๕๐ คติธรรมจากแสงธรรม
โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อุฏฐายี)
สมเด็จพระสังฆราช (องค์ที่ ๑๖)

(ปัจจุบันองค์ที่๑๙)

   
๒๑.สอบตัวเอง

    ปัจจุบันเรื่องการสอบกลายเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นเกี่ยวกับทุกเพศทุกวัย เริ่มตั้งแต่เข้าโรงเรียน ก็ต้องสอบคัดเลือกกันแล้ว พอเป็นนักเรียนก็ต้องสอบเลื่อนชั้น พ้นจากการเล่าเรียนก็ต้องสอบเข้าทำงานอีก ทำงานแล้วจะเลื่อนชั้น ก็ต้องสอบชิงกันต่อ ชีวิตช่างเต็มไปด้วยการสอบเสียจริง
   ยังมีการสอบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งควรสอบกันทุกคนแต่คนที่ต้องสอบกลับไม่สนใจ คือ “สอบตัวเอง” ได้แก่หมั่นตรวจตราและให้คะแนนความประพฤติของตนเอง เพื่อให้รู้ตน ดี-ชั่ว ประการใด ถ้าหากตรวจพบว่า ข้างความดียังมีมากกว่าข้างความชั่ว ถือว่า “สอบได้” เมื่อสอบได้ ก็ไปได้ ... ไปไหนกัน ? ไปเป็นคนอีกก็ได้ ไปสวรรค์เป็นเทวดา เป็นพรหม ก็ยังได้ และอะไรที่ดีอีกหลายอย่าง
   แต่หากสอบไม่ได้ ก็ไม่ได้ไปที่ดี ต้องไปนรกไปอบาย ไปเป็นกำเนิดต่ำทรามอย่างแน่นอน จะสอบอะไรก็สอบเถิด แต่อย่าลืมสอบตัวเอง ผู้หมั่นสอบตัวเองเสมอๆ ย่อมมีประโยชน์มากมาย อย่างต่ำๆที่จะได้ทันตาเห็นก็คือ “จะรักษาความเป็นมนุษย์ของตนไว้อย่างน่าภาคภูมิใจ” เพราะ           อตฺต   หิ   ปรนํ   ปิโย    ตนเทียว เป็นที่รักอย่างยิ่ง

   

๒๒.ดนตรีชีวิต

   ความไพเราะของดนตรี ขึ้นอยู่กับศิลปะการบรรเลง นักดนตรีต้องบรรเลงไปตามจังหวะของเพลงนั้น หากบรรเลงนอกจังหวะไปเพียงตัวเดียว ก็ทำให้เพลงนั้นลดความไพเราะลงทันที ชีวิตคนเรามีท่วงทำนองดั่งดนตรีไม่มีผิด ทุกคนมีวิถีทำนองของชีวิตมาแต่กำเนิด อดีตกรรมที่มีอยู่อย่างสลับซับซ้อน บวกกับกรรมในปัจจุบัน เป็นตัวจัดสรรให้เรามีกิจกรรม และหน้าที่แตกต่างกันออกไป คือจังหวะเพลงที่ทุกคนจะต้องบรรเลงตลอดชีวิต
   โดยมีกรรมปัจจุบันเป็นเนื้อร้อง มีกรรมอดีตเป็นท่วงทำนอง นักดนตรีบางคนร้องบรรเลงเพลงชีวิตตามใจตนเอง โดยมิได้คำนึงว่าจะเข้ากันกับ ท่วงทำนองเพลงของตนหรือไม่ เขาเหล่านั้นย่อมไม่ใช่นักดนตรีที่ดี เพราะไม่สามารถทำให้เพลงเกิดความไพเราะได้ และสร้างความลำบากให้แก่นักดนตรีที่ร่วมวงคนอื่นๆ เขานั้นควรจะแยกวงออกไปลำพัง เพื่อที่จะได้ร้องและบรรเลงไปตามใจชอบของเขาและฟังเอง        สจิตฺตปริยายยุสลา   ภเวยยํ   พึงเป็นผู้ฉลาดในกระบวนจิตของตน

   

๒๓.กิ้งก่าได้ทอง

   นิทานเก่าเล่าไว้ว่า กิ้งก่าตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ซุ้มประตู พระราชาเสด็จผ่าน ก็ลงมาถวายคารวะโดยผงกศรีษะ พระราชา จึงทรงเมตตาพระราชทานเบี้ยเลี้ยงให้เป็นค่าอาหารทุกวัน วันหนึ่งคนเลี้ยงหาซื้อเนื้อที่ตลาดไม่ได้เพราะเป็นวันพระ จึงเอาทองที่พระราชทานเป็นค่าอาหาร ประจำวันนั้นผูกไว้ที่คอมันแทนก้อนเนื้อ พอมันได้ทองแล้วก็ทำหยิ่งผยอง ไม่ได้ถวายความคารวะพระราชาในวันนั้นเหมือนก่อน
  พระราชาทรงกริ้วจึงสั่งให้เลิกค่าเบี้ยเลี้ยงแก่มันตั้งแต่นั้นมา ทรัพย์สมบัตินั้นต้องอาศัยคุณสมบัติภายในเป็นเครื่องรองรับ มิฉะนั้นผู้มีทรัพย์ย่อมหยิ่งผยอง และทรัพย์ที่มีจักทำลายคนซึ่งขาดปัญญาอันเป็นคุณสมบัติภายในได้ เพราะ       โภคตณฺหาย   ทุมฺเมโธ   หนฺติ   อญฺเญว   อตฺตนํ   ผู้มีปัญญาทราม ย่อมฆ่าตนเหมือนฆ่าผู้อื่น เพราะอยากได้โภคทรัพย์

   

๒๔.เมฆฝน ๔ ชนิด

    เมฆฝนซึ่งตั้งเค้าอยู่เบื้องบนอากาศนั้น มีลักษณะย่อๆ ๔ ชนิดด้วยกัน คือ
    ๑.ส่งเสียงกระหึ่มลั่น แต่ไม่ตก
   ๒.ตก แต่ไม่ส่งเสียงกระหึ่มก่อน
   ๓.บางครั้งเพียงลอยผ่านไป แต่ไม่ส่งเสียงด้วย ไม่ตกด้วย
   ๔.บางครั้งคำรามกึกก้องด้วย ตกลงมาด้วย          

เทียบได้กับบุคคล ๔ ประเภท คือ

   ๑.บางคนพูดอย่างเดียว แต่ไม่ทำ
   ๒.บางคนทำเท่านั้น แต่ไม่พูด
   ๓.บางคน ไม่พูดด้วย ไม่ทำด้วย
   ๔.บางคน ทั้งพูด ทั้งทำ

   จึงควรพิจารณาว่า เราเป็นเมฆฝนชนิดใด ?       กยิรา   เจ กยิราเถนํ      ถ้าทำการใด ก็พึงทำการนั้นจริงๆ

   

๒๕.เรือนรั่ว

   คำโบราณสอนไว้ถึงลักษณะชั่ว อันให้ทุกข์แก่ผู้ประสพว่า “มีคู่ร้าย เพื่อนบ้านชั่ว เรือนหลังคารั่ว เจ้านายชัง” เหล่านี้เป็นเรื่องเดือดร้อน ให้ทุกข์ ต้องวุ่นวายอย่างแท้จริง เฉพาะเรือนรั่ว หรือหลังคารั่ว เมื่อเกิดฝนตกย่อมอยู่ไม่เป็นสุขเลย จนกว่าจะซ่อมแซมให้หายรั่วนั่นแหละ บ้านเรือนหลังคารั่วยังเป็นเรือนนอก แต่ยังมีเรือนอีกชนิดหนึ่งเป็นเรือนใน ได้แก่ “เรือนใจ” เรือนใจนี้ต้องระวังให้จงหนัก เพราะถ้ารั่วโดยถูกฝนคือกิเลสซัดจนเปียกชุ่ม ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ผู้นั้นอย่างสาหัสทีเดียว เพราะใจที่ถูกกิเลสรั่วรดย่อมไม่ใช่เป็นใจของตน กลายเป็นใจของกิเลส ทำให้โลภจัด โกรธกล้า ปัญญาสูญ สามารถทำชั่วได้ทุกอย่างโดยง่ายดาย แล้วผลกรรมย่อมมาตอบสนองอย่างสาสมเป็นประจำไม่มีเวลาสร่างซาได้เลย ฤดูฝน ทุกคนเอาใจใส่แต่เรื่องมุงหลังคาเรือนอยู่ เรือนนอนเพียงชั่วคราว ถ้าได้หมั่นอุดเรือนในคือใจไม่ให้กิเลสรั่วรดด้วย จะได้รับความสำราญอย่างแท้จริงตลอดไป เพราะ        วิสุทฺธิ    สพฺพเกลฺเสหิ    โหติ    ทุกฺเขหิ    นิพฺพุติ    ความหมดจดจากกิเลสทั้งปวง เป็นความดับจากทุกข์ทั้งหลาย

   

๒๖.ส่งเสริมคนดี

   สมัยนี้มักเสนอข่าวกันครึกโครมแต่เรื่องคนทำชั่วโดยเด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม คนแก่ก็ตาม พาดหัวข่าวตัวโตๆด้วยสำนวน “อันธพาลวัยรุ่น” บ้าง “ฆาตกรโหด” บ้าง “เฒ่าหัวงูแผลงฤทธิ์” บ้าง ทำนองช่วยกันแพร่กระจายข่าวและเล่ารายละเอียดการทำความชั่วของบุคคลในวัยต่างๆอย่างแจ่มแจ้งอยู่เป็นประจำ จนคล้ายกับไม่สนใจสนับสนุนหรือไม่ส่งเสริมเรื่องกระทำความดีของคนทุกวัยบ้างเลย ซึ่งเรื่องนี้เองทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันไปว่า ปัจจุบันนี้มีแต่คนชั่วมากกว่าคนดี ความจริง คนดีๆก็มีอยู่มาก แต่เรื่องของคนดีมักไม่ตกเป็นข่าว ไม่ค่อยมีผู้คนสนใจช่วยเผยแพร่สู่ปวงชน อันต่างกับเรื่องของคนชั่วซึ่งมีข่าวปรากฏเป็นประจำ เราควรพร้อมใจกันยกย่องคนทำความดีให้มากกว่านี้ เพื่อให้เป็นตัวอย่างให้คนทั้งหลายได้นิยม พากันประพฤติปฏิบัติดีกันโดยกว้างขวางต่อไปเถิดหนา        สจฺเจ    อตฺเถ    จ ธมฺเม    จ อหุ    สนฺโต    ปติฏฐิตา สัตบุรุษตั้งมั่นในความสัตย์ที่เป็นอรรถและเป็นธรรม

   

๒๗.เนื้อสมันกับพุ่มไม้

   นิทาน     “เนื้อสมันตัวหนึ่ง ถูกนายพรานไล่ติดตามจวนถึงตัวเข้า จึงแอบเข้าไปซุ่มในพุ่มไม้แห่งหนึ่ง พุ่มไม้ได้ช่วยกำบังให้พ้นสายตาของนายพรานได้ โดยนายพรานมุ่งตามไปเสียทางอื่น เนื้อสมันเกิดความชะล่าใจคิดว่าพ้นภัยแล้ว จึงแทะเล็มกินใบไม้ที่เป็นพุ่มนั้น จนพุ่มไม้บางลงมองเห็นตัวได้ถนัด พอดีนายพรานย้อนกลับมาทางเก่าจึงมองเห็น และยิงถูกเนื้อสมันตัวนั้นล้มลง และก่อนจะตายได้นึกถึงโทษที่ตนทำลายพุ่มไม้ จึงสอนตนเองว่า “นี่แหละ โทษแห่งการทำลายสิ่งมีคุณ” คติจากนิทานเรื่องนี้ เตือนใจให้คิดถึงอุปการะของท่านผู้มีพระคุณ แก่ตน แล้วไม่ทำลายหรือประทุษร้ายท่าน แต่ถ้าจะกล่าวโดยกว้างขวาง บุคคลที่มีคุณต่อตนนั้นมีทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย หรือมีทั้งนายทั้งบ่าว ทางโลกมุ่งสอนให้ผู้น้อยสำนึกถึงบุญคุณของผู้ใหญ่ แต่ทางธรรมกลับสอนเพิ่มให้ผู้ใหญ่พยายามคิดถึงคุณของผู้น้อย ด้วยว่าเป็นผู้เชิดชูตน ช่วยเหลือรับใช้ ทำกิจการงานหนักๆแทนเรา การทำลายผู้น้อยด้วยความริษยาก็ดี พยาบาทก็ดี หรืออคติอื่นใดก็ดี เท่ากับเป็นการทำลายตนเอง อุปมาดั่งตัดมือตัดเท้าของตนเสีย ดังเช่นเนื้อสมันทำลายพุ่มไม้กำบังตน จึงต้องตายในที่สุด         สกมฺมุนา    หญฺญติ    ปาปธมฺโม     ผู้มีสันดานชั่ว ย่อมลำบากเพราะกรรมของตน

   

๒๘.เป็นให้เป็น

    “สัตว์เลี้ยงพี-ฤาษีผอม” เป็นคำพังเพยที่โบราณให้ไว้เป็นคติแก่คนรุ่นหลัง สอนให้ประพฤติตนเองให้สมกับเพศและภาวะที่ตนเป็นอยู่ อันจะไม่เป็นที่ดูหมิ่นของผู้อื่น คน ได้ชื่อว่า “มนุษย์” เพราะมีจิตใจสูงเหนือสัตว์อื่นๆ คนจะมีความสมเป็นคนต้องมีระเบียบ การรู้จักรักษาระเบียบขนบธรรมเนียมประเพณี ทำให้คนเป็นคนพ้นห่างจากสัตว์ทั้งหลาย และ เพราะคนจะต้องอยู่กันเป็นหมู่เป็นคณะ แต่ละคนจึงมีหน้าที่และฐานะที่จะต้องปฏิบัติให้เหมาะสม เป็นเด็กก็ต้องทำหน้าที่ของเด็ก โดยมีความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ก็ทำหน้าที่ของผู้ใหญ่ โดยเป็นที่พึ่งแก่เด็กด้วยจิตที่มีเมตตากรุณา นอกจากนี้อีกเช่น เป็นข้าราชการ เป็นตำรวจ ทหาร แพทย์ พ่อค้า เป็นชาย และหญิง หรือแม้แต่ สมณะ เมื่อเป็นแล้วต้อง “เป็น-ให้-เป็น” คือทำให้เหมาะสมตามที่เป็น ย่อมเป็นมงคล มีความรุ่งเรือง ถ้าเป็นอะไรแล้วประพฤติไม่เหมาะสมกับหน้าที่ซึ่งเป็น ย่อมเกิดอวมงคล ไร้ความเจริญอย่างแน่นอน ฉะนั้น จงเป็นให้เป็น สมกับที่ต้องเป็น        อนตฺถํ ปริวชฺเชติ อตฺถํ คณฺหาติ ปณฺฑิโต บัณฑิตย่อมเว้นสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ถือเอาแต่สิ่งเป็นประโยชน์

   

๒๙.ความเคยชิน

   เมื่อ่านเห็นรถเก็บขยะมาแต่ไกล ท่านย่อมหลีกเลี่ยงหลบไป แต่ถ้าหลบไม่ได้ท่านอาจต้องกลั้นหายใจ หรือใช้ผ้าปิดจมูกเมื่อต้องเดินผ่านรถนั้น เพราะไม่ชอบกลิ่นเหม็นจากขยะต่างๆในรถ ท่านเคยคิดบ้างไหมว่า มีพนักงานที่ต้องทำงานคลุกคลีกับกลิ่นเหม็นซึ่งท่านทนไม่ได้ จริงอยู่ที่เขาเหล่านั้น ก็ทำงานเพื่อค่าจ้าง แต่หากไม่มีผู้ยอมทำหน้าที่เช่นนี้แล้ว พวกเราจะเดือดร้อนอย่างมาก นำเหตุผลเหล่านี้ให้คำตอบว่า

   “คนเราสามารถทำทุกอย่างได้โดยไม่รังเกียจแม้ในสิ่งที่น่ารังเกียจ โดยอาศัยความเคยชิน” การที่บางคนทำความชั่วบางอย่างได้ทั้งๆที่เรื่องนั้นไม่น่าจะทำได้เลย ก็เพราะเขาเคยชินต่อการทำความชั่วอันเขาทำเป็นประจำนั่นเอง มิใช่แต่การทำชั่วเท่านั้น แม้เรื่องทำความดีก็ต้องอาศัยความเคยชินเหมือนกัน ถ้าทำบ่อยๆย่อมทำได้โดยง่าย ความไม่เคยไม่ว่าทางดีหรือทางชั่ว ทำได้ยากทั้งสิ้น ท่านสาธุชน ท่านอยากจะเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่ว ก็ย่อมเป็นได้ด้วยการทำความเคยชินจนติดเป็นนิสัยนั่นเทียว       ยโต ยโต จ ปาปกํ ตโต ตโต มโน วิวารเย ก็บาปเกิดจากอารมณ์ใดๆ พึงห้ามใจจากอารมณ์นั้นๆ

   

๓๐.มหานิยม

   มนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่ง ที่หาไม่ได้ในบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตด้วยกัน สิ่งนั้นคือ “ยิ้ม” สัตว์โลกทุกชนิดที่ยกย่องว่ากันว่าเป็นสัตว์ฉลาดและฝึกหัดได้นานัปการ แต่ฝึกให้”ยิ้ม”ไม่ได้ ยิ้มของคนซื้อขายไม่ได้ ยิ้มเป็นเครื่องดึงดูดให้คนเข้าใกล้โดยปรศจากความระแวง ยิ้มสามารถเป็นเกราะป้องกันภัยให้แก่ตนเองได้ด้วย แต่ต้องเป็นยิ้มตามปกติ มิใช่ยิ้มอย่างละคร ลิเก ที่โปรยยิ้มไปรอบเวที เพราะนั่นเป็นยิ้มที่แต่งขึ้น ยิ้มแท้ต้องเป็นยิ้มที่เกิดจากใจจริง มีลักษณะเบิกบาน เยือกเย็น เป็นเครื่องดับและบรรเทาทุกข์ร้อนได้ ทำให้ผู้ยิ้มเป็นคนมีสติยั้งคิด ไม่ผลุนผลัน ฝ่ายหนึ่งหน้าบึ้งมาหาอีกฝ่ายหนึ่งยิ้มรับ เหตุร้ายย่อมกลายเป็นดี โบราณท่านจึงให้ยิ้มไว้ก่อนเสมอ ยิ้มได้เมื่อภัยมา ย่อมช่วยให้เกิดสติ ไม่ตื่นเต้นวู่วาม ในเหตุอันใดที่เกิดขึ้น ยิ้มจึงส่งเสริมให้เป็นคนมีสติ ตรงข้ามกับความโกรธซึ่งทำให้ขาดสติ ไร้ความยั้งคิด ยิ้มไม่ต้องลงทุนซื้อหา มีอยู่แล้วประจำตัวทุกคน เหมือนมีอาวุธในตัว ต้องหมั่นชโลมน้ำมันกันสนิมไว้ อย่าปล่อยให้สนิมจับจนฝืดไม่คล่องแคล่วทันท่วงที คนที่ยิ้มยาก เพราะไม่เคยยิ้ม ถึงคราวยิ้มย่อมยิ้มไม่ออก จึงควรต้องหัดยิ้มไว้เสมอๆ “ยิ้มได้และยิ้มเป็นจะช่วยให้ปลอดภัยและสบายใจ”

หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4   หน้า 5

  แผนผังภาพธรรม

@ จากคุณน้ำใส @