๕๐ คติธรรมจากแสงธรรม
โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อุฏฐายี)
สมเด็จพระสังฆราช (องค์ที่ ๑๖)

(ปัจจุบันองค์ที่๑๙)

 
๑. พืชไมตรี

   เมื่อลมฝนโชยมาบ่อยๆครั้ง พื้นดินก็ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ พืชพรรณไม้ดอกไม้ใบที่อับเฉาเหี่ยวแห้งมาตั้งแต่ฤดูร้อน ก็กลับฟื้นตัวงอกงามขึ้นใหม่ ต่างแทงหน่อ แตกใบ สีสดเขียวสลอนไปหมด น่าดูน่าชม พืชงอกงามเพราะได้น้ำ ถ้าขาดน้ำไร้ฝนแล้วก็แห้งเหี่ยวอับเฉา มีพืชอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยน้ำเหมือนกัน แต่เป็น “น้ำใจ” ไม่ใช่น้ำฝน พืชที่ว่านี้ก็คือ พืชไมตรี นั่นเอง พืชไมตรีก็เหมือนกับพืชทั่วๆไป เพราะต้องปลูกดุจเดียวกัน

   ดังสุภาษิตพระร่วง “ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย” การปลูกไมตรีได้แก่ คิดหวังดี มุ่งดี ปรารถนาดี เพื่อผู้อื่นเป็นสุข โดยเว้นจากการเบียดเบียน มุ่งร้ายเขา

   ผู้ที่มีจิตเมตตา ย่อมมากด้วยไมตรี ย่อมสามารถปลูกมิตรไว้รอบข้าง หรือทุกทิศ ทุกสถาน จึงมีแต่ผู้รักใคร่นับถือ ไม่มีศัตรูมุ่งปองร้าย มีแต่ความเย็นกายเย็นใจ อันเกิดจากพืชไมตรี ที่ตนปลูกไว้งอกงามแล้วให้ผลนั่นเอง

   

๒. อนิจจาแม่ไก่

   พอสว่าง แม่ไก่ลุกขึ้นยืน หลังจากนอนกกลูกเล็กๆไว้ใต้ปีกตลอดทั้งคืน แล้วชวนลูกออกหากินโดยคุ้ยเขี่ยอาหารให้ลูกตัวน้อยๆคอยวิ่งรับเหยื่อจากแม่ เมื่ออิ่มหนำทั่วกันแล้ว ชักเหนื่อย แม่ไก่ก็ให้ลูกๆมาซุกอยู่ใต้ปีกเพื่อให้ปลอดภัย

   โอ..ความรักของแม่ ช่างลำบากด้วยการเลี้ยงลูก

   แต่พอลูกไก่ที่เติบโตใหญ่ หากินได้เองแล้ว ก็จะพ้นจากอกแม่ไก่ไป และไม่มีลูกไก่ตัวไหนเลยที่จะเลี้ยงแม่ไก่ตอบแทนคุณ อนิจจา แม่ไก่ที่น่าสงสาร ...... พ่อ แม่ ของเราก็เหมือนกับแม่ไก่ โดยต้องลำบากเลี้ยงเราจนเติบใหญ่ ทั้งเหนื่อยกาย เหนื่อยใจมากมาย แต่จะมีลูกสักกี่คนที่จะเลี้ยงดูท่านตอบแทนบ้าง

   "จงเอาอย่างแม่ไก่ ที่ไม่ยอมทิ้งลูก"

   "แต่อย่าเอาอย่างลูกไก่ซึ่งโตแล้วก็ทิ้งแม่ของตน"

   พ่อแม่ของเรา มีเพียง ๒ เท่านั้น และจะอยู่เพื่อให้เราเลี้ยงท่านไม่นานนักหรอก

   

๓. ผู้ทำลาย

   ในตัวคนๆหนึ่ง ย่อมมีทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายอยู่ร่วมกัน ยามใดที่จิตใจเป็นปกติ ย่อมทำหน้าที่เป็นผู้สร้าง คือสร้างสิ่งของ เครื่องใช้ ตลอดจนสร้างคุณงามความดีต่างๆ

   แต่ยามใดจิตใจไม่ปกติ เช่นกระทบกับอารมณ์อันไม่พึงใจ เกิดความโกรธ เกลียด ยามนั้นย่อมประพฤติเป็นผู้ทำลาย โดยเริ่มทำลายสิ่งของก่อน จากนั้นก็ทำลายคุณงามความดีของตนเองต่อไปอีก ด้วยการสำแดง

   ความโหดร้าย หยาบช้าอันเคยซ่อนไว้อย่างมิดชิดให้ปรากฏออกมา บางครั้งยังอาจทำรายบุคคลที่ตนเองเคยเคารพรักอย่างลึกซึ้ง เช่น บิดา มารดา บุตร ภรรยา ดังนั้น จงพยายามเลี้ยงแต่ผู้สร้างเถิด อย่าเลี้ยงผู้ทำลายให้เติบใหญ่ในตัวเราเลย เพราะ

   “ผู้ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมละกุศลทั้งมวลเสีย”

   

๔ .ที่พึ่ง

   ๔ .ที่พึ่งของคนมี ๒ อย่างคือ ที่พึ่งภายนอก กับที่พึ่งภายใน ที่พึ่งภายนอก ได้แก่บุคคลเช่น บิดามารดา ครูอาจารย์ ญาติพี่น้อง พวกพ้องเพื่อนฝูง ฯลฯ ที่พึ่งภายใน ได้แก่มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีคุณงามความดีในตนเองจนเป็นที่พึ่งของตนได้

   เช่น มีความประพฤติดี มีความรู้ความสามารถ มีความเพียรพยายามดี มีความรู้จัก ประมาณในการดำรงชีวิต ฯลฯ ที่พึ่งทั้งสองอย่างนี้ พระพุทธองค์ทรงเน้นให้พยายามยึดที่พึ่งภายใน

   โดยอย่ามุ่งหวังที่พึ่งภายนอกให้มากนัก เพราะไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ตลอดไป เช่น บิดามารดาเมื่อถึงกาลอันควรท่านย่อมจากเราไป ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็พึ่งได้ในบางคราว

   บางคราวที่ทะเลาะกันหรือโกรธกันก็พึ่งพาอาศัยกันไม่ได้ ส่วนคุณงามความดีนั้น จะอยู่กับเราตลอดไป เท่ากับเป็นการพึ่งตนเอง ฉะนั้นจึงควรมุ่งพึ่งตนเองดีกว่ามุ่งหวังพึ่งผู้อื่น อันใดจะดีเกินกว่าการพึ่งตนเองนั้น ย่อม

   

๕ .นิ่มนวล

   ข้าวที่รับประทาน ถ้าแข็งกระด้าง ก็มักจะกลืนไม่ค่อยลง เสื้อผ้าที่นุ่งห่ม ถ้าเนื้อหยาบนัก ก็ไม่มีใครอยากสวมใส่ ฉันใด เป็นคนถ้านิสัยหยาบกระด้าง คือไม่นิ่มนวล และมีกริยาวาจาไม่สุภาพ ย่อมไม่เป็นที่นิยมชมชอบ

   ยากจะมีใครอยากคบหา กริยาที่นิ่มนวล วาจาที่สุภาพ จึงเป็นเสน่ห์อันเลิศที่ทำให้คนนิยมพอใจ ดุจดังข้าวอย่างดีที่น่ารับประทาน และเสื้อผ้าเนื้อละเอียดย่อมเป็นที่ปรารถนา ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีกริยามารยาทดี วาจาสุภาพอ่อนหวานนิ่มนวล จึงได้เปรียบผู้ที่หยาบกระด้างโดยประการทั้งปวง

   

๖.กระจกส่องใจ

   ในสมัยพุทธกาล มีเรื่องเล่าว่า :- วันหนึ่ง พระราหุลนั่งอยู่ในสวนมะม่วงในกรุงราชคฤห์ พระพุทธองค์เสด็จไป ณ.ที่นั้น

   เมื่อประทับนั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว ได้ตรัสถามพระราหุลว่า

   “ราหุล กระจกเงามีประโยชน์อย่างไร”

   “มีประโยชน์สำหรับส่อง พระเจ้าข้า” พระราหุลตอบ

   พระพุทธองค์จึงทรงประทานโอวาทแก่พระราหุลว่า

   “ดูก่อนราหุล นี่แลฉันใด ปัญญาก็มีประโยชน์สำหรับส่องฉันนั้น

   ก่อนที่เธอจะทำการงานสิ่งใดพึงพิจารณาดูให้ดีก่อน ถ้ารู้ว่าการงานเป็นไปเพื่อการเบียดเบียน ตนเองก็ดี เบียดเบียนผู้อื่นก็ดี หรือทั้งตนเองทั้งผู้อื่นก็ดี การงานนั้นเธอไม่ควรทำ แม้ในขณะที่ทำอยู่ก็พึงพิจารณาอย่างนั้นอีก ถ้ารู้ว่าเป็นโทษดังกล่าวแล้วพึงงดเสีย

   ถ้ารู้ว่าไม่มีโทษเธอจงหมั่นทำเถิด หรือการงานที่พิจารณาเสร็จไปแล้ว ก็พึงพิจารณาอย่างนั้นอีก ถ้ารู้ว่ามีโทษก็พึงสารภาพผิดแล้วสำรวมระวังต่อไป ถ้ารู้ว่าไม่มีโทษก็พึงยินดีปราโมทย์กับงานที่บริสุทธิ์นั้นทุกคืนวันเถิด”

   พระพุทธโอวาทที่ตรัสกับพระราหุลนี้ ถ้าเราทุกคนจะน้อมมาพิจารณาตรวจสอบดู กับการงานของเราซึ่งทำเป็นประจำ ก็จะเป็นเสมือนกระจกเงาสำหรับส่องจิตใจ เพื่อป้องกันมิให้ทำงานผืดพลาด หรือแม้ผิดพลาดไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับตัวได้โดยง่าย เพราะมีสติรู้ตัวอยู่ จึงควรน้อมพระพุทธโอวาทนี้มาสู่ตัวเราโดยทั่วกันเทอญ

   

๗.พกหิน

   คำโบราณสอนไว้ประโยคหนึ่งว่า “จงพกหินอย่าพกนุ่น” นั้นมีความหมายว่า – “หิน” เป็นของหนัก ยากที่ลมจะพัดให้โยกหรือลอยได้ ส่วนนุ่นเป็นของเบา ยามถูกลมพัดย่อมลอยไปตามลมอย่างง่ายดาย แม้ตกลงพื้นแล้ว ครั้นลมกระพือมากลับลอยขึ้นมาใหม่อีก จะหยุดนิ่งเยี่ยงก้อนหินนั้นไม่ได้เลย คนใจหนักแน่นจึงคล้ายก้อนหิน หรือพกหิน คือควบคุมใจของตนได้ตลอดเวลา

   ในเมื่อต้องประสบกับอารมณ์อันชอบหรือไม่ชอบก็สะกดใจเอาไว้ได้ ไม่เคลิบเคลิ้มหลงใหลหรือแสดงความวุ่นวายออกมาให้ปรากฏ เรียกว่าไม่แสดง อาการขึ้นๆลงๆ มีลักษณะแห่งความเป็นบัณฑิต มีเหตุมีผล ไม่คล้อยตามลมปากคนอื่นง่ายๆ

   ส่วนคนใจไม่หนักแน่น คล้ายนุ่น หรือพกนุ่น เพราะมักแสดงธาตุแท้ให้คนเห็นง่ายๆ เพียงประสบกับอารมณ์ที่ชอบหรือไม่ชอบ ก็แสดงอาการลิงโลดและซบเซาจนเห็นถนัด ไม่มีสติควบคุมตนเอง ตลอดจนเคลิบเคลิ้มตามลมปากผู้อื่นง่ายๆ ซึ่งเป็นลักษณะของคนพาล คือคนโง่เขลาอย่างแท้จริง

   ฉะนั้น โบราณท่านจึงสอนว่า ให้พกหิน คือต้องเป็นคนใจหนักแน่น ทรงตัวอยู่ได้ด้วยดี และไม่โยกคลอนตามเหตุการณ์หรือลมปากของคนทั่วไป

   

๘.มรดกจากบรรพชน

   คนเรามักพูดทำนองน้อยใจว่า “ตนอาภัพนัก เพราะไม่มีมรดกให้เยี่ยงผู้อื่น จึงต้อง ตั้งตัวด้วยลำแข้งของตนเอง” ความจริง ผู้ที่พูดเช่นนั้น ยังเข้าใจผิดอยู่มาก เพราะทุกคนล้วนได้รับมรดกจากบรรพชน ของตนๆอย่างเท่าเทียมกัน คือได้อวัยวะน้อยใหญ่ ตลอดจนสติปัญญามาเท่าๆกัน

   อันร่างกาย สติปัญญา เท่าที่มีนั้น เป็นสมบัติอันประเสริฐ ดีวิเศษกว่าทรัพย์สมบัติเงินทองอื่นใดทั้งสิ้น เพราะทุกคนได้ใช้สมบัติที่ติดตัวนี้มาทำมาหากินเลี้ยงตัวเองได้โดยตลอด ทั้งยังเป็นเครื่องมือสร้างความดี สร้างบุญกุศลอย่างแท้จริง เงิน ทอง ที่ดิน อันสมมุติว่าเป็นสมบัตินั้น ย่อมกลับเป็นวิบัติได้ในกาลข้างหน้า

   ส่วนร่างกายที่ประกอบด้วยสติปัญญา อันเป็นสมบัติติดตัวย่อมไม่วิบัติไปได้ เพราะฉะนั้น จงภูมิใจในสมบัติเท่าที่ตนมีอยู่ โดยหมั่นระลึกว่า “ร่างกาย อวัยวะ สติปัญญา และชีวิต” เหล่านี้ ล้วนเป็นมรดกซึ่งบรรพชนของตนได้มอบไว้ แล้วจงพยายามใช้ทุกอย่างให้เกิดประโยชน์อันแท้จริงแก่ตนเถิด เพราะ กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ ความได้เป็นมนุษย์ เป็นการยาก

   

๙.หยุด

   องคุลีมาลโจร ผู้เงื้อดาบไล่ตามพระพุทธองค์ เพราะต้องการสังหารคนให้ครบ ๑๐๐๐ คน แต่ไล่ตามนานเท่าไรก็ไล่ตามไม่ทัน เมื่อเหนื่อยเต็มที่แล้ว จึงร้องออกมาว่า

   “สมณะ หยุดก่อน หยุดก่อนสมณะ”

   “ดูก่อน ตถาคตหยุดแล้ว ท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด”พระพุทธองค์ตรัสตอบ

   องคุลีมาลแสนจะขัดเคือง จึงกล่าวจาบจ้วงว่า

   “สมณะมุสา ปากว่าหยุด แต่ยังย่างเท้าเดินไปไม่ยอมหยุดตามที่พูด”

   “เราหยุดแล้ว คือหยุดจากการฆ่า หยุดแล้วจากการทำบาปทั้งปวงอย่างเด็ดขาด ท่านสิ ยังไม่หยุด ยังยินดีในการทำบาปด้วยจิตใจอันโหดอยู่” ดังนั้น

   องคุลีมาลได้สติ โยนดาบทิ้ง เข้ามาหมอบแทบเท้าพระบรมศาสดา ขอบวช และภายหลังสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสทั้งปวง แล้ว

   “ท่านล่ะ! หยุดหรือยัง ? ”

   

๑๐.หยาดน้ำค้าง

   หยาดน้ำค้างโปรยปรายจากเบื้องบนในยามราตรี และจับตามกิ่งไม้ ใบหญ้า พอแสงอรุณรุ่งเริ่มแรงกล้าขึ้น ไม่นานก็พลันเหือดหายไป เหลือแต่คราบเล็กน้อยให้พอมองเห็น ชีวิตหนึ่งของคนเราก็ไม่ผิดอะไรกับหยาดน้ำค้าง

   เมื่อเกิดมาไม่นานวัน ก็ต้องก้าวสู่ความชรา ในที่สุดก็ทอดร่าง สลายไป การพิจารณาให้รู้ความจริงของชีวิตลงไปว่า เราต้องตายแน่นอน การพิจารณาอย่างนี้นับว่าไม่มีทางขาดทุนเลย เพราะเป็นเหตุแห่งความไม่ประมาท จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งตนและโลก ถึงร่างกายจักสลายไปตามเวลา แต่คุณงามความดีที่สั่งสมเอาไว้ จะเหลืออยู่ให้อนุชนได้รับรู้ ได้พลอยชื่นชมต่อไปอีกยาวนาน คล้ายกับคราบหยาดน้ำค้างยามเช้า

หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5

  แผนผังภาพธรรม

♠   จากคุณน้ำใส   ♥