วิปัสสนาญาณ




ศาลาปฏิบัติ
วิปัสสนาญาณ
วิปัสส..สามนัย
วิปัสสนาญาณ๙
ญาณที่ ๕-๙

 

วิปัสสนาญาณ ๙

๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ

๒. ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความดับ

๓. ภยตูปัฎฐานญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว

๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นโทษของสังขาร

๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ พิจารณาสังขารเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย

๖. มุญจิตุกามยตาญาณ พิจารณาเพื่อใคร่จะให้พ้นจากสังขารไปเสีย

๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร

๘. สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นว่า ควรวางเฉยในสังขาร

๙. สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาอนุโลมในญาณทั้ง ๘ นั้น เพื่อกำหนดรู้ในอริยสัจ

            ญาณทั้ง ๙ นี้ ญาณที่มีกิจทำเฉพาะอยู่ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึง ญาณที่ ๘ เท่านั้น ส่วนญาณ ที่ ๙ นั้น เป็นชื่อของญาณบอกให้รู้ว่า เมื่อฝึกพิจารณามาครบ ๘ ญาณแล้ว ต่อไปให้พิจารณาญาณทั้ง ๘ นั้น โดยอนุโลมและปฏิโลม คือพิจารณาตามลำดับไปตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๘ แล้วพิจารณาตั้งแต่ญาณที่ ๘ ย้อนมาหาญาณที่ ๑ จนกว่าจะเกิดอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ทุก ๆ ญาณและจนจิตเข้าสู่โคตรภูญาณ คือจิตมีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยตนหรือคนอื่นเป็นของธรรมดาไปหมด สิ่งกระทบเคยทุกข์เดือดร้อนก็ ไม่มีความทุกข์ ความเร่าร้อนไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ทั้งที่เป็นเหตุของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความผูกพัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ อาการอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ท่านว่าครอบงำความเกิด ความดับ ความตายได้เป็นต้น คำว่าครอบงำหมายถึงความไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ใครจะตายหรือเราจะตายไม่หนักใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องตาย ใครทำให้โกรธในระยะแรกอาจหวั่นไหวนิดหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่านี่มันเป็นของธรรมดาโกรธทำไม แล้วอารมณ์โกรธก็หายไปนอกจากระงับ ความหวั่นไหวที่เคยเกิดเคยหวั่นไหวได้แล้ว จิตยังมีความรักในพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งใด สามารถจะสละวัตถุภายนอกทุกอย่างเพื่อพระนิพพานได้ทุกขณะมีความนึกคิดถึงพระนิพพานเป็นปกติ คล้ายกับชายหนุ่มหญิงสาวเพิ่งแรกรักกัน จะนั่ง นอน ยืน เดินทำกิจการงานอยู่ก็ตามจิตก็ยังอดที่จะคิดถึงคนรักอยู่ด้วยไม่ได้ บางรายเผลอถึงกับเรียกชื่อคนรัก ขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะเรียกทั้งนี้เพราะจิตมีความผูกพันมาก คนรักมีอารมณ์ ผูกพันฉันใด ท่านที่มีอารมณ์เข้าสู่โคตรภูญาณก็มีความใฝ่ฝันถึงพระนิพพานเช่นเดียวกัน หลังจากเข้าสู่โคตรภูญาณเต็มขั้นแล้ว จิตก็ตัดสังโยชน์ ๓ เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน คือตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบอีก ท่านเรียกว่าได้อริยมรรคต้นคือเป็นพระโสดาบัน ต่อไปนี้ จะได้ อธิบายในวิปัสสนาญาณ ๙ เป็นลำดับไปเป็นข้อ ๆ

๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ

            ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาความเกิดและความดับของสังขาร คำว่า สังขาร หมายถึง สิ่งที่เป็นร่างทั้งหมด ทั้งที่มีวิญาณและวัตถุ ท่านให้พยายามพิจารณาใคร่ครวญเสมอ ๆ ว่า สังขารนี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด ไม่มีสังขารประเภทใดเหลืออยู่เลย พยายามหาเหตุผลในคำสอนนี้ให้เห็นชัด ดูตัวอย่างคน ที่เกิดแล้วตาย ของที่มีขึ้นแล้วแตกทำลาย ดูแล้วคิดทบทวนมาหาตน และคนที่รักและไม่รัก ของที่มีชีวิตและไม่มีคิดว่านี่ไม่ช้าก็ต้องตายทำลายอย่างนี้ และพร้อมเสมอที่จะไม่หวั่นไหว ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างนั้น พิจารณาทบทวนอย่างนี้จนอารมณ์เห็นเป็นปกติ ได้อะไรมา เห็นอะไรก็ตาม แม้แต่เห็นเด็กเกิดใหม่ อารมณ์ใจก็คิดว่านี่ไม่ช้ามันก็พัง ไม่ช้ามันก็ทำลาย แม้แต่ร่างกายเรา ไม่ช้ามันก็สิ้นลมปราณ อะไรที่ไหนที่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนถาวรตลอดกาล ไม่มีรักษาอารมณ์ให้เป็นอย่างนี้ จนอารมณ์ไม่กำเริบแล้วจึงค่อยย้ายไปพิจารณาญาณ ที่สอง จงอย่าลืมว่า ก่อนพิจารณาทุกครั้งต้องเข้าฌานก่อน แล้วถอยจากฌานมาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณ จึงจะเห็นเหตุเห็นผลง่าย ถ้าท่านไม่อาศัยฌานแล้ว วิปัสสนาญาณก็มีผลเป็นวิปัสสนึกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีไปกว่า นั่งนึกนอนนึก แล้วในที่สุดก็เลิกนึก และหาทางโฆษณาว่าฉันทำมาแล้วหลายปีไม่เห็นได้ อะไรเลย จงจำระเบียบไว้ให้ดี และปฏิบัติตามระเบียบให้เคร่งครัด วิปัสสนาไม่ใช่ต้ม ข้าวต้ม จะได้สุกง่าย ๆ ตามใจนึก

๒. ภังคานุปัสสนาญาณ

            ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาถึงความดับ ญาณต้นท่านให้เห็นความเกิด และความดับสิ้นเมื่อปลายมือ แต่ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นความดับที่ดับเป็นปกติ ทุกวัน ทุกเวลา คือพิจารณาให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหมดที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา บ้านเรือนโรง ของใช้ทุกอย่าง ให้ค้นหาความดับที่ค่อย ๆ ดับตาม ความเป็นจริง ที่สิ่งเหล่านั้นค่อย ๆ เก่าลง คนค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจากความเป็นเด็ก และ ค่อยๆ ละความเป็นหนุ่มสาวถึงความเป็นคนแก่ ของใช้ที่ไม่มีชีวิตเปลี่ยนสภาพจาก เป็นของใหม่ค่อยๆ เก่าลง ต้นไม้เปลี่ยนจากเป็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยกิ่งใบที่ไสว กลายเป็นต้นไม้ที่ค่อยๆ ร่วงโรย ความสลายตัวที่ค่อยเก่าลง เป็น อาการของความสลายตัว ทีละน้อยค่อยๆ คืบคลานเข้าไปหาความสลายใหญ่คือความดับสิ้นในที่สุด ค่อยพิจารณา ให้เห็นชัดเจนแจ่มใส จนอารมณ์จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ คือมีความชินจิตว่าไม่มีอะไร มันทรงตัว ไม่มีอะไรยั่งยืน มันค่อยๆ ทำลายตัวเองอย่างนี้ทั้งสิ้น แม้แต่อารมณ์ใจก็ เช่นเดียวกัน อารมณ์ที่พอใจและอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็มีสภาพไม่คงที่มีสภาพค่อย ๆ สลายตัวลงไปทุกขณะเป็นธรรมดา

            รวมความว่า ความเกิดขึ้นนี้เป็นสภาพที่จำต้องเดินไปหาความดับในที่สุด แต่กว่าจะถึงที่สุดก็ค่อย ๆ เคลื่อนดับ ดับทีละเล็กละน้อยทุกเวลาทุกขณะ มิได้หยุดยั้งความดับ เลยแม้แต่เสี้ยวของวินาที ปกติเป็นอย่างนี้จิตหายความหวั่นไหว เพราะเข้าใจและคิดอยู่ รู้อยู่อย่างนั้นเป็นปกติ

๓. ภยตูปัฏฐานญาณ

            ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ท่านหมายถึงให้กลัวเพราะสังขารมีสภาพพังทลายเป็นปกติอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้ จะเอาเป็นที่พักที่พึ่งมิได้เลย สังขาร เมื่อมีสภาพต้องเสื่อมไปเพราะวันเวลาล่วงไปก็ดี เสื่อมเพราะเป็นรังของโรค มีโรคภัยนานา ชนิดที่คอยเบียดเบียน เสียดแทงจนหาความปกติสุขมิได้ โรคอื่นยังไม่มี โรคหิวก็รบกวน ตลอดวัน กินเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ กินแล้วกินอีก กินในบ้านก็แล้ว กินนอกบ้านก็แล้ว อาหาร ราคาถูกก็แล้ว ราคาแพงก็แล้ว มันก็ไม่หายหิว ถึงเวลามันก็เสียดแทงหิวโหยเป็นปกติของ มันฉะนั้น โรคที่สำคัญที่สุดพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โรคนั้น คือโรคหิวดังพระบาลี ว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา แปลว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคภัยต่างๆ มีขึ้นได้ก็ เพราะอาศัยสังขาร ความหิวจะมีได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความแก่ ความทุกข์อันเกิดจาก ภยันตรายจะมีได้ ก็เพราะอาศัยสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีทุกข์ ในที่สุดก็ถึงความแตกดับ ก็เพราะสังขารเป็นมูลเหตุ สังขารจึงเป็นสิ่งน่ากลัวมาก ควร จะหาทางหลีกเร้นสังขารต่อไป

๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ

            ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้เห็นโทษของสังขาร ความเจริญญาณนี้น่าจะจัดรวมกับ ญาณที่ ๓ เพราะอาการที่ทำลายนั้น เป็นอาการของสิ่งที่เป็นโทษอยู่แล้ว ฉะนั้น ข้อนี้จึง ไม่ต้องอธิบายโปรดถือคำอธิบายของญาณที่ ๓ เป็นเครื่องพิจารณา

ต่อหน้า 4