป็นพระขึ้นมาบ้างถ้ายังไม่ถึงพระโสดาบัน เอาล่ะสำหรับคืนนี้การแนะนำกันก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอให้ท่านทั้งหลายไปนั่งทบทวนด้วยกำลังใจว่าอิทธิบาท ๔ มีอะไร บารมี ๑๐ มีอะไร อันนี้ต้องทบทวนทุกวัน ตื่นขึ้นมาเช้าลืมตาใหม่ๆ ทบทวนถึงบารมี ๑๐ ประการและก็อิทธิบาท ๔ ว่าเราบกพร่องอะไรบ้าง วันทั้งวันเราต้องไม่ลืมอิทธิบาท ๔ และก็บารมี ๑๐ เวลาจะนอนใกล้จะหลับก็พิจารณาใหม่ว่าอิทธิบาท ๔ บารมี ๑๐ นี่เราบกพร่องข้อไหนบ้าง ถ้าบกพร่องก็รีบแก้เสีย แล้วสำหรับวันนี้เวลาก็เกินแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงพากันใช้เวลาของท่านให้เป็นประโยชน์ในการใคร่ครวญในบทพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พอสมควรแก่เวลาที่ท่านต้องการ สวัสดี

พิมพ์โดยคุณToTo Saka

ย้อนหน้า 1