๕๐ คติธรรมจากแสงธรรม
โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อุฏฐายี)
สมเด็จพระสังฆราช (องค์ที่ ๑๖)

(ปัจจุบันองค์ที่๑๙)

๑๑.อย่าพรากจากพ่อแม่

   แม่นก เมื่อตกไข่แล้ว ต้องกกรักษาฟักไข่อยู่ในรัง พ่อนกรู้หน้าที่ เที่ยวเสาะหาอาหารมาป้อนให้แม่นก จนเมื่อลูกนกออกจากไข่แล้ว ทั้งพ่อ-แม่นกต้องมีภาระเพิ่มอย่างหนัก ต้องบินขึ้น-ลง วันละหลายเที่ยว เพื่อหาอาหารมาป้อนลูกน้อยๆให้อิ่มหนำ คนมีอายุชอบเล่าเรื่องนกขุนทองให้เด็กๆฟังว่า ถ้ามีคนปีนต้นไม้มาจับเอาลูกของมันไปจากรัง

   เมื่อแม่นกกลับมาป้อนอาหารให้ลูก ไม่พบลูกของมัน ก็เสียใจ แม่นกจะโผบินขึ้นไปบนอากาศจนสูง แล้วหุบปีกปล่อยตัวตกลงกระแทกพื้นตาย คนเราบางคนพยายามพรากตัวเองไปจากพ่อแม่

   โดยไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ หลงคบเพื่อนชั่ว ทำตัวเกเรเป็นอันธพาล จึงอยู่กับพ่อแม่ในบ้านไม่ได้ ออกไปมั่วสุมก่อกรรมทำเข็ญ ในที่สุดถูกเขาจับไปติดคุกติดตาราง คล้ายลูกนกขุนทองที่ถูกคนจับพรากไปจากรัง พ่อแม่ของลูกคนนั้น ย่อมกินไม่ได้ นอนไม่หลับ และเสียใจเพราะลูก จงดูอย่างพ่อนกแม่นก ที่รักลูกของมันเถิด แล้วจงคิดถึงคุณของพ่อแม่ตนเองว่า ท่านรักเราและหวังดีต่อเราเพียงใด จงอย่าทำตัวให้ท่านทั้งสองต้องเศร้าโศกเสียใจ เพราะเราประพฤติชั่วช้าเลย จะเป็นบาปกรรมอันร้ายกาจใหญ่หลวง

   

๑๒.เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า

   คำนี้โบราณสอนไว้ หมายความว่า ยามจำเป็นต้องเข้าป่าพงที่มีรกชัฏ ต้องมีมีดพร้าติดตัว จะได้ถากถางสิ่งขวางทาง ให้สัญจรไปได้สะดวก นำมาเทียบกับโลกที่เหมือนดังป่ารกชัฏ อันมี รัก โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ทุกคนเหมือนผู้เดินทางอยู่ในป่านั้น ย่อมหลงวนเวียนยากจะหาทางออก กล่าวคือ สังสารวัฏฏ์ ยากจะเห็นทางหลุดพ้นไปได้ สติ อุปมาดังอาวุธ เพราะมีลักษณะให้รู้สึกตัว ไม่ให้ประมาท ไม่หลงลืม

    เมื่อกระทบอารมณ์อันเย้ายวนใจให้รัก ให้ชอบ ให้ขัดเคือง ก็ดี ย่อมยับยั้งใจไว้ได้ ไม่เคลิบเคลิ้มหลงไปตามอารนณ์นั้นๆ เยี่ยงผู้ประมาทขาดสติ ซึ่งจะต้องวนเวียนอยู่ในป่าแห่งทุกข์ชั่วกาลนาน สังสารวัฏฏ์ สติ จึงเปรียบเหมือนพร้าที่ต้องนำติดตัวไป เมื่อต้องเดินทางในป่ารก เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับใจของตน เพื่อบุกเบิกแหวกป่าที่ขวางหน้า มุ่งตรงไปสู่ความพ้นทุกข์ หลุดออกจากป่ารกแห่งสังสารวัฏฏ์ นั่นเอง

   

๑๓.ความเห็นใจ

   คำนี้เป็นกริยา หมายความว่า รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจตน พูดง่ายๆคือว่า รู้จักช่วยเหลือแก่ผู้อื่นบ้างในเมื่อผู้นั้นต้องประสบเคราะห์กรรม หรือทุกข์ยากลำบาก เมื่อทราบเรื่องของเขาแล้ว จึงไม่นิ่งดูดาย พยายามปัดเป่าความทุกข์เท่าที่พอทำได้

   แม้จะช่วยอะไรแก่เขาไม่ได้เลย เพียงแค่แสดงน้ำใจให้เขาได้รู้ว่า ตนก็พลอยเสียใจในเหตุการณ์ที่เขาต้องประสบนั้นด้วย ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” เรื่องของคนที่ต้องอยู่ด้วยกัน หรือใกล้กัน มีการงานอันเกี่ยงข้องกัน จำต้องรู้จักช่วยเหลือแก่กันบ้าง ตามโอกาสอันสมควร แม้ช่วยอย่างอื่นไม่ได้ ก็ขอให้หัดเป็นผู้รู้จักแสดงความเห็นใจผู้อื่นบ้าง เพราะไม่ต้องใช้ทุนรอนหรือทรัพย์สินอันใดเลย เพียงแต่แสดงน้ำใจไมตรีเท่านั้น

   “เสียเพื่อได้” คือเสียนิดหน่อย แต่ได้รับความรักความนับถือ ความคุ้นเคยเพิ่มขึ้นกว่าเก่า จึงไม่ควรทำตัวเป็นคนคับแคบ แม้จะให้อะไรแก่ผู้อื่นไม่ได้ ก็จงพยายาม ให้ความเห็นใจแก่เขาเถิด เพื่อจะได้รับความเห็นใจจากเขาบ้างในภายหลัง เพราะ ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ ผู้ให้ ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

   

๑๔.นกกระต้อยตีวิด

   นกที่มีขนาดเล็กเท่านกเขา แต่มีลักษณะประหลาดผิดจากนกอื่นๆทั้งหลาย คือเมื่อนอนต้องนอนหงายชูเท้าขึ้นสู่ท้องฟ้า เรื่องนี้คนโบราณเล่าว่า เพราะมันกลัวฟ้าจะถล่มทับ จึงต้องยกเท้าขึ้นเตรียมยันรับไว้ เพื่อป้องกันอันตราย มิให้ถูกฟ้าทับตาย

   ลักษณะความเข้าใจของนกกระต้อยตีวิด จึงเป็นเรื่องน่าชวนหัว หากฟ้าถล่มจริงๆ แล้วเท้าน้อยๆของเจ้านกนี้น่ะหรือจะทานน้ำหนักของฟ้าไว้ได้ ความโง่ของนกน้อยนี้ จึงมีคติให้เทียบถึงลักษณะคนบางคนได้คือ บางคนนั้น เป็นผู้ไม่ฉลาด มีความสามารถแต่เพียงเล็กน้อย แต่กลับเข้าใจว่าตนเองเก่งกาจ ฉลาดกว่าคนอื่น แล้วเหยียดหยาม ดูหมิ่น ตำหนิคนที่เขาฉลาดกว่าตน หยิ่งผยองลำพองตนว่าทำได้ทุกอย่าง แต่พอต้องรับผิดชอบเรื่องใหญ่ ด้วยความที่ตนไม่มีความรู้เพียงพอ

   ไม่สันทัดจัดเจน จึงทำให้งานนั้นบกพร่อง ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรง เหมือนดังเท้าน้อยๆของนกกระต้อยตีวิด ที่คิดจะรับน้ำหนักฟ้าไว้ฉันนั้น เอาเรื่องนกนี้มาสำรวจตนเองว่า เราสำคัญผิด คิดว่าตนเองเก่งกาจ เฉลียวฉลาดเหมือนอย่างนกโง่นั้นหรือไม่เถิด

   

๑๕.รสปาก

   สุนทรภู่ บรมครูในเชิงกลอน ได้ประพันธ์ไว้น่าฟังว่า “อันรสปาก หากหวาน ก็หวานเด็ด บอระเพ็ด ก็ไม่มาก เหมือนปากขม มีดว่าคม ก็ไม่มาก เหมือนปากคม รสหวานขม ก็ไม่มาก เหมือนปากคน” ดังนี้

   พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ปากคนมีรสย่อ ๆ ๓ รส คือ เหม็น , หอม , และหวาน คนปากเหม็น เรียกว่า “คูถภาณี” ได้แก่ผู้ที่มีปกติพูดเท็จจนคนทั้งหลายเกลียดชัง ไม่เชื่อถือถ้อยคำ ยิ่งพูดยิ่งทำลายตนเอง

   คนปากหอม เรียกว่า “บุบผภาณี” ได้แก่ผู้พูดจริง พูดคำสัตย์ ไม่ยอมพูดเท็จแม้เป็นเรื่องเข้าข้างตนเอง จนคนนิยมเชื่อถือถ้อยคำ

   คนปากหวาน เรียกว่า “มธุรภาณี” ได้แก่ผู้ที่พูดแต่คำจริง และไพเราะนิ่มนวล ได้ฟัง แล้วรื่นหู ดูดดื่ม จับใจ อยากฟังอีกไม่รู้เบื่อ

   ปากที่เราใช้ปล่อยคำพูดนั้น อยากให้ปล่อยเป็น คูถภาณี หรือ บุบผภาณี หรือ มธุรภาณี ก็สุดแท้แต่เราที่เป็นเจ้านายสั่งมัน ท่านสาธุชนโปรดตรองใช้กันเอาเองเถิด

   

๑๖.พระเดช-พระคุณ

   ในโลกนี้ มีสภาพให้เกิดความสว่างตามธรรมชาตินั่นคือ ๑ ดวงอาทิตย์ ๒ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์นั้น มีลักษณะร้อนแรง มีอำนาจ ส่วนดวงจันทร์ มีลักษณะนวลเย็น น่าชม ดวงอาทิตย์เป็นดาวพระเพลิงดวงใหญ่ลอยเด่นเพียงดวงเดียวตลอดเวลา

   ส่วนดวงจันทร์ ลอยเด่นท่ามกลางหมู่ดาวบริวารแวดล้อมมากมาย ดวงอาทิตย์เปรียบดุจพระเดช คือผู้แสดงอำนาจน่าเกรงกลัว จึงไม่มีผู้ใดกล้าเข้าใกล้ ดวงจันทร์อุปมาดุจพระคุณ คือมีเมตตา ย่อมเป็นที่รักใคร่ จึงมีบริวารแวดล้อม ผู้มีอำนาจ หากใช้แต่พระเดช ย่อมได้รับผลแบบดวงอาทิตย์

   ถึงแม้จะสว่างเป็นประโยชน์จริง แต่สว่างอย่างว้าเหว่อยู่เพียงดวงเดียว ผู้ใหญ่ที่ฉลาด ย่อมทำตัวเป็นดวงจันทร์ คือใช้พระคุณเป็นหลักในการปกครอง ลูกน้องบริวารแวดล้อมคอยรับใช้ด้วยความเต็มใจ จะใช้พระเดชเมื่อถึงคราวจำเป็นเท่านั้น ดังนี้แล

   

๑๗.ไม้อ้อ

   ไม้อ้อ เป็นไม้ที่มีลำต้นเป็นปล้องคล้ายอ้อย แต่ข้างในกลวง ชอบขึ้นตามริมห้วย ลำธาร มีนิทานเกี่ยวกับต้นอ้อหลายเรื่อง แต่เรื่องที่คุ้นหูที่สุด คือเรื่องต้นไทรกับต้นอ้อ ต้นไทรเป็นไม้ใหญ่ คืนวันหนึ่งเกิดพายุใหญ่พัดกระหน่ำ ต้นไทรยืนสู้พายุอย่างไม่ลดละ

   แต่ในที่สุด ไม่สามารถต้านทานแรงพายุได้ จึงโค่นลงลอยน้ำไปติดอยู่ที่กออ้อ ส่วนต้นอ้อ รู้จักลู่ไปตามแรงลม ไม่แข็งขืน จึงพ้นอันตรายจากพายุนั้นได้ คติของเรื่องนี้ก็คือ การทำตัวเป็นไม้อ้อโดยยอมโอนอ่อนต่อผู้มีอำนาจด้วยการไม่แข็งกระด้าง ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองในยามคับขัน

   ส่วนการทำตัวเป็นต้นไทร ไม่ยอมอ่อนแก่ใครเลยไม่ว่าเวลาใด มุ่งแต่อวดกล้า มีความกระด้างตลอดเวลา ย่อมเป็นเหตุทำลายตัวเองอย่างแน่นอน เพราะ วโส อิสฺสริยํ โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก

   

๑๘.สะดุ้งมาร

   พระพุทธรูปปางประทับนั่งสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายแบหงาย พระหัตถ์ขวากุมพระชาณุ (เข่า ) นิยมสร้างเป็นพระประธานตามโบสถ์หรือวิหารในวัดต่างๆ มีอธิบายเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางสะดุ้งมารดังนี้ว่า

    ในคืนวันที่พระมหาบุรุษประทับนั่งสมาธิเพื่อจักบรรลุพระสัมโพธิญาณอยู่นั้น พระยามารได้ยกพยุหเสนามากระทำห้อมล้อมคุกคามขับไล่ เพื่อมิให้ได้ตรัสรู้ แต่เวลานั้นพระรัชชกรณธรรมอันมีประจำในพระทัยให้กล้าหาญ ไม่ครั่นคร้ามต่อหมู่มาร จึงทรงใช้พระหัตถ์ขวากดกุมที่พระชาณุด้านขวาไว้มั่นคงแสดงความว่าไม่ยอมลุกขึ้น และทรงตั้งจิตอธิษฐานมั่นคงต่อสู้กับพระยามารและเสนาทั้งปวงอย่างไม่หวั่นไหว

    ในที่สุดด้วยบารมีธรรมอันเต็มเปี่ยมถึงที่สุดแล้ว พระยามารและเหล่าเสนาก็พ่ายแพ้ พระมหาบุรุษได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนรุ่งอรุณในราตรีนั้นนั่นเอง เมื่อมองดูพระพุทธรูปปางสะดุ้งมารแล้ว เป็นคติเตือนใจได้ว่า

    เมื่อตั้งใจทำงานสิ่งใดแล้ว แม้มีอุปสรรคหรือถูกข่มขู่ให้เกรงกลัว ก็อย่ายอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคเหล่านั้น จงรวบรวมความกล้าหาญ ตั้งสติให้มั่นคง และพยายามบากบั่นจนงานที่มุ่งทำสำเร็จลงได้ตามประสงค์ ดุงดังพระพุทธองค์ที่ไม่หวาดสะดุ้งต่อพระยามารและเหล่าเสนาทั้งปวงนั่นแล...

   

๑๙.ออมไว้ไม่ลำบาก

   เม็ดฝนที่ตกลงมาทีละหยาดหยด ทำให้ภาชนะที่หงายรับเต็มด้วยน้ำฝนได้ ปลวกตัวเล็กๆสามารถสร้างรังอันใหญ่โตเกินตัวได้ ผึ้งดูดหยาดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ทีละหยด นำมาเก็บจนได้เต็มรวงรัง ทั้งหมดนี้สำเร็จได้ด้วยความเพียรพยายาม รวบรวม สั่งสมไว้ ถ้าคนทุกคนทำตัวเหมือนเม็ดฝน เอาอย่างปลวก ขยันเหมือนผึ้ง คำว่ายากจนค่นแค้นย่อมไม่เกิดแก่ตนเองอย่างแน่นอน

   ผู้ที่ทำมาหากินตามกำลังความสามารถ รู้จักประมาณตนในการบริโภคใข้สอย โดยกินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน ใช้เท่าที่จำเป็น พยายามให้มีเหลือ รู้จักเก็บออม กว่าจะถึงวัยชราที่หมดสมรรถภาพ หาทรัพย์ไม่ได้แล้ว ก็มีเงินออมเพียงพอ สำหรับเลี้ยงชีพตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ใด นับเป็นผู้มีเกียรติจนตลอดชีวิต ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ตราบเท่าวัยชรา

   การออมทรัพย์ของตนวันละเล็กละน้อย เสมือนเม็ดฝนที่ตกทีละหยาด หรือคล้ายปลวกตัวเล็กๆที่ช่วยกันก่อจอมปลวกอันสูงใหญ่ หรือเหมือนรังผึ้งที่สะสมน้ำหวานทีละเล็กละน้อยจนเต็มรวงรัง จงเริ่มต้นชีวิตใหม่ของเราเสียแต่วันนี้ด้วยการออม แล้วความสุขก็กำลังรอเราอยู่ข้างหน้านั่นแล....

   

๒๐.ประตูสวรรค์-บันไดทอง

   ทุกศาสนาสอนเหมือนกันว่า พ่อแม่คือ “ประตูสวรรค์ หรือบันไดทองของลูก” โดยมีอธิบายว่า ลูกคนใดปฏิบัติชอบต่อพ่อแม่ของตน จะได้รับความสุขความเจริญตลอดไป และยังย้ำไว้อีกเช่นกันในทุกศาสนาว่า “พ่อแม่เป็นขุมนรกสำหรับลูกที่ปฏิบัติผิดและละเมิดล่วงเกินต่อท่าน”

   พ่อแม่เป็นเทวดาเป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์ และอะไรที่ประเสริฐอีกหลายอย่างแก่ลูก ชีวิตของลูกตั้งต้นมาจากพ่อแม่ ลูกที่เติบโตมาได้จนทุกวันนี้ก็ได้รับการเลี้ยงดูมาจากท่าน พระคุณของท่านจึงอยู่เหนือสิ่งประเสริฐทั้งสิ้นในโลก จนไม่มีผู้ใดคำนวณนับพระคุณ และพรรณนาพระคุณของท่านให้สิ้นสุดได้

   พ่อแม่เป็นบุคคลที่ควรได้รับความเคารพเทิดทูนจากลูก ไม่ควรละเมิดล่วงเกินแก่ท่าน โลกย่อมยกย่องผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาของตนเสมอ เริ่มต้นเดินทางกันใหม่ ด้วยการเปิดประตูสวรรค์ก้าวขึ้นสู่บันไดทองที่รอรับอยู่ข้างหน้า โดยกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ และรีบปิดทางไปสู่ขุมนรกให้หมดสิ้นกันเสียเถิดแล.....

หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5

  แผนผังภาพธรรม

@ จากคุณน้ำใส @