วิปัสสนาญาณ




ศาลาปฏิบัติ
วิปัสสนาญาณ
วิปัสส..สามนัย
วิปัสสนาญาณ๙
ญาณที่ ๕-๙

 

วิปัสสนาญาณสามนัย

            วิปัสสนาญาณที่พิจารณากันมานั้น ท่านสอนไว้เป็นสามนัย คือ

  1. พิจารณาตารมแบบวิปัสสนาญาณ ๙ ตามนัยวิสุทธิมรรค ที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ รจนาไว้
  2. พิจารณาตามนัยอริยสัจ ๔
  3. พิจารณาขันธ์ ๕ ตามในพระไตรปิฎก ที่มีมาในขันธวรรค

            ทั้งสามนัยนี้ ความจริงก็มีอรรถ คือความหมายเป็นอันเดียวกัน โดยท่านให้เห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ท่านแยกไว้เพื่อเหมาะแก่อารมณ์ของแต่ละท่าน เพราะบางท่านชอบค่อยทำไปตามลำดับ ตามนัยวิปัสสนาญาณ ๙ เพราะเป็นการค่อยปลด ค่อย เปลื้องตามลำดับทีละน้อย ไม่หนักอกหนักใจ บางท่านก็ชอบพิจารณาแบบรวม ๆ ใน ขันธ์ ๕ เพราะเป็นการสะดวกเหมาะแก่อารมณ์ บางท่านที่ชอบพิจารณาตามแบบอริยสัจนี้ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเอง และนำมาสอนปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ท่านเหล่านั้นได้มรรคผล เป็นปฐม ก็เพราะได้ฟังอริยสัจ แต่ทว่าทั้งสามนี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือให้เห็น อนัตตาในขันธ์ ๕ เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคและในขันธวรรค ในพระไตรปิฎก ว่าผู้ใดเห็นขันธ์ ๕ ผู้นั้นก็เห็นอริยสัจ ผู้ใดเห็นอริยสัจก็ชื่อว่าเห็นขันธ์ ๕

เอาสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดอารมณ์

            นักปฏิบัติเพื่อมรรคผล ที่ท่านปฏิบัติกันมาและได้รับผลเป็นมรรคผลนั้น ท่านคอยเอาสังโยชน์เข้าวัดอารมณ์เป็นปกติ เทียบเคียงจิตกับสังโยชน์ว่า เราตัดอะไรได้เพียงใด แล้วจะรู้ผลปฏิบัติตามอารมณ์ที่ละนั้นเอง ไม่ใช่คิดเอาเองว่า เราเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตตามแบบคิดแบบเข้าใจเอาเอง

สังโยชน์ ๑๐

            สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมอยู่ในวัฏฏะมี ๑๐ อย่างคือ

  1. สักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา
  2. วิจิกิจฉา สงสัยในผลการปฏิบัติว่า จะไม่ได้ผลจริงตามที่ฟังมา
  3. สีลัพพตปรามาส ถือศีลไม่จริงไม่จัง สักแต่ถือตาม ๆ เขาไปอย่างนั้นเอง สามข้อ นี้ ถ้าตัดได้เด็ดขาด ท่านว่าได้บรรลุเป็นพระโสดา กับพระสกิทาคามี
  4. กามราคะ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และอาการ ถูกต้องสัมผัส
  5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งใจ ทำให้ไม่พอใจ อันนี้เป็นโทสะแบบเบาๆ ข้อ (๑) ถึง (๕) นี้ ถ้าละได้เด็ดขาด ท่านว่าบรรลุเป็นอนาคามี
  6. รูปราคะ พอใจในรูปธรรม คือความพอใจในวัตถุ หรือ รูปฌาน
  7. อรูปราคะ พอใจในอรูป คือเรื่องราวที่กล่าวถึง หรือ ในอรูปฌาน
  8. อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งซ่าน คิดนอกลู่นอกทาง
  9. มานะ ความถือตนโดยความรู้สึกว่า เราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา
  10. อวิชชา ความโง่ คือหลงพอใจในกามคุณ ๕ และกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ที่ ท่านเรียกว่า อุปาทาน เป็นคุณธรรมฝ่ายทราม ที่ท่านเรียกว่า อวิชชา

            สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ถ้าท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณแล้ว จิตค่อย ๆ ปลดอารมณ์ที่ยึดถือได้ครบ ๑๐ อย่าง โดยไม่กำเริบอีกแล้ว ท่านว่าท่านผู้นั้นบรรลุอรหัตผลเครื่องวัด อารมณ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสจำกัดไว้อย่างนี้ ขอนักปฏิบัติจงศึกษาไว้ แล้วพิจารณาไปตามแบบ ท่านสอนเอาอารมณ์มาเปรียบกับสังโยชน์ ๑๐ ทางที่ดีควรคิดเอาชนะกิเลสคราวละข้อ เอาชนะ ให้เด็ดขาด แล้วค่อยเลื่อนเข้าไปทีละข้อ ข้อต้น ๆ ถ้าเอาชนะไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเลื่อนเข้าไปหา ข้ออื่น ทำอย่างนี้ได้ผลเร็ว เพราะข้อต้นหมอบแล้ว ข้อต่อไปไม่ยากเลย จะชนะหรือไม่ชนะ ก็ข้อต้นนี้แหละ เพราะเป็นของใหม่และมีกำลังครบถ้วนที่จะต่อต้านเรา ถ้าด่านหน้าแตก ด่านต่อไปง่ายเกินคิด ขอให้ข้อคิดไว้เพียงเท่านี้ ต่อไปจะนำเอาวิปัสสนาญาณสามนัยมากล่าว ไว้พอเป็นแนวปฏิบัติพิจารณา

ต่อหน้า 3